รายงานสถานการณ์เศรษฐกิจอุตสาหกรรมประจำเดือนธันวาคม 2549

ข่าวเศรษฐกิจ Friday February 9, 2007 15:06 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

                                               สรุปประเด็นสำคัญ 
ดัชนีอุตสาหกรรมของเดือนพฤศจิกายน 2549
- ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม = 167.36 ลดลงจากเดือนตุลาคม 2549 (170.34) ร้อยละ 1.8 แต่เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน (162.33) ร้อยละ 3.1
- ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมที่ลดลงเมื่อเทียบกับเดือนตุลาคม 2549 ได้แก่ การผลิตยานยนต์ การผลิตเคมีภัณฑ์ขั้นมูลฐาน ยกเว้นปุ๋ยและสารประกอบไนโตรเจน การผลิตอื่นๆ ซึ่งมิได้จัดประเภทไว้ในที่อื่น การผลิตผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม การผลิตเม็ดพลาสติก
- อัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ย = 66.94 ลดลงจากเดือนตุลาคม 2549 (68.28) ร้อยละ 2.0 และลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน (68.24) ร้อยละ 1.9
ภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมในเดือนธันวาคม 2549
- อุตสาหกรรมอาหาร คาดว่าการผลิตและการส่งออกจะขยายต่อเนื่องจากปริมาณคำสั่งซื้อสินค้าที่เริ่มปรับตัวเพิ่มขึ้นตามฤดูกาลในช่วงไตรมาสที่ 4 ซึ่งเป็นช่วงส่งท้ายปีที่มีเทศกาลสำคัญๆ อย่างไรก็ตามยังมีปัจจัยเสี่ยงในเรื่องโรคระบาดไก่ และการแข็งค่าเงินบาท นอกจากนี้ยังมีการพิจารณาโควตาภาษีสินค้าไก่ของ EU และการพิจารณาระงับการนำเข้ากุ้งของออสเตรเลียจากกรณีพบเชื้อไวรัสในกุ้งที่ใช้เป็นเหยื่อปลา ส่วนการจำหน่ายในประเทศจะขยายตัวดีขึ้นเนื่องจากประชาชนใช้จ่ายในเทศกาลปีใหม่
- การผลิตผลิตภัณฑ์สิ่งทอและเสื้อผ้าสำเร็จรูป ในเดือนธันวาคม 2549 คาดว่าจะปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นต่อเนื่องจนถึงไตรมาสที่ 1 ปี 2550 แต่จะมีปัจจัยลบมากระทบ เช่น ปัญหาการแข็งค่าของค่าเงินบาทที่แข็งค่าอย่างต่อเนื่อง จะส่งผลกระทบต่อผู้ส่งออก ส่งผลให้แข่งขันได้ลำบากมากขึ้น ทั้งนี้ผู้ประกอบการอาจจะต้องแสวงหาตลาดใหม่เพื่อลดผลกระทบจากความเสี่ยงของตลาดหลัก
- อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า สถานการณ์เหล็กในเดือน ธ.ค. 2549 คาดว่าทรงตัวเมื่อเทียบกับเดือนก่อน โดยในส่วนของการผลิตเหล็กทรงยาวมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเป็นผลมาจากความต้องการใช้ซ่อมแซมที่อยู่อาศัยหลังจากภาวะน้ำท่วม สำหรับในส่วนของเหล็กทรงแบนคาดการณ์ว่าการผลิตจะขยายตัวขึ้นตามอุตสาหกรรมต่อเนื่อง แต่ในส่วนของการส่งออก คาดการณ์ว่าจะลดลงเนื่องจากความต้องการใช้ของตลาดในประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นประเทศผู้นำเข้าเหล็กที่สำคัญเริ่มอิ่มตัว ประกอบกับตลาดในกลุ่มประเทศ EU เริ่มชะลอตัวลง
- อุตสาหกรรมยานยนต์ ในเดือนธันวาคม 2549 คาดว่าขยายตัวขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนพฤศจิกายน 2549 เนื่องจากอยู่ในช่วงฤดูกาลขาย และมีการจัดงาน Motor Expo 2006 ในช่วงต้นเดือน ซึ่งในปีนี้มียอดขายภายในงาน 17,106 คัน และในปี 2549 คาดว่าจะมีการผลิตรถยนต์ประมาณ 1.2 ล้านคัน แบ่งเป็นการจำหน่ายในประเทศร้อยละ 55 และส่งออกร้อยละ 45 สำหรับแนวโน้มอุตสาหกรรมรถยนต์ปี 2550 คาดว่าจะมีการผลิตประมาณ 1.28 ล้านคัน แบ่งเป็นการจำหน่ายภายในประเทศร้อยละ 53 และส่งออกร้อยละ 47
- อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ ในเดือนธันวาคม 2549 และเดือนมกราคม 2550 คาดว่าการผลิตและการจำหน่ายในประเทศจะเพิ่มขึ้น เนื่องจากเป็นช่วงฤดูกาลก่อสร้าง สำหรับการส่งออกคาดว่าจะมีแนวโน้มทรงตัว เนื่องจากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นตลาดส่งออกหลักยังไม่ขยายตัวเท่าที่ควร
- ภาวะการผลิตอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของเดือนพฤศจิกายน 2549 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนเล็กน้อยเป็นผลจากการปรับตัวเพิ่มขึ้นของดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ การส่งออกสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์รวม 11 เดือนแรกของปี 2549 มีมูลค่า 1,434,529 ล้านบาท เพิ่มขึ้น ร้อยละ 12 เมื่อเทียบกับ 11 เดือนแรกของปี 2548 เป็นผลจากการขยายตัวของเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ ที่เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 17 โดยเฉพาะการขยายตัวในตลาดสหรัฐได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 14
สถานการณ์เศรษฐกิจอุตสาหกรรม
- ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม
ต.ค. 49 = 172.09
พ.ย. 49 = 169.87
โดยอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้ดัชนี ลดลง ได้แก่
- การผลิตยานยนต์
- การผลิตเคมีภัณฑ์ขั้นมูลฐาน ยกเว้น ปุ๋ยและสารประกอบไนโตรเจน
- การผลิตอื่นๆ ซึ่งมิได้จัดประเภทไว้ในที่อื่น
- อัตราการใช้กำลังการผลิต
ต.ค. 49 = 68.26
พ.ย. 49 = 68.01
โดยอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้อัตราการ ใช้กำลังการผลิตลดลง ได้แก่
- การผลิตยานยนต์
- การผลิตเคมีภัณฑ์ขั้นมูลฐาน ยกเว้นปุ๋ยและสารประกอบไนโตรเจน
- การผลิตเม็ดพลาสติก
1.อุตสาหกรรมอาหาร
ภาวะการผลิตและการส่งออกปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ขณะที่เดือนหน้าคาดว่าจะยังขยายตัวต่อเนื่องจากปริมาณคำสั่งซื้อสินค้าที่ปรับตัวตามฤดูกาล แต่อาจจะได้รับกระทบจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น สำหรับการจำหน่ายในประเทศคาดว่าจะขยายตัวเนื่องจากการฉลองเทศกาล 1. การผลิต
ภาวะการผลิตโดยรวมขยายตัวลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนร้อยละ0.6 แต่เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 9.5 โดยสินค้าสำคัญที่ผลิตเพื่อส่งออกขยายตัวเมื่อเทียบกับปีก่อน ได้แก่ แป้งมันสำปะหลังร้อยละ 69.2 สำหรับการผลิตเพื่อใช้ในประเทศ ปาล์มน้ำมัน มีการผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 44.3 โดยที่การใช้กำลังการผลิตในภาพรวมเพิ่มขึ้นจากปีก่อนและเดือนก่อน ร้อยละ 6.2 และ 0.9
2. การตลาด
1) ตลาดในประเทศ มูลค่าการจำหน่ายสินค้าอาหารเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อนร้อยละ 6.0 แต่ลดลงจากเดือนก่อนร้อยละ 4.0 เนื่องจากมีการชะลอการจับจ่ายใช้สอยทั้งในด้านอุปโภคบริโภคของภาครัฐและ เอกชน
2) ตลาดต่างประเทศ ภาวะการส่งออกโดยรวม มีปริมาณและมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 46.4 และ 10.6 เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยสินค้าส่งออกหลัก ได้แก่ ทูน่ากระป๋องมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.0 ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ร้อยละ 34.6 และผลิตภัณฑ์ข้าวร้อยละ 11.75 เป็นผลจาก คำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้นตามฤดูกาล แต่เมื่อเทียบกับเดือนก่อนการส่งออก ชะลอตัวลงเล็กน้อยเนื่องจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น
3. แนวโน้ม
คาดว่าการผลิตและการส่งออกจะขยายต่อเนื่องจากปริมาณคำสั่งซื้อสินค้าที่เริ่มปรับตัวเพิ่มขึ้นตามฤดูกาลในช่วงไตรมาสที่ 4 ซึ่งเป็นช่วงส่งท้ายปีที่มีเทศกาลสำคัญๆ อย่างไรก็ตามยังมีปัจจัยเสี่ยงในเรื่องโรคระบาดไก่ และการแข็งค่าเงินบาท นอกจากนี้ยังมีการพิจารณาโควตาภาษีสินค้าไก่ของ EU และการพิจารณาระงับการนำเข้ากุ้งของออสเตรเลียจากกรณีพบเชื้อไวรัสในกุ้งที่ใช้เป็นเหยื่อปลา ส่วนการจำหน่ายในประเทศจะขยายตัวดีขึ้นเนื่องจากประชาชนใช้จ่ายในเทศกาลปีใหม่
2.อุตสาหกรรมน้ำตาล (ตุลาคม)
1. น้ำตาลทราย
1.1 การผลิต
ตั้งแต่มีการปิดหีบอ้อยของฤดูการผลิตปี 2548-2549 เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2549 โรงงานน้ำตาลทั้ง 46 โรงงานในประเทศได้หยุดการผลิตน้ำตาลทรายดิบ แต่มีบางโรงงานได้นำน้ำตาลทรายดิบไปละลายเพื่อแปรสภาพเป็นน้ำตาลทรายขาวและน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ โดยมีการผลิตน้ำตาลทรายรวมตั้งแต่เดือน มกราคม-กันยายน 2549 (9 เดือน) จำนวนทั้งสิ้น 4,338,073.00 ตัน ในจำนวนนี้เป็นน้ำตาลทรายดิบจำนวน 1,613,101.69 หรือ 37% ของผลผลิตน้ำตาลทั้งหมด ส่วนในเดือนตุลาคมไม่มีการผลิตน้ำตาลทราย
1.2 การบริโภค
ในเดือนตุลาคม 2549 มีการบริโภคน้ำตาลทรายในประเทศ จำนวน 186,830.08 ตัน เพิ่มขึ้น 0.3% จากเดือนก่อนหน้า ซึ่งมีการบริโภคจำนวน 186,346.16 ตัน สำหรับการบริโภคโดยรวมตั้งแต่เดือนมกราคม - ตุลาคม 2549 ( 10 เดือน) มีจำนวนทั้งสิ้น 1,906,897.17 ตัน เพิ่มขึ้น 2% จากในช่วงเดียวกันของปี 2548
1.3 การส่งออก
ในเดือนตุลาคม 2549 ประเทศไทยมีการส่งออกน้ำตาลจำนวน 205,871.91 ตัน ลดลง 34% จากเดือนกันยายน 2549 ซึ่งส่งออกได้จำนวน 310,483.57 ตัน และปริมาณการส่งออกในเดือนตุลาคมของปีนี้เพิ่มขึ้น 24% จากในช่วงเดียวกันของปี 2548 และการส่งออกน้ำตาลตั้งแต่เดือนมกราคม -ตุลาคม 2549 (10 เดือน) มีจำนวนทั้งสิ้น 1,766,594.66 ตัน เป็นการส่งออกน้ำตาลทรายดิบ 987,808.97 ตัน หรือ 56% ของปริมาณการส่งออกทั้งหมด
1.4 การนำเข้า
ในช่วงเดือนมกราคม-กันยายน 2549 (9 เดือน) มีการนำเข้าน้ำตาลทราย จำนวนทั้งสิ้น 10,415.63 ตัน ส่วนในเดือนตุลาคมไม่มีการนำเข้าน้ำตาลทรายจากต่างประเทศและปริมาณการนำเข้าน้ำตาลตั้งแต่เดือนมกราคม- ตุลาคม 2549 ยังคงไม่เกินโควตานำเข้าภายใต้กรอบ WTO ซึ่งประเทศไทยผูกพันไว้ที่ จำนวน 13,760 ตัน ที่อัตราภาษีนำเข้า 65% ส่วนอัตราภาษีนอกโควตาอยู่ที่ 94%
2. กากน้ำตาล
ในเดือนตุลาคม 2549 ไม่มีการผลิตกากน้ำตาล ส่วนผลผลิตกากน้ำตาลตั้งแต่เดือน มกราคม-ตุลาคม 2549 (10 เดือน) มีจำนวนทั้งสิ้น 1,990,064.65 ตัน
การส่งออกกากน้ำตาลในเดือนตุลาคม 2549 มีจำนวนทั้งสิ้น 33,760.27 ตัน หรือประมาณ 2% ของปริมาณการผลิตทั้งหมด ส่วนการส่งออกตั้งแต่เดือนมกราคม-ตุลาคม 2549 มีจำนวน 442,063.40 ตัน
3. อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม
"...เดือนธันวาคม 2549 คาดว่าจะปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นต่อเนื่องจนถึงไตรมาสที่ 1 ปี 2550 แต่จะมีปัจจัยลบมากระทบ เช่น ปัญหาการแข็งค่าของค่าเงินบาทที่แข็งค่าอย่างต่อเนื่อง จะส่งผลกระทบต่อผู้ส่งออก ส่งผลให้แข่งขันได้ลำบากมากขึ้น ทั้งนี้ผู้ประกอบการอาจจะต้องแสวงหาตลาดใหม่เพื่อลดผลกระทบจากความเสี่ยงของตลาดหลัก."
1. การผลิตและการจำหน่าย
ภาวะการผลิตเมื่อพิจารณาจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมในเดือนพฤศจิกายน 2549 การผลิตเส้นใยสิ่งทอฯ การผลิตผ้าฯ และการผลิตเครื่องแต่งกาย ลดลงร้อยละ 1.1, 1.8 และ 9.7 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนและลดลงร้อยละ 9.1, 11.0 และ 9.7 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนเนื่องจากมีการสะสมสินค้าในสต๊อกในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ประกอบกับการนำเข้าค่อนข้างมากทั้งเส้นใยสิ่งทอและเสื้อผ้าสำเร็จรูปซึ่งราคาถูกกว่าในประเทศ
2. การส่งออกและตลาดส่งออก
มูลค่าการส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มในเดือนพฤศจิกายน 2549 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 5.1 และร้อยละ 4.6 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยผลิตภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนได้แก่เสื้อผ้าสำเร็จรูป (+1.9%) ผ้าผืน(+6.5%) ด้ายเส้นใยประดิษฐ์ (+2.5%) เคหะสิ่งทอ(+33.3%) เส้นใยประดิษฐ์ (+3.3%) ผ้าปักและผ้าลูกไม้ (+55.8%) และผ้าแบบสำหรับตัดเสื้อฯ (+47.1%)
ตลาดส่งออกหลักคือ สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป อาเซียนและญี่ปุ่น คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 28.4, 19.7, 12.6 และ 5.0 ตามลำดับ
3. การนำเข้า
การนำเข้าผลิตภัณฑ์สิ่งทอโดยรวมในเดือนพฤศจิกายน 2549 ลดลงจากเดือนก่อนร้อยละ 6.0 โดยเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนนำเข้าด้ายทอผ้าฯ ลดลงร้อยละ 17.9 ตลาดนำเข้าหลักคือจีน ญี่ปุ่น และไต้หวัน ผ้าผืนนำเข้าลดลงร้อยละ 1.7 ตลาดนำเข้าหลักคือจีน ญี่ปุ่น และไต้หวัน ผลิตภัณฑ์สิ่งทออื่นๆ นำเข้าลดลงร้อยละ 5.0 ตลาดนำเข้าหลักคือ จีน ญี่ปุ่น และฮ่องกง
ผลิตภัณฑ์ที่นำเข้าเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ได้แก่เส้นใยที่ใช้ในการทอ ร้อยละ 17.2 ตลาดนำเข้าหลักคือ ออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา และอินเดีย เสื้อผ้าสำเร็จรูปนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.5 ตลาดนำเข้าหลักคือจีน ฮ่องกง และอิตาลี และเครื่องจักรสิ่งทอนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 33.2 ส่วนใหญ่นำเข้าจากญี่ปุ่น เยอรมนีและไต้หวัน
4. แนวโน้ม
การผลิตผลิตภัณฑ์สิ่งทอและเสื้อผ้าสำเร็จรูป ในเดือนธันวาคม 2549 คาดว่าจะปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นต่อเนื่องจนถึงไตรมาสที่ 1 ปี 2550 แต่จะมีปัจจัยลบมากระทบ เช่น ปัญหาการแข็งค่าของค่าเงินบาทที่แข็งค่าอย่างต่อเนื่อง จะส่งผลกระทบต่อผู้ส่งออก ส่งผลให้แข่งขันได้ลำบากมากขึ้น ทั้งนี้ผู้ประกอบการอาจจะต้องแสวงหาตลาดใหม่เพื่อลดผลกระทบจากความเสี่ยงของตลาดหลัก
(ยังมีต่อ).../4. อุตสาหกรรมเหล็ก..

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ