เผยกลยุทธ์เอาตัวรอดของห้างสรรพสินค้า-ดิสเคาต์สโตร์ เรียกเก็บค่าวางสินค้าในห้างเพิ่มขึ้น จากผู้ผลิตเป็นเงินหลักแสน ชดเชยการขึ้นราคาสินค้าไม่ได้ เพราะรัฐบาลขอให้ตรึงราคาไว้ก่อน ผู้ผลิตแห่งร้องเรียนกรมการค้าภายใน เตรียมเรียกมาชี้แจง ขู่จะใช้กฎหมายแข่งขันทางการค้าเล่นงาน แต่เอกชนไม่เชื่อจะช่วยได้ แค่ "สหพัฒน์" แฉโดนขูดค่าโฆษณาเพิ่มด้วย ด้านอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กโทรนิกส์ ลดกำลังผลิตเหลือ 60% เพราะกำลังซื้อในประเทศ หดตัว
นายศิริพล ยอดเมืองเจริญ อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า กรมฯ ได้รับการร้องเรียนจากผู้ผลิตสินค้าทั้งรายใหญ่ รายกลาง และรายเล็กว่าห้างสรรพสินค้าและดิสเคาต์สโตร์ได้ปรับขึ้นค่าธรรมเนียมแรกเข้า (เอนทรานซ์ฟี) ในสินค้าบางรายการเพิ่มขึ้นมาก โดยอ้างว่าเป็นการชดเชยกับการที่ไม่สามารถปรับขึ้นราคาจำหน่ายสินค้าได้โดยตรง หลังจากที่กระทรวงพาณิชย์ขอความร่วมมือในการตรึงราคาสินค้าต่ออีก 3 เดือน ซึ่งจะสิ้นสุดวันที่ 30 มิ.ย.2548นี้
ผลจากการปรับเพิ่มค่าธรรมเนียมแรกเข้านี้ ส่งผลให้ผู้ผลิตสินค้ามีความจำเป็นต้องปรับราคาสินค้าเพิ่มเพื่อเป็นการชดเชยต้นทุนที่เพิ่มขึ้น นอกเหนือจากต้นทุนด้านราคาน้ำมันที่ขณะนี้ยอมรับว่าสินค้าบางรายการได้รับผลกระทบ แต่บางรายการกระทบน้อย
นายศิริพลกล่าวว่า จะเรียกห้างสรรพสินค้า และดิสเคาต์สโตร์แต่ละรายมาชี้แจงถึงกรณีดังกล่าวในเร็วๆนี้ โดยจะเรียกรายที่ได้รับการร้องเรียนมากเข้ามาก่อน รวมถึงจะเชิญผู้ผลิตมาชี้แจง เพื่อสอบถามความจริงด้วย
"เพราะบางทีอาจจะเป็นไปได้ว่า ผู้ผลิตจะใช้เหตุผลว่าห้างเรียกเก็บค่าเอนทรานซ์ฟีเพิ่มขึ้นนี้เป็นข้ออ้างในการขึ้นราคาสินค้าก็ได้ ซึ่งก็ต้องมาดูข้อเท็จจริงกัน" นายศิริพลกล่าว
อย่างไรก็ตาม หากเอนทรานซ์ฟีที่เรียกเก็บเพิ่มเป็นการตกลงและยินยอมของทั้ง 2 ฝ่ายก็ไม่น่ามีปัญหา สามารถไกล่เกลี่ยกันได้ แต่หากเป็นการเรียกเก็บเพิ่มขึ้นใหม่โดยที่ฝ่ายผู้ผลิตไม่ทราบมาก่อน ก็อาจเข้าข่ายมีความผิดตามตามมาตรา 29 ว่าด้วยเรื่องความไม่เป็นธรรมทางการค้าภายใต้กฎหมายแข่งขันทางการค้าพ.ศ.2542
สำหรับมาตรการ 29 มีเนื้อหาว่าด้วยเรื่องห้ามไม่ให้ผู้ประกอบธุรกิจกระทำใดๆ อันไม่ใช่การแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรม และมีผลเป็นการทำลาย ทำให้เสียหาย กีดกัน ขัดขวาง หรือจำกัดการประกอบธุรกิจของผู้ประกอบธุรกิจประเภทอื่น หรือเพื่อไม่ให้ผู้อื่นประกอบธุรกิจ หรือต้องล้มเลิกการประกอบธุรกิจ หากผู้ใดฝ่าฝืนจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ กรณีกระทำความผิดซ้ำต้องระวางโทษเป็นทวีคูณ
แหล่งข่าวจากหอการค้าไทย กล่าวว่า จริงๆ แล้ว การที่ผู้ผลิตสินค้าจะทำธุรกิจกับห้างฯ และดิสเคาท์สโตร์ แน่นอนว่าจะต้องจ่ายค่าอะไรต่างๆ มากมาย และมีการจ่ายกันเป็นปกติอยู่แล้ว ซึ่งที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์ก็ช่วยอะไรไม่ได้ ปล่อยให้ผู้ผลิตถูกเอาเปรียบมาโดยตลอด และการที่กระทรวงพาณิชย์จะเรียกห้างฯ และผู้ผลิตสินค้ามาคุย คงไม่ได้ตั้งใจช่วยจริงๆ เพียงแต่ต้องการที่จะหาคำตอบมาตอบประชาชนให้ได้ว่าสินค้าที่แพงขึ้นเป็นเพราะห้างฯ เอาเปรียบผู้ผลิต ผู้ผลิตเลยต้องขึ้นราคาสินค้า ผู้บริโภคก็ต้องซื้อสินค้าในราคาที่แพงขึ้น
***เก็บค่าโฆษณาสินค้าเพิ่ม
นายบุญฤทธิ์ มหามนตรี กรรมการผู้อำนวยการ บริษัทไลออน ประเทศไทย จำกัด บริษัทกลุ่มในเครือสหพัฒนพิบูลย์ กล่าวถึงการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมแรกเข้าของดิสเคาต์สโตร์ เพื่อชดเชยกับการที่ไม่สามารถปรับขึ้นราคาจำหน่ายสินค้าว่ เรื่องที่เกิดขึ้นเป็นความจริง และเห็นว่าไม่เป็นธรรมทางการค้า ส่วนอัตราการเรียกเก็บจะเป็นกี่เปอร์เซนต์ หรือคิดเป็นจำนวนเท่าไรต่อหน่วยราคาสินค้าแรกเข้า ก็ขึ้นอยู่กับการเจรจาต่อรองระหว่างทั้งสองฝ่าย ว่าฝ่ายใดมีอำนาจในการต่อรองมากกว่ากัน โดยเฉพาะผู้ผลิตสินค้าจะสามารถยอมรับในเงื่อนไขที่ทางห้างสรรพสินค้า และดิสเคาต์สโตร์วางไว้ได้หรือไม่ เช่น หากเป็นผู้ผลิตที่มีสินค้าเข้าไปจำหน่ายในห้างเหล่านี้จำนวนมาก ก็จะถูกเรียกเก็บค่าแรกเข้าจำนวนไม่มากนัก แต่หากเป็นผู้ผลิตที่มีสินค้าที่วางจำหน่ายจำนวนน้อยก็จะถูกเรียกเก็บค่าธรรมเนียมแรกเข้าจำนวนมากกว่า ยิ่งถ้าเป็นสินค้าที่มียอดขายไม่ดีนักก็จะถูกเรียกเก็บเป็นเงินจำนวนมากกว่าเช่นกัน
"เรื่องนี้ไม่อยากให้กรมการค้าภายในมองในมุมเดียวที่ว่าเป็นการยินยอมของทั้งสองฝ่าย แล้วไม่ผิดกฎหมาย แต่หลักการอยู่ตรงที่ว่า หากฝ่ายหนึ่ง มีอำนาจในการต่อรองตั้งเงื่อนไข เพื่อให้อีกฝ่ายหนึ่งยอมรับ ฝ่ายนั้นก็ต้องยอมรับในเงื่อนไขนั้นๆไม่มีสิทธิมีเสียงอะไร สัญญาที่เขียนไว้ก็ใช่ว่าจะสำคัญ แต่อยู่ที่ว่ามีความเป็นธรรมทางการค้าหรือไม่ ยิ่งหากเป็นผู้ค้าปลีกรายรายเล็กๆไม่มีเงินจ่ายก็จะลำบาก อย่างนี้ทางกรมการค้าภายในจะทำอย่างไร"
นายบุญฤทธิ์ ยังกล่าวอีกว่าตอนนี้ยังมีการเรียกเก็บค่าโฆษณาในหนังสือเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับสินค้า ที่ทางห้างสรรพสินค้า และดิสเคาต์สโตร์ จัดส่งให้กับลูกค้าที่มาซื้อสินค้าของตนเพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งทางผู้ผลิตสินค้าไม่ทราบเลยว่าโครงสร้างราคาเหล่านี้ที่ทางห้างสรรพสินค้า และดิสเคาต์สโตร์ อ้างว่ามีต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น แท้จริงมีจำนวนเท่าไร ซึ่งตรงนี้ทางกรมการค้าภายในก็น่าจะเข้าตรวจสอบ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมอย่างแท้จริง
***ชี้เสียเอนทรานซ์ฟีเพิ่มเป็นแสน
นายสมชาย พรรัตนเจริญ นายกสมาคมค้าส่ง-ปลีกไทย กล่าวว่า ขณะนี้ผู้ผลิตหลายรายถูกห้างสรรพสินค้า และดิสเคาต์สโตร์เรียกเก็บเอนทรานซ์ฟีในสินค้าบางรายการเพิ่มมากขึ้นจริง แต่ไม่มีใครกล้าเปิดเผยว่าถูกเรียกเก็บเพิ่มขึ้นเป็นเงินเท่าใด แต่เชื่อว่าเป็นเงินหลายแสนบาท อย่างไรก็ตาม แม้จะร้องเรียนกรมการค้าภายในไปแล้ว คงไม่สามารถช่วยเหลืออะไรได้ เพราะกรณีดังกล่าวเป็นการทำสัญญาระหว่างห้างสรรพสินค้า และดิสเคาต์สโตร์ กับผู้ผลิตสินค้า แม้ผู้ผลิตไม่ยินยอมจ่าย เพราะเห็นว่า เป็นพฤติกรรมทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม แต่ก็ต้องจำใจจ่ายให้ เพื่อให้สินค้าได้วางขายในดิสเคาต์สโตร์แห่งนั้น
"สินค้าที่ต้องการเข้าไปวางขายในห้างสรรพสินค้า หรือดิสเคาต์สโตร์ต้องถูกเรียกเก็บเอนทรานซ์ฟีอยู่แล้ว มากบ้างน้อยมากตามศักยภาพของสินค้า เช่น สินค้าบางอย่างที่ยังไม่ติดตลาด ต้องการการโปรโมตก็ต้องเสียมากหน่อย อาจจะเกิน 300,000 บาท แต่หากสินค้าติดตลาดแล้ว มีอำนาจต่อรองมาก ก็เสียน้อยหน่อย"
***ผงชูรส-นมผงขึ้นราคา
ส่วนการที่กรมการค้าภายในขอความร่วมมือตรึงราคาสินค้าต่อไปอีกนั้น นายสมชาย เห็นว่า สินค้าในสต๊อกเดิมที่ยังไม่ได้รับกระทบจากการปรับขึ้นราคาน้ำมันดีเซล ยังสามารถขายในราคาเดิมได้ต่อไปได้อีกเพียง 1-2 เดือนเท่านั้น หลังจากนั้นคงทยอยปรับขึ้นราคา ส่วนสินค้าสต๊อกใหม่ ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำมันดีเซลแล้ว กรมการค้าภายในน่าจะให้ผู้ผลิตได้ปรับราคาขึ้นบ้าง เพราะต้นทุนเพิ่มขึ้นจริงๆ
"ขณะนี้ สินค้าที่ผู้ผลิตแจ้งปรับราคามาแล้ว เช่น ผงชูรส ยี่ห้ออายิโนะโมะโตะ โดยขนาด 250 กรัม 500 กรัม และ 1000 กรัม ปรับขึ้นเฉลี่ยขนาดละ 10% ส่วนขนาด 52 กรัม ที่ขายราคา 5 บาท ยังคงขายราคาเดิม แต่ผู้ผลิตลดปริมาณลงเหลือ 48 กรัม นอกจากนี้ อาจจะมีนมผง นมสดพาสเจอร์ไรส์ที่จะทยอยปรับขึ้นราคาอีก ขณะที่สินค้าอื่นๆ เช่น ผงซักฟอก สบู่ ยาสีฟัน แชมพูสระผม ได้ปรับขึ้นไปแล้วตั้งแต่ต้นปี ส่วนน้ำมันพืช ที่ผู้ผลิตจะปรับขึ้นราคา เพราะต้นทุนวัตถุดิบในการผลิตขวดพลาสติกปรับขึ้นราคานั้น ขณะนี้ คงไม่ปรับแล้ว เพราะผลผลิตปาล์มออกสู่ตลาดมาก ราคาต่ำ จึงน่าจะชดเชยกันได้"นายสมชายกล่าว
***อุตฯไฟฟ้าลดกำลังการผลิต
แหล่งข่าวจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า จากกรณีของราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นและค่าไฟฟ้ามีการปรับตัวเพิ่มอีก 3.55 สตางค์ต่อหน่วย ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนและภาวะเศรษฐกิจโลกที่เริ่มชะลอตัวลง ส่งผลให้อุตสาหกรรมบางกลุ่ม เช่นเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมอาหารที่ใช้ปลาทะเลเป็นวัตถุดิบ เริ่มปรับลดกำลังการผลิตจาก 70-75% ของกำลังการผลิตทั้งหมด เหลือเพียง 60% เพื่อให้สอดคล้องกับคำสั่งซื้อที่ลดลงจากสภาพกำลังซื้อของผู้บริโภคที่เริ่มเกิดภาวะชะลอตัว
" ราคาจำหน่ายสินค้าในประเทศแม้จะมีการปรับขึ้นแต่ยังไม่ครอบคลุมต้นทุน เพราะหากปรับราคามากก็จะมีผลต่อยอดขาย เพราะ ต้องยอมรับว่าขณะนี้เศรษฐกิจอยู่ในช่วงตกต่ำ จนทำให้ประชาชนชะลอกำลังซื้อ เพราะต้องระมัดระวังในการประหยัดเนื่องจากค่าใช้จ่ายจะมีมากขึ้นทั้งน้ำมันและค่าไฟที่แพงขึ้น "แหล่งข่าวกล่าว
ทั้งนี้ สถานการณ์ดังกล่าว จะต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะในช่วง ครึ่งปีหลังจากนี้ โดยหากปัจจัยต่างๆ ยังไม่ปรับไปในทิศทางที่ดีขึ้นอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ตั้งเป้าไว้ว่าจะมีการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(จีดีพี) 4% ก็จะเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายนัก
แหล่งข่าวจากผู้ประกอบการกลุ่มไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ กล่าวว่า การลดกำลังการผลิตของภาคอุตสาหกรรม เป็นสิ่งที่ต้องขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้บริโภค ซึ่งต้องยอมรับว่าตอนนี้สมาชิกในกลุ่มหลายรายเริ่มที่จะพูดถึงผลกระทบของกำลังซื้อของผู้บริโภคที่เริ่มอยู่ในภาวะชะลอตัว เพราะประชาชนต้องประหยัดมากขึ้น ประกอบกับสินค้าจีนได้เข้ามาดัมพ์ตลาด เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในปริมาณสูง
ครึ่งปีหลังนี้ จะเป็นช่วงวัดผลการปรับตัวของผู้ประกอบการ หากรายใดที่สามารถปรับตัวในด้านของต้นทุนการผลิตก็จะสามารถอยู่รอดได้ แต่หากรายใดยังไม่มีการปรับตัวอาจจะถึงเวลาที่ต้องล้มเลิกกิจการไปในที่สุด"แหล่งข่าวกล่าว
ที่มา: หอการค้าไทย www.thaiechamber.com
-ดท-