กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ศึกษาผลการเปิดตลาดเคมีภัณฑ์ไทยภายใต้ FTA กับออสเตรเลีย นิวซีแลนด์และอินเดีย พบไม่มีผลกระทบ เพราะไทยยังผลิตใช้ในประเทศไม่เพียงพอต่อความต้องการส่วนใหญ่นำเข้าเคมีภัณฑ์ขั้นต้น และขั้นกลางมาผลิตเคมีภัณฑ์ปลายน้ำ
นางสาวชุติมา บุณยประภัศร อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่ากรมฯ ได้ศึกษาผลของการเปิดตลาดเคมีภัณฑ์ภายใต้กรอบ FTA ของไทยกับออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ จีนและอินเดีย โดยรวมการเปิดตลาดเคมีภัณฑ์กับออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ จะไม่ส่งผลกระทบให้มีการนำเข้ามากขึ้น เพราะในปี 2006 โครงสร้างภาษีของไทยส่วนใหญ่เป็น 0 อยู่แล้วและออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ก็ไม่ใช่แหล่งนำเข้าหลักของไทย แต่สินค้าบางรายการของสีทาและวาร์นิชเป็นสินค้าที่มีความอ่อนไหวสูงของไทย โดยไทยจะลดภาษีเป็น 0 ในปี 2015
ส่วนการเปิดตลาดเคมีภัณฑ์กับจีน เนื่องจากไทยนำเข้าเคมีภัณฑ์จากจีนอันดับ 2 รองจากญี่ปุ่น และไทยยังมีความต้องการนำเข้าเคมีภัณฑ์มาผลิตเคมีภัณฑ์ขั้นปลายมาก จึงยังเก็บภาษีร้อยละ 1 และจะลดภาษีเป็น 0 ในปี 2009 อย่างไรก็ตาม สินค้าบางรายการของสีทาและวาร์นิช และสารแอลบูมินอยด์เป็นสินค้าอ่อนไหวสูงของจีน จีนยังคงเก็บภาษีเท่าเดิม สำหรับการเปิดตลาดกับอินเดีย คงไม่มีผลกระทบต่อไทยทั้งด้านนำเข้าและส่งออก เพราะไทยและอินเดียมีการเปิดตลาดเคมีภัณฑ์เพียง 4 รายการเท่านั้น
ออสเตรเลียมีการเก็บภาษีเคมีภัณฑ์ไทยในอัตรา 0% มาตั้งแต่ปี 2006 แต่มีเคมีภัณฑ์บางรายการที่เก็บภาษี 0% ในปี 2008 เช่น สไตรีน ฟีนอลและเกลือของฟีนอล แอลกฮอล์เพอร์ออกไซด์ อีเทอร์เพอร์ออกไซด์ คีโทนและมีเคมีภัณฑ์เบ็ดเตล็ด 1 รายการ คือ ของเสียจากสถานพยาบาล ที่ออสเตรเลียจะลดภาษีเป็น 0 ในปี 2010 ส่วนนิวซีแลนด์ ได้ลดภาษีเคมีภัณฑ์เป็น 0 แล้ว
สำหรับจีน ยังคงเก็บภาษีเคมีภัณฑ์จากไทยในอัตราร้อยละ 1- 10 โดยส่วนใหญ่ภาษีจะเป็น 0ในปี 2009 โดยเป็นสินค้าเคมีภัณฑ์เบื้องต้น คือ เคมีภัณฑ์อนินทรีย์ เคมีภัณฑ์อินทรีย์ และเคมีภัณฑ์เบ็ดเตล็ด เช่น อะลูมิเนียมออกไซด์ แคลเซียมไฮโพคลอไรด์ เป็นต้น และอินเดีย มี 4 รายการ ได้แก่ กรดอนินทรีย์อื่นๆ อะลูมิเนียมออกไซด์ อะลูมิเนียมไฮดอกไซด์ และกรดอะโรมาติกโพลิคาร์บอกซิลอกอื่นๆ ซึ่งมีภาษีเป็น 0 แล้ว ตั้งแต่ปี 2006
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เลขที่ 44/100 ถ.นนทบุรี1 ต. บางกระสอ อ. เมือง จ. นนทบุรี 11000
โทรศัพท์ (66) 2507-7444 แฟกซ์ (66) 2547-5630
-พห-