รายงานดัชนีราคาสินค้าส่งออก ประจำเดือน มิ.ย.48

ข่าวเศรษฐกิจ Monday July 4, 2005 12:01 —สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า

ดัชนีราคาสินค้าส่งออก เดือนมิถุนายน 2548 และระยะ 6 เดือนแรกของปี 2548
กระทรวงพาณิชย์ รายงานความเคลื่อนไหว ดัชนีราคาส่งออกของประเทศเดือนมิถุนายน 2548 และระยะ 6 เดือนแรกของปี 2548 โดยสรุป
การประมวลผลดัชนีราคาส่งออกในปี 2548 ใช้มูลค่าส่งออกปี 2547 จากกรมศุลกากรเป็นตัวถ่วงน้ำหนัก สินค้าที่ใช้คำนวณจำนวน 793 รายการ ครอบคลุม 4 หมวดใหญ่ คือ หมวดสินค้าเกษตรกรรม หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร หมวดสินค้าอุตสาหกรรม และหมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง ตามโครงสร้างเป้าหมายสินค้าส่งออกของกระทรวงพาณิชย์
1. ดัชนีราคาส่งออกของประเทศเดือนมิถุนายน 2548 (รูปเงินเหรียญสหรัฐฯ)
ปี 2543 ดัชนีราคาส่งออกของประเทศ เท่ากับ 100 และเดือนมิถุนายน 2548 เท่ากับ 111.6
2. การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาส่งออกของประเทศเดือนมิถุนายน 2548 เทียบกับ
2.1 เดือนพฤษภาคม 2548 ดัชนีไม่เปลี่ยนแปลง
2.2 เดือนมิถุนายน 2547 สูงขึ้นร้อยละ 8.2
2.3 เฉลี่ย 6 เดือนแรก (มกราคม - มิถุนายน 2548) เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2547 สูงขึ้นร้อยละ 7.4
3. ดัชนีราคาส่งออกของประเทศเดือนมิถุนายน 2548 เทียบกับเดือนพฤษภาคม 2548
ดัชนีราคาส่งออกไม่เปลี่ยนแปลง ดัชนีราคาหมวดสินค้าเกษตรกรรม หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตรและหมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิงสูงขึ้น ร้อยละ 1.0, 0.4 และ 4.0 ตามลำดับ สำหรับหมวดสินค้าอุตสาหกรรมดัชนีราคาส่งออกลดลง ร้อยละ 0.5 โดยมีการเคลื่อนไหวของราคาสินค้าที่สำคัญ ดังนี้
3.1 หมวดสินค้าเกษตรกรรม ดัชนีราคาส่งออกสูงขึ้น ร้อยละ 1.0
สินค้าสำคัญที่ราคาสูงขึ้น ได้แก่
- ยางพารา ราคาส่งออก (F.O.B.) สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากระยะนี้เป็นช่วงฝนตกชาวสวนไม่สามารถกรีดยางได้ ประกอบกับตลาดมาเลเซีย มีความต้องการน้ำยางข้นมากขึ้น อีกทั้งตลาดจีนและสหรัฐอเมริกาต้องการยางแผ่นรมควันสูง เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมรถยนต์และถุงมือ
สินค้าสำคัญที่ราคาลดลง ได้แก่
- กุ้ง เพราะมีการแข่งขันด้านราคาในตลาดญี่ปุ่น ทำให้ราคาส่งออกของประเทศไทยลดลง ประเทศคู่แข่งที่สำคัญของไทย ได้แก่ อินเดีย เวียดนาม และอินโดนีเซีย
3.2 หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร ดัชนีราคาส่งออกสูงขึ้น ร้อยละ 0.4
สินค้าสำคัญที่ราคาสูงขึ้น ได้แก่
- น้ำตาล ราคาสูงขึ้นตามราคาตลาดโลก เนื่องจากมีการสั่งซื้อหลังจากได้ชะลอการสั่งซื้อเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา
- ข้าวโพดกระป๋องและแปรรูป เนื่องจากบรรจุภัณฑ์ (กระป๋อง) และวัตถุดิบ เช่นข้าวโพด รวมทั้งค่าขนส่งภายในและภายนอกประเทศปรับตัวสูงขึ้นตามภาวะราคาน้ำมันในตลาดโลก ตลาดส่งออกที่สำคัญได้แก่ อังกฤษและอิตาลี
3.3 หมวดสินค้าอุตสาหกรรม ดัชนีราคาส่งออกลดลง ร้อยละ 0.5
สินค้าสำคัญที่ราคาลดลง ได้แก่
- เครื่องอิเลคทรอนิคส์ ราคาวัตถุดิบหลัก (ทองแดง) ที่ใช้ในการผลิตแผงวงจร ปรับตัวลดลงตามราคาตลาดโลก ส่งผลให้สินค้าที่ส่งออกไปประเทศคู่ค้า (เอเชีย) ต้องปรับราคาลดลง
สินค้าสำคัญที่ราคาสูงขึ้น ได้แก่
- รองเท้าและชิ้นส่วน ผลจากการเปลี่ยนรูปแบบสินค้า ทำให้เป็นที่ต้องการของตลาด (สหรัฐอเมริกา)
3.4 หมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง ดัชนีราคาส่งออกเพิ่มขึ้น ร้อยละ 4.0
สินค้าสำคัญที่ราคาเพิ่มขึ้น ได้แก่
- น้ำมันดิบ ราคาปรับตัวสูงขึ้นตามราคาตลาดโลก
4. ดัชนีราคาส่งออกของประเทศระยะ 6 เดือนแรก (มกราคม - มิถุนายน) ของปี 2548
ดัชนีราคาส่งออกของประเทศระยะ 6 เดือนแรกของปี 2548 เท่ากับ 110.9 เทียบกับ ดัชนีราคาเฉลี่ยช่วงเดียวกันของปี 2547 สูงขึ้น ร้อยละ 7.4
4.1 หมวดสินค้าเกษตรกรรม ดัชนีราคาสูงขึ้น ร้อยละ 4.9 จากการสูงขึ้นของสินค้า
- สินค้ากสิกรรม ได้แก่ ข้าว กาแฟดิบ ถั่ว ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ผักและผลไม้สด แช่เย็นแช่แข็งและแห้ง และใบยาสูบ
- สินค้าประมง ได้แก่ ปลาหมึก ปลา กบ และตะพาบน้ำ
- สินค้าปศุสัตว์ ได้แก่ สุกรสดแช่เย็นแช่แข็ง
4.2 หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร ดัชนีราคาส่งออกสูงขึ้น ร้อยละ 11.1 จากการสูงขึ้นของน้ำตาลทรายและกากน้ำตาล อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ผักและผลไม้กระป๋องและแปรรูป
4.3 หมวดสินค้าอุตสาหกรรม ดัชนีราคาส่งออกสูงขึ้น ร้อยละ 6.4 จากการสูงขึ้นของเหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์เหล็ก ผลิตภัณฑ์พลาสติก อัญมณีและเครื่องประดับ และ ผลิตภัณฑ์ยาง
4.4 หมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง ดัชนีราคาส่งออกสูงขึ้นร้อยละ 27.8 จากการสูงขึ้นของ น้ำมันดิบ และแร่ยิบซั่ม
ที่มา: สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงพาณิชย์ โทร.0-2507-5802 โทรสาร.0-2507-5825

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ