สรุปภาวะการส่งออกของประเทศไทยปี 2549

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday March 8, 2007 10:55 —กรมส่งเสริมการส่งออก

1. ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท) คาดการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ปี 2550 จะโตประมาณ 4.0-5.0% ขณะที่ดุลบัญชีเดินสะพัดจะเกินดุลที่ 2.5-4.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งนี้ธปทคาดการณ์ว่าการส่งออกในปี 50 จะเติบโตที่ 7.5-10.5%ขณะที่การนำเข้าจะขยายตัวที่ 7.0-11.0%
2. ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกสำคัญอันดับที่ 24 ของโลก สัดส่วนการส่งออกประมาณร้อยละ 1.16 (ปี 2548) ในตลาดโลก
3. ประเทศไทยเป็นผู้นำเข้าสำคัญอันดับที่ 21 ของโลกของปี 2548 มีสัดส่วนการนำเข้าประมาณร้อยละ 1.20 ของการนำเข้าในตลาดโลก
4. การค้าของไทยปี 2549 มีมูลค่า 256,574.60 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.97 แยกเป็นการส่งออกมูลค่า 129,744.12 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.94 หรือคิดเป็นร้อยละ 99.58 ของเป้าหมายการส่งออกที่ 130,288 ล้านเหรียญสหรัฐ การนำเข้ามีมูลค่า 126,830.48 ล้านเหรียญสหรัฐฯเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.31 ไทยได้เปรียบดุลการค้า เป็นมูลค่า 2,913.65 ล้านเหรียญสหรัฐ
5. การส่งออกสินค้าไทยไปภูมิภาคต่างๆ มีสัดส่วนและภาวะการส่งออก ดังนี้
การส่งออกสินค้าไทยไปภูมิภาคต่างๆ ปี 2549
ภูมิภาคต่างๆ มูลค่า (ล้านเหรียญสหรัฐ) %เปลี่ยนแปลง
2548 2549 ปี 2549
1. อเมริกาเหนือ(สหรัฐฯ แคนาดา) 18,181.72 20,769.30 14.23
2. ยุโรป (EU25) 15,025.21 17,920.57 19.27
3. เอเซียตะวันออก 35,623.81 41,539.79 16.61
4. อาเซียน (9) 24,397.73 27,040.03 10.83
5. จีนและฮ่องกง 15,333.12 18,875.79 23.10
6. อินเดีย 1,529.72 1,803.58 17.90
สถิติการส่งออกสินค้าไทยไปแต่ละภูมิภาค
5.1 การส่งออกไปภูมิภาคอเมริกาเหนือ (สหรัฐฯ แคนาดา) ปี 2549 มีมูลค่า 20,769.30 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.23 หรือคิดเป็นร้อยละ 100.15 ของเป้าหมายการส่งออกที่ 20,737 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2549 โดยการส่งออกไปสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.46 ส่วนการส่งออกไปแคนาดาเพิ่มขึ้นร้อยละ 19.64
จากสถิติการส่งออกสินค้าไทยไปสหรัฐฯ 50 อันดับแรกพบว่าสินค้าเป้าหมายส่งออกที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงมากกว่าร้อยละ 80 มี 1 รายการได้แก่ เครื่องคอมเพรสเซอร์ของเครื่องทำความเย็น สินค้าที่เพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 50 ได้แก่ เหล็ก เหล็ก-กล้าและผลิตภัณฑ์ สินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มมากกว่าร้อยละ 50 มี 2 รายการ ได้แก่ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ เครื่องยนต์สันดาปภายในแบบลูกสูบและส่วนประกอบ สินค้าที่มีมูลค่าลดลงมากกว่าร้อยละ 40 ได้แก่ วงจรพิมพ์
- ตลาดแคนาดา เมื่อสังเกตจากสถิติการส่งออกสินค้าไทยไปตลาดนี้ในปี 2549 ซึ่งมีมูลค่า 1,238.70 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.64 จากสินค้า 50 อันดับแรกส่งออกไปแคนาดาพบว่ามีสินค้าส่งออกเพิ่มขึ้นในอัตราสูง ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เพิ่มขึ้นร้อยละ 272.49 และสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 100 ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เลนส์ สินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 50 มี 7 รายการ ได้แก่ เหล็ก เหล็กกล้า และผลิตภัณฑ์ เครื่องกีฬาและเครื่องเล่นเกม เครื่องใช้บนโต๊ะอาหาร ในครัว และบ้านเรือน ไก่แปรรูป เครื่องโทรสาร โทรพิมพ์ โทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบรถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ สินค้าที่มีมูลค่า ลดลง มากกว่าร้อยละ 40 ได้แก่ เตาอบไมโครเวฟ และเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ให้ความร้อน
5.2 ยุโรป (EU25) การส่งออกสินค้าไทยไปยุโรปในปี 2549 มีมูลค่า 17,920.57 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.27 หรือ คิดเป็นร้อยละ 109.79 ของเป้าหมายการส่งออกที่มูลค่า 16,322 ล้านเหรียญสหรัฐ
- สหภาพยุโรป (15) สินค้าไทยส่งออกไปสหภาพยุโรปในเดือน ปี 2549 มีมูลค่า 16,950.41 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.35 จากสินค้าสำคัญ 50 อันดับแรกส่งออกไปตลาดนี้พบว่ามีสินค้าที่สามารถส่งออกได้เพิ่มขึ้นสูงกว่าร้อยละ 50 มี 1 รายการ คือ รถจักรยานและส่วนประกอบ เพิ่มขึ้นสูงกว่าร้อยละ 30 ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบอื่นๆ รถยนต์อุปกรณ์และส่วนประกอบ ยางพารา เหล็ก เหล็กกล้า และผลิตภัณฑ์ เครื่องยนต์สันดาปภายในแบบลูกสูบและส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ อาหารสัตว์เลี้ยง เนื้อปลาสดแช่เย็น แช่แข็ง เนื้อสัตว์และของปรุงแต่งที่ทำจากเนื้อสัตว์ สินค้าที่มีมูลค่าลดลง มากกว่าร้อยละ 40 ได้แก่ ดีบุก
- ยุโรปตะวันออก สินค้าไทยส่งออกไปยุโรปตะวันออกในเดือน ปี 2549 มีมูลค่า 1,510 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 35.9 สินค้าที่สามารถขยายการส่งออกไปตลาดนี้ได้เพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 100 ได้แก่ วงจรพิมพ์ เตาอบไมโครเวฟและเครื่องไฟฟ้าที่ให้ความร้อน เครื่องโทรสาร โทรพิมพ์ ก๊อก วาวล์และส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้า ผักกระป๋องและแปรรูป อุปกรณ์กึ่งตัวนำทรานซิสเตอร์และไดโอด ทองแดงและ ของ ทำด้วยทองแดง เครื่องกีฬาและเครื่องเล่นเกม ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง เครื่องอุปกรณ์ไฟฟ้าสำหรับจุดระเบิดเครื่องยนต์ กุ้งสดแช่เย็นแช่แข็ง ผลิตภัณฑ์เภสัชภัณฑ์ สินค้าที่มีมูลค่าลดลง กว่าร้อยละ 40 ได้แก่ เครื่องรับวิทยุโทรทัศน์ และส่วนประกอบ
- ตลาดในยุโรปตะวันออกที่ไทยสามารถขยายการส่งออกได้เพิ่มขึ้นสูงกว่าร้อยละ 100 ได้แก่ สาธารณรัฐสโลวัก เบรารุส โดยขยายตัวร้อยละ 389.57 และ 207.06 ตามลำดับ ประเทศที่มีสถิติลดลง ได้แก่ สโลวิเนีย เติร์กเมนิสถาน อุชเบกิสถาน อาร์เมเนียและคีร์กิชสถาน ยูโกสลาเวีย มอลโดวา เป็นต้น
5.3 เอเชียตะวันออก (ญี่ปุ่น ไต้หวัน และเกาหลีใต้): การส่งออกสินค้าไทยไปยังเอเชียตะวันออกในปี 2549 มีมูลค่า 41,539.79 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.61 หรือ คิดเป็นร้อยละ 175.38 ของเป้าหมายการส่งออกที่ 23,685 ล้านเหรียญสหรัฐ
- ญี่ปุ่น การส่งออกสินค้าไทยไปญี่ปุ่นในปี 2549 มีมูลค่า 16,430.57 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.83 จากสถิติสินค้าไทย 50 อันดับแรกส่งออกไปตลาดนี้มีสินค้าที่สามารถ ส่งออกได้เป็นมูลค่าเพิ่มขึ้นสูงกว่าร้อยละ 100 มี 1 รายการ คือ ทองแดงและของทำด้วยทองแดง ส่วนสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้น มากกว่าร้อยละ 30 ได้แก่ ยางพารา เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์อลูมิเนียม เครื่องยนต์สันดาปภายในแบบลูกสูบและส่วนประกอบหม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ ของเบ็ดเตล็ดทำด้วยโลหะสามัญ ก๊อก วาวล์และส่วนประกอบ สินค้าที่มีมูลค่าลดลง มากกว่าร้อยละ 20 ได้แก่ เครื่องปรับอากาศและอุปกรณ์ เครื่องโทรสาร โทรพิมพ์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ
- ไต้หวัน การส่งออกสินค้าไทยไปไต้หวันในปี 2549 มีมูลค่า 3,367.07 ล้านเหรียญสหรัฐเพิ่มขึ้นร้อยละ 23.70 จากสถิติสินค้าไทยเป้าหมาย 50 อันดับแรกส่งออกไปตลาดนี้มีสินค้าที่สามารถขยายการส่งออกได้เพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 100 มี 2 รายการ ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์อุปกรณ์และส่วนประกอบ ทองแดงและของทำด้วยทองแดง สินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้น มากกว่าร้อยละ 60 ได้แก่ หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ สินค้าที่มีมูลค่าลดลง มากกว่าร้อยละ 40 ได้แก่ หนังและผลิตภัณฑ์หนังฟอกหนังอัด ผลิตภัณฑ์เซรามิก
- เกาหลีใต้ การส่งออกสินค้าไทยไปเกาหลีใต้ในปี 2549 มีมูลค่า 2,643.78 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.05 จากสถิติการส่งออกสินค้าไทยไปตลาดนี้ 50 อันดับแรกมี สินค้าที่สามารถขยายการส่งออกได้เพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 100 มี 1 รายการ ได้แก่ ทองแดงและของที่ทำด้วยทองแดง สินค้าที่เพิ่มขึ้น มากกว่าร้อยละ 50 คือ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ เครื่องตัดต่อและป้องกันวงจรไฟฟ้า เลนซ์ ผลิตภัณฑ์อลูมิเนียม ผักกระป๋องและแปรรูป เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ และเครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์ สินค้าที่มีมูลค่าลดลง มากกว่าร้อยละ 50 ได้แก่ น้ำตาลทรายมอเตอร์เครื่องกำเนิดไฟฟ้า และอัญมณีและเครื่องประดับ
5.4 อาเซียน(9) : การส่งออกสินค้าไทยเป้าหมายไปตลาดอาเซียนในปี 2549 มีมูลค่า 27,040.03 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.83 หรือคิดเป็นร้อยละ 94.38 ของเป้าหมายการส่งออกที่ 28,650 ล้านเหรียญสหรัฐ จากสถิติการส่งออกสินค้าไทยไปตลาดนี้ 50 รายการแรก สินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้น สูงกว่าร้อยละ 70 มี 1 รายการคือ ทองแดงและของที่ทำด้วยทองแดง สินค้า ที่เพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 50 ได้แก่ ยางพารา ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ สินค้าที่มีมูลค่าลดลง มากกว่าร้อยละ 50 ได้แก่ วงจรพิมพ์
ตลาดในกลุ่มอาเซียนไทยสามารถขยายการส่งออกได้เพิ่มขึ้น 8 ตลาดและลดลง 1 ตลาดคือ อินโดนีเซีย เนื่องจากมีสินค้าสำคัญส่งออกไปอินโดนีเซียลดลงมากกว่าร้อยละ 16.86 มีหลายรายการ ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ เหล็ก เหล็กกล้าและส่วนประกอบ เครื่องยนต์สันดาปภายในแบบลูกสูบและส่วนประกอบ รถจักรยานยนต์และ ส่วนประกอบ น้ำตาลทราย เครื่องปรับอากาศ เป็นต้น
5.5 จีนและฮ่องกง : มูลค่าการส่งออกสินค้าไทยไปจีนและฮ่องกงในเดือนปี 2549 มีมูลค่า 18,875.79 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 23.10 หรือคิดเป็นร้อยละ 94.72 ของเป้าหมายการส่งออกที่มีมูลค่า 19,926 ล้านเหรียญสหรัฐ
- จีน การส่งออกสินค้าไทยไปจีนในปี 2549 มีมูลค่า 11,708.88 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 27.72 จากสถิติการส่งออกสินค้าไทยไปจีน 50 อันดับแรกมีสินค้า ที่สามารถขยายการส่งออกไปจีนได้เพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 100 ได้แก่ เคมีภัณฑ์ ของเบ็ดเตล็ดทำด้วยโลหะสามัญ ผลิตภัณฑ์ยาง วงจรพิมพ์ เลนซ์ น้ำตาลทราย ไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ สินค้าที่มีมูลค่าลดลงมากกว่าร้อยละ 50 มี 1 รายการคือ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์
- ฮ่องกง การส่งออกสินค้าไทยไปฮ่องกงในปี 2549 มีมูลค่า 7,166.91 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.24 จากสถิติการส่งออกสินค้าไทย 50 อันดับแรกมีสินค้าเป้าหมายที่สามารถขยายการส่งออกได้เพิ่มขึ้นมากกว่า 100 ได้แก่ ยางพารา แผงสวิทซ์และแผงควบคุมกระแสไฟฟ้า สินค้าที่มีมูลค่าลดลง มากว่าร้อยละ 30 ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบอื่นๆ เครื่องอุปกรณ์ไฟฟ้าสำหรับสัญญาณเสียงและส่วนประกอบ
5.6 อินเดีย : การส่งออกสินค้าไทยไปอินเดียในปี 2549 มีมูลค่า 1,803.58 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.90 หรือคิดเป็นร้อยละ 73.67 ของเป้าหมายการส่งออกที่มูลค่า 2,448 ล้านเหรียญสหรัฐจากสถิติการส่งออกสินค้าไทยไปตลาดนี้ 50 อันดับแรก มีสินค้าที่ขยายการส่งออกได้เพิ่มขึ้นสูงมากกว่าร้อยละ 100 ได้แก่ เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์อลูมิเนียม ทองแดงและของที่ทำด้วยทองแดง แผงวงจรไฟฟ้า หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ ขมันและน้ำมัน จากพืช สัตว์ เครื่องมือแพทย์และอุปกรณ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง เครื่องซักผ้าและเครื่องซักแห้งและส่วนประกอบ ผ้าปักและผ้าลูกไม้ แร่ยิปซัม แม่พิมพ์หุ่นแบบหล่อโลหะ สินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้น มากกว่าร้อยละ 50 ได้แก่ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์อลูมิเนียม เครื่องสำอาง ตู้เย็น ตู้แช่แข็งและส่วนประกอบ กระดาษ ผลิตภัณฑ์ยาง
6. โครงสร้างสินค้าส่งออกของไทยประกอบด้วย
1. สินค้าเกษตรกรรม ร้อยละ 9.99
2. สินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร ร้อยละ 6.07
3. สินค้าอุตสาหกรรม ร้อยละ 77.18
4. สินค้าแร่และเชื้อเพลิงและอื่นๆ ร้อยละ 6.75
6.1 การส่งออกสินค้าเกษตรกรรม (กสิกรรม ประมงและปศุสัตว์) ในช่วงปี 2549 มีมูลค่า 12,967.60 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 24.12 ในขณะที่ปี 2548 ทั้งปีเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 1.14 ทั้งนี้เพราะปีนี้ผลผลิตสินค้ากสิกรรมในช่วงต้นปีมีปริมาณและคุณภาพดีเพราะสภาพดินฟ้าอากาศเอื้ออำนวย และสามารถขยายการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 24.12 และ การส่งออกไปยังตลาดหลักได้เพิ่มขึ้น ซึ่งสามารถสังเกตได้จากสถิติการส่งออกไปตลาดหลัก 15 อันดับแรกพบว่าไม่มีตลาดไหนที่มีสถิติลดลง โดยเฉพาะเวียดนาม อิหร่าน และอินโดนีเซีย เพิ่มขึ้นสูงกว่าร้อยละ 100 เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 30 ได้แก่ จีน มาเลเซีย และบราซิล สินค้าเกษตรกรรมที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยางพารา กุ้งสดแช่เย็นแช่แข็ง ข้าวหอมมะลิ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ถั่วต่างๆ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ส่วนสินค้าประมงเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.92 และสินค้าปศุสัตว์เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.10
6.2 การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตรในปี 2549 มีมูลค่า 7,877.34 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.34 เมือสังเกตุจากสถิติการส่งออกไปตลาดสำคัญ 15 อันดับแรกพบว่า สามารถขยายการส่งออกได้เพิ่มขึ้น 12 ตลาดโดยเฉพาะจีน กัมพูชา และ เวียดนามขยายตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 88.58 30.88 และ 29.95 ตามอันดับ ส่วนตลาดหลักที่สำคัญโดยเฉพาะสหรัฐ ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.33 3.72 และ 10.63 ตามลำดับ
สินค้าอุตสาหกรรมการเกษตรที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้นเกินกว่าร้อยละ 10 ได้แก่ อาหารทะเล-แปรรูป ผลไม้กระป๋องและแปรรูป อาหารสัตว์เลี้ยง สิ่งปรุงรสอาหาร เป็นต้น
สินค้าอุตสาหกรรมการเกษตรที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้นเกินกว่าร้อยละ 20 เช่น ผักกระป๋องและแปรรูป น้ำผลไม้ สิ่งปรุงรสอื่นๆ ส่วนสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้นน้อยกว่าร้อยละ 10 ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ข้าว เครื่องดื่มและไอศครีม สินค้าอุตสาหกรรมการเกษตรที่มีมูลค่าลดลง เช่น ปลาทูน่า ปูกระป๋อง กากน้ำตาล ผลปรุงรส เป็นต้น
6.3 การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมในช่วงปี 2549 มีมูลค่า 100,136.36 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.39 สินค้าในหมวดนี้มีทั้งสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีระดับสูง ระดับกลาง และอุตสาหกรรมขั้นพื้นฐาน ในภาพรวมของการส่งออกไปยังตลาดสำคัญ 15 อันดับแรก พบว่าสามารถขยายการส่งออกได้เพิ่มขึ้น 14 ตลาดและลดลง 1 ตลาด ดังนี้
- ตลาดที่สามารถขยายการส่งออกได้เพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 30 ได้แก่ ออสเตรเลีย และเวียดนาม
- ตลาดที่สามารถขยายการส่งออกได้เพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 20 ได้แก่ จีน ไต้หวัน สหราชอาณาจักร เนเธอร์แลนด์ ฟิลิปปินส์
- ตลาดที่สามารถขยายการส่งออกได้เพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 10 ได้แก่ สหรัฐฯ ฮ่องกง เยอรมนี เกาหลีใต้ และเยอรมนี
- ตลาดที่ขยายการส่งออกได้น้อยกว่าร้อยละ 10 ได้แก่ ญี่ปุ่น สิงคโปร์และมาเลเซีย
- ส่วนตลาดที่มีสถิติการส่งออกลดลงมีตลาดเดียว คือ อินโดนีเซีย ลดลงร้อยละ 10.83 เนื่องจากมีสินค้าอุตสาหกรรมหลายรายการที่ส่งออกไปตลาดนี้ลดลง เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องยนต์สันดาปภายในและลูกสูบและส่วนประกอบ รถจักรยานและส่วนประกอบ น้ำตาลทราย เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ เส้นใยประดิษฐ์ เป็นต้น
7. ข้อคิดเห็น
7.1 เศรษฐกิจไทยปี 2550 จะเป็นอย่างไรเป็นเรื่องที่คาดการณ์ค่อนข้างยาก เนื่องจากมีปัจจัยเสี่ยงหลายประการที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปลายปี 2549 ทั้งภายในและภายนอกประเทศ อาทิ
- ความผันผวนของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อเศรษฐกิจโลก ทั้งนี้หลายฝ่ายวิเคราะห์ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ถึงจุดสูงสุดแล้ว เนื่องจากภาคเศรษฐกิจต่างๆ ของสหรัฐฯ เริ่มชะลอตัวลงและเริ่มมีปัญหาหลายประการทยอยเข้ามา ประกอบกับการขาดดุลการค้าและดุลบัญชีเดิน-สะพัดก็มิได้ลดน้อยลง แต่กลับขยายตัวเพิ่มขึ้น ส่งผลให้เงินทุนจากสหรัฐฯ ไหลออกไปหาแหล่งลงทุนที่ให้ผลตอบแทนที่สูงกว่า ด้วยเหตุนี้การไหลไปมาของเงินทุนจำนวนมหาศาลจากสหรัฐฯ จึงเป็นเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดความผันผวนทางทางการเงินของประเทศต่างๆ ในโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภูมิภาคเอเซียรวมถึงประเทศไทยด้วย
- ราคาน้ำมันที่มีความผันผวนน้อยลง น่าจะเป็นปัจจัยบวกที่จะลดความกดดันในเรื่องการขาดดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัด เนื่องจากประเทศในกลุ่มโอเปกมีการเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมัน ดังนั้นราคาน้ำมันที่จะดีดตัวสูงขึ้นไปอย่างรวดเร็วน่าจะมีโอกาสเกิดขึ้นน้อยลง
- ความขัดแย้งทางการเมืองเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ เนื่องจากเสถียรภาพทางการเมืองถือเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ดังนั้นตราบใดที่การเมืองยังไม่มีความชัดเจน การลงทุนทั้งในและต่างประเทศย่อมชะลอตัวลงอย่างแน่นอน
7.2 ประธานคณะกรรมการวิจัยทางเศรษฐกิจ หอการค้าญี่ปุ่น กรุงเทพฯ (เจซีซี) และประธานองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (เจโทร) นายโยชิอิ คาโตะ ได้รายงานผล การสำรวจของเจโทรเกี่ยวกับดัชนีแนวโน้มเศรษฐกิจในหรือค่าดีไอ 5 ชาติอาเซียน ได้แก่ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์และไทย ประจำเดือนมกราคม 2550 พบว่าไทยมีค่าดีไอต่ำที่สุด ในขณะที่สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ฟิลิปินส์ และมาเลเซีย ได้ค่าดีไอลำดับที่ 1-4 ตามลำดับ ทั้งนี้นายโยชิอิ กล่าวว่า สิ่งที่นักลงทุนกังวลมากที่สุดคือเรื่องเงินบาทที่แข็งค่ารวดเร็ว และหากเงินบาทแข็งค่าไปถึง 33 บาท / เหรียญสหรัฐ บริษัทแม่ในประเทศญี่ปุ่นจะยกเป็นประเด็นพิจารณาเร่งด่วน เกี่ยวกับการเปลี่ยนแผนการลงทุน
7.3 เอกอัคราชทูตไทย ณ กรุงบรัสเซลส์ นายดอน ปรมัตถ์วินัย ได้กล่าวถึงกรณีที่ประเทศไทยมีเหตุการณ์ก่อรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 ได้ส่งผลให้การเจรจาเพื่อจัดทำกรอบความตกลงว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วน และความร่วมมือระหว่างประเทศไทยกับประชาคมยุโรป (อียู) ซึ่งกรอบดังกล่าวจะครอบคลุมความสัมพันธ์ในทุกมิติ อาทิ การเมือง เศรษฐกิจ สังคมการค้าการลงทุน เป็นต้น โดยทั้งประเทศไทยและอียูได้ออกแถลงการณ์ร่วมให้เริ่มการเจรจาในสมัยอดีตนายกรัฐมนตรี นายทักษิณ ชินวัตร ซึ่งการเจรจาอยู่ในขั้นตอนสุดท้ายก่อนลงนาม
ทั้งนี้การเจรจาดังกล่าวต้องหยุดชะงักลง เนื่องจากอียูได้ประกาศงดการเจรจา และงดการแลกเปลี่ยนการเยือนระดับสูง จนกว่าจะพอใจกับสถาณการณ์การเมืองของไทย จึงจะเริ่มเปิดการเจรจาครั้งใหม่
กรอบความตกลงว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วน และความร่วมมือระหว่างประเทศไทยกับอียูเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ความสัมพันธ์ของอียูกับกลุ่มประเทศในภูมิภาคเอเซีย-ตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) โดยอียูได้เปิดการเจรจากับสิงคโปร์และไทยเป็นสองประเทศแรก และจากผลการหยุดชะงักของการเจรจาระหว่างอียู-ไทย อียูจึงได้เตรียมเปิดเจรจากรอบความตกลงฯ กับประเทศมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซียแทน และก่อนหน้านี้อียูได้เจรจากรอบความตกลงฯ ในลักษณะเดียวกันกับสิงคโปร์ไปเรียบร้อยแล้ว
7.4 ประเทศเวียดนามในขณะนี้เป็นหนึ่งในประเทศที่น่าจับตามองและควรระวังสำหรับประเทศไทย เนื่องจากในขณะนี้กลุ่มนักลงทุนจากประเทศต่างๆ ทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทยได้ หันมาสนใจและคาดหวังโอกาสที่จะได้ผลตอบแทนจากการลงทุนในเวียดนามมากกว่าหลายประเทศในกลุ่มอาเซียน และมีนักลงทุนรายใหญ่หลายรายที่ตัดสินใจย้ายฐานการผลิตจากไทย มาเลเซีย ฯลฯ ไปลงทุนในเวียดนามเพิ่มขึ้น เนื่องจากนักลงทุนทั่วโลกมองว่าเวียดนาม มีศักยภาพทางเศรษฐกิจ และมีการเจริญเติบโตแบบก้าวกระโดด ทั้งนี้สิ่งสำคัญที่สุด คือเวียดนามมีนโยบายเศรษฐกิจที่มีความชัดเจนพร้อมเปิดกว้างต้อรับนักลงทุนจากทั่วโลก ประกอบกับนโยบายทางการเมืองที่มีเสถียรภาพ นอกจากนี้เวียดนามยังได้เปรียบต่างชาติในเรื่องราคาค่าแรงต่ำ ทั้งนี้ประเทศที่มีการลงทุนในเวียดนามสูงสุด ได้แก่ สิงคโปร์ ไต้หวัน และญี่ปุ่น ส่วนไทยจัดอยู่อันดับที่ 11 อย่างไรก็ตามประเทศไทยควรมองเวียดนามให้เป็น ประเทศคู่ค้าและร่วมมือในเชิงเศรษฐกิจการค้า มากกว่าการเป็นคู่แข่ง
7.5 สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ได้คาดการณ์แนวโน้มของอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าในไตรมาสที่ 1 ปี 2550 ว่าจะมีการปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสที่ 4 ปี 2549 เนื่องจากบริษัทต่างๆ เริ่มกลับมาผลิตใหม่อีกครั้ง หลังจากที่หยุดยาวในช่วงเทศการ โดยเฉพาะสินค้าเครื่องปรับอากาศ ที่บริษัทต่างๆ ต้องเร่งผลิตเพื่อจำหน่ายในช่วงฤดูร้อนเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาด โดยเฉพาะตลาดอียูซึ่งเป็นตลาดหลักในการส่งออกของไทยในขณะที่สินค้าอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในไตรมาสที่ 1 ปี 2550 จะเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 4 ปี 2549 ทั้งนี้อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เป็นอุตสาหกรรมที่อาจได้รับผลกระทบจากปัจจัยต่างๆ หลายด้าน อาทิ ปัจจัยพื้นฐานด้านการผลิต เช่นการขาดแคลนแรงงานระดับกลางถึงระดับล่าง ราคาวัตถุดิบที่มีแนวโน้มสูงขึ้น และปัจจัยภายนอก เช่น กฎระเบียบที่มีแนวโน้มบังคับใช้มากขึ้น
7.6 ในปี2550 กระทรวงเกษตรฯ ตั้งเป้าที่จะผลักดันแผนยุทธศาสตร์ข้าวและสนับสนุนงานวิจัยการแปรรูปผลิตภัณฑ์ข้าวทั้งระบบเพื่อเพิ่มมูลค่าและขยายช่องทางการส่งออก ตลอดจนสร้างอำนาจต่อรองทางการค้าให้เกิดขึ้น โดยกระทรวงเกษตรฯและกระทรวงพาณิชย์จะทำงาน ร่วมกันเพื่อการเชื่อมโยงยุทธศาสตร์การผลิตและการแปรรูปข้าว เข้ากับแผนการตลาด จัดทำ ฐานข้อมูลข้าวทั้งระบบ ซึ่งจะช่วยสร้างอำนาจต่อรองด้านราคาในเวทีการค้าโลกให้กับเกษตรกรไทยในอนาคต ปัจจุบันกรมการข้าว กระทรวงเกษตรฯเป็นหน่วยงานหลักในการระดมนักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญด้านข้าวทั่วประเทศ เพื่อร่วมกันจัดทำชุดโครงการวิจัยการแปรรูปผลิตภัณฑ์ข้าว
เบื้องต้นจะเน้นการวิจัยในส่วนของผลิตภัณฑ์ข้าวที่มีมูลค่าสูง และสอดคล้องกับความต้องการของตลาด เช่น น้ำมันรำข้าว เครื่องสำอาง อาหารเสริมเพื่อสุขภาพ นอกจากนี้ยังมีการชดเชยค่าภาษีสินค้าส่งออกที่ผลิตในประเทศ กระทรวงการคลังได้ชดเชยค่าภาษีสำหรับวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตสินค้าส่งออกที่ผลิตในประเทศ บริษัทผู้ผลิตแป้งข้าวเจ้าและข้าวเหนียวได้สิทธิในการชดเชยภาษี ที่แฝงในวัตถุดิบ เช่น บรรจุภัณฑ์ที่เป็นพลาสติกและสารเคมี เป็นต้น ในอัตรา 4.6% ของราคาส่งออกสำหรับปัญหาในการตลาดคือ ปัญหาการส่งออกขนมขบเคี้ยวที่ทำจากข้าวคือ ภาษีนำเข้าของตลาดญี่ปุ่นอยู่ในเกณฑ์สูงถึง 35% อย่างไรก็ตามการเจรจาในเรื่องการขอลดภาษีนั้นเป็นประเด็นที่อ่อนไหว เนื่องจากเป็นการเปิดตลาดข้าวญี่ปุ่น ซึ่งมีผลกระทบทางการเมืองภายในประเทศ เพราะถือว่าเป็นการคุ้มครองเกษตรกรในประเทศ ปัญหาการกีดกันทางการค้าและมาตรการที่ไม่ใช่ภาษีของบางประเทศ เช่น การกำหนดปริมาณโควตานำเข้า การอนุญาตนำเข้าเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมบางประเภท และมาตรการด้านสุขอนามัย ทำให้การส่งออกแป้งข้าวของไทยไม่ขยายตัวมากนัก แม้ว่าไทยจะเป็นผู้ผลิตและส่งออกแป้งจากข้าวมากที่สุดก็ตามการเปิดตลาดแป้งข้าวเจ้าและผลิตภัณฑ์จากข้าวของไทยยังมีไม่มากนัก ประกอบกับค่านิยมการรับประทานอาหารของชาวต่างประเทศที่ยังไม่นิยมในข้าวและแป้งข้าวของไทยมากนัก ต้องอาศัยร้านอาหารไทยในต่างประเทศเป็นหลัก จึงทำให้ความแพร่หลายยังน้อยหากชาวต่างประเทศไม่เข้าร้านอาหารไทย นอกจากนี้ความหลากหลายในการใช้แป้งข้าวเจ้าและแป้งข้าวเหนียวในไทยยังมีไม่มากนัก จึงทำให้การส่งออกมักเป็นในรูปข้าวมากกว่าผลิตภัณฑ์จากข้าวที่มีมูลค่าเพิ่มมากกว่า และในอนาคตหากเวียดนามสามารถพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตแป้งได้จะได้เปรียบไทย เนื่องจากต้นทุนการผลิตข้าวของเวียดนามต่ำกว่าไทย แนวโน้มการผลิตผลิตภัณฑ์แปรรูปข้าวของไทยในอนาคตแล้วจะเป็นผลิตภัณฑ์หนึ่งที่มีโอกาสขยายตัวในอัตราสูง เนื่องจากปริมาณความต้องการใช้เป็นอาหารในชีวิตประจำวันเพิ่มมากขึ้นตามอัตราการขยายตัวของผู้บริโภคประกอบกับความนิยมในตลาดต่างประเทศที่คาดว่าจะมีเพิ่มขึ้นทั้งจากคนเอเชียที่ไปทำงานในต่างทวีปและคนต่างประเทศที่หันมาบริโภคผลิตภัณฑ์จากข้าวมากขึ้น ดังนั้นประเทศไทยจึงควรจะให้ความสำคัญกับการผลิตการพัฒนาผลิตภัณฑ์แปรรูปข้าว เนื่องจากมีความได้เปรียบในเชิงวัตถุดิบที่มีศักยภาพการผลิตทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ นอกจากนี้ยังมีอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่สามารถรองรับผลผลิตส่วนเกินได้อีกด้วย
7.7 อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ นางอภิรดี ตันตราภรณ์ กล่าวว่าสำนักงานมาตรฐาน สินค้าเกษตรของอาร์เจนตินา (Servicio Nacional de Sadidady Calidad Agrolimentaria : SENASA) ได้ส่งผู้เชี่ยวชาญจาก SENASA เดินทางมาตรวจสอบรับรองโรงงานผลิตสินค้าประมงของไทยที่ประสงค์จะส่งออกไปยังอาร์เจนตินา ในระหว่างวันที่ 29 พฤศจิกายน - 7 ธันวาคม 2549 ที่ผ่านมา จำนวนทั้งสิ้น 13 โรงงาน ประกอบด้วยโรงงานที่เคยผ่านการตรวจรับรองแล้ว 11 แห่ง และโรงงานที่ยังไม่เคยตรวจรับรอง 2 แห่ง ในพื้นที่จังหวัดกรุงเทพฯ นครปฐม สมุทรสาคร สงขลา และปัตตานี ในการนี้ ทางการอาร์เจนตินาแจ้งว่าโรงงานทั้ง 13 แห่งดังกล่าวได้รับการรับรองจากอาร์เจนตินาทั้งหมด โดยโรงงาน 1 ใน 13 แห่ง เป็นโรงงานผลิตสินค้าสัตว์น้ำที่ได้จากการเพาะเลี้ยง เช่น กุ้งและหอยแช่แข็ง ที่ทางการอาร์เจนตินา ไม่เคยให้การรับรองและไม่เคยนำเข้า สินค้าประเภทนี้จากประเทศไทยมาก่อน ซึ่งเป็นโอกาสดีที่ได้จะขยายการส่งออกสินค้าดังกล่าว ในตลาดอาร์เจนตินาต่อไป ทั้งนี้การส่งออกสินค้าประมงของไทยไปยังอาร์เจนตินา ส่วนใหญ่ เป็น สินค้าปลาทูน่ากระป๋อง โดยอาร์เจนตินาเป็นตลาดส่งออกอันดับที่ 15 ของไทย อย่างไรก็ตาม การส่งออกสินค้าประมง ผู้ส่งออกควรระมัดระวังในเรื่องคุณภาพ สารตกค้างและใบรับรองสุขอนามัยของประเทศ ผู้ส่งออกมาประกอบพิธีการนำเข้าด้วย นอกจากนี้ โรงงานที่ส่งออกไปยังอาร์เจนตินาจะต้องได้รับการรับรองและตรวจสอบจากสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรของอาร์เจนตินาก่อน มิเช่นนั้นจะไม่สามารถส่งออกไปอาร์เจนตินาได้
(ยังมีต่อ)

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ