ดร.อาภรณ์ ชีวะเกรียงไกร นักวิชาการด้านการเงิน ได้วิเคราะห์ว่า ในปีที่ผ่านมานั้นเป็นปีที่อัตราเงินเฟ้อทั่วโลกปรับตัวสูงขึ้นค่อนข้างมาก แต่ปีนี้มีแนวโน้มว่าอัตราเงินเฟ้อของโลกจะอ่อนตัวลง โดยมีปัจจัยที่เกื้อหนุน คือ
1. แรงกดดันมาจากกำลังซื้อที่ยังสูงที่เราเรียกกันว่า (demand pull inflation)
2. แรงกดดันที่มาจากการเพิ่มขึ้นของต้นทุน (cost push inflation)
ดังจะเห็นได้ว่า อัตราเงินเฟ้อที่สูงนั้นกดดันให้ประเทศต่างๆ ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เพื่อชะลอการปรับขึ้นของเงินเฟ้อ ซึ่งในปี 2549 ที่ผ่านมา ไทยได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอ้างอิง (repo rate 14 วัน) ขึ้นรวม 1% จากระดับ 4% ณ สิ้นปี 2548 มาเป็น 5.0% ในปลายปี 2549 เป็นผลให้ธนาคารพาณิชย์ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้
สำหรับประเทศไทยนั้น อัตราเงินเฟ้อในปีที่ผ่านมาอยู่ที่ร้อยละ 4.7 นับเป็นอัตราสูงสุดในรอบ 8 ปีที่ในปี 2541 อัตราเงินเฟ้อขึ้นไปถึงร้อยละ 8.1 อันเป็นผลมาจากการอ่อนตัวของค่าเงินบาทเป็นหลัก และเงินเฟ้อสูงในปี พ.ศ.2549 เกิดเนื่องจากการปรับตัวสูงขึ้นของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับตัวขึ้นไปถึงเกือบ 78 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ก่อนที่จะอ่อนตัวลงมาอยู่ที่ระดับ 60 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในปลายปี
โดยเงินเฟ้อปี 2550 นี้ มีแนวโน้มอ่อนตัวลงทั่วโลก ซึ่งมีเหตุผล คือ
1. เศรษฐกิจของประเทศอุตสาหกรรมหลักชะลอตัวลงอย่างชัดเจน นับตั้งแต่เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาที่ชะลอตัวจากร้อยละ 3.4 ในปี2549 ลงเหลือร้อยละ 2.0-2. ประกอบกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของประเทศต่างๆ ในปีที่ผ่านมา จึงทำให้เศรษฐกิจโลกโดยรวมเติบโตในอัตราชะลอลงด้วย โดยเศรษฐกิจสหภาพยุโรปคาดว่าจะเติบโตได้ในอัตราร้อยละ 1.9 เทียบกับร้อยละ 2.7 ของปีก่อน ประเทศญี่ปุ่นนั้นอาจจะชะลอตัวเล็กน้อยจากร้อยละ 2.1 เหลือร้อยละ 1.8 เพราะมีการฟื้นตัวของความต้องการภายในประเทศมาช่วย
2. ราคาสินค้าน้ำมันและราคาสินค้าโภคภัณฑ์อ่อนตัวลง ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก (WTI) ได้อ่อนตัวลงมากกว่าร้อยละ 20 จากระดับที่เคยขึ้นไปสูงสุด เนื่องจากความต้องการใช้ลดลงมาอย่างต่อเนื่อง
ประเทศในภูมิภาคเอเชีย จึงได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน การวิเคราะห์ของบริษัท UBS พบว่าเศรษฐกิจภูมิภาคเอเชียไม่รวมประเทศญี่ปุ่นนั้น จะเติบโตในอัตราร้อยละ 6.9 เทียบกับร้อยละ 7.9 ของปีก่อนหน้า โดยในกลุ่มนี้มีประเทศจีนยังคงเติบโตสูงมากที่สุดร้อยละ 9.1 ตามมาด้วยอินเดียร้อยละ 7.5 ส่วนประเทศไทยจะเติบโตร้อยละ 4.3
ประเด็นวิเคราะห์
การที่เศรษฐกิจชะลอตัว จึงทำให้แรงกดดันต่อเงินเฟ้อโดยรวมอ่อนตัวลงตามไปด้วย ทั้งนี้ หน่วยงานภาครัฐเองก็ได้มีคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อที่ชะลอตัวลงด้วยที่ระดับร้อยละ 2.5-3.5 และจากคาดการณ์เงินเฟ้อที่อ่อนตัวลงนี้ ก็จะมีผลทำให้อัตราดอกเบี้ยจะมีแนวโน้มอ่อนตัวลงด้วยคาดว่า อัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้จะปรับตัวลงได้ร้อยละ 0.50-1.0 ในปีนี้
ที่มา: http://www.depthai.go.th