ผู้นำเข้านัดห้องเย็นแก้ร่างขั้นสุดท้าย “ออสซี่” เดินหน้าคุมโรคระบาด “กุ้งไทย”

ข่าวเศรษฐกิจ Monday January 29, 2007 17:09 —กรมส่งเสริมการส่งออก

          ตลอดปี 2549 ไทยส่งออกกุ้งไปออสเตรเลียลดลงถึง 30% หลังรัฐบาลออสเตรเลียจะกำหนดมาตรการกำกับดูแลควบคุมการนำเข้ากุ้งเพื่อให้ปลอดจากโรคระบาดกุ้ง 5 ชนิด สมาคมผู้นำเข้าอาหารทะเลออสเตรเลียนัดผู้ส่งออกกุ้งไทยหารือจะแก้ไขมาตรการบังคับในร่างประเมินความเสี่ยงในกุ้งและผลิตภัณฑ์อย่างไรให้กระทบไทยน้อยที่สุด
กรมศุลกากรรายงานสถิติการส่งออกกุ้งไทยไปยังออสเตรเลียในปี 2549 พบว่า ไทยส่งออกกุ้งไปออสเตรเลียเป็นลำดับ 6 มีมูลค่า 865.1 ล้านบาท หรือลดลงจากปี 2548 ซึ่งมีมูลค่าการส่งออก 1,242.7 ล้านบาท มาตรการกำกับและควบคุมการนำเข้ากุ้งเพื่อป้องกันโรคระบาดจากกุ้งที่จะแพร่เข้าไปในออสเตรเลีย กำหนดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้มีส่วนได้เสียแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับ “ความเสี่ยง” ทึ่จะเกิดขึ้นจากการนำเข้ากุ้งที่ติดโรคระบาด 5 ชนิด คือ 1) โรคจุดขาว (white sport sydrome virus หรือ WSSV) 2) โรคหัวเหลือง (yellowhead virus หรือ YHV) 3) โรคแคระแกร็น (infectious hypodermal and haematopoietic necrosis virus หรือ IHHNV) 4) โรคทอราซินโดรม (taura syndrome virus หรือ TSV) 5) โรค necrotising hepatopancreatitis bacterium หรือ NHPB ไทยเคยมีการระบาดอย่างรุนแรงของโรคเหล่านี้ถึง 4 ชนิด เกิดขึ้นในประเทศ
ความคืบหน้าที่สมาคมผู้นำเข้าอาหารทะเลแห่งออสเตรเลียจะนำมาหารือกับผู้ส่งออกกุ้งไทยคือ การพิจารณาปรับปรุงแก้ไขร่างเกี่ยวกับผลการวิเคราะห์ความเสี่ยงของกุ้งและผลิตภัณฑ์ในการติดโรคระบาด (draft IRA) ที่ผู้ส่งออกกุ้งไทยมีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรงกับมาตรการกำกับควบคุมการนำเข้ากุ้งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และจะต้องส่งร่างดังกล่าวต่อคณะทำงาน prawn IRA ของหน่วยงานด้านความปลอดภัยทางชีวภาพของออสเตรเลียภายในวันที่ 21 กุมภาพันธ์นี้
ประเด็นวิเคราะห์
ไทยเป็นประเทศที่มีระบบการตรวจสอบเข้มงวดก็น่าจะไม่ได้รับผลกระทบ และไทยยังไม่เคยมีรายงานว่าตรวจพบโรคระบาดจากเชื้อแบคทีเรีย เช่น NHPB มาก่อน ฉะนั้นรัฐบาลไทยควรแสดงท่าทีทางการเมืองแสดงความกังวลต่อกรณีนี้อีกทางหนึ่ง โดยใช้แรงกดดันทางการเมืองเพื่อปราบปรามการปฏิบัติที่ไม่ชอบธรรมบ้าง ซึ่งในประเด็นนี้ภาคเอกชนได้แจ้งไปยังกระทรวงพาณิชย์รับทราบแล้ว
ที่มา: http://www.depthai.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ