ในไตรมาส 2/2548 เศรษฐกิจโลกยังคงประสบปัญหาการขยายตัวในอัตราที่ชะลอตัวลง ภาวะวิกฤตรวมทั้งความตกต่ำของเศรษฐกิจโลกเริ่มส่อเค้าในหลายประเทศ สาเหตุจากการที่ราคา น้ำมันดิบในตลาดโลกเคลื่อนไหวอย่างผันผวนตลอดเวลา จนกลายเป็นภาวะวิกฤตราคาน้ำมันในที่สุด อีกทั้งอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ทำให้ต้นทุนการผลิตของประเทศสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง รวมทั้งสถานการณ์การก่อการร้ายในประเทศต่าง ๆ เช่น อังกฤษ อียิปต์ เป็นต้น จนอาจลุกลามไปหลายประเทศ ตลอดจนปัญหาการรวมกลุ่มขั้วอำนาจทางการเมืองอย่างเด่นชัด กลุ่มหนึ่งคือ ประเทศทุนนิยม มีสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย ฯลฯ เป็นหลัก อีกกลุ่มหนึ่งคือประเทศสังคมนิยม มีจีน เกาหลีเหนือ เป็นหลัก จนนำไปสู่การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจทั้งทางด้านความร่วมมือภายในกลุ่มเศรษฐกิจและการกีดกันทางการค้านอกกลุ่มเศรษฐกิจในที่สุด
อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (%)
2545 2546 2547 Q1 2548 2548 *
เศรษฐกิจโลก 3 3.9 4.7 - 3
สหรัฐอเมริกา 1.9 3 4.4 3.7 3
สหภาพยุโรป (EU 15 ) 1 0.7 2.2 1.6 -
กลุ่มยูโร (Euro Zone) 0.8 0.5 2 1.3 1.4
เยอรมนี 0.2 -0.1 1.6 1.1 0.8
ญี่ปุ่น -0.4 2.7 2.7 1.2 1.5
ฮ่องกง 2.3 1.1 8.1 6 4.6
สิงคโปร์ 2.2 1.1 8.4 2.5 4.5
เกาหลีใต้ 7 3.1 4.7 2.7 3.1
ไต้หวัน 3.6 3.3 5.7 2.5 4.5
อินโดนีเซีย 4.3 4.5 5.1 6.3 5.4
ฟิลิบปินส์ 4.4 4.5 6.1 4.6 5.1
มาเลเซีย 4.1 5.2 7.1 5.7 4.8
ไทย 5.4 6.8 6.1 3.3 4.5-5.5
จีน 8 9.1 9.5 9.4 9
หมายเหตุ : ตัวเลขจาก WEO ,IMF, หน่วยงานภาครัฐ
* เป็นตัวเลขคาดการณ์ ณ เดือนสิงหาคม 2548
นอกจากนี้เศรษฐกิจโลกยังประสบปัญหาความไม่สมดุลทางเศรษฐกิจในหลายประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สหรัฐอเมริกาและจีน จากการที่สหรัฐอเมริกาประสบปัญหาการขาดดุลแฝด (Twin Deficits) ทั้งการขาดดุลการคลังและดุลบัญชีเดินสะพัดที่เรื้อรังมาเป็นเวลาหลายปีและในปัจจุบันยังไม่คลี่คลาย จากการใช้จ่ายที่เกินตัวของภาคเอกชนและภาครัฐ สำหรับการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดนั้นจะเป็นการขาดดุลกับประเทศจีนมากที่สุด เนื่องจากค่าเงินหยวนของจีนอ่อนค่ามาก ทำให้สินค้าจีนมีราคาถูกสามารถส่งออกแข่งขันในตลาดโลกได้ ส่งผลให้เศรษฐกิจจีนขยายตัว แบบก้าวกระโดด นำไปสู่นโยบายการชะลอความร้อนแรงทางเศรษฐกิจอย่างช้า ๆ (Soft Landing) นอกจากนี้ประเทศสหรัฐอเมริกายังประสบปัญหาช่องว่างระหว่างการออมและการลงทุนในประเทศทำให้จำเป็นต้องพึ่งพาเงินทุนต่างชาติจากประเทศในเอเชียตะวันออก ที่สำคัญคือประเทศจีน ซึ่งมีการออมส่วนเกินมากกว่าการลงทุนโดยจีนจะซื้อพันธบัตรสหรัฐฯสะสมความมั่งคั่งในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐฯไว้และจากสถานการณ์ดังกล่าวทำให้สหรัฐอเมริกาและประเทศพันธมิตรอื่น ๆ เช่น ญี่ปุ่น เป็นต้น ได้กดดันให้จีนปรับค่าเงินโดยยกเลิกการตรึงค่าเงินหยวนกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ เพียงสกุลเดียว โดยมีแนวคิดว่าจะช่วยปรับความสมดุลของเศรษฐกิจโลก จนกระทั่งเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2548 จีนได้ตัดสินใจประกาศลอยตัวค่าเงินหยวนแบบจัดการ (Managed Float) โดยอิงค่าเงินหยวนกับตะกร้าเงิน ซึ่งการปรับครั้งนี้เป็นการปรับเพียงเล็กน้อยประมาณร้อยละ 2 ทำให้คาดว่าระยะสั้นอาจไม่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก แต่ถ้าหากค่าเงินหยวนปรับตัวแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วทุกประเทศคงต้องปรับตัวให้อยู่รอดในระบบเศรษฐกิจ และคาดว่าจะทำให้เกิด เสถียรภาพทางเศรษฐกิจโลกในระยะยาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับประเทศในเอเชีย
สำหรับเศรษฐกิจของสหภาพยุโรปยังคงชะลอตัวต่อเนื่องจากอุปสงค์ภายในประเทศที่ซบเซา อีกทั้งสถานการณ์การก่อการร้ายในอังกฤษ ทำให้คาดว่า ปี 2548 เศรษฐกิจสหภาพยุโรปคงขยายตัวได้ไม่เกินร้อยละ 1.4 สำหรับญี่ปุ่นแม้ว่าจะประสบปัญหาเงินฝืดอย่างต่อเนื่องแต่เริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัว โดยคาดว่าจะขยายตัวได้ร้อยละ 1.5 ในปี 2548 สำหรับประเทศในเอเชียนั้น สิงคโปร์มีแนวโน้มการขยายตัว ในไตรมาส 2/2548 อย่างชัดเจน ฟิลิปปินส์และอินโดนีเซียเศรษฐกิจยังไม่สามารถฟื้นตัว ทำให้คาดว่าปี 2548 เศรษฐกิจโลกจะขยายตัวไม่เกินร้อยละ 3
สำหรับประเด็นเศรษฐกิจโลกที่สำคัญในไตรมาส 2/2548 มีดังนี้
1. เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาเริ่มฟื้นตัวโดยมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นตามการขยายตัวของอุปสงค์ภายในประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากอุปสงค์ในภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ขยายตัวอย่างร้อนแรง ทำให้หลายฝ่ายคาดว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอาจไม่ยั่งยืน โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักเศรษฐศาสตร์สหรัฐอเมริกา ออกมาพิพากษ์ว่า ภาคอสังหาริมทรัพย์ในสหรัฐอเมริกาจะนำไปสู่ภาวะฟองสบู่แตก อันจะส่งผลให้เศรษฐกิจโลกได้รับผลกระทบไปด้วย อีกทั้งปัญหาการขาดดุลแฝด (Twin Deficits) ของสหรัฐอเมริกายังไม่ได้ คลี่คลายลงแต่อย่างใด ตลอดจนความผันผวนจากราคาน้ำมันในตลาดโลก ทำให้ปี 2548 คาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาจะขยายตัวประมาณร้อยละ 3
2. เศรษฐกิจสหภาพยุโรปมีแนวโน้มชะลอตัวต่อเนื่องตามอุปสงค์ภายในประเทศที่ซบเซาจากภาวะการว่างงานที่อยู่ในระดับสูงเนื่องจากภาคการผลิตที่ชะลอลง อีกทั้งการขาดดุลงบประมาณในประเทศหลัก ๆ หลายประเทศ ประกอบกับสถานการณ์การก่อการร้ายในอังกฤษที่กระทบความเชื่อมั่นทางการเมืองและทางเศรษฐกิจของประเทศ ทำให้คาดว่าปี 2548 เศรษฐกิจของสหภาพยุโรปจะขยายตัวได้ไม่เกินร้อยละ 1.4
3. สำหรับเศรษฐกิจญี่ปุ่นเริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัวดีขึ้นกว่าไตรมาส 1/2548 แต่ยังคงเป็นไปอย่างช้า ๆ โดยปัจจัยสนับสนุนการฟื้นตัวมาจากการขยายตัวของอุปสงค์ภายในประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้จ่ายของภาคเอกชน แต่ภาคการส่งออกยังคงซบเซา อย่างไรก็ตามคาดว่าปี 2548 เศรษฐกิจญี่ปุ่นจะขยายตัวได้ร้อยละ 1.5
4. ในส่วนของเศรษฐกิจจีนนั้น ในไตรมาส 2/2548 ขยายตัวที่ร้อยละ 9.5 จากการบริโภคภาคเอกชน การลงทุนภาคเอกชนและการส่งออกที่ยังขยายตัวแข็งแกร่ง แม้ว่าจะประสบปัญหาการจำกัดโควต้าสิ่งทอที่ส่งออกจากจีนไปยังสหภาพยุโรปร้อยละ 8 — 12.5 ตั้งแต่วันที่ 11 มิถุนายน 2548 จนถึงสิ้นปี 2550 และจากการที่จีนได้ลอยตัวค่าเงินหยวนแบบจัดการ ทำให้ค่าเงินหยวนแข็งค่าขึ้นนั้น แต่เป็นการปรับเพียงเล็กน้อย จึงไม่กระทบต่อเศรษฐกิจจีน ดังนั้นปี 2548 คาดว่าเศรษฐกิจจีนจะขยายตัวได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 9
5. สำหรับสถานการณ์การค้าโลกในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2548 เมื่อพิจารณาประกาศเศรษฐกิจหลักที่สำคัญพบว่า สหรัฐอเมริกามีมูลค่าสินค้าส่งออกในช่วงเดือนมกราคม — พฤษภาคม 2548 366,769.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ นำเข้า 651,526.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขาดดุลการค้า 284,757.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งเป็นการขาดดุลการค้ากับจีนมากที่สุดถึง 72,498.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ จีนมีมูลค่าสินค้าส่งออก 276,475.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ นำเข้า 246,312.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เกินดุล 30,163.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งเป็นการเกินดุลการค้ากับสหรัฐอเมริกามากที่สุดถึง 38,980.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สำหรับญี่ปุ่นนั้นมีมูลค่าการส่งออกสินค้า 240,121.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ นำเข้า 205,536.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เกินดุลการค้า 34,585.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งเป็นการเกินดุลการค้ากับสหรัฐอเมริกามากที่สุดถึง 28,113.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และจากการที่สินค้าจีนราคาถูก ญี่ปุ่นจึงนำเข้าสินค้าจากจีนเพิ่มขึ้น ทำให้มีแนวโน้มขาดดุลการค้ากับจีนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ประกอบกับสหรัฐอเมริกาก็ขาดดุลการค้ากับจีนมากที่สุด ทำให้สหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่นกดดันให้จีนประกาศลอยตัวค่าเงินหยวนในที่สุด ก่อนที่สหรัฐอเมริกาจะใช้มาตรการภาษีเพื่อกีดกันการนำเข้าสิ่งทอจากจีน
6. แม้ว่าจะมีการรวมกลุ่มขั้วอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจเป็น 2 กลุ่มหลักใหญ่ ๆ ได้แก่ กลุ่มทุนนิยมและสังคมนิยม ขณะเดียวกันในแต่ละกลุ่มขั้วอำนาจดังกล่าวยังมีข้อตกลงตามกรอบเจรจาความร่วมมือต่าง ๆ ทั้งในรูปทวิภาคีและพหุภาคี เช่น FTA, WTO, APEC, NAFTA, ASBAN เป็นต้น ซึ่งธรรมชาติของมนุษย์นั้นย่อมจะแสวงหาผลประโยชน์ให้แก่ตนเองมากที่สุดอยู่แล้ว โดยพยายามผลักดันให้ประเทศตนเองเป็นผู้นำทั้งทางด้านการค้าและการลงทุน ซึ่งจะนำไปสู่ความล้มเหลวในการบรรลุเป้าหมายกรอบความร่วมมือต่าง ๆ ดังกล่าว และยังเกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกตามมา โดยเรื่องที่เป็นปัญหา เช่น การเจรจาเรื่องการลดภาษีและลดการอุดหนุนภายในสินค้าเกษตรหยุดชะงักเนื่องจากสหรัฐอเมริกาและ สหภาพยุโรป ซึ่งสหภาพยุโรปจะไม่ยอมเจรจาเรื่องการลดภาษีหากสหรัฐอเมริกายังไม่ยอมลดการอุดหนุนภายในประเทศของตนลง หรือปัญหาการทุ่มตลาดของประเทศต่าง ๆ เพื่อการขายสินค้าของตนเอง ขณะนี้ประเทศต่าง ๆ ได้เรียกเก็บภาษีทุ่มตลาดเพื่อตอบโต้กฎหมายเบิร์ด (Byrd Amendonent) ของสหรัฐอเมริกา ที่สหรัฐอเมริกาสามารถเรียกเก็บภาษีทุ่มตลาดจากสินค้านำเข้าที่ผู้ส่งออกจำหน่ายในราคาที่ต่ำกว่าตลาดภายในประเทศตนเอง โดยแคนาดาและสหภาพยุโรปได้เรียกเก็บภาษีทุ่มตลาดกับสินค้าสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2548 และญี่ปุ่นกำลังพิจารณาเรียกเก็บภาษีทุ่มตลาดเหล็กและสินค้าอุตสาหกรรมของสหรัฐอเมริกา หรือปัญหากรณีพิพาทระหว่างสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป ที่ต่างฝ่ายต่างกล่าวหาว่าอีกฝ่ายหนึ่งให้การอุดหนุนส่งออกเครื่องบินโดยสารขนาดใหญ่ของประเทศตนเอง บริษัท โบอิ้ง (สหรัฐอเมริกา) และแอร์บัส (สหภาพยุโรป) เป็นต้น ซึ่งจำนวนปัญหาข้อพิพาทนับวันจะมีมากขึ้นและทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้น ดังนั้นทุกประเทศควรจะตระหนักถึงความร่วมมือระหว่างกัน โดยต่างฝ่ายต่างได้รับผลประโยชน์ร่วมกัน (Mutual Benefit) จะเป็นแนวทางเลือกที่ดีที่สุด ภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์ในปัจจุบัน
เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา
ในไตรมาส 2/2548 เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกามีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่องตามการขยายตัวของอุปสงค์ภายในประเทศ จากการใช้จ่ายของผู้บริโภคที่เพิ่มสูงขึ้น การลงทุนของภาคการผลิตอสังหาริมทรัพย์และการท่องเที่ยวปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายกำหนดอัตราดอกเบี้ยต่ำให้กู้ยืมแก่ประชาชนเพื่อนำไปซื้อบ้าน อีกทั้งอัตราผลตอบแทนจากพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวปรับลดลง ทำให้ประชาชนซื้อบ้านเพิ่มขึ้น ประกอบกับภาวะการจ้างงานที่ปรับตัวดีขึ้น ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (U of Michigan Confidence Index) ในเดือนมิถุนายนเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 94.8 เทียบกับ 85.3 และ 88.7 ในเดือนพฤษภาคมและเมษายน ตามลำดับ
สำหรับภาคการผลิตปรับตัวดีขึ้น โดยดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม (ISM Manufacturing Index) ในเดือนมิถุนายนเพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 7 เดือนอยู่ที่ระดับ 53.8 ทั้งนี้ดัชนี ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมในเดือนพฤษภาคมปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.7 ซึ่งเป็นสัญญาณการฟื้นตัวที่ดี จากความต้องการสินค้าอุปโภคและบริโภคและเครื่องมือเครื่องจักรในภาคธุรกิจ ประกอบกับการขยายตัวของผลิตภาพการผลิต (Productivity) จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตามถึงแม้อัตราเงินเฟ้อจะยังอยู่ในภาวะที่ควบคุมได้ แต่ธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา(Fed) ได้ขึ้นอัตราดอกเบี้ย Fed Funds ครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2548 จากร้อยละ 3.25 เป็นร้อยละ 3.5
ในส่วนของการส่งออกยังไม่แสดงภาพชัดเจนในการฟื้นตัวแต่อย่างใด และการนำเข้ายังขยายตัวสูงขึ้นส่งผลให้การขาดดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง จนส่งสัญญาณวิกฤต ประกอบกับการขาดแคลนเงินออมทำให้ต้องกู้เงินตราต่างประเทศมาลงทุน กลายเป็นวิกฤตด้านดุลการคลังทำให้สหรัฐอเมริกากดดันจีนให้ปรับค่าเงินหยวน จนในที่สุดจีนจึงตัดสินใจลอยตัว ค่าเงินหยวนแบบจัดการ (Managed Float) เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2548
อย่างไรก็ตาม คาดว่าในปี 2548 เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาจะขยายตัวได้ไม่ต่ำกว่า ร้อยละ 3.0
เศรษฐกิจจีน
เศรษฐกิจจีนในไตรมาส 2/2548 ยังคงขยายตัวอย่างไม่หยุดยั้ง โดยขยายตัวถึงร้อยละ 9.5 ต่อเนื่องจากไตรมาส 1/2548 ที่ขยายตัวร้อยละ 9.4 ถึงแม้จีนจะประกาศนโยบาย Soft Landing แล้วก็ตาม ซึ่งปัจจัยสนับสนุนมาจากการบริโภคภาคเอกชน การลงทุนภาคเอกชนและภาครัฐและการส่งออกที่ยังขยายตัวแข็งแกร่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคการส่งออกที่ขยายตัวในระดับสูง ทำให้ดุลการค้าเกินดุลเพิ่มขึ้นเนื่องจากสามารถยึดครองส่วนแบ่งตลาดในตลาดโลกได้อย่างแท้จริง นำไปสู่ภาวะกดดันจากประเทศที่ขาดดุลการค้ากับจีน ได้แก่ สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น ให้จีนปรับค่าเงินหยวนให้แข็งค่าขึ้น
ทางด้านการลงทุนยังขยายตัวในระดับสูง ได้แก่ การลงทุนในเหมืองถ่านหิน การผลิต ไฟฟ้า การกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม และการสร้างทางรถไฟ ซึ่งเป็นการลงทุนที่สูงเกินไป (Overheat) ส่งผลให้เศรษฐกิจขยายตัวสูง แต่กลับสร้างปัญหาเรื่องการกระจายรายได้ระหว่างคนในเมืองและชนบท โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคเกษตรกรรม รัฐบาลจีนจึงมีนโยบายสร้างรายได้เพิ่มให้แก่เกษตรกร เพื่อเพิ่มอำนาจซื้อของเกษตรกรให้สูงขึ้น สำหรับการบริโภคของเอกชน โดยรวมยังขยายตัวจากการบริโภคสินค้าอุปโภคบริโภคและสินค้าคงทนถาวร ได้แก่ บ้าน รถยนต์ เป็นสำคัญ
ทางด้านอัตราเงินเฟ้อในเดือนมิถุนายน 2548 ชะลอตัวลงอยู่ที่ร้อยละ 1.6 เทียบกับร้อยละ 1.8 ในเดือนพฤษภาคม จีนจึงไม่มีปัญหาเรื่องแรงกดดันของอัตราเงินเฟ้อที่สูงเกินไป ทำให้จีนยังรักษาเสถียรภาพราคาไว้ได้โดยไม่ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแต่อย่างใด
อย่างไรก็ตามทางด้านอัตราแลกเปลี่ยนนั้น เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2548 ธนาคารกลางจีนได้ประกาศเปลี่ยนแปลงนโยบายระบบอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินหยวนจากการตรึงค่าเงินหยวนไว้กับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ (Fixed Exchange Rate) โดยที่ 8.28 หยวน ดอลลาร์สหรัฐฯ ไปเป็นระบบลอยตัวแบบ จัดการ (Managed Floating Exchange Rate) โดยค่าเงินหยวนจะเปลี่ยนแปลงไปตามอุปสงค์และอุปทานของตลาดซึ่งอิงกับตะกร้าเงินมากขึ้น (Basket Currency) ซึ่งภายหลังการลอยตัวอัตราแลกเปลี่ยนจะเป็น 8.11 หยวน/ดอลลาร์สหรัฐฯ โดยแข็งค่าขึ้นประมาณร้อยละ 2
สำหรับผลกระทบจากการปรับค่าเงินหยวนโดยหลักการทั่ว ๆ ไปจะกระทบต่อเศรษฐกิจโลกและจีน คือ การส่งออกของจีนไปตลาดโลกจะลดลง การนำเข้าของจีนจะเพิ่มมากขึ้น และการส่งออกของประเทศที่เป็นคู่ค้าของจีนเดิมจะเพิ่มสูงขึ้น และการนำเข้าของประเทศคู่ค้าเดิมจะลดลง ในส่วนของประเทศที่เป็นคู่แข่งกับจีนนั้นจะสามารถส่งสินค้าไปขายกับประเทศที่เป็นตลาดส่งออกของจีนได้ แต่ในสถานการณ์จริงนั้นย่อมขึ้นกับปัจจัยสำคัญทางด้านอื่น ๆ อีก ได้แก่ สินค้าหรือบริการที่ส่งออกและนำเข้าเป็นสินค้าที่มีคุณภาพเหมือนกันและสามารถใช้ทดแทนกันได้หรือไม่ หรือสินค้า หรือเป็นสินค้าที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว สินค้าจำเป็นหรือฟุ่มเฟือย เป็นสินค้าวัตถุดิบ กึ่งวัตถุดิบ หรือสินค้าสำเร็จรูป อนึ่งสำหรับการปรับค่าเงินหยวนครั้งนี้เป็นการปรับเพียงร้อยละ 2 เท่านั้น ซึ่งยังไม่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกและจีนมากนัก แต่นักวิเคราะห์จากประเทศต่าง ๆ อาจมองว่าในอนาคตค่าเงินหยวนจะปรับตัว แข็งค่าขึ้นกว่าปัจจุบันมากก็อาจทำให้มีการวางแผนรองรับทั้งทางด้านแนวทางการส่งออก นำเข้า การ ลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) และการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับการคาดการณ์และวิจารณญาณของแต่ละคนเป็นหลัก
อย่างไรก็ตาม ในปี 2548 คาดว่าเศรษฐกิจจีนจะขยายตัวในอัตราร้อยละ 9.0
เศรษฐกิจญี่ปุ่น
ในไตรมาส 2/2548 เศรษฐกิจญี่ปุ่นมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้นจากอุปสงค์ภายในประเทศ ซึ่งเป็นผลจากการจ้างงานที่เพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง เช่นเดียวกับความเชื่อมั่นภาคธุรกิจที่ปรับตัวดีขึ้นเช่นเดียวกัน ทั้งนี้จากผลการสำรวจความเห็นของผู้ประกอบการ (Tankan Survey) พบว่าในเดือนมิถุนายน 2548 ปรับตัวดีขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 3 ไตรมาส นอกจากนี้ดัชนี PMI ซึ่งเป็นตัวชี้วัดกิจกรรมการผลิต (manufacturing activity) ค่อย ๆ ปรับตัวดีขึ้น โดยล่าสุดในเดือนมิถุนายน 2548 ปรับตัวสูงขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 53.9 สูงที่สุดในรอบ 10 เดือนจากยอดการสั่งซื้อที่ปรับตัวสูงขึ้น
ด้านการส่งออกยังคงชะลอลง โดยในเดือนพฤษภาคม 2548 ขยายตัวร้อยละ 1.4 เทียบกับร้อยละ 7.8 ในเดือนเมษายน ตามการชะลอลงของสินค้ากลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ (IT) ขณะที่การนำเข้าขยายตัวสูงขึ้นร้อยละ 18.6 เทียบกับร้อยละ 12.8 ในเดือนเมษายน ส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุลลดลงร้อยละ 68.3 เนื่องจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น ทำให้มูลค่าการนำเข้าเพิ่มสูงขึ้น ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกที่ชะลอตัวในที่สุด
แม้ว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นจะส่งสัญญาณฟื้นตัวจากอุปสงค์ภายในประเทศ แต่สถานการณ์ เงินฝืด ในญี่ปุ่นยังคงไม่คลี่คลาย โดยราคาน้ำมันที่ทะยานปรับตัวสูงขึ้นอย่างมากยังไม่สามารถสร้างแรงกดดันต่ออัตราเงินเฟ้อ โดยอัตราเงินเฟ้อในเดือนพฤษภาคมเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 0.2 ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังคงไม่เปลี่ยนแปลงเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีที่แล้ว ทั้งนี้เป็นผลจากการปรับลดราคาสินค้าในกลุ่มเทคโนโลยีและค่าสาธารณูปโภคต่าง ๆ ดังนั้น ญี่ปุ่นจึงยังคงตรึงอัตราดอกเบี้ยไว้โดยไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแต่อย่างใด และถึงแม้ว่าราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นจะไม่กระทบต่ออัตราเงินเฟ้อ แต่ได้ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจบางกลุ่ม ได้แก่ เหล็ก รถยนต์ อลูมิเนียม และซีเมนต์
อย่างไรก็ตาม IMF คาดว่าในปี 2548 เศรษฐกิจญี่ปุ่นจะสามารถขยายตัวได้ถึงร้อยละ 1.5 จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัวได้เพียงร้อยละ 0.9
เศรษฐกิจสหภาพยุโรป
ในไตรมาส 2/2548 เศรษฐกิจสหภาพยุโรปมีแนวโน้มชะลอตัวต่อเนื่องตามการ ชะลอตัวลงของเศรษฐกิจโลกและอุปสงค์ภายในประเทศที่ซบเซาจากภาวะการว่างงานที่อยู่ในระดับสูง และราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้การบริโภคภาคเอกชนชะลอตัวลง เนื่องจากขาดอำนาจซื้อ ทั้งนี้ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค (Consumer Confidence Index) ในเดือนมิถุนายน 2548 ทรงตัวอยู่ที่ —15 ขณะที่ภาคการผลิตก็มีแนวโน้มชะลอตัวลงเช่นเดียวกัน ทั้งนี้ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม (Industrial Confidence Index) ในเดือนมิถุนายน 2548 อยู่ที่ -10 เทียบกับ -11 ในเดือนพฤษภาคม 2548
สำหรับด้านอุปทาน ดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรม (Manufacturing PMI) ในเดือนมิถุนายน 2548 อยู่ที่ระดับ 49.8 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากระดับ 48.7 ในเดือนพฤษภาคม 2548 แต่ก็ยังต่ำกว่าระดับ 50 ทั้งนี้เนื่องจากการหดตัวของผลผลิตอุตสาหกรรมในประเทศหลัก เช่น เยอรมนี อิตาลี ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ เป็นต้น สำหรับ PMI ภาคบริการ (Service PMI) ในเดือนมิถุนายน 2548 ยังคงทรงตัวอยู่เหนือระดับ 50 โดยอยู่ที่ระดับ 53.1 เทียบกับ 53.5 ในเดือนพฤษภาคม 2548 เนื่องจากภาคธุรกิจมีการลดราคาสินค้าเพื่อกระตุ้นยอดขาย
ทางด้านอัตราเงินเฟ้อนั้น ถึงแม้ในเดือนมิถุนายน 2548 อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.1 สูงกว่าเป้าที่ร้อยละ 2 เทียบกับร้อยละ 1.9 ในเดือนพฤษภาคม 2548 จากการเพิ่มขึ้นของราคาในหมวดที่อยู่อาศัย หมวดแอลกอฮอล์และยาสูบ และหมวดขนส่ง แต่ยังสอดคล้องกับเป้าหมายเสถียรภาพด้านราคาในระยะปานกลาง และแรงกดดันจากเงินเฟ้อยังสามารถควบคุมได้ อีกทั้งสภาพคล่องในระบบยังคงสูง ทำให้ธนาคารยุโรป (ECB) ยังคงตรึงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 2 ต่อปี เช่นเดิม
จากภาวะเศรษฐกิจของสหภาพยุโรปที่เริ่มถดถอยในหลายประเทศ สถานการณ์การก่อการร้ายได้เข้ามาซ้ำเติมเศรษฐกิจให้ทรุดหนัก โดยเมื่อต้นเดือนกรกฎาคม 2548 ผู้ก่อการร้ายได้ลอบวางระเบิดพร้อมกัน 4 จุด ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศ และมีแนวโน้มจะลุกลามไปในประเทศอื่น ๆ อีก จากประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก เกรงภัยมืดจากการก่อการร้ายเหมือนเป็นโรคระบาดที่แพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว
ดังนั้นในปี 2548 คาดว่าเศรษฐกิจของสหภาพยุโรปจะขยายตัวได้ร้อยละ 1.4 เท่านั้น
เศรษฐกิจอาเซียน
สิงคโปร์
เศรษฐกิจสิงคโปร์ในไตรมาส 2/2548 ขยายตัวร้อยละ 3.9 ขณะที่ไตรมาส 1/2548 ขยายตัวเพียงร้อยละ 2.4 และขยายตัวร้อยละ 12.3 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว ปัจจัยสำคัญมาจากภาคการผลิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มวิศวกรรมการขนส่ง ขณะเดียวกันการผลิตในอุตสาหกรรม biomedical มีสัญญาณฟื้นตัวแม้ยังติดลบ ส่วนการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ยังขยายตัวในระดับต่ำตามอุปสงค์ในตลาดโลก ในส่วนเคมีภัณฑ์ยังขยายตัวอยู่ในระดับต่ำเช่นเดียวกัน สำหรับภาคบริการขยายตัวเร็วขึ้นในเกือบทุกกลุ่ม โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มขนส่งทางอากาศ ยกเว้นการขนส่งทางน้ำและการสื่อสาร
ทางด้านอัตราเงินเฟ้อ ในเดือนมิถุนายน 2548 อัตราเงินเฟ้อของสิงคโปร์ได้เริ่มติดลบเป็นครั้งแรกในรอบ 2 ปี โดยติดลบร้อยละ 0.2 จากการปรับตัวลดลงของราคารถยนต์ และร้านค้าได้ลดราคาสินค้าในช่วงเทศกาลลดราคาประจำปีเพื่อกระตุ้นยอดขาย ทำให้สิงคโปร์ยังสามารถรักษาเสถียรภาพทางด้านราคาไว้ได้
สำหรับการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และสินค้าในกลุ่มเภสัชภัณฑ์เริ่มฟื้นตัวดีขึ้น
ในปี 2548 คาดว่าเศรษฐกิจสิงคโปร์จะขยายตัวได้ร้อยละ 4.5
มาเลเซีย
ในไตรมาส 2/2548 เศรษฐกิจมาเลเซียเริ่มขยายตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 1/2548 โดยการผลิตภาคอุตสาหกรรมในเดือนเมษายนเร่งตัวขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 6.8 จากสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ แต่ทางด้านการส่งออกกลับชะลอตัวลงตามอุปสงค์สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ชะลอตัวลง โดยการส่งออกของมาเลเซียในเดือนพฤษภาคม 2548 ปรับตัวลดลงอยู่ที่ร้อยละ 9.4
ทางด้านอัตราเงินเฟ้อของมาเลเซียในเดือนมิถุนายนกลับเร่งสูงขึ้นอยู่ที่ร้อยละ 3.2 จากหมวดอาหาร ค่าขนส่ง เครื่องดื่ม และยาสูบ ที่ราคาปรับเร่งขึ้นเป็นผลจากเมื่อเดือนพฤษภาคม มาเลเซียได้ปรับขึ้นราคาน้ำมันดีเซลร้อยละ 2.3 จนราคาน้ำมันอยู่ในระดับสูง อีกทั้งยังมีการเพิ่มอากรสำหรับเครื่องดื่มและยาสูบอีกด้วย ส่งผลให้ดัชนีราคาผู้บริโภคในเดือนมิถุนายนอยู่ที่ 109 จุด
สำหรับอัตราแลกเปลี่ยนเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2548 อัตรากลางมาเลเซียได้ประกาศปรับเปลี่ยนระบบอัตราแลกเปลี่ยนจากการตรึงค่าเงินริงกิตกับดอลลาร์สหรัฐฯ ไปสู่ระบบการลอยตัวค่าเงินแบบมีการจัดการ (Managed Float) ส่งผลให้อัตราแลกเปลี่ยนปรับจาก 3.80 ริงกิต/ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ ไปเป็น 3.778 ริงกิต/ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ
ในปี 2548 คาดว่าเศรษฐกิจมาเลเซียจะขยายตัวในอัตราร้อยละ 4.8
ฟิลิปปินส์
ในไตรมาส 2/2548 เศรษฐกิจฟิลิปปินส์มีแนวโน้มชะลอลง การบริโภคภาคเอกชนและการส่งออกที่ชะลอตัวลงจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น ทางด้านการลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มชะลอตัวลงเช่นเดียวกัน สำหรับการใช้จ่ายภาครัฐได้ชะลอตัวลงจากการที่หนี้ภาครัฐยังอยู่ในระดับสูง ทำให้รัฐบาลมาเลเซียใช้นโยบายเข้มงวดกับการใช้จ่ายภาครัฐเพื่อรักษาเสถียรภาพทางการคลัง เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาดุลการคลังขาดดุลที่เรื้อรัง
สำหรับสถานการณ์ทางการเมือง การต่อต้านประธานาธิบดีโดยอ้างว่าโกงการเลือกตั้งและทุจริตคอร์รัปชั่นในปี 2547 ส่งผลให้ค่าเงินเปโซอ่อนตัวลง ทางด้านอัตราเงินเฟ้อในเดือนมิถุนายนลดต่ำลงมาอยู่ที่ร้อยละ 7.6 จากการชะลอลงของราคาอาหารที่อยู่อาศัยและค่าสาธารณูปโภค จากการที่อัตราเงินเฟ้อที่ต่ำ ประกอบกับสภาพคล่องในระบบสูง ทำให้ค่าเงินเปโซอ่อนค่าลง ซึ่งอาจสร้างแรงกดดันกับอัตราเงินเฟ้อให้สูงขึ้นได้ รัฐบาลจึงได้ปรับขึ้นอัตราส่วนเงินสำรองตามกฎหมายและเงินสำรองเพื่อสภาพคล่อง
อย่างไรก็ตามในปี 2548 คาดว่าเศรษฐกิจฟิลิปปินส์จะขยายตัวได้ไม่เกินร้อยละ 5.1
อินโดนีเซีย
เศรษฐกิจอินโดนีเซียในไตรมาส 2/2548 ค่อนข้างชะลอตัวลงจากภาคการส่งออกที่ชะลอตัวลง การใช้จ่ายภาคเอกชนและการลงทุนภาคเอกชนที่ยังไม่ฟื้นตัวชัดเจน และจากการที่ราคาน้ำมันได้เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มสูงขึ้น ทำให้เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2548 ธนาคารกลางอินโดนีเซียได้ปรับเปลี่ยนการดำเนินนโยบายการเงินจากกรอบเป้าหมายการขยายตัวของปริมาณเงินเป็นกรอบเป้าหมายอัตราดอกเบี้ย และเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2548 ธนาคารอินโดนีเซียได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมาตรฐาน จากร้อยละ 8.25 เป็นร้อยละ 8.5 เพื่อรักษาเสถียรภาพด้านราคา ทั้งนี้ได้กำหนดเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยในปี 2548 ที่ร้อยละ 5 — 7
อย่างไรก็ตาม คาดว่าในปี 2548 เศรษฐกิจอินโดนีเซียจะขยายตัวไม่เกินร้อยละ 5.4
เศรษฐกิจในประเทศอุตสาหกรรมใหม่ในเอเซีย
ไต้หวัน
(ยังมีต่อ)