ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเดือน มิถุนายน 2550
กระทรวงพาณิชย์ ขอรายงานความเคลื่อนไหวดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเดือนมิถุนายน 2550โดยสรุปจากการสำรวจราคาสินค้าวัสดุก่อสร้างในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล จำนวน 88 รายการ ครอบคลุมหมวดไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ ซีเมนต์ ผลิตภัณฑ์คอนกรีต เหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กกระเบื้อง วัสดุฉาบผิว สุขภัณฑ์ อุปกรณ์ไฟฟ้าและประปาและวัสดุก่อสร้างอื่น ๆ เพื่อนำมาคำนวณดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง ได้ผลดังนี้
1 ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเดือนมิถุนายน 2550
ในปี 2543 ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเท่ากับ 100 และเดือนมิถุนายน 2550 เท่ากับ 135.6สำหรับเดือนพฤษภาคม 2550 คือ 134.8
2 การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเดือนมิถุนายน 2550 เมื่อเทียบกับ
2.1 เดือนพฤษภาคม 2550 เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.6
2.2 เดือนมิถุนายน 2549 เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.1
2.3 เฉลี่ยเดือนมกราคม - มิถุนายน 2550 เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2549 เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.6
3 ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเดือนมิถุนายน 2550 เทียบกับเดือนพฤษภาคม 2550 เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.6 (พฤษภาคม เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.1) เป็นการเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2550 สาเหตุสำคัญมาจากการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าในหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก (เหล็กเส้นกลมผิวข้ออ้อย เหล็กเส้นกลมผิวเรียบ เหล็กฉาก ลวดเหล็กและเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี) ร้อยละ 1.2 เนื่องจากปริมาณการผลิตลดลง ประกอบกับราคานำเข้าวัตถุดิบสูงขึ้น หมวดซีเมนต์ (ปูนฉาบ) ร้อยละ 0.8 และหมวดไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ (แผ่นไม้อัด) ร้อยละ 0.5 การเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าในหมวดไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ เนื่องจากต้นทุนการผลิตสูงขึ้น
4 ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเดือนมิถุนายน 2550 เทียบกับเดือนมิถุนายน 2549 เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.1 (พฤษภาคม 2550 เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.7) เป็นการเพิ่มขึ้นในอัตราที่ลดลงตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2550 ที่สำคัญคือหมวดสุขภัณฑ์ (โถส้วม ที่ปัสสาวะและถังปฏิกูล) ร้อยละ 18.0 หมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก (เหล็กเส้นกลมผิวข้ออ้อย เหล็กเส้นกลมผิวเรียบ เหล็กตัวซี เหล็กฉาก ท่อเหล็กและเหล็กแผ่น) ร้อยละ 6.2 และหมวดไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ (แผ่นไม้อัด วงกบประตู-หน้าต่างและบานประตู-หน้าต่าง) ร้อยละ 4.8 เป็นผลจากต้นทุนการผลิตสูงขึ้น
5 ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเฉลี่ยเดือนมกราคม -มิถุนายน 2550 เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2549 เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.6 เป็นการเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2549 จากการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าในหมวดสุขภัณฑ์ ร้อยละ 17.6 หมวดอุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา (สายไฟฟ้า สายเคเบิลและถังเก็บน้ำ) ร้อยละ 9.9 และหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก ร้อยละ 9.1 เป็นผลจากต้นทุนการผลิตสูงขึ้น
ที่มา: สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงพาณิชย์