ผลกระทบของลักษณะอากาศต่อการเกษตรตามภาคต่าง ๆ
ระหว่าง 01 สิงหาคม 2550 - 07 สิงหาคม 2550
ภาคเหนือ
มีฝนฟ้าคะนองกระจายถึงเกือบทั่วไปตลอดช่วง กับมีฝนตกหนักบางแห่งโดยเฉพาะในช่วงวันที่ 3-7 ส.ค. กับลมกระโชกแรงบางพื้นที่ เกษตรกรควรเตรียมพร้อมป้องกันความเสียหายเนื่องจากสภาวะน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากโดยเฉพาะพื้นที่ใกล้ทางน้ำไหลหรือที่ลาดเชิงเขา ส่วนชาวนาควรระวังและป้องกันการระบาดของหอยเชอรี่ในช่วงนี้
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
มีฝนฟ้าคะนองกระจายถึงเกือบทั่วไปตลอดช่วง กับมีฝนตกหนักบางแห่งส่วนมากทางด้านตะวันออกและตอนล่างของภาคโดยเฉพาะในช่วงวันที่ 3-7 ส.ค. และลมกระโชกแรงบางพื้นที่ สำหรับสวนน้อยหน่าที่กำลังให้ผลผลิต ชาวสวนควรกำจัดวัชพืชให้โล่งเตียน อากาศถ่ายเทสะดวก เพื่อลดความชื้นซึ่งเป็นสาเหตุของโรคต่างๆ รวมทั้งไม่ควรปล่อยให้สัตว์เลี้ยงอยู่ในที่ชื้นแฉะ เพื่อป้องกันการระบาดของโรคปากและเท้าเปื่อย นอกจากนี้ควรกักเก็บน้ำไว้ใช้ในระยะต่อไปด้วย
ภาคกลาง
มีฝนฟ้าคะนองกระจายถึงเกือบทั่วไปตลอดช่วง กับมีฝนตกหนักบางแห่งส่วนมากทางด้านตะวันตกของภาคโดยเฉพาะในช่วงวันที่ 3-7 ส.ค. และลมกระโชกแรงบางพื้นที่ เกษตรกรที่ปลูก กล้วยไม้ควรหมั่นสำรวจแปลงปลูกเพราะอากาศชื้นอาจส่งผลให้มีการระบาดของโรคใบไหม้และโรคดอกสนิม ส่วนผู้ที่เลี้ยงสัตว์ควรดูแลโรงเรือนอย่าให้อับชื้นเพื่อป้องกันไม่ให้สัตว์เลี้ยงอ่อนแอและเจ็บป่วยได้ง่าย อย่างไรก็ดีบางพื้นที่ควรใช้น้ำอย่างเต็มประสิทธิภาพในช่วงที่ฝนทิ้งช่วงในระยะนี้
ภาคตะวันออก
มีฝนฟ้าคะนองกระจายตลอดช่วง กับมีฝนตกหนักและลมกระโชกแรงบางพื้นที่ สำหรับพื้นที่การเกษตรในที่ลุ่ม เกษตรกรควรระวังปัญหาจากน้ำท่วมขัง ส่วนผู้ที่ปลูกผักควรยกร่องแปลงปลูกให้สูง และคลุกเมล็ดพันธุ์ด้วยสารป้องกันเชื้อราก่อนปลูก อนึ่ง ในช่วงวันที่ 4-7 ส.ค. ชาวประมงควรเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือ
ภาคใต้ (ฝั่งตะวันออก)
ทางฝั่งตะวันออกมีฝนฟ้าคะนองกระจายตลอดช่วง โดยมีฝนตกหนักบางแห่งส่วนมากทางตอนบนของภาคโดยเฉพาะในช่วงวันที่ 3 -7 ส.ค. เกษตรกรที่อาศัยอยู่ในบริเวณพื้นที่เสี่ยงภัยควรระวังและป้องกันสภาวะน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากไว้ด้วย ส่วนทางฝั่งตะวันตกมีฝนฟ้าคะนองกระจายถึงเกือบทั่วไปกับมีฝนตกหนักบางแห่ง ชาวสวนยางพาราควรระวังและป้องกันการระบาดของโรคที่เกิดจากเชื้อราโดยเฉพาะโรคใบยางร่วงและ โรคเส้นดำ โดยกำจัดวัชพืชและดูแลสวนให้โล่งเตียน อนึ่ง ในช่วงวันที่ 3-7 ส.ค. ชาวประมงบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยควรเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือ ส่วนเรือเล็กบริเวณทะเลอันดามันควรงดออกจากฝั่ง
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมอุตุนิยมวิทยา 0-2399-4568-74
-สส-