ครึ่งปีที่เหลือของรัฐบาล - คมช.
อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
๑๕ เมษายน ๒๕๕๐
www.abhisit.org
ใครที่เคยคาดหวังว่า การเมืองจะสงบนิ่งหลังการรัฐประหาร คงจะผิดหวังอย่างรุนแรง เพราะนับวัน ความกังวล วิตก ห่วงใย เกี่ยวกับสภาพปัญหาการเมืองกลับมีแต่จะเพิ่มขึ้น การคาดคะเน วิเคราะห์ ข่าวลือ เกี่ยวกับความวุ่นวายก็ยังคงมีอย่างต่อเนื่อง คำถามก็ยังคงวนเวียน อยู่ในประเด็นเดิมๆ เช่น
จะมีการปฏิวัติอีกหรือไม่
จะมีการเปลี่ยนแปลงนายกรัฐมนตรี / รัฐบาลหรือไม่
คนไทยจะได้เลือกตั้งในปีนี้หรือไม่
รัฐธรรมนูญจะผ่านการประชามติหรือไม่
การชุมนุมทางการเมืองจะรุนแรงหรือไม่
จะมีปัญหาจากคดียุบพรรคการเมืองหรือไม่
ฯลฯ
ท่ามกลางคำถามเหล่านี้ ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนก็ได้รับผลกระทบกระเทือนอย่างต่อเนื่อง จากเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง เพราะความเชื่อมั่นทั้งของนักลงทุน และผู้บริโภคถดถอย จากปัญหาความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ทั้งในพื้นที่ ๓ จังหวัดภาคใต้ และในเมืองหลวงที่ยังมีข่าวคราวและความหวาดกลัวเกี่ยวกับการก่อการร้าย
สภาวการณ์เช่นนี้ย่อมส่งผลกระทบกระเทือนต่อความรู้สึกนึกคิดของทั้งประชาชน และผู้มีอำนาจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
สำหรับประชาชนทั่วไปแล้ว ขณะนี้มีความคาดหวังเพียงว่า ทุกฝ่ายจะประคับประคองบ้านเมืองไปจนมีการเลือกตั้ง แล้วปัญหาต่างๆจะค่อยๆคลี่คลาย
ไม่คาดหวังว่ารัฐธรรมนูญจะดีกว่าเดิม ให้เพียงพอต่อการหวนคืนสู่ประชาธิปไตย แล้วไปแก้กันภายหลัง
ไม่คาดหวังอะไรในเชิงนโยบายมากนัก เพียงแต่อย่าให้เศรษฐกิจและความสงบเรียบร้อยมีปัญหามากไปกว่านี้อีก
แม้แต่ภารกิจ ๔ ข้อ ที่คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ได้ประกาศไว้ในการทำรัฐประหาร เมื่อ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ ก็ดูเหมือนหลายคนเริ่มอยู่ในอาการ “ทำใจ” ว่าคงไม่ได้เป็นไปตามที่เคยคาดหวังเอาไว้
ขณะเดียวกันในส่วนของผู้มีอำนาจ ก็ดูจะมีอาการหวั่นไหวอยู่ เริ่มพูดกันมากขึ้นถึงเรื่องการลงจากอำนาจว่า จะลงได้อย่างปลอดภัยหรือไม่ โดยเฉพาะการพูดถึงการเกษียณอายุของ ผู้บัญชาการทหารบก ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) อยู่ด้วย
ในส่วนของประชาชน การลดความคาดหวัง และอยู่ในอาการรอคอย คงไม่เป็นปัญหามากนัก นอกจากทำให้การกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการใช้จ่ายของประชาชนยากขึ้น แต่ก็มีด้านดีที่ทำให้จะไม่มีอาการผิดหวังอย่างรุนแรง
แต่สำหรับผู้มีอำนาจ หากมองไปข้างหน้า แล้วดูลู่ทางเพียงแค่การลงจากหลังเสืออย่างปลอดภัย จะเป็นการคิดผิดอย่างรุนแรง โดยเฉพาะถ้ามองว่าจะต้องมีการต่ออายุ ต่อท่ออำนาจ หรือ วิธีการอื่นๆ
ผิดสำหรับประเทศชาติ เพราะมีแต่จะทำให้บ้านเมืองและส่วนรวม เสี่ยงต่อการเผชิญหน้า หรือ ตกอยู่ในภาวะวิกฤติที่รุนแรงขึ้น
และผิดสำหรับตัวผู้มีอำนาจเอง เพราะในที่สุดนั่นจะเป็นการทำให้การก้าวลงจากอำนาจมีความสุ่มเสี่ยงมากขึ้น
วันนี้รัฐบาล และ คมช. จะต้องตั้งมั่น ลืมโอกาสที่อาจสูญเสียไปในครึ่งปีที่ผ่านมา แต่ผนึกกำลัง แข่งขันกับเวลาครึ่งปีที่เหลือ ทำในสิ่งที่ต้องทำเพื่อปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ไม่ว่าประชาชนจะคาดหวังอีกต่อไปหรือไม่ เพราะความสำเร็จในภารกิจนี้ ต้องการการทำงานที่ทุ่มเทโปร่งใส จะเป็นเกราะกำบังที่ดีที่สุด เมื่อท่านก้าวลงจากอำนาจ
ครึ่งปีที่เหลือ จึงควรเป็นครึ่งปีที่เราได้เห็นสิ่งต่อไปนี้
๑. สะสาง ๔ ภารกิจ (ตามที่ คปค.ได้ประกาศไว้ในการทำรัฐประหาร) โดยการทำ
กฎหมายให้เป็นกฎหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาการทุจริตต่างๆ และ การละเมิดกฎหมาย ทั้งในเรื่องการก่อความไม่สงบ การใช้ความรุนแรง รวมไปถึงการละเมิดสถาบันสูงสุด จนถึงขณะนี้ ดูจะมีเพียง คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) และ คณะกรรม การป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) ที่แน่วแน่ในการปฏิบัติภารกิจนี้ แต่ฝ่ายบริหารเองกลับดูมีความลังเล แน่นอนที่สุด ข้อกล่าวหาต่างๆที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มอำนาจเก่ามีมาก และคงจะไม่เป็นธรรม หากจะบอกว่ามีการกระทำผิดในทุกกรณี แต่สิ่งที่สังคมต้องการจะเห็น คือ ความจริงจัง ในการรวบรวมหลักฐานด้วยความร่วมมือจากทุกกลไก และ การเปิดเผยข้อเท็จจริงต่างๆอย่างโปร่งใส และเป็นธรรม
โจรอาจจะกลับใจได้ แต่ในนิติรัฐ โจรต้องถูกลงโทษด้วย
การเอาจริงเอาจังกับการบังคับใช้กฎหมาย รวมถึงปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นหลังการรัฐประหารด้วย บางเรื่องจะต้องมีการขับเคลื่อนอย่างจริงจัง เช่น กรณีของเว็บไซด์ YouTube ที่ละเมิดกฎของ web ตัวเอง ในเรื่องการปล่อยให้มีคลิปวิดีโอที่ผิดกฎหมายไทย และ ก่อให้เกิดความเกลียดชังต่อสถาบันสูงสุดของประเทศและคนไทย ไม่ควรจะเป็นเรื่องที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือไอซีที ต่อสู้เพียงลำพัง ทั้งๆที่เป็นเรื่องที่กระทบ กระเทือนจิตใจของคนไทยทั้งประเทศ
๒. วางรากฐานที่ดีสำหรับการเมืองหลังการเลือกตั้ง ไม่มีใครต้องการจะเห็นการรัฐประหารเกิดขึ้นอีก การป้องกันรัฐประหารไม่อาจกระทำได้ โดยการมีคณะกรรมการในสถานการณ์ฉุกเฉิน แต่การป้องกันที่ดีที่สุด คือการป้องกันไม่ให้นักการเมืองใช้อำนาจเกินขอบเขต นอกเหนือจากการถ่วงดุลอำนาจโดยกลไกทางการเมือง ในรัฐธรรมนูญแล้ว บางสถาบันต้องได้รับการคุ้มครอง ซึ่งรัฐบาลและสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.).จะต้องเร่งทำตั้งแต่บัดนี้ เช่น
- การคุ้มครองข้าราชการที่ดี ไม่ให้ถูกกลั่นแกล้ง และการป้องกันไม่ให้ข้าราชการกลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองในการทุจริต และทำลายล้างคู่แข่งขัน ลำพังบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญฯจะไม่เพียงพอ การออกกฎหมาย กฎ ระเบียบต่างๆในเรื่องนี้ จึงมีความจำเป็นเร่งด่วนอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในหน่วยงานที่มีปัญหามากในช่วงที่ผ่านมา เช่น ตำรวจ อัยการ คณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) กรมสอบสวนคดีพิเศษ
- การคุ้มครองสื่อมวลชน ให้มีเสรีภาพ ในการตรวจสอบ ประเด็นวันนี้ไม่ได้มีเพียงแต่การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าของ TITV แต่การจะจัดตั้งสื่อสาธารณะ สื่อเสรี ที่เป็นรูปธรรม รวมไปถึงการมีกฎหมายคุ้มครองผู้ประกอบวิชาชีพสื่อเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง
๓. รณรงค์ค่านิยมที่ถูกต้องเกี่ยวกับการเมืองและประชาธิปไตย หากการเลือกตั้งปลายปีนี้ยังคงมีการซื้อเสียงเหมือนเดิม หากนักการเมืองจะต้องมีค่าใช้จ่ายที่สูง และ ต้องหาเงินมาด้วยวิธีที่ไม่ชอบ การเมืองไทยก็ย่ำอยู่รอยเดิม รัฐบาล คมช. และ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ต้องเร่งรณรงค์ในเรื่องนี้ในระยะเวลาสั้นๆที่เหลืออยู่
๔. จัดลำดับความสำคัญในด้านนโยบายเศรษฐกิจและสังคม เวลาที่จำกัดหมายความว่ารัฐบาลจะทำทุกเรื่องไม่ได้ แต่ควรมุ่งเน้นในการตอบสนองปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนให้มากที่สุด หลีกเลี่ยงการผลักดันนโยบายที่ไม่จำเป็นเร่งด่วนและก่อให้เกิดความขัดแย้ง
ท้ายที่สุด ต้องไม่มีพฤติกรรมในเรื่องการทุจริต คอร์รัปชั่น ความไม่โปร่งใส และต้องชี้แจงข้อครหาต่างๆซึ่งขณะนี้มีมากขึ้น มิฉะนั้นคนจะมองว่า การยึดอำนาจไม่ได้เปลี่ยนแปลงแก้ไขปัญหาการใช้อำนาจ แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงผู้ได้ประโยชน์จากอำนาจเท่านั้น
หากล้มเหลวในข้อสุดท้ายนี้ เลิกคิดเรื่องการลงจากอำนาจอย่างปลอดภัยได้เลย
ทีมโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ 15 เม.ย. 2550--จบ--
อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
๑๕ เมษายน ๒๕๕๐
www.abhisit.org
ใครที่เคยคาดหวังว่า การเมืองจะสงบนิ่งหลังการรัฐประหาร คงจะผิดหวังอย่างรุนแรง เพราะนับวัน ความกังวล วิตก ห่วงใย เกี่ยวกับสภาพปัญหาการเมืองกลับมีแต่จะเพิ่มขึ้น การคาดคะเน วิเคราะห์ ข่าวลือ เกี่ยวกับความวุ่นวายก็ยังคงมีอย่างต่อเนื่อง คำถามก็ยังคงวนเวียน อยู่ในประเด็นเดิมๆ เช่น
จะมีการปฏิวัติอีกหรือไม่
จะมีการเปลี่ยนแปลงนายกรัฐมนตรี / รัฐบาลหรือไม่
คนไทยจะได้เลือกตั้งในปีนี้หรือไม่
รัฐธรรมนูญจะผ่านการประชามติหรือไม่
การชุมนุมทางการเมืองจะรุนแรงหรือไม่
จะมีปัญหาจากคดียุบพรรคการเมืองหรือไม่
ฯลฯ
ท่ามกลางคำถามเหล่านี้ ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนก็ได้รับผลกระทบกระเทือนอย่างต่อเนื่อง จากเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง เพราะความเชื่อมั่นทั้งของนักลงทุน และผู้บริโภคถดถอย จากปัญหาความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ทั้งในพื้นที่ ๓ จังหวัดภาคใต้ และในเมืองหลวงที่ยังมีข่าวคราวและความหวาดกลัวเกี่ยวกับการก่อการร้าย
สภาวการณ์เช่นนี้ย่อมส่งผลกระทบกระเทือนต่อความรู้สึกนึกคิดของทั้งประชาชน และผู้มีอำนาจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
สำหรับประชาชนทั่วไปแล้ว ขณะนี้มีความคาดหวังเพียงว่า ทุกฝ่ายจะประคับประคองบ้านเมืองไปจนมีการเลือกตั้ง แล้วปัญหาต่างๆจะค่อยๆคลี่คลาย
ไม่คาดหวังว่ารัฐธรรมนูญจะดีกว่าเดิม ให้เพียงพอต่อการหวนคืนสู่ประชาธิปไตย แล้วไปแก้กันภายหลัง
ไม่คาดหวังอะไรในเชิงนโยบายมากนัก เพียงแต่อย่าให้เศรษฐกิจและความสงบเรียบร้อยมีปัญหามากไปกว่านี้อีก
แม้แต่ภารกิจ ๔ ข้อ ที่คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ได้ประกาศไว้ในการทำรัฐประหาร เมื่อ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ ก็ดูเหมือนหลายคนเริ่มอยู่ในอาการ “ทำใจ” ว่าคงไม่ได้เป็นไปตามที่เคยคาดหวังเอาไว้
ขณะเดียวกันในส่วนของผู้มีอำนาจ ก็ดูจะมีอาการหวั่นไหวอยู่ เริ่มพูดกันมากขึ้นถึงเรื่องการลงจากอำนาจว่า จะลงได้อย่างปลอดภัยหรือไม่ โดยเฉพาะการพูดถึงการเกษียณอายุของ ผู้บัญชาการทหารบก ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) อยู่ด้วย
ในส่วนของประชาชน การลดความคาดหวัง และอยู่ในอาการรอคอย คงไม่เป็นปัญหามากนัก นอกจากทำให้การกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการใช้จ่ายของประชาชนยากขึ้น แต่ก็มีด้านดีที่ทำให้จะไม่มีอาการผิดหวังอย่างรุนแรง
แต่สำหรับผู้มีอำนาจ หากมองไปข้างหน้า แล้วดูลู่ทางเพียงแค่การลงจากหลังเสืออย่างปลอดภัย จะเป็นการคิดผิดอย่างรุนแรง โดยเฉพาะถ้ามองว่าจะต้องมีการต่ออายุ ต่อท่ออำนาจ หรือ วิธีการอื่นๆ
ผิดสำหรับประเทศชาติ เพราะมีแต่จะทำให้บ้านเมืองและส่วนรวม เสี่ยงต่อการเผชิญหน้า หรือ ตกอยู่ในภาวะวิกฤติที่รุนแรงขึ้น
และผิดสำหรับตัวผู้มีอำนาจเอง เพราะในที่สุดนั่นจะเป็นการทำให้การก้าวลงจากอำนาจมีความสุ่มเสี่ยงมากขึ้น
วันนี้รัฐบาล และ คมช. จะต้องตั้งมั่น ลืมโอกาสที่อาจสูญเสียไปในครึ่งปีที่ผ่านมา แต่ผนึกกำลัง แข่งขันกับเวลาครึ่งปีที่เหลือ ทำในสิ่งที่ต้องทำเพื่อปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ไม่ว่าประชาชนจะคาดหวังอีกต่อไปหรือไม่ เพราะความสำเร็จในภารกิจนี้ ต้องการการทำงานที่ทุ่มเทโปร่งใส จะเป็นเกราะกำบังที่ดีที่สุด เมื่อท่านก้าวลงจากอำนาจ
ครึ่งปีที่เหลือ จึงควรเป็นครึ่งปีที่เราได้เห็นสิ่งต่อไปนี้
๑. สะสาง ๔ ภารกิจ (ตามที่ คปค.ได้ประกาศไว้ในการทำรัฐประหาร) โดยการทำ
กฎหมายให้เป็นกฎหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาการทุจริตต่างๆ และ การละเมิดกฎหมาย ทั้งในเรื่องการก่อความไม่สงบ การใช้ความรุนแรง รวมไปถึงการละเมิดสถาบันสูงสุด จนถึงขณะนี้ ดูจะมีเพียง คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) และ คณะกรรม การป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) ที่แน่วแน่ในการปฏิบัติภารกิจนี้ แต่ฝ่ายบริหารเองกลับดูมีความลังเล แน่นอนที่สุด ข้อกล่าวหาต่างๆที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มอำนาจเก่ามีมาก และคงจะไม่เป็นธรรม หากจะบอกว่ามีการกระทำผิดในทุกกรณี แต่สิ่งที่สังคมต้องการจะเห็น คือ ความจริงจัง ในการรวบรวมหลักฐานด้วยความร่วมมือจากทุกกลไก และ การเปิดเผยข้อเท็จจริงต่างๆอย่างโปร่งใส และเป็นธรรม
โจรอาจจะกลับใจได้ แต่ในนิติรัฐ โจรต้องถูกลงโทษด้วย
การเอาจริงเอาจังกับการบังคับใช้กฎหมาย รวมถึงปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นหลังการรัฐประหารด้วย บางเรื่องจะต้องมีการขับเคลื่อนอย่างจริงจัง เช่น กรณีของเว็บไซด์ YouTube ที่ละเมิดกฎของ web ตัวเอง ในเรื่องการปล่อยให้มีคลิปวิดีโอที่ผิดกฎหมายไทย และ ก่อให้เกิดความเกลียดชังต่อสถาบันสูงสุดของประเทศและคนไทย ไม่ควรจะเป็นเรื่องที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือไอซีที ต่อสู้เพียงลำพัง ทั้งๆที่เป็นเรื่องที่กระทบ กระเทือนจิตใจของคนไทยทั้งประเทศ
๒. วางรากฐานที่ดีสำหรับการเมืองหลังการเลือกตั้ง ไม่มีใครต้องการจะเห็นการรัฐประหารเกิดขึ้นอีก การป้องกันรัฐประหารไม่อาจกระทำได้ โดยการมีคณะกรรมการในสถานการณ์ฉุกเฉิน แต่การป้องกันที่ดีที่สุด คือการป้องกันไม่ให้นักการเมืองใช้อำนาจเกินขอบเขต นอกเหนือจากการถ่วงดุลอำนาจโดยกลไกทางการเมือง ในรัฐธรรมนูญแล้ว บางสถาบันต้องได้รับการคุ้มครอง ซึ่งรัฐบาลและสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.).จะต้องเร่งทำตั้งแต่บัดนี้ เช่น
- การคุ้มครองข้าราชการที่ดี ไม่ให้ถูกกลั่นแกล้ง และการป้องกันไม่ให้ข้าราชการกลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองในการทุจริต และทำลายล้างคู่แข่งขัน ลำพังบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญฯจะไม่เพียงพอ การออกกฎหมาย กฎ ระเบียบต่างๆในเรื่องนี้ จึงมีความจำเป็นเร่งด่วนอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในหน่วยงานที่มีปัญหามากในช่วงที่ผ่านมา เช่น ตำรวจ อัยการ คณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) กรมสอบสวนคดีพิเศษ
- การคุ้มครองสื่อมวลชน ให้มีเสรีภาพ ในการตรวจสอบ ประเด็นวันนี้ไม่ได้มีเพียงแต่การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าของ TITV แต่การจะจัดตั้งสื่อสาธารณะ สื่อเสรี ที่เป็นรูปธรรม รวมไปถึงการมีกฎหมายคุ้มครองผู้ประกอบวิชาชีพสื่อเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง
๓. รณรงค์ค่านิยมที่ถูกต้องเกี่ยวกับการเมืองและประชาธิปไตย หากการเลือกตั้งปลายปีนี้ยังคงมีการซื้อเสียงเหมือนเดิม หากนักการเมืองจะต้องมีค่าใช้จ่ายที่สูง และ ต้องหาเงินมาด้วยวิธีที่ไม่ชอบ การเมืองไทยก็ย่ำอยู่รอยเดิม รัฐบาล คมช. และ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ต้องเร่งรณรงค์ในเรื่องนี้ในระยะเวลาสั้นๆที่เหลืออยู่
๔. จัดลำดับความสำคัญในด้านนโยบายเศรษฐกิจและสังคม เวลาที่จำกัดหมายความว่ารัฐบาลจะทำทุกเรื่องไม่ได้ แต่ควรมุ่งเน้นในการตอบสนองปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนให้มากที่สุด หลีกเลี่ยงการผลักดันนโยบายที่ไม่จำเป็นเร่งด่วนและก่อให้เกิดความขัดแย้ง
ท้ายที่สุด ต้องไม่มีพฤติกรรมในเรื่องการทุจริต คอร์รัปชั่น ความไม่โปร่งใส และต้องชี้แจงข้อครหาต่างๆซึ่งขณะนี้มีมากขึ้น มิฉะนั้นคนจะมองว่า การยึดอำนาจไม่ได้เปลี่ยนแปลงแก้ไขปัญหาการใช้อำนาจ แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงผู้ได้ประโยชน์จากอำนาจเท่านั้น
หากล้มเหลวในข้อสุดท้ายนี้ เลิกคิดเรื่องการลงจากอำนาจอย่างปลอดภัยได้เลย
ทีมโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ 15 เม.ย. 2550--จบ--