หยวนแข็ง ผลกระทบส่งออก

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday January 9, 2007 10:51 —กรมส่งเสริมการส่งออก

          นักจากเดือนกรกฎาคม 2548 เป็นต้นมา เงินหยวนของจีนได้แข็งค่าขึ้นไป 6 % เฉพาะปี 2549 ปีเดียวหยวนแข็งค่า 3.4 % ขึ้นไปที่ระดับ 7.8051 หยวนต่อดอลลาร์ ในขณะที่นักเศรษฐศาตร์หลายรายทั้งในและต่างประเทศ ประเมินไปในทิศทางเดียวกันว่า เงินหยวน มีแนวโน้มจะแข็งค่าขึ้นอีกในปี 2550 อีกอย่างน้อย 5 % และคาดว่าภายในสิ้นปีนี้ อาจจะอยู่ที่ระดับ 7.44 หยวนต่อดอลลาร์
หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ ประจำสภาพัฒนาการค้าฮ่องกง กลุ่มตัวแทนอุตสาหกรรมที่ได้รับทุนสนับสนุนจากรัฐบาลเตือนว่า หากหยวนแข็งค่ามากขึ้นจะบีบให้ผู้ส่งออกมีทางเลือกไม่มากนัก นอกจากจะต้องปรับราคาสินค้าส่งออก เนื่องจากผู้ผลิตหลายรายเริ่มประสบปัญหาต้นทุน โดยเฉพาะจากปัญหาค่าจ้างแรงงานและวัตถุดิบแพงขึ้นอยู่ก่อนแล้ว
แต่สำหรับรัฐบาลจีน กลับพอใจกับระดับการแข็งค่าของเงินหยวนที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ดังที่นายโจว เสี่ยวฉวน ผู้ว่าการธนาคารกลางจีนอ้างว่า อัตราแลกเปลี่ยนของหยวนเคลื่อนไหวอย่างเป็นระบบและในระดับที่สมเหตุสมผล แต่ถึงอย่างไร รัฐบาลปักกิ่งก็ต้องยอมปล่อยให้หยวนแข็งค่ามากขึ้น เพื่อเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจของจีนเอง นั่นเป็นเพราะจีนมีปัญหาใหญ่สุดอยู่ก่อนแล้ว นั่นคือ การเกินดุลการค้าที่เพิ่มพูนขึ้นเรื่อย ๆ และส่งผลให้ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศของจีนมีมากกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์แล้วในปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2549 แบงก์ชาติจีนได้ผ่อนคลายมาตรการควบคุมการปริวรรตเงินตราต่างประเทศ โดยอนุญาตให้นักลงทุนรายย่อยสามารถซื้อหุ้นและพันธบัตรในต่างประเทศ และเป็นการช่วยลดมูลค่าเงินหยวนทางหนึ่ง ทั้งนี้แบงก์ชาติจีนต้องการชะลอการแข็งค่าของหยวน เพื่อไม่ให้กระทบผู้ส่งออกจนสูญเสียความได้เปรียบทางด้านราคา
ประเด็นวิเคราะห์
แม้ค่าเงินหยวนจะปรับสูงขึ้นเป็นลำดับ ทั้งยังมีข้อกล่าวหาเสมอมาว่าจีนใช้นโยบายคุมค่าเงินหยวนให้อ่อนกว่าความเป็นจริงเพื่อสร้างความได้เปรียบให้กับสินค้าส่งออกของจีน ทำให้สหรัฐต้องเสียดุลการค้าให้จีนมหาศาล แม้แต่ไทยเองก็มองว่านโยบายคุมค่าเงินของจีนทำให้เงินบาทแข็งขึ้นมากอย่างน่าวิตก
ที่มา: http://www.depthai.go.th

แท็ก เงินหยวน  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ