เตือนหยวนฉุดขาดดุลการค้าพุ่งหอการค้าชี้ต้นทุนต่ำแข่งไทย

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday July 26, 2005 15:10 —สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย

          เตือนรัฐบาลไทยรับมือหยวนเชื่อสหรัฐกดดันจีนดันหยวนแข็งค่ามากกว่า 2% ลดกำลังการผลิตส่งผลสินค้าส่งออกไทยไปจีนลดลงฉุดตัวเลขขาดดุลการค้าแน่
ด้านหอการค้าหวั่นต้นทุนการผลิตของจีนต่ำกว่าไทยมาก แข่งลำบากเหมือนเดิม
นายสมภพ มานะรังสรรค์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า การเปลี่ยนแปลงนโยบายบริหารอัตราแลกเปลี่ยนของเงินสกุลหยวนของจีน จนกระทั่งแข็งค่าขึ้นประมาณ 2.1% นั้นมีทั้งผลบวกและลบ และเชื่อว่าอัตราค่าเงินหยวนจะไม่หยุดนิ่งเพียงเท่านั้น เพราะสหรัฐจะกดดันจีนอย่างต่อเนื่องตราบใดที่สหรัฐยังคงขาดดุลการค้ากับจีนอย่างมหาศาลประมาณ 1.6 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี และเชื่อว่าภายใน 2007 จีนจะประกาศใช้นโยบายลอยตัวค่าเงินหยวนหลังจากเปิดเสรีทางการเงินแล้ว
"ไม่ถึงปีครึ่งนับจากนี้ จีนต้องปรับเปลี่ยนระบบการเงิน และค่าเงินอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะไม่กระทบต่อเศรษฐกิจจีน แต่จะกระทบต่อกับคู่ค้าของจีน โดยเฉพาะประเทศในเอเชียที่ลงทุนกับจีน" นายรังสรรค์กล่าว
สำหรับประเทศไทยที่จะได้รับผลจากความผันผวนของเงินหยวนนั้น ช่วงนี้จะมีมากขึ้นเพราะอยู่ในภาวะเศรษฐกิจขาลง ก็จะลงร้ายแรงกว่าปกติเมื่อจีนปลดล็อกค่าเงินทำให้การค้าและการแลกเปลี่ยนลำบากยิ่งขึ้น โดยค่าเงินของจีนที่แข็งค่าขึ้นก็จะไปลดทอนส่งออกในแง่มูลค่า ขณะที่การส่งออกสินค้าบางตัวไปต่างประเทศของจีนต้องใช้โควต้ากำหนด ซึ่งส่วนใหญ่เต็มโควต้าแล้ว เมื่อการส่งออกของจีนชะงัก สินค้าล้นตลาดจีนก็ไม่จำเป็นต้องขยายกำลังการผลิต ก็ไม่ต้องนำเข้ามากเหมือนเดิมมีการชะลอการนำเข้า ซึ่งประเทศที่ถูกกระทบเป็นหลักคือเอเชีย เฉพาะประเทศไทยมีแนวโน้มกระทบสูงเพราะที่ผ่านมามีการส่งออกสินค้าวัตถุดิบเป็นอุตสาหกรรมต้นน้ำไปยังจีนเพิ่มขึ้นถึงประมาณ 40-50% คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 10% ของการส่งออกทั้งหมด โดยสินค้าอันดับต้นๆ เช่น ปิโตรเคมีเม็ดพลาสติก ยางพารามันสำปะหลัง เมื่อจีนชะลอการนำเข้าก็จะลากเศรษฐกิจทั่วโลกให้มีปัญหาตาม ไม่เพียงแต่การส่งออกไปจีนจะมีปัญหาเท่านั้น ไทยอาจมีปัญหาการส่งออกไปยังญี่ปุ่น เกาหลี เพราแน่นอนว่าจีนจะต้องนำเข้าจากญี่ปุ่น และเกาหลี ไต้หวัน ลดลง จนในที่สุดทำให้ขาดดุลการค้าเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตามผลกระทบในแง่บวกต้องใช้เวลาประมาณอีก 6 เดือนถึง 1 ปี เช่น จีนอาจเข้ามาลงทุนในเอเชียมากขึ้น อุตสาหกรรมที่เคยแข่งกับจีนไม่ได้ก็จะกระเตื้อง และจะเกิดความร่วมมือเรื่องค่าเงินในเอเชีย
"จีนรักษาการบริหารค่าเงินแบบเดิมไม่ได้ จีนเปลี่ยนแปลงแน่ๆ เราต้องมองว่าการเตรียมตัวของเราดีไหม ผลกระทบในด้านบวกเก็บเกี่ยวเต็มที่หรือไม่ เป็นการบ้านที่ภาครัฐต้องขบคิดและเตรียมตัวล่วงหน้า" นายสมภพกล่าว
นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล กรรมการรองเลขาธิการหอการค้าไทย กล่าวว่าการที่จีนปรับค่าเงินหยวนโดยค่าเงินแข็งค่าขึ้น เป็นผลดีต่อการค้าระหว่างประเทศของไทย 3 กรณี 1.การส่งออกสินค้าไทยไปยังประเทศที่ 3 ราคาสินค้าของจีนจะแพงขึ้น สินค้าไทยแข่งขันได้มากขึ้น 2.กรณีไทยนำเข้าสินค้าจากจีนอาจน้อยลง เนื่องจากราคาสินค้าของจีนแพงขึ้นจากเดิม แต่การส่งออกของไทยไปยังจีนมีโอกาสขยายตัวดีอยู่ เนื่องจากค่าเงินบาทของไทยยังอ่อนตัวน้อยกว่าค่าเงินหยวน ทำให้สินค้าไทยในความรู้สึกของคนจีนยังไม่แพงขึ้นและ3.ด้านการท่องเที่ยว คนจีนจะมีรายได้เพิ่มขึ้นทำให้มีโอกาสจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น
"สินค้าไทยไม่ใช่เฉพาะสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่มีราคาถูกกว่าแต่ทุกสินค้ามีโอกาสในการแข่งขันมากขึ้น เนื่องจากช่องว่างของราคาที่เคยแตกต่างกันมีน้อยลง แต่ก็ต้องดูว่าต้นทุนการผลิตของจีนในแต่ละรายการถูกกว่าของไทยแค่ไหนถ้าของเขาถูกมาก ของเราก็ยังแข่งได้ลำบากเหมือนเดิม" นายพรศิลป์กล่าว
ที่มา: สภาหอการค้าไทย www.thaiechamber.com
-ดท-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ