บันทึกการประชุมวุฒิสภา
ครั้งที่ ๒ (สมัยสามัญทั่วไป)
วันศุกร์ที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๕
ณ ตึกรัฐสภา
เริ่มประชุมเวลา ๐๙.๓๕ นาฬิกา
เมื่อสมาชิกฯ มาประชุมครบองค์ประชุมแล้ว พลตรี มนูญกฤต รูปขจร
ประธานวุฒิสภา นายพิเชฐ พัฒนโชติ รองประธานวุฒิสภาคนที่หนึ่ง และนายบุญทัน
ดอกไธสง รองประธานวุฒิสภาคนที่สอง ขึ้นบัลลังก์
ประธานวุฒิสภาได้กล่าวเปิดประชุม แล้วแจ้งให้ที่ประชุมรับทราบเรื่องต่าง ๆ
ตามลำดับ ดังนี้
๑. ผลการดำเนินการของคณะรัฐมนตรีตามข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการ
วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิค พ.ศ. …. ของวุฒิสภา
ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้นำบันทึกเหตุผลของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ เป็นบันทึกเหตุผล
ของร่างพระราชบัญญัติประกาศในราชกิจจานุเบกษาพร้อมกับร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวเมื่อได้
ทรงลงพระปรมาภิไธยในร่างพระราชบัญญัติแล้ว
๒. ผลการดำเนินการของคณะรัฐมนตรีตามข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการวิสามัญ
พิจารณาร่างพระราชบัญญัติกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ พ.ศ. …. ของวุฒิสภา
ซึ่งกระทรวงการคลังได้รับไปพิจารณาดำเนินการและรายงานต่อคณะรัฐมนตรีรับทราบแล้ว
๓. ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ ๒ (สมัยสามัญทั่วไป) วันพฤหัสบดีที่
๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๕ ที่ประชุมได้รับทราบรายงานการตรวจสอบงบการเงินสำนักงาน
คณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ สำหรับปีสิ้นสุดวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๔๓
และรายงานการตรวจสอบงบการเงินสำนักงานศาลปกครอง สำหรับงวดตั้งแต่วันที่ ๗ ธันวาคม ๒๕๔๒
ถึงวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๔๓ ของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน แล้ว
๔. ผลการพิจารณาศึกษาของคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ เรื่อง
การตรวจสอบการจารกรรมพันธุ์ข้าวหอมมะลิไทย
ต่อมา ประธานวุฒิสภาได้เสนอให้ที่ประชุมรับรองรายงานการประชุมวุฒิสภา
ครั้งที่ ๓๑ (สมัยสามัญนิติบัญญัติ) วันศุกร์ที่ ๒ พฤศจิกายน ๒๕๔๔
ครั้งที่ ๓๒ (สมัยสามัญนิติบัญญัติ) วันพฤหัสบดีที่ ๘ พฤศจิกายน ๒๕๔๔
ครั้งที่ ๓๓ (สมัยสามัญนิติบัญญัติ) วันศุกร์ที่ ๙ พฤศจิกายน ๒๕๔๔
ครั้งที่ ๓๔ (สมัยสามัญนิติบัญญัติ) วันพฤหัสบดีที่ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๔๔
ครั้งที่ ๓๖ (สมัยสามัญนิติบัญญัติ) วันพฤหัสบดีที่ ๒๒ พฤศจิกายน ๒๕๔๔
ครั้งที่ ๓๗ (สมัยสามัญนิติบัญญัติ) วันศุกร์ที่ ๒๓ พฤศจิกายน ๒๕๔๔
ครั้งที่ ๓๘ (สมัยสามัญนิติบัญญัติ) เป็นพิเศษ วันจันทร์ที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๔๔ และ
ครั้งที่ ๓๙ (สมัยสามัญนิติบัญญัติ) เป็นพิเศษ วันอังคารที่ ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๔๔
ซึ่งที่ประชุมได้รับรองรายงานการประชุมทั้ง ๘ ครั้ง ดังกล่าว
จากนั้น ประธานวุฒิสภาได้ปรึกษาที่ประชุมเพื่อขอนำเรื่องตามระเบียบวาระที่ ๗
เรื่องอื่น ๆ ขึ้นมาพิจารณาก่อน ซึ่งที่ประชุมมีมติเห็นชอบ ประธานวุฒิสภาจึงเสนอให้ที่ประชุม
พิจารณาเรื่องอื่น ๆ ดังนี้
๑. คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหาการพัฒนาพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้
ขอขยายเวลาการพิจารณาศึกษาเรื่องดังกล่าวออกไปอีก ๑๘๐ วัน นับแต่วันที่ ๙ มีนาคม ๒๕๔๕
ตามข้อบังคับฯ ข้อ ๙๒ ซึ่งที่ประชุมมีมติให้ขยายเวลาได้ตามที่คณะกรรมาธิการร้องขอ
๒. คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ
(ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ขอขยายเวลาการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวออกไปเป็นกรณีพิเศษ
อีก ๓๐ วัน นับแต่วันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๕ ตามรัฐธรรมนูญฯ มาตรา ๑๗๔ ซึ่งที่ประชุมมีมติให้ขยาย
เวลาได้ตามที่คณะกรรมาธิการร้องขอ
ต่อจากนั้น รองประธานวุฒิสภาคนที่หนึ่งและรองประธานวุฒิสภาคนที่สอง
ได้ผลัดเปลี่ยนกันทำหน้าที่ประธานของที่ประชุม โดยประธานของที่ประชุมได้เสนอให้
ที่ประชุมพิจารณาเรื่องด่วน คือ ร่างพระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ. ….
ซึ่งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาเสร็จ ที่ประชุมได้พิจารณาในวาระที่ ๒ เริ่มต้นด้วยชื่อร่าง
คำปรารภ แล้วเรียงตามลำดับมาตราจนจบร่าง และลงมติในวาระที่ ๓ ให้แก้ไขเพิ่มเติม
อนึ่ง คณะกรรมาธิการฯ ได้เสนอข้อสังเกตในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ
ดังกล่าว ซึ่งที่ประชุมมีมติเห็นชอบด้วยกับข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการฯ เพื่อแจ้งไปยัง
คณะรัฐมนตรีพิจารณาดำเนินการต่อไป
เลิกประชุมเวลา ๑๖.๕๐ นาฬิกา
(ลายเซ็น)
(นายจำนงค์ สวมประคำ)
เลขาธิการวุฒิสภา
สรุปผลการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ
ให้แก้ไขเพิ่มเติมร่างพระราชบัญญัติ จำนวน ๑ ฉบับ คือ
- ร่างพระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ. ….
กลุ่มงานรายงานการประชุม
สำนักการประชุม
โทร. ๐ ๒๒๔๔ ๑๕๖๘
โทรสาร ๐ ๒๒๔๔ ๑๕๖๖