กรมเจรจาฯ ดูงานประมงไต้หวันเพื่อพัฒนาประมงไทย : รองรับตลาด FTA

ข่าวเศรษฐกิจ Monday October 3, 2005 15:24 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

          เมื่อช่วงต้นเดือน กันยายน  2548 ที่ผ่านมา คณะเจ้าหน้าที่จากกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ โดยมีนางอัญชนา วิทยาธรรมธัช ผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านมาตรการภาษี เป็นหัวหน้าคณะ พร้อมด้วยผู้แทนทั้งภาครัฐ  อาจารย์จากมหาวิทยาลัย  เกษตรกรผู้เลี้ยงปลา  สมาคมผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ  สมาคมผู้เพาะเลี้ยงปลาไทย  โดยเฉพาะนายกสมาคมผู้เพาะเลี้ยงปลาไทย (นายศักดิ์ สรรพานิช) ได้ร่วมเดินทางไปประชุมหารือ และดูงานธุรกิจประมงที่ประเทศไต้หวัน  ในครั้งนี้ด้วย 
นางอัญชนาฯ กล่าวว่า ไต้หวันเป็นหนึ่งในประเทศผู้ผลิตและส่งออกสินค้าประมงที่ใหญ่ที่สุดของโลก ในแต่ละปี อุตสาหกรรมประมงและเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของไต้หวันมีผลผลิตรวมสูงถึง 100,000 ล้านเหรียญไต้หวัน ซึ่งเป็นผลจากการที่ไต้หวัน มีเทคโนโลยีชั้นสูง และมีประสิทธิภาพในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ(aquaculture) ทั้งน้ำจืด และน้ำเค็ม มีกลยุทธ์เน้นความร่วมมือกับประเทศต่างๆที่มีอาณาเขตน่านน้ำสากลเพื่อลดความขัดแย้ง มีการจัดระเบียบการเพาะเลี้ยงปลาตามชายฝั่ง เน้นสร้างตราสินค้าที่มีคุณภาพ สด สะอาด ปลอดภัย ตลอดจนความร่วมมือระหว่างผู้ค้าคนกลางและผู้กระจายสินค้า และมีการตั้งศูนย์กลางการขายตรงสินค้าประมง โดยสามารถใช้ E-commerce เป็นช่องทางกระจายสินค้าได้ด้วย
ดังนั้น เพื่อให้ธุรกิจประมงไทยมีศักยภาพการแข่งขันเพิ่มขึ้น คณะผู้แทนที่ร่วมเดินทางในครั้งนี้ เห็นว่า ควรมีการพัฒนาปรับปรุงใน 2 เรื่องคือ ราคา และคุณภาพ กล่าวคือ ด้านราคา ควรมีการแบ่งเกรดสินค้าเพื่อสร้างความแตกต่าง ควรเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่าย การขนส่ง และการส่งออกไปยังต่างประเทศโดยผ่านInter-traders และจะต้องพัฒนาระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานที่เกี่ยวข้อง เช่น ท่าเรือ ห้องเย็น ให้มีมาตรฐาน มีความสะอาด มีสุขอนมัยที่ดี และมีระบบการขายที่โปร่งใส สำหรับด้านคุณภาพ ควรมีการผลักดันการพัฒนาคุณภาพควบคู่ไปกับด้านราคาและตลาด โดยอาจใช้มาตรการ เช่น ระบบตรวจสอบคุณภาพย้อนกลับสนับสนุนความรู้เทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงในระบบปิด สร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนอย่างเป็นระบบจัดหาแหล่งทุนเพื่อการพัฒนาวิจัย การขึ้นทะเบียนรับรองคุณภาพฟาร์มพร้อมระบบ Certification
อย่างไรก็ตาม เมื่อตลาดโลกเข้าสู่ระบบการค้าเสรี ภาคการประมงไทยจึงต้องพยายามปรับตัว เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันทางการค้า เพื่อให้สามารถแข่งขันกับประเทศคู่แข่งในตลาดโลกได้ โดยคณะที่เดินทางไปดูงาน มีข้อเสนอร่วมกันสำหรับเป็นแนวทางการเจรจาการค้าเสรี หรือ FTA ได้แก่
1. ควรให้เวลาเกษตรกรไทยประมาณ 5-10 ปี ในการปรับตัว เพื่อพัฒนาความรู้เกษตรกรในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี เพื่อพัฒนาช่องทางการจัดจำหน่าย การแบ่งเกรดสินค้า การทำ Branding สนับสนุนการส่งออกและการทำตลาดในต่างประเทศ รวมไปถึงเพื่อให้การสนับสนุนการบริโภคปลาของคนไทย
2. เตรียมความพร้อมรองรับการเปิดตลาดสินค้าปลา โดยการประสานงานระหว่างภาครัฐกับสมาคมเกษตรกรผู้เลี้ยงปลาอย่างเป็นระบบ มีการกำหนดกรอบเวลาและมาตรการสนับสนุนที่ชัดเจน เพื่อให้ผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นในทิศทางการทำธุรกิจ
“ความร่วมมือประสานพลังระหว่างภาครัฐ เอกชน และเกษตรกร จะเป็นพลังสำคัญช่วยขับเคลื่อนกลยุทธ์ มาตรการต่างๆให้บรรลุผลตามเป้าหมาย ช่วยให้การประมงและการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของไทย มีขีดความสามารถแข่งขันได้ในยุคการค้าเสรี” นางอัญชนา กล่าว
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ อาคาร ค ถ.ราชดำเนินกลาง แขวงบวรนิเวศน์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200 โทรศัพท์ (66) 2282-6171-9 แฟกซ์ (66) 2280-0775
-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ