บทสรุปแผนปรับโครงสร้างอุตสาหกรรม พ.ศ. 2541-2545 : วงเงิน แหล่งเงิน และการบริหารเงินกู้

ข่าวเศรษฐกิจ Monday October 21, 2002 16:06 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

        การดำเนินงานตามแผนงานหลัก เพื่อการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมทั้ง 8 แผนงาน จำเป็นต้องมีงบประมาณทั้งสิ้น 1,192 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งประกอบด้วยค่าใช้จ่ายในการลงทุนของภาคเอกชน เพื่อจัดซื้อเทคโนโลยีและเครื่องจักร หรือเพื่อการเคลื่อนย้ายโรงงาน หรือจัดตั้งหน่วยผลิตในภูมิภาค โดยจะจัดให้มีสินเชื่อเงื่อนไขผ่อนปรนเพื่อปล่อยกู้ให้แก่เอกชน ค่าใช้จ่ายในการจ้างผู้เชี่ยวชาญ โดยเฉพาะผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศในสาขาที่ขาดผู้ชำนาญในประเทศ เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านต่าง ๆ ให้แก่บุคลากรไทย และเพื่อให้คำแนะนำแก่ธุรกิจเอกชนของไทย โดยธุรกิจเอกชนรับภาระค่าใช้จ่ายส่วนหนึ่ง ที่เหลือเป็นเงินอุดหนุน (ยกเว้นค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับผู้เชี่ยวชาญด้าน Macro/Sectoral ด้าน Systems/Process ด้านการรณรงค์ชักจูงการลงทุนจากต่างประเทศ และด้านการจัดทำหลักสูตรฝึกอบรมบุคลากรอุตสาหกรรมและอบรมพัฒนาวิทยากรไทย ซึ่งจะเป็นเงินอุดหนุนทั้งหมด) ทั้งนี้ จะจัดสินเชื่อให้เอกชนกู้เพื่อใช้จ่ายเป็นค่าจ้างผู้เชี่ยวชาญด้วย ค่าใช้จ่ายในการอบรมพัฒนาบุคลากรทั้งในภาคอุตสาหกรรมและภาครัฐ หรือองค์กรอิสระ โดยอยู่ในรูปของเงินอุดหนุนหน่วยงาน และค่าใช้จ่ายอื่น ได้แก่ ค่าใช้จ่ายในการจัดตั้งและเพิ่มขีดความสามารถขององค์กร เพื่อสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรม เช่น สถาบันอุตสาหกรรมเฉพาะทาง สถาบันการออกแบบอุตสาหกรรม ตลอดจนค่าใช้จ่ายในการจัดสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐาน เช่น เขตอุตสาหกรรม ศูนย์บ่มเพาะธุรกิจอุตสาหกรรม ค่าใช้จ่ายส่วนนี้จะอยู่ในรูปของเงินอุดหนุนหน่วยงาน 
แหล่งเงินที่เหมาะสมสำหรับค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานตามแผนปรับโครงสร้างอุตสาหกรรม คือ แหล่งเงินกู้ระยะยาว ที่มีเงื่อนไขผ่อนปรนในลักษณะ Program Loan จากต่างประเทศ อาทิ World Bank ซึ่งมีนโยบายที่จะให้เงินกู้แก่ประเทศไทยเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและ Asian Development Bank (ADB) ซึ่งมีนโยบายที่จะให้เงินแก่ประเทศไทยเพื่อการปรับสภาวะทางสังคม ทั้งนี้ เนื่องจากแผนแม่บทการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมเป็นแผนที่รองรับวัตถุประสงค์ทั้งสองประการโดยตรง แนวทางการบริหารเงินกู้เพื่อการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรม เงินกู้เงื่อนไขผ่อนปรนจากต่างประเทศจะเข้ามาที่กระทรวงการคลังในรูปเงินตราต่างประเทศ กระทรวงการคลังจะส่งไปยังธนาคารแห่งประเทศไทยเพื่อใช้ในการชำระหนี้ต่างประเทศ และธนาคารแห่งประเทศไทยจะจัดส่งเงินบาทในจำนวนเทียบเท่ากับเงินตราต่างประเทศดังกล่าวกลับไปให้กระทรวงการคลังเพื่อจัดสรรไปยัง หน่วยงานดำเนินการต่าง ๆ โดยจำแนกเป็น เงินที่จะปล่อยกู้ต่อให้แก่ธุรกิจเอกชน และเงินที่จะใช้อุดหนุนการดำเนินงานของหน่วยงาน ในส่วนของเงินที่จะปล่อยกู้ต่อนั้น สถาบันการเงินเพื่อการส่งเสริมอุตสาหกรรมจะเป็นผู้รับผิดชอบการบริหารสินเชื่อ ตามวัตถุประสงค์และหลักเกณฑ์ที่กำหนด ผลประโยชน์ที่เกิดจากการให้สินเชื่อนั้น ส่วนหนึ่งจะส่งคืนกระทรวงการคลังเพื่อชำระคืนเงินกู้และอีกส่วนหนึ่งสามารถนำไปใช้ปล่อยกู้รอบต่อ ๆ ไปได้ สำหรับเงินอุดหนุนจะมีการจัดสรรและมอบให้แก่หน่วยงานดำเนินการตามแผนงานต่าง ๆ เป็นงวด ๆ ตามแผนปฏิบัติการ สำหรับองค์กรบริหารเงินกู้ จะมีด้วยกัน 5 ระดับ คือ
(1) คณะกรรมการกำหนดกรอบนโยบายการใช้เงินกู้ (Policy Steering Board) ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนหน่วยงานกลาง บุคคลที่มีชื่อเสียงเป็นที่เชื่อถือ 5 ท่าน ผู้มีประสบการณ์ด้านอุตสาหกรรม ผู้แทนภาคการเงิน และนักวิชาการ/ผู้เชี่ยวชาญด้านอุตสาหกรรม ทำหน้าที่พิจารณากำหนดกรอบนโยบายทั้งหมด
(2) องค์กรผู้ดูแลเม็ดเงิน (Custodians) มีหลักการ คือ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เป็นผู้ควบคุมดูแลเงินกู้เงื่อนไขผ่อนปรนจากต่างประเทศที่ใช้สนับสนุนการดำเนินงานของหน่วยงาน ภาครัฐ สถาบันการเงินของรัฐจะได้รับการจัดสรรเงินดังกล่าวในส่วนที่จะปล่อยกู้ต่อ และจะต้องรับผิดชอบในการประเมินความสามารถในการชำระคืน และควบคุมการใช้เงินกู้ ฯ
(3) หน่วยงานกำกับแผนงาน/หน่วยงานหลัก (Lead Agencies) ทำหน้าที่บริหารแผนและการใช้เงิน กำหนดเงื่อนไขหลักเกณฑ์และระเบียบปฏิบัติที่ชัดเจนโปร่งใส ภายใต้กรอบนโยบายที่คณะกรรมการกำหนดกรอบนโยบายการใช้เงินกู้ได้กำหนดขึ้น
(4) หน่วยงานร่วมปฏิบัติการ (Joint-Implementing Agencies) ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานสนับสนุน ร่วมกับหน่วยงานหลักในการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการ
(5) หน่วยงานอิสระผู้ประเมินผล จะเป็นที่ปรึกษาอิสระซึ่งจะทำหน้าที่ในการประเมินผลแผนงาน และโครงการภายใต้แผนปฏิบัติการอย่างน้อยทุก 2 ปี
สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม โทร. 0-2644-8604, 0-2202-4375

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ