รายงานเศรษฐกิจและการเงินภาคใต้เดือนตุลาคม 2545

ข่าวเศรษฐกิจ Friday November 1, 2002 17:17 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

        ส่วนที่ 1 สรุปภาวะเศรษฐกิจ      
ภาวะเศรษฐกิจของภาคใต้ในเดือนตุลาคมขยายตัวต่อเนื่องตามการขยายตัวของราคาผลผลิตพืชผลทางการเกษตร การท่องเที่ยว และการส่งออกซึ่งขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 อย่างไรก็ตาม ความเชื่อมั่นของนักธุรกิจต่อภาวะเศรษฐกิจอยู่ในระดับต่ำ แต่เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ส่วนอัตราเงินเฟ้อในเดือนนี้เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 1.1
ภาคเกษตร ผลผลิตพืชผลของภาคใต้ในเดือนนี้เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.5 ตามการเพิ่มขึ้นของผลผลิตยางพาราที่ได้รับผลดีจากราคาที่ปรับสูงขึ้น ส่วนราคาพืชผลปรับสูงขึ้นร้อยละ 52.6 เนื่องจากราคายางพารา ปาล์มน้ำมัน เพิ่มขึ้นเป็นสำคัญ
ภาคอุตสาหกรรม ขยายตัวเล็กน้อย โดยการผลิตยางพาราแปรรูปและผลิตภัณฑ์ขยายตัวตามความต้องการของตลาดต่างประเทศ ขณะที่การผลิตอาหารทะเลแช่แข็ง อาหารทะเลกระป๋อง และน้ำมันปาล์มดิบลดลง ตามปริมาณวัตถุดิบและความเข้มงวดของประเทศผู้ซื้อ
การท่องเที่ยว การท่องเที่ยวของภาคใต้ยังคงขยายตัว แม้ว่าจะเกิดเหตุระเบิดในแหล่งท่องเที่ยวที่เกาะบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย ก็ตาม โดยนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศที่เดินทางผ่านตรวจคนเข้าเมืองในภาคใต้เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.9
การบริโภคภาคเอกชน ในเดือนนี้ขยายตัว โดยมีปัจจัยหลักจากการที่ผลผลิตยางพาราออกสู่ตลาดต่อเนื่อง และราคาอยู่ในเกณฑ์ดี รายได้ของคนในท้องถิ่นสูงขึ้น นอกจากนี้ การขยายตัวของสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภค ทั้งของธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินอื่น ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่กระตุ้นให้การอุปโภคบริโภคของภาคเอกชนขยายตัว
การลงทุน ขยายตัว โดยเครื่องชี้ที่สำคัญ ได้แก่ การจดทะเบียนธุรกิจนิติบุคคลรายใหม่และการเพิ่มทุน และพื้นที่ที่ได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างเพิ่มขึ้นร้อยละ 22.6 และ 65.5 ตามลำดับ
การคลัง เดือนตุลาคมนี้เป็นเดือนแรกของปีงบประมาณพ. ศ. 2546 การเบิกจ่ายเงินงบประมาณมีอัตราการเบิกจ่ายสูงกว่าในเดือนเดียวกันปีก่อนมาก ส่วนการจัดเก็บรายได้ภาครัฐ จัดเก็บได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.8 เนื่องจากจัดเก็บภาษีสรรพากรและภาษีสรรพสามิตได้เพิ่มขึ้น ตามการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีธุรกิจเฉพาะ และภาษีหมวดสุรา
ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนและเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 1.1 และ 0.5 ตามลำดับ เป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าในหมวดที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มเป็นสำคัญ
การค้าระหว่างประเทศ ขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตามการเพิ่มขึ้นของมูลค่าสินค้าส่งออก ซึ่งเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 7 เนื่องจากเศรษฐกิจโลกปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น และภาวะการค้ายางที่อยู่ในเกณฑ์ดี เช่นเดียวกับการนำเข้า ซึ่งขยายตัวดีขึ้นตามการเพิ่มขึ้นของการนำเข้าสินค้าทุนเป็นสำคัญ
ภาวะการเงิน สภาพคล่องในระบบยังอยู่ในระดับสูง เนื่องจากธนาคารพาณิชย์เพิ่มสำรองเงินไว้ให้ลูกค้าชำระค่าพันธบัตร ช่วยชาติ ส่วนภาวะทางด้านเงินฝากและสินเชื่อขยายตัวเช่นเดียวกัน
ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจ อยู่ที่ระดับ 49.2 แสดงถึงความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจที่ลดลง แต่เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อนและเดือนเดียวกันปีก่อน ค่าดัชนีสูงขึ้น ทั้งนี้ ดัชนีในเดือนนี้อยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากการปรับเพิ่มขึ้นของต้นทุนการผลิตของภาคธุรกิจ ขณะที่คำสั่งซื้อทั้งจากต่างประเทศและในประเทศชะลอตัว ทำให้การผลิต และการจ้างงานไม่ขยายตัว อย่างไรก็ตาม ผลประกอบการโดยรวมและการลงทุนของธุรกิจขยายตัวจากเดือนก่อน
ส่วนที่ 2 ภาวะเศรษฐกิจรายสาขา
2.1 ภาคการเกษตร
พืชผล ผลผลิตพืชผลของภาคใต้ยังคงออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากเกษตรกรสามารถผลิตยางพาราได้เต็มที่ประกอบกับราคายางยังคงอยู่ในระดับสูงกว่าเมื่อปีก่อนต่อเนื่องมาตั้งแต่เดือนมิถุนายน2545 เป็นต้นมา เป็นแรงจูงใจให้เกษตรกรกรีดยางเพิ่มขึ้น ขณะที่ผลผลิตปาล์มสดยังคงออกสู่ตลาดน้อยเพราะได้รับผลจากอากาศร้อนและแห้งแล้งเมื่อต้นปี ส่วนข้าวนาปีนั้นไม่มีการซื้อขาย ดังนั้นเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน ผลผลิตพืชผลที่สำคัญเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.5 เนื่องจากเกษตรกรชาวสวนยางเร่งผลิตยางพาราเพื่อเพิ่มรายได้ให้ครัวเรือน เพราะได้แรงจูงใจจากราคาเป็นสำคัญ
ทางด้านราคาพืชผลในเดือนนี้ยังคงสูงขึ้น โดยเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 52.6 เนื่องจากราคาพืชผลที่สำคัญเพิ่มขึ้นทั้งยางพารา และปาล์มน้ำมัน ส่วนข้าวเปลือกไม่มีการซื้อขาย
สำหรับในเดือนนี้ราคายางแผ่นดิบชั้น 3 เฉลี่ยกิโลกรัมละ 31.90 บาท เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อนมากถึงร้อยละ 52.5 อย่างไรก็ตาม ราคายางได้ปรับตัวลดลง หลังจากที่ขยับขึ้นมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนมิถุนายน-กันยายน เพราะผู้ประกอบการเริ่มได้รับคำสั่งซื้อจากต่างประเทศในราคาที่ต่ำกว่าเมื่อช่วง 2 - 3 เดือนก่อนเป็นสำคัญ
ส่วนราคาผลปาล์มสดทั้งทะลายเฉลี่ยกิโลกรัมละ 2.76 บาท เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการที่ผลผลิตปาล์มน้ำมันออกสู่ตลาดน้อยมาตั้งแต่ต้นปี โดยผลปาล์มสดในหลายพื้นที่ลดลงขณะที่ตลาดยังมีความต้องการอย่างต่อเนื่อง จึงผลักดันให้ราคาผลปาล์มปรับสูงขึ้นและเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกันกับราคาน้ำมันปาล์มดิบตลาดกรุงเทพฯ และตลาดมาเลเซีย
รายได้จากการขายพืชผลสำคัญของเกษตรกรในเดือนตุลาคมนี้ สูงขึ้นร้อยละ 53.3 จากการเพิ่มขึ้นของราคาเป็นสำคัญโดยเฉพาะราคายางพารา และปาล์มน้ำมัน
ประมง ปริมาณเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อน สัตว์น้ำนำขึ้นที่ท่าเทียบเรือขององค์การสะพานปลา มีจำนวน 62,213 เมตริกตัน เทียบกับ 50,227 เมตริกตัน ในเดือนเดียวกันปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 23.9
ส่วนมูลค่าสัตว์น้ำ 1,565.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 993.4 ล้านบาทเมื่อเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 57.6 สำหรับกุ้งกุลาดำ ราคา กุ้งกุลาดำขนาด 40 ตัวต่อกิโลกรัม เฉลี่ยกิโลกรัมละ 260.00 บาท เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 21.5
ปศุสัตว์และสัตว์ปีก ในเดือนนี้ราคาสุกร เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อนเพิ่มขึ้น โดยสุกรขนาดน้ำหนักตัวมากกว่า 100 กิโลกรัม ราคาเฉลี่ยกิโลกรัมละ 39.63 บาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.2 ขณะที่ไก่พันธุ์เนื้อราคาเฉลี่ยกิโลกรัมละ 26.91 บาท ลดลงร้อยละ 6.1
แนวโน้ม
ราคายางพารามีแนวโน้มปรับตัวขึ้นบ้างเล็กน้อยในระยะเวลาสั้นๆ แม้ว่าผู้ประกอบการเริ่มได้รับคำสั่งซื้อจากต่างประเทศในราคาที่ลดลงจากเดือนก่อนๆ ก็ตาม เนื่องจากขณะนี้เข้าสู่หน้าฝน ทำให้ปริมาณผลผลิตลดลงไปบ้างในบางพื้นที่ ทางด้านราคาผลปาล์มยังอยู่ในเกณฑ์ดี เพราะตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ (โดยเฉพาะ จีน และ อินเดีย) ยังคงมีความต้องการน้ำมันปาล์มในปริมาณสูง ทำให้ราคาเคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกับตลาดกรุงเทพฯ และราคาตลาดมาเลเซียขณะที่ผลปาล์มสดโดยรวมภายในประเทศมีจำนวนลดลงในหลายพื้นที่
2.2 ภาคอุตสาหกรรม
อุตสาหกรรมโดยรวมทรงตัว การผลิตของอุตสาหกรรมยางแปรรูปและผลิตภัณฑ์ยางขยายตัว ขณะที่การผลิตอาหารทะเลแช่แข็ง อาหารทะเลกระป๋อง และน้ำมันปาล์มดิบลดลงต่อเนื่อง
อุตสาหกรรมยาง ในเดือนตุลาคมนี้ อุตสาหกรรมยางมีการผลิตเพิ่มขึ้น ตามผลผลิตยางที่ออกสู่ตลาด และความต้องการของตลาดโลกที่มีอย่างต่อเนื่อง โดยส่งออกได้ทั้งสิ้น 191,570.7 เมตริกตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.6 เนื่องจากปริมาณการใช้ยางในการผลิตยางล้อรถยนต์ในประเทศผู้นำเข้าสำคัญขยายตัวสูง
ยางแผ่นรมควัน เดือนตุลาคมราคายางแผ่นรมควันเฉลี่ยกิโลกรัมละ 36.10 บาท เทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อนราคาปรับสูงขึ้น ร้อยละ 53.4 และมีการส่งออกทั้งสิ้น 70,740.9 เมตริกตัน เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 24.9 เนื่องจากความต้องการของอุตสาหกรรมยางล้อรถในต่างประเทศเพิ่มขึ้น ต่อเนื่อง ตามการขยายตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์ที่มีการขยายตัวในอัตราที่สูง
ยางแท่ง ผลผลิตยางแท่งมีจำนวน 75,327.3 เมตริกตัน เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 47.1 มีอัตราการใช้กำลังการผลิตประมาณร้อยละ 75 ของกำลังการผลิตรวม ในเดือนนี้ราคายางแท่ง STR20 เฉลี่ยกิโลกรัมละ 35.06 บาท เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 56.9 เนื่องจากความต้องการของตลาดโลกขยายตัวดี ส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าของบริษัทผลิตยางล้อรถยนต์ในประเทศญี่ปุ่น จีน และสหรัฐอเมริกา ทั้งนี้ ในช่วง 9 เดือนของปีนี้ ประเทศสหรัฐอเมริกา มีการนำเข้ายางแท่งเพิ่มขึ้น ส่วนตลาดญี่ปุ่น ซึ่งเป็นตลาดอันดับ 1 ของไทยมีการนำเข้าลดลง
น้ำยางข้น ในเดือนนี้ผลผลิตน้ำยางข้นลดลง แม้ว่าผลผลิตยางจะออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้น เนื่องจากราคาจำหน่ายน้ำยางสดอยู่ในระดับที่ต่ำ ทำให้เกษตรกรหันไปทำเป็นยางแผ่นดิบเพิ่มขึ้น โดยในเดือนนี้มีการส่งออกน้ำยางข้น 43,197.7 เมตริกตัน ลดลงจากเดือนเดียวเดือนกันปีก่อนร้อยละ 3.8
ถุงมือยาง การผลิตขยายตัว เนื่องจากผลผลิตยางออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้นตามสภาพอากาศ ส่วนการส่งออกยังคงขยายตัวต่อเนื่อง โดยส่งออกได้ 8,703.9 เมตริกตัน เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 37.7 ส่วนใหญ่ส่งออกไปยังประเทศสหรัฐอเมริกา สำหรับแนวโน้มการผลิตยังคงเพิ่มขึ้น เพื่อสนองความต้องการของตลาดโลกและราคาถุงมือยางจากยางประเภทอื่นปรับสูงขึ้น
ไม้ยางแปรรูปและเฟอร์นิเจอร์ การผลิตขยายตัวต่อเนื่อง ตามความต้องการของตลาดต่างประเทศที่เน้นใช้ไม้ที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม โดยในเดือนนี้มีการส่งออกได้ทั้งสิ้น 47,509.5 เมตริกตัน เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 110.8 ส่วนใหญ่ส่งออกเป็นไม้ยางแปรรูป ตลาดนำเข้าสำคัญยังคงเป็นประเทศจีนและฮ่องกง
อุตสาหกรรมอาหารทะเล
อาหารทะเลแช่แข็ง ปริมาณการส่งออกอาหารทะเลแช่แข็งของภาคใต้มีทั้งสิ้น 14,457.5 เมตริกตัน ลดลงจากเดือนเดียวกัน ปีก่อนร้อยละ 39.2 เนื่องจากประสบปัญหาสารตกค้างในกุ้ง และปริมาณการจับสัตว์น้ำลดลงซึ่งเป็นผลจากภาคใต้อยู่ในช่วงฤดูมรสุม
ปริมาณการส่งออกกุ้งกุลาดำลดลงต่อเนื่องตั้งแต่เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา โดยในเดือนนี้มีการส่งออกกุ้งกุลาดำ จำนวน 2,344.4 เมตริกตัน ลดลงจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 18.7 เนื่องจากปัญหาสารตกค้างในกุ้ง ส่งผลให้สหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปกำหนดมาตรฐานการตรวจสอบกุ้งนำเข้าจากไทยอย่างเข้มงวด ทำให้ประเทศไทยส่งออกกุ้งไปสหรัฐอเมริกาลดลง ขณะที่ประเทศคู่แข่งได้แก่ บราซิล อินเดีย จีน เวียดนาม อินโดนีเซีย และเอกวาดอร์ มีส่วนแบ่งในตลาดเพิ่มขึ้น ส่วนตลาดญี่ปุ่น ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกอันดับที่ 4 รองจากอินเดีย เวียดนาม และ อินโดนีเซีย
สำหรับแนวโน้มการผลิตอาหารทะเลแช่แข็ง โดยเฉพาะกุ้งอาจลดลงตามภาวะการส่งออกที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาสารตกค้าง เนื่องจากสหภาพยุโรปยังคงใช้นโยบายการตรวจสอบที่เข้มงวด (100%) กับประเทศไทย และผู้นำเข้าจะนำเข้าลดลงในช่วงปลายปี เนื่องจากส่วนใหญ่จะสั่งซื้อล่วงหน้าเพื่อจำหน่ายในช่วงคริสต์มาสและปีใหม่ อย่างไรก็ตาม จากมาตรการของภาครัฐที่ออกมาแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่องและจริงจัง ทั้งการห้ามนำเข้าสารปฏิชีวนะ การควบคุม คุณภาพกุ้ง อาจส่งผลให้สถานการณ์ดีขึ้น
อาหารกระป๋อง การผลิตลดลงตามปริมาณการส่งออก โดยเดือนนี้มีการส่งออกอาหารทะเลกระป๋องรวม 10,569.9 เมตริกตัน ลดลงจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 20.4 เนื่องจากใกล้ถึงเทศกาลวันหยุด ทำให้ความต้องการบริโภคผลิตภัณฑ์ทูน่ากระป๋องลดลง โดยเฉพาะตลาดทูน่ากระป๋องในประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ที่สำคัญที่สุดของไทย
อย่างไรก็ตามจากรายงานของ National Marine Fisheries Service ประเทศสหรัฐอเมริกามีการนำเข้าทูน่ากระป๋องเพิ่มขึ้น ซึ่งแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยสูญเสียส่วนแบ่งตลาดบางส่วนให้กับประเทศคู่แข่ง
ส่วนแนวโน้มการผลิตในอีก 1 - 2 เดือนข้างหน้าคาดว่าจะเพิ่มขึ้น เนื่องจากต้องเร่งผลิต เพื่อชดเชยระยะเวลาการผลิตที่สั้นลงในเดือนธันวาคม เพราะมีช่วงวันหยุดยาว
อุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มดิบ ในเดือนตุลาคม 2545 ผลผลิตน้ำมันปาล์มดิบที่โรงงานในภาคใต้สกัดได้มีทั้งสิ้นประมาณ 49,131.8 เมตริกตัน ลดลงจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 31.1 เนื่องจากผลผลิตปาล์มน้ำมันออกสู่ตลาดน้อย จากภาวะแล้งอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ราคาน้ำมันปาล์มดิบของไทยเฉลี่ยกิโลกรัมละ 16.22 บาท เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 66.2
ส่วนผลผลิตน้ำมันปาล์มดิบของประเทศมาเลเซียในเดือนนี้ โรงงานสกัดได้ 1.2 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อน ร้อยละ 7.3 ทำให้สต๊อกน้ำมันปาล์มดิบ (ไม่รวมระหว่างการผลิต) มีจำนวน 698,189 เมตริกตัน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 7.1 ส่วนราคาน้ำมันปาล์มดิบเฉลี่ยกิโลกรัมละ 16.37 บาท ลดลงจากเดือนก่อนเล็กน้อย อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 56.8
สำหรับแนวโน้มในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีในตลาดต่างประเทศ มีการคาดการณ์ว่าราคาน้ำมันปาล์มจะเพิ่มขึ้นถึงเมตริกตันละ 400 เหรียญสหรัฐ (17.52 บาท/กก.) เพราะเป็นช่วงที่ต้นปาล์มเริ่มให้ผลผลิตลดลง ขณะที่ความต้องการนำเข้าจากประเทศผู้นำเข้าหลักเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะประเทศอินเดีย เนื่องจากเป็นช่วงเทศกาลถือศีลอดของชาวมุสลิม คริสต์มาส และปีใหม่
อุตสาหกรรมปลาป่น การผลิตลดลงตามปริมาณวัตถุดิบที่จับได้ ส่งผลให้ราคาปรับสูงขึ้น โดยราคาปลาป่นโปรตีน 60% ขึ้นไป เฉลี่ยกิโลกรัมละ 21.73 บาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.8 เนื่องจากมีการเก็บสต๊อกไว้รองรับการเลี้ยงกุ้งรอบใหม่
2.3 ภาคบริการท่องเที่ยว
แม้ว่าการเกิดเหตุการณ์ระเบิดแหล่งท่องเที่ยวในเกาะบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย และเหตุการณ์ระเบิดในประเทศฟิลิปปินส์ จะส่งผลกระทบต่อภาพรวมทางด้านการท่องเที่ยวของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็ตาม แต่สำหรับภาวะการท่องเที่ยวของภาคใต้ ในเดือนตุลาคม ยังคงขยายตัว โดยเฉพาะการท่องเที่ยวทางภาคใต้ฝั่งตะวันตกขยายตัวในอัตราสูง เนื่องจากในปีที่ผ่านมาได้รับผลกระทบจากการก่อวินาศกรรมในประเทศสหรัฐอเมริกา ในขณะที่การท่องเที่ยวทาง ภาคใต้ตอนล่างชะลอตัว เนื่องจากได้รับผลกระทบจากความไม่สงบในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ โดยในเดือนนี้มีจำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศ เดินทางผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองในภาคใต้ทั้งสิ้น 191,505 คน เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 11.9
ภาวะการท่องเที่ยวภาคใต้ฝั่งตะวันตกขยายตัวในอัตราสูง เนื่องจากในปีที่ผ่านมาได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ก่อวินาศกรรมในประเทศสหรัฐอเมริกา ขณะเดียวกันหลังจากเกิดเหตุการณ์ระเบิดที่เกาะบาหลี ในระยะแรกได้มีนักท่องเที่ยวบางส่วนเปลี่ยนแผนการท่องเที่ยวจากบาหลีเข้ามาท่องเที่ยวในภูเก็ต กระบี่ และพังงาแทน เนื่องจากมีแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติที่ใกล้เคียงกัน และเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ใกล้เกาะบาหลีมากที่สุด ส่งผลให้ในเดือนนี้มีนักท่องเที่ยวต่างประเทศเดินทางผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองท่าอากาศยานภูเก็ตจำนวน 67,349 คน เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 19.7 ตามการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวชาวยุโรป และสแกนดิเนเวีย ซึ่งเป็นนักท่องเที่ยวหลัก โดยมีจำนวน 62,257 คน เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 24.5 ในขณะที่นักท่องเที่ยวชาวสิงคโปร์ และมาเลเซียมีจำนวน 2,855 คน และ 2,237 คน ลดลงร้อยละ 13.5 และ 24.8 ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่า ปัจจุบันนักท่องเที่ยวชาวมาเลเซียที่เข้ามาท่องเที่ยวในภูเก็ตและจังหวัดใกล้เคียง นิยมเดินทางโดยรถยนต์ผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองสะเดา จังหวัดสงขลา เพิ่มขึ้น
ภาวะการท่องเที่ยวภาคใต้ตอนล่าง ชะลอตัวไม่มากนัก แม้ว่าจะได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัด ชายแดนภาคใต้ โดยในเดือนนี้มีจำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศ เดินทางผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองสงขลาจำนวน 106,711 คน เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 9.7 ซึ่งเป็นอัตราการขยายตัวที่อยู่ในระดับต่ำสุดในรอบปีแต่อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ช่วงกลางเดือนพฤศจิกายนถึงปีใหม่จะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาก เพราะเป็นช่วงปิดภาคเรียน
สำหรับอัตราการเข้าพักโรงแรมของนักท่องเที่ยวในภาคใต้เดือนนี้อยู่ที่ร้อยละ 44.6 ลดลงจากเดือนเดียวกันปีก่อนซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 46.8 โดยจังหวัดภูเก็ตมีอัตราการเข้าพักร้อยละ 48.8 ในขณะที่จังหวัดสุราษฎร์-ธานีอัตราการเข้าพักอยู่ที่ร้อยละ 42.7
แนวโน้ม
ภาวะการท่องเที่ยวของภาคใต้ในช่วง 1-2 เดือนข้างหน้า คาดว่าจะยังคงมีแนวโน้มขยายตัวจากปีก่อน เนื่องจากในปีที่ผ่านมานักท่องเที่ยวมีจำนวนลดลงมาก เพราะได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ก่อวินาศกรรมในสหรัฐอเมริกา ประกอบกับสถานการณ์ระหว่างประเทศสหรัฐอเมริกาและอิรัก เริ่มคลี่คลาย ส่งผลให้นักท่องเที่ยวมั่นใจในความปลอดภัยเพิ่มขึ้น
(ยังมีต่อ)

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ