ปัญหาราคาผลผลิตลำไย

ข่าวเศรษฐกิจ Friday June 13, 2003 13:43 —สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

ความเห็นและข้อเสนอแนะ
เกี่ยวกับปัญหาราคาผลผลิตลำไย
1. ความเป็นมา
ในปี 2545 คณะทำงานการเกษตรและสหกรณ์ สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้จัดสัมมนาองค์กรเครือข่ายเกษตรกรทั้ง 4 ภาค และจัดสัมมนาวาระแห่งชาติที่กรุงเทพฯ อีกหนึ่งครั้ง การสัมมนาดังกล่าวได้มีการระดมความคิดเห็นจากเกษตรกร ในเรื่องการกำหนดแนวทางการพัฒนาเกษตรอย่างยั่งยืน เพื่อขจัดปัญหาความยากจนของเกษตรกร และได้รวบรวมประเด็นปัญหาได้ 8 ประการดังนี้ 1) ราคาผลผลิตทางการเกษตร 2) ที่ดินทำกิน 3) การจัดการน้ำเพื่อการเกษตร 4) หนี้สินและการฟื้นฟูหนี้สินเกษตรกร 5) การมีส่วนร่วมของเกษตรกร 6)สหกรณ์การเกษตร 7) ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม 8) การประมง
ในปี 2546 คณะทำงานการเกษตรและสหกรณ์ ได้สานผลการสัมมนาในปีก่อน โดยนำประเด็นปัญหาที่สำคัญ 4 ประเด็นมาระดมความคิดเห็นในเชิงลึก และจากหลากหลายองค์กร โดยในด้านราคาผลผลิต เน้นเรื่อง ลำไย ข้าว ยางพารา และหรือพืชผลที่เกษตรกรเห็นว่ามีความสำคัญลำดับต้นๆ ในด้านที่ดินทำกินนั้น เน้นเรื่องการแก้ไขร่างพระราชบัญญัติปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมและการบริหารจัดการที่ดินของรัฐ ในด้านประมง เน้นเรื่องร่างพระราชบัญญัติ การประมงแห่งชาติ ส่วนในด้านการจัดการน้ำเพื่อการผลิตนั้น เน้นเรื่องการแก้ไขปัญหาโดยภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยจัดสัมมนาในภาคเหนือที่จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 10 — 11 มีนาคม 2546 ซึ่งที่ประชุมได้พิจารณาถึงปัญหาราคาผลผลิตของลำไย ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของภาคเหนือ และเป็นผลไม้นำร่องหนึ่งในจำนวน 6 ชนิด ที่ได้รับการส่งเสริมทั้งทางด้านการผลิต และการตลาดจากรัฐบาล ให้เป็นสินค้าผลไม้นำร่อง ที่รัฐบาลมียุทธศาสตร์ส่งเสริมการส่งออก ได้แก่ ทุเรียน มังคุด สับปะรด เงาะ ลิ้นจี่ และลำไย
นอกจากนั้นเกษตรกรผู้ปลูกลำไยในจังหวัดเชียงใหม่ ได้ทำหนังสือเรื่อง ขอความอนุเคราะห์ในการแก้ไขปัญหาตลาดลำไยอบแห้ง โดยได้ยื่นหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ลงวันที่ 5 เมษายน 2546 และได้สำเนาหนังสือนี้ยื่นต่อประธานคณะทำงานการเกษตรและสหกรณ์ สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (นายสน รูปสูง) เพื่อขอให้ดำเนินการ ช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาดังกล่าวด้วย
คณะทำงานการเกษตรและสหกรณ์ มีความเห็นว่าลำไยเป็นผลไม้ที่มีความสำคัญ ต่อเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะภาคเหนือ และมีศักยภาพการพัฒนาเป็นสินค้าที่ส่งออก ที่สำคัญของประเทศในปัจจุบันและอนาคต เพราะมูลค่าการส่งออก ในปี 2545 ที่ผ่านมามีมูลค่า 3,725 ล้านบาท ตามที่ส่งออกแล้วนี้ ยังมีลำไยอบแห้งที่ไม่ได้ส่งออกอีกจำนวน 61,059 ตัน จึงสมควรทำการศึกษาปัญหาต่าง ๆ ของลำไย เพื่อเสนอความเห็นและข้อเสนอแนะการแก้ปัญหาต่อสภาที่ปรึกษาฯ และนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อให้ทันต่อผลผลิตที่กำลังจะออกสู่ตลาดในฤดูกาลผลิตปี 2546 นี้ (เดือนกรกฎาคม)
2. วิธีการศึกษา
1. เชิญผู้แทนจากหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูลและเสนอแนวทางแก้ไขปัญหา ต่อคณะทำงานการเกษตรและสหกรณ์ สภาที่ปรึกษาฯ เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2546 ได้แก่
- กรมส่งเสริมการเกษตร
- กรมส่งเสริมการส่งออก
- กรมการค้าภายใน
- กรมส่งเสริมสหกรณ์
2. สัมภาษณ์ และให้ข้อเสนอแนะจากนักธุรกิจเอกชนผู้ส่งออกลำไย
3. จัดสัมมนาระดมความคิดเห็น และหาแนวทางการแก้ไขปัญหาจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน นักวิชาการ และเกษตรกร จำนวนประมาณ 120 คน เมื่อวันที่ 10 — 11 มีนาคม 2546 ณ โรงแรมนครพิงค์พาเลช อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่
4. ศึกษาเอกสารทางราชการ ข่าวสาร จดหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง
5. ตัวแทนสภาที่ปรึกษาฯ เข้าร่วมประชุมกับองค์กรเครือข่ายผู้ปลูกลำไยภาคเหนือทุก ๆ เดือน
6. ประชุมคณะทำงานการเกษตรและสหกรณ์ สภาที่ปรึกษาฯ
3. สถานการณ์ของปัญหา
ลำไยเป็นผลไม้ที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศ มีพื้นที่เพาะปลูกทั้งหมดประมาณ 762,114 ไร่ พื้นที่เพาะปลูกส่วนใหญ่ คือ ร้อยละ 85 อยู่ในภาคเหนือ ซึ่งได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน เชียงราย พะเยา น่าน แพร่ ลำปาง และตาก สำหรับในภาคอื่น ๆ ที่ปลูกลำไยมาก ได้แก่ จันทบุรี และเลย พื้นที่เพาะปลูกลำไยมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นทุกปี มีเกษตรกรที่เพาะปลูกลำไยจำนวน 152,422 ครอบครัว และมีบุคคลที่มีธุรกิจเกี่ยวกับลำไยอีกหลายพันคน
พันธุ์ลำไยที่เกษตรกรปลูกได้แก่ พันธุ์อีดอ, เบี้ยวเขียว, แห้ว, สีชมภู และพันธุ์พื้นเมืองอื่นๆ แต่พันธุ์ลำไยที่เกษตรกรนิยมปลูกมากที่สุดถึงร้อยละ 78 คือ พันธุ์อีดอ ซึ่งเป็นพันธุ์ที่มีคุณภาพดี กล่าวคือมีเนื้อหนา กรอบ มีรสหวาน กลิ่นหอม และเมล็ดเล็ก เป็นที่ต้องการของตลาด ทั้งในประเทศและต่างประเทศ พันธุ์นี้สามารถนำไปแปรรูป เป็นลำไยกระป๋องและแห้งที่มีคุณภาพดี ผลผลิตลำไย ทั้งหมดของประเทศมีในปี 2543 มี 358,420 ตัน ในปี 2544 มี 186,803 ตัน และในปี 2545 มีประมาณ 390,725 ตัน การบริโภคลำไย(สด/แห้ง)ภายในประเทศมีเพียงร้อยละ 26 ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 74 ส่งออกต่างประเทศ
ในฤดูปกติผลผลิตลำไยจะออกสู่ตลาดในเดือนกรกฎาคมถึงเดือนสิงหาคม พันธุ์อีดอ ซึ่งเป็นพันธุ์เบาจะออกสู่ตลาดก่อน ตามมาด้วยพันธุ์แห้วและสีชมภู ซึ่งเป็นพันธุ์กลาง และพันธุ์เบี้ยวเขียว ซึ่งเป็นพันธุ์หนัก ผลผลิตลำไยจะออกสู่ตลาดพร้อม ๆ กันในระยะเวลาประมาณ 60 วัน ซึ่งถ้า ผลผลิตออกมากจะเกิดปัญหาด้านการตลาดตามมา
การส่งออกลำไยสดแช่แข็งและแปรรูป สามารถนำเงินตราเข้าสู่ประเทศนั้นได้ แสดงไว้ ดังตารางที่ 1 และ 2 ข้างล่างนี้
ตารางที่ 1 แสดงการส่งออกลำไยปี 2544 - 2546
มูลค่า : ล้านบาท , ปริมาณ : ตัน
รายการ ปี 2544 ปี 2545
ปริมาณ มูลค่า %การส่งออก ปริมาณ มูลค่า %การส่งออก
1. ลำไยสด/ แช่แข็ง 102,903 1,974.96 54% 114,403 1,986.82 53%
2. ลำไยอบแห้ง 26,838 1,309.96 36% 29,916 1,326.12 36%
3. ลำไยกระป๋อง 8,969 367.01 10% 11,507 412.7 11%
รวม - 3,651.92 - - 3,725.64 -
ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร
ตารางที่ 2 แสดงตลาดการส่งอออกลำไยที่สำคัญ
รายการ รายละเอียด
1.ลำไยสด ตลาดเก่า ได้แก่ จีน — ฮ่องกง (64%) , มาเลเซีย (7%) ,
สิงค์โปร (4%) และประเทศอื่น ๆ (25%)
ตลาดใหม่ ได้แก่ แคนาดา , ฝรั่งเศส , อังกฤษ , อินโดนีเซีย
และอินเดีย
2. ลำไยแห้ง ตลาดที่สำคัญ ได้แก่ จีน — ฮ่องกง (91%) เกาหลีใต้ (3%)
ประเทศอื่น ๆ (6%)
3. ลำไยแช่แข็ง ตลาดที่สำคัญ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา (54%) ฝรั่งเศส (22%)
และประเทศอื่น ๆ (24%)
4. ลำไยกระป๋อง ตลาดที่สำคัญ ได้แก่ สิงค์โปร (28%) มาเลเซีย (26%)
ประเทศอื่น ๆ (46%)
จากข้อมูลดังกล่าวแล้วข้างต้น จะเห็นว่าตลาดบริโภคของลำไยส่วนใหญ่อยู่ใน ต่างประเทศถึงสามในสี่ของปริมาณทั้งหมดที่ผลิตได้ ตลาดภายในประเทศบริโภคเพียงหนึ่งในสี่ จะเห็นว่ามีศักยภาพของความเสี่ยงมาก เพราะต้องพึ่งพาตลาดต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ นอกจากนี้ประเภทของสินค้าส่งออกของลำไยส่วนใหญ่เป็นลำไยสด และลำไยแช่แข็ง การบรรจุหีบห่อ การขนส่ง และการเก็บรักษาคุณภาพของสินค้าต้องใช้เทคโนโลยีมาก เพื่อป้องกันความเสียหายของสินค้าเมื่อไปถึงผู้บริโภค
จำนวนตลาดของผลผลิตลำไยในต่างประเทศมีน้อยโดยเฉพาะลำไยสด ซึ่งมีจีนและ ฮ่องกงเป็นตลาดที่สำคัญ ซึ่งบริโภคลำไยสดถึงร้อยละ 64 ของปริมาณส่งออกทั้งหมด และตลาดลำไยแห้งในต่างประเทศก็มีน้อยเช่นเดียวกัน จีนและฮ่องกงก็เป็นตลาดที่สำคัญ ซึ่งบริโภคลำไยแห้งถึงร้อยละ 91 ของปริมาณลำไยแห้งทั้งหมดที่ส่งออก เพราะฉะนั้นถ้ามีปัญหาเกี่ยวกับลำไยเกิดขึ้นกับทั้งสองประเทศนี้ จะมีผลอย่างมากต่อการส่งออกของผลิตผลของลำไยของไทย สำหรับลำไยแช่แข็งตลาดส่งออกที่สำคัญได้แก่ สหรัฐอเมริกา (54%) และฝรั่งเศส (22%) การรักษาคุณภาพของสินค้าให้ดี และมีราคาที่เหมาะสมเท่านั้นที่จะรักษาตลาดทั้งสองนี้ให้ยั่งยืน
ระยะเวลาการออกสู่ตลาดของลำไย มีประมาณ 60 วัน ซึ่งเป็นระยะเวลาที่สั้น ทำให้เกิดปัญหาการตลาดได้ เพราะว่ามีพื้นที่เพาะปลูกมาก และอายุเก็บ (Shelf life) ของลำไยสั้น
ในเรื่องสารตกค้างในลำไย ผลผลิตลำไยที่ส่งออกไปจำหน่ายต่างประเทศ มีสารเคมี ตกค้าง และมีสารเจือปน ทำให้บางประเทศต้องส่งลำไยกลับคืนสู่ประเทศเช่น ในปี 2545 ประเทศจีนได้ส่งลำไยกลับคืน และไม่สั่งลำไยจากประเทศไทย ทำให้ปัจจุบันมีลำไยอบแห้งที่ไม่สามารถขายได้และยังเก็บรักษาไว้ที่คลังสินค้า อตก. และ อคส. ประมาณ 61,059 ตัน ประกอบกับระยะนี้มีไข้หวัดซาร์ ซึ่งมีอันตรายต่อระบบทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรงระบาดอยู่ในประเทศคู่ค้า ทำให้ไม่สามารถขยายตลาดออกไปได้ในระยะนี้ คาดว่าผลผลิตลำไยที่เหลืออยู่ และที่จะออกในการผลิตปี 2546 ประมาณ 60% ของปีก่อนคือ ประมาณ 282,723 ตัน จะมีผลต่อราคาผลผลิตลำไยอย่างแน่นอน
จากข้อมูลการผลิตและการตลาดของลำไยที่กล่าวมาแล้ว ทำให้ปริมาณผลผลิตลำไยภายในประเทศมีมากเกินความต้องการ และส่งผลให้ราคาผลผลิตลำไยต่ำลง ทำให้รัฐบาลต้องดำเนินการแทรกแซงราคาของลำไย และแม้ว่ารัฐบาลได้ดำเนินการแทรกแซงราคาของลำไยในปีที่ผ่านมา ด้วยมาตรการต่าง ๆ แล้วก็ตาม เกษตรกรผู้ปลูกลำไยก็ยังมีปัญหาที่ต้องให้รัฐบาลแก้ไข ดังต่อไปนี้
1. ปัญหาการแทรกแซงราคาของรัฐล่าช้าไม่ทันต่อฤดูการผลิต
2. องค์กรเกษตรกรและสหกรณ์ผู้ผลิตลำไยไม่มีส่วนร่วมในการวางแผนดำเนินการแก้ไขปัญหา เรื่องราคาผลผลิต
3. กลไกของรัฐมีปัญหาในเรื่องการแทรกแซงราคาและไม่สามารถควบคุมการดำเนินงานให้เป็นไปด้วยความโปร่งใส
4. ด้านการตลาดภาครัฐไม่มีการวางแผนแก้ไขอย่างเด่นชัด และต่อเนื่อง
5. ต้นทุนในการประกอบอุตสาหกรรมลำไยและการแปรรูปลำไยสูง
6. ปัญหาด้านข้อมูลข่าวสารด้านการผลิตและการตลาด
7. กระบวนการผลิตทางการเกษตรไม่สอดคล้องกัน ทำให้ผลผลิตไม่มีคุณภาพและ มาตรฐาน และไม่ตรงต่อต่อความต้องการของตลาด
8. ระเบียบปฏิบัติและเงื่อนไขของทางราชการมีความยุ่งยาก ล่าช้าและก่อให้เกิดการ
ทุจริต
9. เทคโนโลยีด้านการผลิตและการแปรรูปไม่ทันสมัย
10. ระยะเวลาการรับจำนำและการไถ่ถอนลำไยสั้นไป
สำหรับฤดูกาลผลิตปี 2546 ผู้แทนกรมส่งเสริมการเกษตรรายงานว่าผลผลิตลำไยมีปริมาณร้อยละ 60 ของผลผลิตปี 2545 และจะออกสู่ตลาดล่าช้ากว่าปกติ 2 — 4 สัปดาห์ แต่กระทรวงพาณิชย์ทำนายว่าผลลำไยทั้งหมดของปี 2546 จะมีปริมาณ 325,000 ตัน และจากข้อมูลทราบว่ามีลำไยตกค้างจากปีที่แล้ว คือปริมาณลำไยที่รับจำนำอยู่ในสถานที่เก็บอีกประมาณ 60,000 กว่าตัน ดังนั้นปริมาณลำไยทั้งหมดในปีนี้จะมีใกล้เคียงกับปีที่แล้ว ซึ่งแน่นอนที่สุดว่าราคาของลำไยต้องตกต่ำอีกในปีนี้ และขณะนี้มีเวลาเหลืออยู่อีกไม่นานนักที่ผลผลิตลำไยจะออกสู่ตลาด แต่ในขณะนี้รัฐบาลยังไม่มีมาตราการป้องกันและแก้ไข
ข้อเสนอแนะ
เนื่องจากปัญหาของกระบวนการผลิตและการตลาดของผลผลิตลำไยมีมากและมีความซับซ้อนยุ่งยาก และเป็นปัญหาของฝ่ายรัฐบาล รวมทั้งเป็นปัญหาของเกษตรกรผู้ปลูกลำไย ซึ่งสภาที่ปรึกษาฯ ไม่เห็นด้วยกับการแทรกแซงราคาผลผลิตลำไยทุกปี และไม่เห็นด้วยที่จะใช้เป็นนโยบายถาวรของรัฐบาล จึงขอเสนอข้อเสนอแนะนโยบายรองรับปัญหาและแก้ไขปัญหานี้อย่างถาวร ทั้งในระยะสั้นและระยะยาวดังต่อไปนี้
ก. ข้อเสนอแนะระยะสั้น
1. ในปี 2546 นี้ให้ภาครัฐดำเนินการแทรกแซงราคาลำไย ในกรณีลำไยราคาตกต่ำ โดยมีวิธีการดังนี้
1) ภาครัฐต้องมีการวางแผนล่วงหน้า ให้พร้อมและปฏิบัติงานได้ ก่อนผลผลิตลำไยออกสู่ตลาดอย่างน้อย 20 วัน โดยการเผยแพร่ กำหนดการ เงื่อนไขและวิธีปฏิบัติต่างๆ ให้เกษตรกรทราบล่วงหน้า
2) รัฐต้องมี กฎเกณฑ์ เงื่อนไขและระเบียบปฏิบัติที่รัดกุม เพื่อป้องกันการทุจริต และความซ้ำซ้อนในการปฏิบัติงาน และเพื่อความสะดวกต่อเกษตรกร โดยหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการแทรกแซงราคา เช่น ธกส. อคส. และ อตก. ต้องมีกฎเกณฑ์ เงื่อนไขและระเบียบวิธีปฏิบัติให้สอดคล้อง และไปในทิศทางเดียวกัน
3) รัฐต้องจัดให้ผู้แทนองค์กรเกษตรกรและสหกรณ์ มีส่วนร่วมในการดำเนินการแทรกแซงราคาลำไยทุกระดับขั้นตอน และต้องมีอำนาจและจำนวนผู้แทนเท่าเทียมกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ
4) รัฐต้องสนับสนุนงบประมาณในการแทรกแซงราคาลำไยผ่านสถาบันเกษตรกร องค์กรเกษตรกร และสหกรณ์โดยตรง และมีงบประมาณเพียงพอในการดำเนินการอย่างทั่วถึงด้วย
5) รัฐต้องให้องค์กรเกษตรกร หรือสหกรณ์รับผิดชอบการตรวจสอบคุณภาพลำไยของสมาชิกกลุ่ม (QC) ด้วยตนเองได้
6) ให้รัฐต้องขยายระยะเวลาการรับจำนำและการถ่ายถอนออกไปอย่างน้อยเป็น 7 เดือน
7) รัฐต้องส่งเสริมความรู้ให้แก่เกษตรกรในการแปรรูปผลผลิตลำไยให้หลากหลายยิ่งขึ้น
8) รัฐต้องขึ้นทะเบียนผู้ปลูกลำไย เพื่อจะได้ทราบปริมาณผลผลิตและปริมาณเตาอบที่มีอยู่จริง
ข. ข้อเสนอในระยะยาว
1) รัฐต้องกำหนดเขตการปลูกลำไย และขึ้นทะเบียนผู้ปลูกลำไย เพื่อจะได้ทราบพื้นที่ปลูก พันธุ์ที่ปลูก และปริมาณผลผลิตได้ถูกต้องตามความจริงโดยเร็ว
2) รัฐต้องจัดตั้งกองทุนลำไย และมีสวัสดิการแก่สมาชิกกองทุน เพื่อช่วยเหลือใน กรณีเกิดภัยจากธรรมชาติ โดยเกษตรกร ควรมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการอย่างน้อยกึ่งหนึ่งของผู้ดำเนินการ
3) รัฐต้องสนับสนุนกลุ่มเกษตรกรหรือสหกรณ์สร้างห้องเย็น เพื่อเก็บสินค้าเกษตรต่างๆ รวมทั้งลำไยสด
4) รัฐต้องให้ความรู้ เทคโนโลยีการผลิต เทคนิค และการจัดการเพื่อลดต้นทุนการปลูกลำไย การแปรรูปลำไย และช่วยเหลือด้านการขนส่งให้สะดวกและเหมาะสม โดยการฝึกอบรม และ/หรือเผยแพร่ความรู้ทางวิทยุและสิ่งตีพิมพ์ อย่างต่อเนื่อง
5) รัฐต้องจัดให้มีตลาดกลางซื้อขายผลไม้ในภาคเหนือ ณ จังหวัดที่มีความเหมาะสม ในหลาย ๆ ด้าน ให้สามารถแข่งขันได้ในระบบการค้าเสรี โดยให้มีการจัดตั้งองค์กรด้านการตลาดในรูปแบบไตรภาคี คือ เกษตรกร — เอกชน - กระทรวงพาณิชย์
6) รัฐต้องจัดตั้งคณะกรรมการลำไยแห่งชาติ โดยให้มีตัวแทนเกษตรกรและสหกรณ์ จำนวนกึ่งหนึ่งของคณะกรรมการ เพื่อกำหนดนโยบายและบริหารจัดการเรื่องต่างๆ รวมทั้ง การปฎิรูประบบสหกรณ์
7) รัฐต้องขยายตลาดลำไยในต่างประเทศให้มากขึ้น โดยรัฐทำหน้าที่เป็นผู้ประสานระหว่างตัวแทนผู้สั่งซื้อจากต่างประเทศกับองค์กรเกษตรกร หรือสหกรณ์โดยไม่ผ่านคนกลาง
8) รัฐต้องให้การสนับสนุนงานวิจัย เพื่อหาแนวทางการปฏิรูปทางด้านการผลิต การแปรรูป และการตลาด ลำไยให้หลากหลายชนิดแล้วเผยแพร่เทคโนโลยีเหล่านี้แก่เกษตรกร
9) รัฐต้องสนับสนุนให้มีองค์กรเครือข่ายเกษตกรอย่างเป็นรูปธรรมและเข้มแข็ง
ที่มา: สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
www.nesac.or.th, โทร.02-612-9222 ต่อ 118, 119 โทรสาร.02-612-6918-9

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ