= ประธานฯ ให้การรับรอง
วันที่ ๑๑ มิถุนายน ๒๕๔๖ เวลา ๑๑.๐๐ นาฬิกา นายอุทัย พิมพ์ใจชน ประธาน
รัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราษฎร ให้การรับรอง ดร.แฮร์แบร์ท ทรักเซิล (Dr. Herbert Traxl)
เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐออสเตรียประจำประเทศไทย ที่ได้เข้าเยี่ยมคารวะในโอกาสเข้ารับตำแหน่งใหม่
ณ ห้องรับรอง ๑ ชั้น ๒ อาคารรัฐสภา ๑
= นัดประชุมประธานคณะกรรมาธิการ
ในวันที่ ๑๐ มิถุนายน ๒๕๔๖ นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง
เป็นประธานในที่ประชุมร่วมกันกับประธานคณะกรรมาธิการสามัญประจำสภาผู้แทนราษฎรทุกคณะ
ณ ห้องประชุมคณะกรรมาธิการหมายเลข ๓๗๐๑ ชั้น ๗ อาคารรัฐสภา ๓
= โครงการทัศนศึกษาประชาธิปไตย
ระหว่างวันที่ ๑๖-๒๐, ๒๓-๒๔ และ ๒๖ มิถุนายน ๒๕๔๖ คณะนักศึกษาชั้นปีที่ ๑
โปรแกรมวิชารัฐประศาสนศาสตร์ และโปรแกรมวิชานิติศาสตร์ สถาบันราชภัฏสวนดุสิต จำนวน
๘๐๐ คน จะเข้าเยี่ยมชมกิจการรัฐสภาตามโครงการทัศนศึกษาประชาธิปไตย เพื่อเพิ่มความรู้และ
ประสบการณ์ตรงก่อนเข้าศึกษา
ในการนี้ นายคัมภีร์ ดิษฐากรณ์ รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร
จะเป็นวิทยากรบรรยาย เรื่อง "บทบาท อำนาจ และหน้าที่ของรัฐสภา" ในภาคเช้าของทุกวัน
และสำหรับภาคบ่ายนั้นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคการเมืองต่าง ๆ ได้ให้เกียรติมาบรรยาย
ในหัวข้อเรื่อง "การมีส่วนร่วม ทางการเมืองของประชาชน" ตามลำดับดังนี้
วันจันทร์ที่ ๑๖ มิถุนายน ๒๕๔๖ นางสาวศุภมาศ อิศรภักดี
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคไทยรักไทย
วันอังคารที่ ๑๗ มิถุนายน ๒๕๔๖ นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคประชาธิปัตย์
วันพุธที่ ๑๘ มิถุนายน ๒๕๔๖ นายอิทธิพล คุณปลื้ม
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคชาติไทย
วันพฤหัสบดีที่ ๑๙ มิถุนายน ๒๕๔๖ นายภิมุข สิมะโรจน์
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคไทยรักไทย
วันศุกร์ที่ ๒๐ มิถุนายน ๒๕๔๖ ดร. คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคประชาธิปัตย์
วันจันทร์ที่ ๒๓ มิถุนายน ๒๕๔๖ นายเปรมศักดิ์ เพียยุระ
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคไทยรักไทย
วันอังคารที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๕๔๖ นายชวน หลีกภัย
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคประชาธิปัตย์
วันพฤหัสบดีที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๕๔๖ นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคประชาธิปัตย์
สำหรับโครงการทัศนศึกษาประชาธิปไตยนี้จะช่วยสร้างความรู้ความเข้าใจและ
สร้างเจตคติที่ดีเกี่ยวกับการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยระบบรัฐสภาให้แก่นักศึกษา รวมทั้ง
ส่งเสริมให้นักศึกษามีส่วนร่วมทางการเมืองและกล้าแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการเมืองการปกครองของประเทศ
อันเป็นหนทางพัฒนาการเมืองในระบอบประชาธิปไตยของไทยต่อไป
= ข้าราชการตรวจสุขภาพประจำปี ๒๕๔๖
สำนักการคลังและงบประมาณ ขอเชิญข้าราชการและลูกจ้างเข้ารับการตรวจสุขภาพประจำปี ๒๕๔๖
จากสำนักงานบริการเทคโนโลยีสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ระหว่างวันที่ ๑-๓ กรกฎาคม ๒๕๔๖ เวลา ๐๗.๓๐-๑๒.๐๐ นาฬิกา ณ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร
ในการตรวจสุขภาพครั้งนี้ข้าราชการจะได้รับการตรวจสุขภาพในรายการที่เบิกได้
คือ ตรวจโลหิตทั่วไป ตรวจปัสสาวะ อุจจาระ เอ็กซเรย์ทรวงอกฟิล์มใหญ่ วัดความดันโลหิตและ
หาหมู่เลือด น้ำหนักตัว ส่วนสูง ตรวจสมรรถภาพการมองเห็น การได้ยิน การทำงานของปอด
การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ สำหรับบางรายการจะต้องชำระค่าตรวจเอง คือ
๑. ตรวจระดับไขมันโคเลสเตอรอลชนิด HDL และ LDL
๒. วินิจฉัยโรคตับอักเสบ ไวรัสบี ภูมิคุ้มกันโรคตับอักเสบบี
๓. เอดส์
๔. ตรวจระดับแคลเซียม
ข้าราชการและลูกจ้างท่านใดมีความประสงค์จะขอใช้บริการตรวจสุขภาพ สามารถแจ้งชื่อ
ได้ที่กลุ่มงานบริหารทั่วไปของแต่ละสำนัก ภายในวันที่ ๑๘ มิถุนายน ๒๕๔๖
= การประชุมสมัยวิสามัญ
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๔๐ มาตรา ๑๖๒ บัญญัติให้รัฐสภามีอำนาจ
ในการเรียกประชุมสภาสมัยวิสามัญได้แม้ว่าจะอยู่ในช่วงปิดสมัยประชุมรัฐสภาสามัญ
ดังเช่น ขณะนี้อยู่ระหว่างการปิดประชุมสมัยสามัญมาตั้งแต่วันที่ ๔ มิถุนายน ๒๕๔๖ เป็นต้นมา
บัดนี้คณะรัฐมนตรีได้จัดเตรียมร่าง พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ ๒๕๔๗
เป็นที่เรียบร้อยและจะได้นำเสนอต่อรัฐสภา เพื่อพิจารณาอนุมัติให้มีการเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญต่อไป
ในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี ๒๕๔๗ จะเสนอต่อ
สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาก่อน โดยสภาผู้แทนราษฎรจะต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน ๑๐๕ วัน
นับแต่วันที่ร่างพระราชบัญญัตินี้มาถึงสภาผู้แทนราษฎร หลังจากนั้นจะส่งร่างพระราชบัญญัตินี้ต่อ
วุฒิสภา เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบภายใน ๒๐ วัน นับแต่วันที่ร่างพระราชบัญญัติ
มาถึงวุฒิสภา ตามความในมาตรา ๑๘๐ ทั้งนี้ จะต้องพิจารณาเพื่ออนุมัติให้แล้วเสร็จภายในวันที่
๓๐ กันยายน ๒๕๔๖ เพื่อจะให้ทันใช้งบประมาณ ๒๕๔๗ ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่วันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๔๖ เป็นต้นไป
การประชุมวิสามัญนั้น สภาผู้แทนราษฎรจะมีการประชุมงบประมาณรายจ่ายประจำปี
งบประมาณ ๒๕๔๗ ในระหว่างวันที่ ๒๕- ๒๖ มิถุนายน ๒๕๔๖ นี้
= ผลงานคณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร
คณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร จะจัดการสัมมนา
สัญจรในภาคต่าง ๆ หัวข้อเรื่อง "กระบวนการการมีส่วนร่วมของประชาชนในการอนุรักษ์ทรัพยากร
ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนในประเทศไทย" จำนวน ๔ ครั้ง คือ
๑. ภาคใต้ ในวันศุกร์ที่ ๒๓ มิถุนายน ๒๕๔๖ ระหว่างเวลา
๐๘.๐๐-๑๖.๓๐ นาฬิกา ณ หอประชุมสถาบันราชภัฏ
นครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช
๒. ภาคเหนือ ในวันศุกร์ที่ ๒๐ มิถุนายน ๒๕๔๖ ระหว่างเวลา
๐๘.๐๐-๑๖.๓๐ นาฬิกา ณ หอประชุมสถาบันราชภัฏพิบูลสงคราม
จังหวัดพิษณุโลก
๓. ภาคตะวันออก ในวันศุกร์ที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๕๔๖ ระหว่างเวลา
๐๘.๐๐-๑๖.๓๐ นาฬิกา ณ หอประชุมสถาบันราชภัฏ
รำไพพรรณี จังหวัดจันทบุรี
๔. ภาคกลาง ในวันศุกร์ที่ ๔ กรกฎาคม ๒๕๔๖ ระหว่างเวลา
๐๘.๐๐-๑๖.๓๐ นาฬิกา ณ หอประชุมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ศูนย์รังสิต จังหวัดปทุมธานี
ผู้เข้าร่วมการสัมมนา ประกอบด้วย
ผู้นำทางการเมือง สมาชิกรัฐสภา ผู้นำชุมชน ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ องค์กรพัฒนา
เอกชน องค์กรทางด้านการศึกษา องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และประชาชนทุกระดับในทุกภูมิภาค
แต่ละภูมิภาคประมาณ ๒,๐๐๐ คน
การสัมมนามีเป้าหมาย
เพื่อเผยแพร่หลักการพัฒนาอย่างยั่งยืนและสมดุลในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ
และสิ่งแวดล้อมในทุกภูมิภาคของไทย ผู้เข้าร่วมการสัมมนาจะได้รับความรู้และปลูกฝังจิตสำนึกแนวทาง
ที่ถูกต้องในด้านการเข้ามามีส่วนร่วมในการอนุรักษ์และจัดการ รวมทั้งการจัดเครือข่ายกับหน่วยงาน
องค์กรภาคประชาชนในการร่วมมืออนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
กิจกรรมในการจัดสัมมนา
๑. รับฟังการบรรยายสรุปจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิจากหน่วยงานภาครัฐ องค์กรพัฒนาเอกชน
สถาบันการศึกษาทางด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
๒. การประชุมเชิงปฏิบัติการ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการดูแลจัดการทรัพยากร
ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อหาแนวทาง กลไก และมาตรการที่เหมาะสมในการเข้ามามีส่วนร่วมของ
ประชาชนและชุมชนในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
๓. การจัดนิทรรศการเกี่ยวกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
๔. จัดทำเอกสารประกอบการสัมมนาเผยแพร่องค์ความรู้แก่ผู้เข้าร่วมสัมมนา
๕. จัดทำสรุปผลที่ได้จากการสัมมนาไปประมวลเป็นเอกสารเผยแพร่ทางวิชาการ
๖. จัดทำข้อสังเกตและข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการเสนอไปยังรัฐบาลและ
หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
= นายกรัฐมนตรีให้พิจารณากำหนดเวลาการบังคับใช้กฎหมาย
คราวการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๔๖ นายกรัฐมนตรีเสนอว่า
เพื่อให้กฎหมายที่บัญญัติขึ้นมีความทันสมัย สามารถใช้บังคับได้อย่างเหมาะสมกับสภาวการณ์ จึงขอให้มี
การพิจารณา ทบทวน ปรับปรุงกฎหมาย เกี่ยวกับกำหนดระยะเวลาการใช้บังคับกฎหมาย
ฉบับนั้น ๆ ให้แน่นอน เช่น ให้มีผลใช้บังคับ ๕ ปี หรือ ๘ ปี แล้วให้กฎหมายดังกล่าวสิ้นผลไป
เมื่อกฎหมายใช้บังคับไปแล้วระยะหนึ่ง ส่วนราชการก็จะต้องพิจารณาและเสนอร่างกฎหมายและอาจ
ปรับปรุงให้เหมาะสมกับสภาพการณ์ในขณะนั้นไปในคราวเดียวกัน หากกฎหมายนั้นใช้บังคับต่อไป
เมื่อพ้นกำหนดเวลา จึงขอให้ทุกกระทรวง ทบวง กรม และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีการับไปพิจารณา
ดำเนินการต่อไป ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้พิจารณาแล้วเห็นชอบตามที่นายกรัฐมนตรีเสนอ
= มาตรฐานทางคุณธรรมและจริยธรรมของข้าราชการและลูกจ้างของ
ส่วนราชการสังกัดรัฐสภา
๑. จงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์
๒. ภักดีต่อองค์กร
๓. มุ่งผลสัมฤทธิ์ของงาน
๔. โปร่งใส ตรวจสอบได้
๕. ซื่อสัตย์ สุจริต
๖. กล้ายืนหยัดทำในสิ่งที่ถูกต้อง
๗. มีจิตให้บริการ
๘. ไม่เลือกปฏิบัติ
๙. เคารพซึ่งกันและกัน
๑๐. เสียสละ
๑๑. พัฒนาตนเองอยู่เสมอ
๑๒. ประหยัด