รายงานดัชนีราคาผู้บริโภคภาคกลาง ประจำเดือน มี.ค.48

ข่าวเศรษฐกิจ Friday April 1, 2005 11:43 —สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า

ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปและดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของภาคกลางเดือนมีนาคม 2548 และระยะ 3 เดือนของปี2548
กระทรวงพาณิชย์ ขอรายงานความเคลื่อนไหวดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของภาคกลางเดือนมีนาคม 2548และระยะ 3 เดือนแรกของปี 2548 โดยสรุป
จากการสำรวจราคาสินค้าและบริการของภาคกลางจำนวน 347 รายการ ครอบคลุมหมวดอาหารและเครื่องดื่ม เครื่องนุ่งห่ม เคหสถาน การตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล ยานพาหนะ การขนส่งการสื่อสาร การบันเทิง การอ่าน การศึกษา ยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ เพื่อนำมาคำนวณดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของภาคกลาง ได้ผลดังนี้
1. ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของภาคกลางเดือนมีนาคม 2548
ในปี 2545 ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของภาคกลางเท่ากับ 100 และเดือนมีนาคม 2548
เท่ากับ 108.8 สำหรับเดือนกุมภาพันธ์ 2548 เท่ากับ 108.0
2. การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของภาคกลางเดือนมีนาคม 2548
เมื่อเทียบกับ
2.1 เดือนกุมภาพันธ์ 2548 สูงขึ้นร้อยละ 0.7
2.2 เดือนมีนาคม 2547 สูงขึ้นร้อยละ 3.8
2.3 เดือนมกราคม - มีนาคม 2548 เทียบกับช่วงเดือนเดียวกันของปี 2547
สูงขึ้นร้อยละ 3.5
3. ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของภาคกลางเดือนมีนาคม 2548 เทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ 2548 สูงขึ้นร้อยละ 0.7 จากการสูงขึ้นของดัชนีราคาสินค้าหมวดอาหารและเครื่องดื่มร้อยละ 0.5 และ สินค้าหมวดอื่น ๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มสูงขึ้นร้อยละ 1.0 โดยมีความเคลื่อนไหวของราคาสินค้าสำคัญดังนี้
3.1 สินค้าหมวดอาหารและเครื่องดื่ม ดัชนีราคาสูงขึ้นร้อยละ 0.5
สินค้าสำคัญที่ราคาสูงขึ้น ได้แก่
- เนื้อสุกร สภาพอากาศร้อนทำให้สุกรเจริญเติบโตช้ากว่าปกติ ปริมาณผลผลิตเข้าสู่ตลาดลดลง
- ไก่สด ความต้องการบริโภคกระเตื้องขึ้นจากการรณรงค์สร้างความเชื่อมั่นในการ
บริโภคของภาครัฐ ประกอบกับแนวโน้มการส่งออกดีขึ้น
- ปลาและสัตว์น้ำ ได้แก่ ปลาจะละเม็ดดำ ปลากะพง ปลาแดง ปลาทู กุ้งขาว ปลาหมึกกล้วย หอยลาย หอยแมลงภู่ ปูม้า และปลาทูนึ่ง เป็นผลจากกรมประมงปิดอ่าวไทยห้ามจับสัตว์น้ำในช่วงฤดูวางไข่ ประกอบกับน้ำมันเชื้อเพลิงมีราคาสูงขึ้นการทำประมงลดลง
- ผักสด ได้แก่ กะหล่ำปลี แตงกวา ผักกาดขาวลุ้ย ผักคะน้า ผักบุ้ง ผักชี มะเขือเจ้าพระยา มะเขือเทศ ถั่วฝักยาว มะละกอดิบ บวบ ฟักเขียว ฟักทอง มะนาว ขึ้นฉ่าย ต้นหอม ถั่วลันเตา ขิง ตำลึงและดอกกุ้ยฉ่าย เป็นช่วงนอกฤดูกาลประกอบกับสภาพอากาศร้อนและแห้งแล้งพืชผักเจริญเติบโตช้า ปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดน้อยลง
- ผลไม้สด ได้แก่ มะม่วง ทุเรียน แตงโม สับปะรดและกล้วยน้ำว้าเป็นช่วงนอกฤดูกาลปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดน้อย
- อาหารสำเร็จรูป ได้แก่ กับข้าวสำเร็จรูป ข้าวผัดและปลากระป๋อง ผู้ค้าปรับราคาจำหน่าย ตามต้นทุนที่สูงขึ้น
- เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ได้แก่ เครื่องดื่มรสชอกโกแลต กาแฟผงสำเร็จรูป ชา น้ำผลไม้ กาแฟสำเร็จรูปพร้อมดื่ม และชาสำเร็จรูปพร้อมดื่ม ผู้ค้าปรับราคาจำหน่ายตามต้นทุนที่สูงขึ้น
สินค้าสำคัญที่ราคาลดลง ได้แก่
- ไข่ไก่ การเลี้ยงเริ่มเข้าสู่ภาวะปกติ ปริมาณผลผลิตเข้าสู่ตลาดมากขึ้น ขณะที่ความต้องการบริโภคช่วงปิดภาคการศึกษาลดลง
- เครื่องปรุงอาหาร ได้แก่ น้ำมันพืช เครื่องปรุงรส และซอสพริก ภาวะการแข่งขันสูง
ประกอบกับวัตถุดิบมีราคาลดลง
3.2 สินค้าหมวดอื่นๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ดัชนีราคาสูงขึ้นร้อยละ 1.0
สินค้าสำคัญที่ราคาสูงขึ้น ได้แก่
- น้ำมันเชื้อเพลิง ได้แก่ น้ำมันเบนซิน ปรับตามภาวะราคาน้ำมันในตลาดโลกที่สูงขึ้น และน้ำมันดีเซล จากการที่รัฐบาลประกาศปรับเพดานราคาสูงขึ้นลิตรละ 3 บาท ตั้งแต่วันที่ 23 มีนาคม2548
- วัสดุก่อสร้าง ได้แก่ ปูนซีเมนต์ ผู้ค้าปรับราคาจำหน่ายสูงขึ้น แต่ยังไม่เกินราคา แนะนำของกรมการค้าภายใน
- สิ่งที่เกี่ยวกับทำความสะอาด ได้แก่ ผงซักฟอก น้ำยาปรับผ้านุ่ม และน้ำยา
ล้างจาน มีการปรับราคาสูงขึ้น แต่ยังไม่เกินราคาแนะนำของกรมการค้าภายใน
4. ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของภาคกลางระยะ 3 เดือนแรกของปี 2548
ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของภาคกลางระยะ 3 เดือนแรกของปี 2548 เท่ากับ 108.0
เทียบกับดัชนีราคาเฉลี่ยช่วงเดียวกันของปี 2547 ซึ่งเท่ากับ 104.3 สูงขึ้นร้อยละ 3.5
4.1 สินค้าหมวดอาหารและเครื่องดื่ม ดัชนีราคาสูงขึ้นร้อยละ 5.6 จากการสูงขึ้นของ
ราคา เนื้อสุกร ไก่สด ปลาและสัตว์น้ำ ไข่และผลิตภัณฑ์นม ผักสดและผลไม้ อาหารสำเร็จรูป
4.2 สินค้าหมวดอื่นๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ดัชนีราคาสูงขึ้นร้อยละ 2.2 จากการสูงขึ้นของราคาค่ากระแสไฟฟ้า ก๊าซหุงต้ม วัสดุก่อสร้าง ค่าใช้จ่ายส่วนบุคคลและน้ำมันเชื้อเพลิง
ที่มา: สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงพาณิชย์ โทร.0-2507-5850 โทรสาร.0- 2507-5825

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ