รัสเซียและยูเครนยังเชื่อมั่นข้าวไทยสั่งซื้อทันที 1.4 แสนตัน

ข่าวเศรษฐกิจ Friday July 1, 2005 17:20 —สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย

          นายวิจักร วิเศษน้อย รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ (คต.)ได้จัดคณะผู้แทนการค้าซึ่งประกอบด้วยภาคราชการและผู้แทนบริษัทผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ 5 บริษัท เดินทางไปจัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์และขยายตลาดข้าวหอมมะลิไทยและข้าวไทย ณ เมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก สหพันธรัฐรัสเซียและกรุงเคียฟ สาธารณรัฐยูเครน ระหว่างวันที่ 5-10 มิถุนายน 2548 ปรากฏว่าประสบความสำเร็จเกินคาด โดยบริษัทผู้ซื้อและผู้นำเข้าข้าวของประเทศทั้งสองต่างให้การตอบรับและมีความเชื่อมั่นในคุณภาพมาตรฐานของข้าวไทยอย่างเหนียวแน่น จนบรรลุข้อตกลงซื้อขายในเบื้องต้น 1.4 แสนตัน และมีพิธีลงนามในข้อตกลงซื้อขายโดยมีผู้แทนจากกรมการค้าต่างประเทศและสภาหอการค้าของทั้งสองประเทศร่วมเป็นสักขีพยาน คือ 
ประเทศสหพันธรัฐรัสเซีย
1. ซี.พี. อินเตอร์เทรด จำกัด (CP Intertrade Co.Ltd) กับบริษัท กับ Prodgramma Co.Ltd ตกลง ซื้อขายข้าวหอมมะลิไทย 5,000 ตัน ข้าวขาว 100% 15,000 ตัน และข้าวนึ่ง 100% 50,000 ตัน รวม 70,000 ตัน
2. บริษัท เบญจพืช จำกัด (World Grain Co.Ltd)กับ บริษัท Angstrem Co.Ltd ตกลงซื้อขาย ข้าวหอมมะลิไทย 5,000 ตัน ข้าวขาว 100% 15,000 ตัน ข้าวนึ่ง 100% 30,000 ตัน รวม 50,000 ตัน
ประเทศสาธารณรัฐยูเครน
บริษัท ซี.พี. อินเตอร์เทรด จำกัด (CP Intertrade Co.Ltd) กับ บริษัท Energia Co.Ltd และบริษัท Khalachaki Co.Ltd ตกลงซื้อขายข้าวหอมมะลิไทย 5,000 ตัน ข้าวขาว 100% 5,000 ตัน และข้าวนึ่ง100% 10,000 ตัน รวม 20,000 ตัน
รวมเป็นปริมาณที่ตกลงซื้อขายทั้งสิ้น 140,000 ตัน มูลค่ารวมทั้งสิ้นประมาณ 45.81 ล้านเหรีญสหรัฐฯ หรือ1,850.72 ล้านบาท
ผลสำเร็จของการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ชี้ให้เห็นถึงภาวะตลาดข้าวไทยในตลาดรัสเซียและยูเครนว่า ยังได้รับความเชื่อถือในด้านคุณภาพและมาตรฐานเป็นอย่างสูงและยังมีโอกาสขยายตัวได้อีกมาก แม้ว่าในช่วงที่ผ่านมาราคาข้าวไทยโดยเฉลี่ยจะสูงกว่าประเทศคู่แข่งก็ตาม นอกจากนั้นทิศทางการบริโภคข้าวของผู้บริโภคในตลาดทั้งสองประเทศ ยังมีแนวโน้มที่จะหันมาบริโภคข้าวคุณภาพดีมากยิ่งขึ้นเพราะกำลังซื้อของผู้บริโภคเริ่มปรับตัวสูงขึ้น จึงเป็นโอกาสในการขยายตัวของข้าวหอมมะลิไทยและข้าวคุณภาพสูงของไทยได้เป็นอย่างดีในอนาคต
นายวิจักรฯ ยังได้กล่าวเพิ่มเติมว่า ในโอกาสเดียวกันนี้ บริษัท Angstrem Co.Ltd ซึ่งเป็นผู้นำเข้าข้าวรายใหญ่ที่สุดของรัสเซีย ยังแสดงความเชื่อมั่นในคุณภาพมาตรฐานและความพิเศษของข้าวหอมมะลิไทยทั้ง ในด้านความหอม ปริมาณและพื้นที่ปลูกได้จำกัด รวมทั้งการผลิตที่ยังคงรักษาเอกลักษณ์ดั้งเดิม ซึ่งสามารถใช้เป็นจุดขายและจูงใจผู้บริโภคในการขยายตลาดได้เป็นอย่างดี โดยบริษัทพร้อมที่จะให้ความร่วมมือกับภาครัฐ และเอกชนไทยในการสร้างตราสัญลักษณ์(Brand)ของข้าวหอมมะลิไทยให้มีความเข้มแข็งและโดดเด่น เพื่อ ให้สามารถสื่อถึงความพิเศษของข้าวหอมมะลิไทยให้ผู้บริโภคในตลาดรัสเซียและประเทศใกล้เคียงได้รู้จักอย่างแพร่หลายมากยิ่งขึ้น โดยวางเป้าหมายในการขยายส่วนแบ่งตลาดข้าวหอมมะลิไทยปีแรกอย่างน้อย 20,000 ตันและภายใน 3-5 ปี จะมีส่วนแบ่งตลาดไม่ต่ำกว่า 1 แสนตัน
ตลาดรัสเซีย มีความต้องการบริโภคข้าวปีละ 0.72 ล้านตัน มีผลผลิตปีละประมาณ 0.3 ล้านตันข้าวสาร จึงต้องมีการนำเข้าข้าวปีละประมาณ 0.4 ล้านตัน โดยในปี 2547 รัสเซียนำเข้าข้าวจากไทยปริมาณ 107,568 ตัน และจากการที่รัสเซียได้มีการปรับโครงการด้านเศรษฐกิจ การค้าและการลงทุนให้มีความเป็นสากลมากขึ้นในระยะที่ผ่านมา เป็นการเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนมีบทบาทในการนำเข้ามากขึ้น ประกอบกับผู้บริโภคส่วนใหญ่มีกำลังซื้อสูงขึ้น จึงส่งผลให้โอกาสในการขยายตัวทางการค้ารวมทั้งสินค้าข้าวไทยมีแนวโน้มดีขึ้นด้วย
สำหรับตลาดยูเครน แม้จะเป็นตลาดใหม่ของข้าวไทยที่มีความต้องการนำเข้าเพื่อบริโภคปีละ 1 แสนตัน แต่ยูเครนยังสามารถเป็นประตูการค้าไปสู่กลุ่มประเทศ CIS ประเทศในกลุ่มยุโรปตะวันออกรวมทั้งสหพันธรัฐรัสเซีย นอกจากนั้น ยูเครน ยังเตรียมพร้อมที่จะเข้าร่วมเป็นสมาชิก WTO ในปลายปีนี้จึงต้องเร่งปรับโครงสร้างภาษีสินค้าชนิดต่างๆ รวมทั้งข้าว ซึ่งปัจจุบันตามโครงสร้างภาษีเดิมไทยยังเสียเปรียบประเทศคู่แข่งเช่น เวียดนาม ที่มีข้อตกลงด้านภาษีร่วมกับยูเครน แต่ภายใต้โครงสร้างภาษีใหม่ข้าวไทยจะได้รับการลดภาษีเหลือ 5% เท่ากันกับทุกประเทศ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้จะทำให้เพิ่มโอกาสและความสามารถในการแข่งขันของข้าวไทยให้ดีขึ้นในอนาคตอย่างแน่นอน
ที่มา: หอการค้าไทย www.thaiechamber.com
-ดท-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ