สาร ส.ส. ฉบับที่ ๕๔ วันที่ ๑๒-๑๘ มกราคม ๒๕๔๗

ข่าวการเมือง Monday January 12, 2004 08:51 —รัฐสภา

= วันเด็กแห่งชาติ ประจำปี ๒๕๔๗
วันเสาร์ที่ ๑๐ มกราคา ๒๕๔๗ เวลา ๐๙.๐๐ นาฬิกา นายอุทัย พิมพ์ใจชน ประธาน
รัฐสภา เป็นประธานในพิธีเปิดงานวันเด็กแห่งชาติ ซึ่งจัดโดยสภาผู้แทนราษฎร ณ บริเวณห้องโถง ชั้นล่าง อาคารรัฐสภา
= ประธานรัฐสภาเป็นประธานการประชุมเกี่ยวกับ พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยราชภัฏ
วันจันทร์ที่ ๕ มกราคม ๒๕๔๗ เวลา ๑๐.๐๐ นาฬิกา นายอุทัย พิมพ์ใจชน ประธาน
รัฐสภา เป็นประธานในการประชุมร่วมกันของประธานรัฐสภา ประธานวุฒิสภา ประธานคณะกรรมาธิการสามัญ
ประจำสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาทุกคณะเพื่อปรึกษาหารือเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยสถาบันราชภัฏ
(ฉบับที่ …) พ.ศ. …. ณ ห้องประชุมคณะกรรมาธิการ หมายเลข
๒๑๓-๒๑๖ ชั้น ๒ อาคารรัฐสภา
= การประชุมคณะกรรมการปฏิรูปการบริหารราชการฝ่ายรัฐสภา
วันจันทร์ที่ ๕ มกราคา ๒๕๔๗ เวลา ๑๓.๐๐ นาฬิกา นายชาญชัย ชัยรุ่งเรือง ประธาน
คณะกรรมาธิการกิจการสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานในการประชุมคณะกรรมการปฏิรูปการบริหาร
ราชการฝ่ายรัฐสภา ณ ห้องประชุมคณะกรรมาธิการหมายเลข ๓๗๐๑ ชั้น ๗ อาคารรัฐสภา
= การประชุมกรรมการบริหารหน่วยประจำชาติไทย
วันจันทร์ที่ ๕ มกราคม ๒๕๔๗ เวลา ๑๓.๓๐ นาฬิกา ณ ห้องประชุมกรรมาธิการ ๔ นายอุทัย พิมพ์ใจชน
ประธานรัฐสภา ในฐานะประธานหน่วยประจำชาติไทย ในองค์การรัฐสภาอาเซียน ได้มอบหมายให้นายเจริญ คันธวงศ์
กรรมการบริหารหน่วยประจำชาติไทย เป็นประธานการประชุม ครั้งที่ ๑/๒๕๔๗ เพื่อพิจารณาเกี่ยวกับ
การแต่งตั้งคณะผู้แทนรัฐสภาไทยเข้าร่วมในการประชุม
คณะกรรมาธิการการศึกษาของ AIPO ว่าด้วยการจัดตั้งมหาวิทยาลัยอาเซียน โดยการประชุมดังกล่าว
จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ ๒๕-๒๘ มกราคม ๒๕๔๗ ณ กรุงเวียงจันทร์ สาธารณรัฐประชาชนธิปไตยประชาชนลาว
= รองฯ สมศักดิ์ ประชุมคณะกรรมการจัดสร้างวัตถุมงคล
วันอังคารที่ ๖ มกราคม ๒๕๔๗ เวลา ๑๔.๐๐ นาฬิกา นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล รองประธานสภาผู้แทนราษฎร
คนที่หนึ่ง เป็นประธานในการประชุมคณะกรรมการจัดสร้างวัตถุมงคล ณ ห้องประชุมรองประธานสภาผู้แทนราษฎร
ชั้น ๓ อาคารรัฐสภา
= การประชุมสุดยอดระดับโลกว่าด้วยสังคมสารสนเทศ
ดร.วิบูลย์ แช่มชื่น สมาชิกวุฒิสภาจังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมประชุมสุดยอดระดับโลกว่าด้วยสังคมสารสนเทศ
(World Summit on the Information Society-WSIS) ระหว่างวันที่ ๑๐-๑๒ ธันวาคม ๒๕๔๖ ณ นครเจนีวา
ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ในฐานะรองประธานสมาคมสมาชิกรัฐสภาระหว่างประเทศด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยมี
รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร นางพรพิมล ถิรคุณโกวิท เป็นตัวแทนสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เป็นคณะผู้แทนไทยร่วมกับ
ผู้แทนของภาครัฐและเอกชน รวมทั้งสิ้น ๕๓ คน
"เด็กในวันนี้ คือตัวอย่างของผู้ใหญ่ในวันนี้"
คำขวัญของ
นายอุทัย พิมพ์ใจชน
ประธานรัฐสภา
เนื่องในงานวันเด็กแห่งชาติ ประจำปี ๒๕๔๗
= รัฐสภากับงานวันเด็กแห่งชาติ ปี ๒๕๔๗
เด็กและเยาวชนจำนวนมากชม "รัฐสภา" เนื่องในโอกาสวันเด็กแห่งชาติ ประจำปี ๒๕๔๗ โดยเริ่มทยอย
เข้ามาในบริเวณงานตั้งแต่เวลา ๐๘.๐๐ นาฬิกา มุมการมอบของที่ระลึกจากรัฐสภา ซึ่งตั้งอยู่หน้าพิพิธภัณฑ์รัฐสภามีเด็ก ๆ
เข้าแถวรอรับของแจกมากมาย เมื่อเวลา ๐๙.๐๐ นาฬิกา นายอุทัย พิมพ์ใจชน ประธานรัฐสภา เดินทางมาถึง ณ สถานที่เปิดงาน
จากนั้นพูดคุย ถ่ายภาพกับเด็กผู้เข้าร่วมงานด้วยความใกล้ชิด สร้างความประทับใจให้ทุกคนเป็นอย่างมาก
สำหรับมุมบันเทิงประกวดหนูน้อยนักจัดรายการวิทยุปรากฏว่า มีเด็กร่วมเป็นผู้ดำเนิน
รายการอยู่ไม่น้อยทั้งเด็กเล็กและเด็กโต ในขณะที่ห้องโทรทัศน์รัฐสภาที่มีเด็ก ๆ ขอเข้าทดลองออกอากาศโทรทัศน์
จนเกือบจะจัดคิวให้ไม่ทัน สำหรับมุมการแข่งขันเกมส์ การละเล่น และดนตรี เด็ก ๆ ร่วมเล่นเพื่อ
ชิงรางวัลอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง ห้องประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีโอกาสต้อนรับเด็กและผู้ปกครองเข้าชม สถานที่ที่หลายคน
กล่าวว่าประสงค์จะได้เห็น เพราะเป็นที่ทำงานของผู้แทนราษฎรคนที่เขาเหล่านั้น เลือกตั้งมาทำหน้าที่แทนตน
บรรยากาศโดยทั่วไปของวันเด็กแห่งชาติปีนี้ยังคงได้รับความสนใจจากเด็ก ๆ และผู้ปกครองเข้าชมรัฐสภา เป็นจำนวนมาก
เหมือนเช่นทุกปีที่ผ่านมา
= โครงการจัดสร้างวัตถุมงคลเฉลิมพระเกียรติ
ด้วยในวันที่ ๑๒ สิงหาคม ๒๕๔๗ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ
ทรงเจริญพระชนมพรรษา ๖ รอบ จึงนับเป็นมหามงคลสมัยอันประเสริฐยิ่ง สภาผู้แทนราษฎร โดย
คณะกรรมาธิการการศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรม ได้มีมติให้ดำเนินโครงการจัดสร้างพระพุทธรูป
พระกริ่ง และพระผงนางพญา เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประชาชนได้มีโอกาสนำมาสักการะบูชาเพื่อความเป็นสิริมงคลและนำรายได้
หลังหักค่าใช้จ่ายนำไปอุปสมบทหมู่ภิกษุ และบรรพชา สามเณร จำนวน ๗,๒๐๐ รูป เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล
ตลอดจนนำรายได้ส่วนที่เหลือขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ
เพื่อทรงใช้ประโยชน์ตามพระราชอัธยาศัยต่อไป
โดยคณะกรรมการดำเนินโครงการได้รับพระเมตตาจากสมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ทรงอนุโมทนาและประทานนามพระกริ่งว่า "พระกริ่ง ๗๒ พรรษา ประชาภักดี"
และพระบูชาว่า "พระพุทธรัชมงคลประชานาถ" ซึ่งมีความหมายว่า "พระพุทธเจ้า
ทรงเป็นมงคลแห่งความเป็นพระราชา ทรงเป็นที่พึ่งของประชาชน" พร้อมประทานชนวนการหล่อครั้งนี้ด้วย
ในการนี้ ทางคณะกรรมการดำเนินโครงการ ได้กำหนดพิธีการจัดสร้างอย่างถูกต้องตาม
ประเพณีแต่โบราณ ซึ่งสืบทอดมาตั้งแต่ครั้งสมัยกรุงศรีอยุธยา เพื่อให้ได้วัตถุมงคลที่งดงามและมีความสมบูรณ์
โดยได้กำหนดให้มีพิธีพุทธาภิเษกทวลสาร และชนวนโลหะที่ใช้ในการสร้างวัตถุมงคล รวม ๓ ครั้ง ดังนี้
ครั้งที่ ๑ ประกอบพิธีพุทธาภิเษกมวลสารพระเนื้อผง การลงทองและจารแผ่นพระยันต์
โดยจะประกอบพิธีพุทธาภิเษก ณ พระอุโบสถวัดสำคัญรวม ๑๐ วัด ซึ่งมวลสารและชนวนโลหะที่จะนำมา
สร้างพระกริ่งและพระเนื้อผงนั้น ได้รับความเมตตาอย่างดียิ่งจากพระคณาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิทุกจังหวัด
ทั่วประเทศ จังหวัดละ ๙ รูป รวม ๖๘๔ รูป ได้กรุณาอธิษฐานจิต และลงจารแผ่นโลหะ รวมทั้งได้รับ
มวลสารผงเถ้าธูปและดินจากสังเวชนียสถานอันศักดิ์สิทธิ์ ทั้ง ๔ แห่ง ในประเทศอินเดีย เนปาล และ
สถานที่ประดิษฐานเจ้าแม่กวนอิมที่ใหญ่ที่สุดในโลก จากประเทศจีน
ครั้งที่ ๒ ประกอบพิธีเททองและพุทธาภิเษกทองชนวนโลหะ โดยได้กราบบังคมทูล
พระกรุณา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินเททองและเสด็จเป็น
องค์ประธานประกอบพิธีพุทธาภิเษก ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม สำหรับทองชนวนโลหะที่นำมา
จัดสร้างวัตถุมงคลนั้น ได้รับความเมตตาจากพระคณาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิทุกจังหวัดทั่วประเทศ
จังหวัดละ ๙ วัด ๆ ละ ๓ แผ่น และเกจิอาจารย์ที่มาร่วมพิธีรวมเป็นจำนวน ๒,๕๙๙ แผ่น
ครั้งที่ ๓ ประกอบพิธีมหาพุทธาภิเษก ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดารามในราว
เดือนมิถุนายน ๒๕๔๗ ซึ่งคณะกรรมการดำเนินโครงการฯ จะนำความกราบบังคมทูลเชิญเสด็จฯ ต่อไป สำหรับ
โลหะที่นำมาจัดสร้างนั้น นอกจากการลงแผ่นพระยันต์ทองคำ นาก เงิน และทองแดง อย่างละ ๑๐๘ แผ่น
และนะปถมัง อย่างละ ๑๔ แผ่น แล้วยังได้ลงดวงประสูติและดวงตรัสรู้ของสมเด็จพระสัมมา สัมพุทธเจ้าอีกชุดละ ๒ แผ่น
และยังได้นำชนวนโลหะจากโครงการสร้างพระสำคัญ ๆ มารวมในการสร้างวัตถุมงคล ในครั้งนี้ด้วย
ซึ่งได้จัดให้เช่าบูชาพระกริ่งในราคาดังนี้
- พระกริ่งทองคำ องค์ละ ๔๙,๙๙๙ บาท
- พระกริ่งนวโลหะ องค์ละ ๑,๙๙๙ บาท
- พระกริ่งทองเหลือง องค์ละ ๙๙๙ บาท
- พระกริ่งใหญ่บูชา ขนาด ๙ นิ้ว องค์ละ ๙,๙๙๙ บาท
- พระกริ่งใหญ่บูชา ขนาด ๕ นิ้ว องค์ละ ๕,๙๙๙ บาท
สำหรับผู้สนใจเช่าบูชาวัตถุมงคล สามารถติดต่อได้ที่สำนักงานโครงการจัดสร้างวัตถุมงคลเฉลิมพระเกียรติฯ ทั้ง ๓ แห่ง ดังนี้
๑. อาคาร ๖ ถนนราชดำเนินกลาง (ตรงข้ามสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล) โทรศัพท์
๐๒ ๒๒๔ ๔๗๑๕
๒. ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โซน B ห้อง B ๒๐๑ โทรศัพท์ ๐๒๒๙ ๓๑๘๔-๕
โทรสาร ๐๒ ๒๒๙ ๓๑๘๖
๓. สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ถ. ประดิพัทธ์ และที่ทำการไปรษณีย์
ธนาคารกรุงไทย ธนาคารออมสิน ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ในทุกสาขา
=ร่วมจองบูชาเหรียญที่ระลึกหลวงพ่อคูณ
ขอเชิญผู้สนใจสั่งจองบูชาเหรียญที่ระลึกหลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ รุ่นวันประชาธิปไตย
เพื่อนำรายได้จัดตั้งกองทุน ๑๔ ตุลา วันประชาธิปไตย โดยการโอนเงินเข้าบัญชีจัดสร้างเหรียญที่ระลึก
หลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ รุ่นวันประชาธิปไตย ธนาคารกรุงไทย สาขาย่อยรัฐสภา บัญชีเลขที่ ๐๘๙-๑-๐๕๓๒๕-๕
และนำหลักฐานการโอนเงินเข้าบัญชีมารับเหรียญที่ระลึกได้ที่ฝ่ายเลขานุการคณะอนุกรรมกรรมการฝ่ายปฏิบัติการจัดหาทุนฯ
ณ ห้องเฉพาะกิจ ชั้น ๑ อาคารรัฐสภา ๑ หรือติดต่อได้ที่ โทร. ๐ ๒ ๒๔๔ ๑๔๗๓
สำหรับเหรียญที่ระลึกมีรายละเอียดดังนี้
๑. เหรียญทองคำขัดเงา บูชาเหรียญละ ๑๙,๙๙๙ บาท
๒. เหรียญเงินขัดมัน บูชาเหรียญละ ๙๙๙ บาท
๓. เหรียญทองแดงชุบทอง บูชาเหรียญละ ๑๙๙ บาท
๔. เหรียญทองแดง บูชาเหรียญละ ๙๙ บาท
๕. ผ้ายันต์พร้อมหนังสือประวัติการจัดสร้าง ราคา ๙๙ บาท
= เชิญร่วมงานแสดงสินค้าและจำหน่ายของที่ระลึก ๓๐ ปี ๑๔ ตุลาคม
คณะอนุกรรมการฝ่ายปฏิบัติการจัดหาทุนดูแลสิทธิประโยชน์ลิขสิทธิ์และจัดทำ
ของที่ระลึก ในคณะกรรมการจัดงานครบรอบ ๓๐ ปี ๑๔ ตุลาคม กำหนดจัดงานแสดงสินค้าและจำหน่ายของที่ระลึก
วันครบรอบ ๓๐ ปี ๑๔ ตุลาคม เพื่อหารายได้เข้ากองทุน ๑๔ ตุลา วันประชาธิปไตย ซึ่งมี
วัตถุประสงค์ในการสงเคราะห์ช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการเสียสละเพื่อประชาธิปไตย
และส่งเสริมการดำเนินกิจกรรมประชาธิปไตยต่าง ๆ ของเยาวชน นิสิต นักศึกษา ในระหว่างวันที่ ๙-๑๘ มกราคม ๒๕๔๗
ณ บริเวณอาคารแสดงสินค้า ๑ และ ๒ กรมส่งเสริมการส่งออก ถนนรัชดาภิเษก
โดยจะนำสินค้าที่ระลึก ๓๐ ปี ๑๔ ตุลาคม อาทิ เหรียญที่ระลึกหลวงพ่อคูณ หมวก เสื้อ นาฬิกา
มาจำหน่าย นอกจากนี้ยังมีสินค้าฝีมือคนไทย ๑ ตำบล ๑ ผลิตภัณฑ์ มาจำหน่ายในงานอีกด้วย
ป.ป.ช.กับประโยชน์ของชาติ
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ หมวด ๑๐ ว่าด้วยการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ
กำหนดให้จัดตั้งองค์กรเพื่อทำหน้าที่ในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในวงราชการและการเมือง คือ คณะกรรมการ
ป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือคณะกรรมการ ปปช. มีหน้าที่ไต่สวนข้อเท็จจริง กรณีผู้ดำรงตำแหน่ง
ทางการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐระดับสูง ซึ่งถูกกล่าวหาว่ากระทำการทุจริต หรือร่ำรวยผิดปกติ เพื่อถอดถอนออกจาก
ตำแหน่งไต่สวนข้อเท็จจริงและสรุปสำนวน พร้อมทั้งทำความเห็นส่งไปยังศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
กรณีมีผู้กล่าว ร้องเรียน ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองว่าร่ำรวยผิดปกติกระทำการทุจริต ไต่สวน และวินิจฉัยว่าเจ้าหน้าที่
ของรัฐร่ำรวยผิดปกติ หรือกระทำการทุจริตตรวจสอบความถูกต้องและความมีอยู่จริง รวมทั้งความ
เปลี่ยนแปลงของทรัพย์สินและหนี้สินของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน
และเอกสารประกอบที่ได้ยื่นไว้
คณะกรรมการ ป.ป.ช. ชุดแรกของไทย ซึ่งมีนายโอภาส อรุณพิมพ์ เป็นประธานกรรมการ และมีกรรมการอีก ๘ คน
ในจำนวนนี้มีเพียง ๑ คน คือ นายพินิจ อารยะศิริ ที่ยังอยู่ในวาระการดำรงตำแหน่ง ในขณะที่พลโทสวัสดิ์ ออรุ่งโรจน์
เป็นกรรมการ ป.ป.ช. ที่หมดวาระการดำรงตำแหน่งลงก่อน กรรมการที่เหลืออีก ๗ คน วุฒิสภาจึงนัดประชุมนัดพิเศษเมื่อ
วันที่ ๓ พฤศจิกายน ๒๕๔๖ เพื่อคัดเลือก ผู้มาดำรงตำแหน่งแทน ซึ่งผลปรากฏว่า พลตำรวจโทวิเชียรโชติ สุกโชติรัตน์
ได้รับการคัดเลือกให้ดำรงตำแหน่งแทน สำหรับกรรมการ ป.ป.ช. อีก ๗ ตำแหน่ง วุฒิสภาได้เปิดรับสมัครบุคคลเพื่อเข้ารับการสรรหา
ระหว่างวันที่ ๓๐ ตุลาคม - ๕ พฤศจิกายน ๒๕๔๖ ซึ่งมีอดีตผู้ว่าฯ ข้าราชการ นายทหาร และ สสร. สนใจสมัคร รวมทั้งสิ้น ๕๑ คน
คณะกรรมการสรรหากรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ มีจำนวน สิบห้าคน ประกอบด้วย
ประธานศาลฎีกา ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานศาลปกครองสูงสุด อธิการบดีของสถาบันอุดมศึกษาของรัฐที่เป็นนิติบุคคลทุกแห่ง
ซึ่งเลือกกันเองให้เหลือเจ็ดคน ผู้แทนพรรคการเมืองทุกพรรคที่มีสมาชิกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคละหนึ่งคน ซึ่งเลือกกันเอง
ให้เหลือห้าคนเป็นกรรมการ ให้ประธานวุฒิสภาลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการป้องกัน
และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เกี่ยวกับคณะกรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ องค์ประกอบ คุณสมบัติ การสรรหา
การคัดเลือก การลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งประธานกรรมการ ๑ คน และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอื่นอีก ๘ คน
ผู้ที่จะเป็นกรรมการ ปปช. ได้ ต้องเป็นผู้ซึ่งมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์
นอกจากนี้ยังต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม เช่น เกี่ยวกับผู้ทรงคุณวุฒิที่จะดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
ต้องมีสัญชาติไทยโดยกำเนิด มีอายุไม่ต่ำกว่า ๔๕ ปีบริบูรณ์ เคยเป็นรัฐมนตรี ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กรรมการการเลือกตั้ง
ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หรือกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน หรือรับราชการ หรือเคยรับราชการในตำแหน่ง
ไม่ต่ำกว่ารองอัยการสูงสุด อธิบดีหรือเทียบเท่า หรือดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าศาสตราจารย์
สำหรับลักษณะต้องห้ามมีดังนี้คือ
๑. เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ข้าราชการการเมือง สมาชิกสภา ท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น
๒. เป็นหรือเคยเป็นสมาชิกหรือผู้ดำรงตำแหน่งอื่นของพรรคการเมืองในระยะสามปีก่อนวันได้รับการเสนอชื่อ
๓. เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กรรมการการเลือกตั้ง ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา กรรมการสิทธิมนุษยชน
ตุลาการศาลปกครอง หรือกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน
๔. วิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ
๕. เป็นภิกษุ สามเณร นักพรต หรือนักบวช
๖. ต้องคุมขังอยู่ โดยหมายของศาลหรือโดยคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย
๗. อยู่ในระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง
๘. ติดยาเสพติดให้โทษ
๙. เป็นบุคคลล้มละลายซึ่งศาลยังไม่สั่งให้พ้นจากคดี
๑๐. ต้องคำพิพากษาให้จำคุกและถูกคุมขังอยู่โดยหมายของศาล
๑๑. เคยต้องคำพิพากษาให้จำคุกตั้งแต่สองปีขึ้นไป โดยได้พ้นโทษมายังไม่ถึงห้าปี ในวันได้รับการเสนอชื่อ
เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาท
๑๒. เคยถูกไล่ออก ปลดออก หรือให้ออกจากราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ เพราะทุจริตต่อหน้าที่
หรือถือว่ากระทำการทุจริต และประพฤติมิชอบในวงราชการ
๑๓. เคยต้องคำพิพากษา หรือคำสั่งของศาลให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน เพราะร่ำรวยผิดปกติ หรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติ
๑๔. อยู่ในระหว่างต้องห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง (ก) กรณีที่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จงใจไม่ยื่นหรือจงใจ
ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน และเอกสารประกอบด้วยข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกติดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ และ (ข)
กรณีที่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพ้นจากตำแหน่งหรือตาย ผู้พ้นจากตำแหน่งทางการเมือง หรือทายาท หรือผู้จัดการมรดกผู้นั้น จงใจ
ไม่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน
๑๕. เคยถูกวุฒิสภามีมติให้ถอดถอนออกจากตำแหน่งและยังไม่พ้นกำหนดห้าปี นับแต่วันที่วุฒิสภามีมติจนถึงวันได้รับการเสนอชื่อ
ในเรื่องของการสรรหาและการเลือกกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ อนุโลมให้นำวิธีการสรรหาและ
การคัดเลือกตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมาใช้ในการสรรหากรรมการ ปปช. ซึ่งคณะกรรมการสรรหากรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ
ต้องมีจำนวน ๑๕ คน ได้แก่ ๑. ประธานศาลฎีกา ๒. ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ๓. ประธานศาลปกครองสูงสุด ๔. อธิการบดีสถาบัน
อุดมศึกษาของรัฐที่เป็นนิติบุคคลทุกแห่ง ซึ่งเลือกกันเองให้เหลือ ๗ คน ๕. ผู้แทนพรรคการเมืองทุกพรรค
ที่มีสมาชิกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคละ ๑ คน ซึ่งเลือกกันเองให้เหลือ ๕ คน เป็นกรรมการ ประธานวุฒิสภาจะเป็นผู้สนอง
พระบรมราชโองการแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาฯ ทั้งนี้ คณะกรรมการ ป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติมีฐานะเป็นองค์กรอิสระ
ไม่สังกัดกระทรวง ทบวง กรม ใด และ ไม่ขึ้นกับฝ่ายบริหาร

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ