ภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมปี 2546 และแนวโน้มปี 2547 (เศรษฐกิจโลก)

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday January 15, 2004 15:30 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

        เศรษฐกิจโลก
สถานการณ์เศรษฐกิจโลกมีการกระเตื้องขึ้นจากปีก่อน ถึงแม้ว่าในช่วงครึ่งแรกของปี 2546 จะต้องเผชิญกับปัญหาความไม่แน่นอนของความไม่สงบในอิรักที่ยังคงคุกรุ่น และการะบาดของโรคทางเดินหายใจเฉียบพลัน (SARs) แต่ในช่วงครึ่งปีหลังจากที่สถานการณ์โรคซาร์สสามารถควบคุมได้สำเร็จ ได้ส่งผลให้ภาวะเศรษฐกิจในแถบภูมิภาคอาเซียนฟื้นตัวดีขึ้น โดยเฉพาะประเทศจีนที่มีภาวะเศรษฐกิจขยายตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อน ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจของญี่ปุ่นเริ่มกระเตื้องขึ้น ภายหลังที่อยู่ในภาวะซบเซาในช่วงหลายปีก่อนนี้ เช่นเดียวกันกับประเทศยักษ์ใหญ่เช่นสหรัฐอเมริกา และยุโรป ตัวเลขทางเศรษฐกิจได้ปรับตัวดีขึ้นเช่นกัน เป็นผลให้มีการคาดการณ์ว่าแนวโน้มอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจโลกในปี 2546อยู่ที่ระดับ 3.2 และปรับตัวขึ้นเป็นร้อยละ 4.1 ในปี 2547 ถึงแม้ว่าตัวเลขอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้นก็ตาม แต่ยังคงมีประเด็นที่ควรเฝ้าระวัง ดังนี้ คือ
1. จากสถานการณ์การแข่งขันทางด้านการผลิตและการค้าโลกที่รุนแรงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพื่อชิงความเป็นหนึ่งหรือเพิ่มส่วนแบ่งในตลาดโลก ส่งผลให้ประเทศต่าง ๆ ในโลกจำเป็นต้องแสวงหาพันธมิตรทั้งทางด้านการผลิตและการค้า เกิดการลงทุนระหว่างประเทศและการรวมกลุ่มทางการค้าในรูปกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจต่าง ๆ ทั้งระดับพหุภาคี และระดับภูมิภาค เช่น WTO APEC NAFTA AFTA เป็นต้น และระดับทวิภาคี สำหรับความร่วมมือระดับทวิภาคีนั้นปัจจุบันประเทศต่าง ๆ จะให้ความสำคัญเป็นอย่างมากในการจัดทำเขตการค้าเสรี (Free Trade Area : FTA) เช่น ไทยได้ลงนามความตกลงจัดทำเขตการค้าเสรีทวิภาคีไทย-บาห์เรน เขตการค้าเสรีทวิภาคี ไทย-จีน และจะได้ลงนามกับอินเดีย ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และประเทศอื่น ๆ ต่อไป
2. แม้ว่าตัวเลขปัจจัยเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาจะมีการปรับตัวที่ดีขึ้นก็ตาม แต่นักเศรษฐศาสตร์หลายคนยังมีความไม่เชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจในสหรัฐอเมริกามากนัก เนื่องจากตัวเลขอัตราการว่างงานที่ค่อนข้างสูง อีกทั้งนโยบายการค้า การขาดดุลบัญชีเดินสะพัด และภาระหนี้ในครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง อาจเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้ภาวะเศรษฐกิจของสหรัฐอ่อนแอลงได้ ดังนั้นจึงทำให้หลายฝ่ายวิตกกังวลว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐจะไม่ยั่งยืน
3. สำหรับสถานการณ์ทางด้านการค้าโลก เมื่อพิจารณาประเทศเศรษฐกิจหลักที่สำคัญ พบว่า ในช่วง 9 เดือนแรก ของปี 2546 สหรัฐอเมริกา มีมูลค่าสินค้าส่งออก 469,705 ล้านเหรียญ สรอ. นำเข้า 817,469 ล้านเหรียญ สรอ. ขาดดุลการค้า 347,764 ล้านเหรียญ สรอ. ญี่ปุ่นมีมูลค่าสินค้าส่งออก 384,372 ล้านเหรียญ สรอ. นำเข้า 314,846 ล้านเหรียญ สรอ. เกินดุลการค้า 69,526 ล้านเหรียญ สรอ. ในขณะที่จีนมีมูลค่าสินค้าส่งออก 307,723 ล้านเหรียญ สรอ. นำเข้า 298,674 ล้านเหรียญ สรอ. เกินดุลการค้า 9,049 ล้านเหรียญ สรอ.
4. สถานการณ์การค้าโลกในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2546 คงหนีไม่พ้นการแข่งขันกันตัดราคาของประเทศผู้ส่งออก โดยเฉพาะจีนที่ใช้ประโยชน์จากค่าเงินหยวนที่อ่อนลงเร่งระบาย สินค้าออก เช่นเดียวกับ ฮ่องกง ไต้หวัน เวียดนาม และสิงคโปร์ เนื่องจากในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2546 ประเทศต่าง ๆ เหล่านี้ประสบปัญหาการระบาดของโรคซาร์ส ดังนั้นเมื่อสถานการณ์ของโรคซาร์สคลี่คลายไปในทางที่ดี จึงต้องเร่งส่งออกเพื่อชดเชยรายได้ที่หายไป ในขณะเดียวกันประเทศผู้นำเข้าจะหันมาใช้มาตรการกีดกันทางการค้าที่เข้มข้นมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสหรัฐอเมริกาที่ออกมาตรการกีดกันทางการค้าต่างๆ มากมายเพื่อคุ้มครองสินค้าที่ผลิตในประเทศ
5. ตัวเลขทางเศรษฐกิจบางตัวที่สำคัญ เช่นตัวเลขการบริโภคของภาคเอกชน การลงทุน ตัวเลขอัตราการว่างงาน และตัวเลขการส่งออก ของประเทศต่างๆ ยังอยู่ในภาวะคลุมเครือ ส่งผลให้นักเศรษฐศาสตร์หลายสำนักคาดการณ์ว่าภาวะเศรษฐกิจโลกอาจต้องเผชิญกับภาวะเงินฝืด (Deflation) โดยที่สภาพเศรษฐกิจมีอัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำแต่ไม่มีผู้ลงทุน และราคาสินค้าอยู่ในระดับต่ำแต่ไม่มีผู้บริโภคเป็นผลจากการว่างงานอยู่ในระดับสูง ทำให้ขาดอำนาจซื้อ ถ้าปล่อยให้สถานการณ์เป็นเช่นนี้จะนำไปสู่ภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจได้
6. การกดดันเพื่อให้จีนปรับค่าเงินหยวนของจีน หลังจากที่สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และประเทศอื่นๆ พยายามกดดันให้จีนลอยตัวค่าเงินหยวนโดยปรับให้เงินหยวนแข็งค่าขึ้นเพื่อสกัดกั้นความเจริญเติบโตของจีนที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว เนื่องจากการที่ค่าเงินหยวนต่ำทำให้สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และประเทศอื่น ๆ ต้องขาดดุลการค้ากับจีนทุกปี แต่ได้มีนักเศรษฐศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญทางด้านเศรษฐกิจการเงินได้ออกมาวิพากษ์ว่า การปรับอัตราแลกเปลี่ยนของจีนจะกระทบต่อเสถียรภาพทางการเงินของจีน เสถียรภาพทางการเงินของเอเชียและเศรษฐกิจโลกโดยรวม
เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา
ในไตรมาส 3/2546 เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาได้ขยายตัวอย่างสูงสุดในช่วงเกือบ 2 ทศวรรษที่ผ่านมา โดยขยายตัวถึงร้อยละ 7.2 เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 2/2546 อย่างไรก็ตามหลายฝ่ายยังมีข้อกังขาว่า การขยายตัวที่สูงมากเช่นนี้เป็นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างถาวรยั่งยืนอันแสดงถึงเสถียรภาพทางเศรษฐกิจหรือเป็นการฟื้นตัวเพียงชั่วคราว ซึ่งสาเหตุที่เศรษฐกิจขยายตัวเกินคาดหมายนั้นเป็นผลจากมาตรการลดภาษีของรัฐบาล และนโยบายอัตราดอกเบี้ยต่ำเป็นแรงจูงใจให้การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนเพิ่มขึ้นโดยขยายตัวถึงร้อยละ 6.6 มากกว่าไตรมาสที่แล้วที่ขยายตัวเพียงร้อยละ 3.8 โดยรายจ่ายส่วนใหญ่เพื่อซื้อที่อยู่อาศัยและรถยนต์ ในส่วนการลงทุนของภาคธุรกิจได้ขยายตัวถึงร้อยละ 11.1 ประกอบกับการส่งออกที่ขยายตัวถึงร้อยละ 9.3 ในขณะที่การนำเข้าขยายตัวเพียงร้อยละ 0.1 เท่านั้น
สำหรับภาคการผลิตนั้น ดัชนีภาคการผลิต Chicago PMI ได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนกรกฎาคมที่ 55.9 มาเป็น 58.9 ในเดือนสิงหาคม และได้ปรับลดลงเป็น 51.2 ในเดือนกันยายน 2546 ในส่วนดัชนี ISM Manufacturing ก็เช่นเดียวกันได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนกรกฎาคมที่ 51.8 มาเป็น 54.7 ในเดือนสิงหาคม และได้ปรับตัวลดลงเป็น 53.7 ในเดือนกันยายน 2546 นอกจากนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค (U.of Michigan Confidence Index) ในเดือนกันยายน ปรับลดลงมาอยู่ที่ระดับ 88.2 เทียบกับเดือนสิงหาคม และกรกฎาคม ที่อยู่ที่ระดับ 89.3 และ90.9 ตามลำดับ ขณะที่ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ได้ปรับตัวสูงขึ้น
ด้านดุลงบประมาณ ตั้งแต่เดือนมกราคม - สิงหาคมรัฐบาลดุลการค้าขาดดุล 347.76 พันล้านดอลลาร์ สรอ. เมื่อเทียบกับปีก่อนที่ขาดดุลเพิ่มขึ้นร้อยละ 18 เป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลให้หลายฝ่ายกังวล ในส่วนของสถานการณ์ในตลาดแรงงานเริ่มปรับตัวดีขึ้น แม้ว่าอัตราการว่างงานยังคงอยู่ในระดับสูง โดยเดือนกันยายนอยู่ที่ร้อยละ 6.1 เท่ากับเดือนที่แล้ว แต่ยอดการใช้สิทธิการว่างงาน ( Initial Jobless Claims ) จากข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 11 ตุลาคม 2546 ได้ปรับลดลงต่อเนื่องมาอยู่ที่ 384,000 ราย ซึ่งเป็นระดับต่ำที่สุดในรอบ 8 เดือน
อนึ่ง กองทุนการเงินระหว่างประเทศ ( IMF) ได้ปรับเพิ่มประมาณการการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปี 2546 และปี 2547 มาเป็นร้อยละ 2.4 และร้อยละ 3.7 จากเดิมร้อยละ 2.2 และ 3.6 ตามลำดับ
เศรษฐกิจจีน
แม้ว่าจีนจะได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง (SARs) ในช่วงครึ่งแรกของปีก็ตาม แต่ไม่ได้กระทบต่อฐานโครงสร้างทางเศรษฐกิจของจีนที่แข็งแกร่ง จากมาตรการกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ ภาคการค้าระหว่างประเทศขยายตัวสูงขึ้น ประกอบกับการลงทุนของภาครัฐขยายตัวสูงเช่นกัน รวมทั้งการลงทุนจากต่างประเทศไหลเข้าสู่จีนอย่างต่อเนื่อง โดยนับตั้งแต่เดือนมกราคม - กันยายน ปี 2546 จีนได้รับเงินลงทุนจากต่างประเทศมูลค่า 40.2 พันล้าน ดอลลาร์ สรอ. เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 11.9 รวมทั้งโดยเฉพาะเศรษฐกิจในเมืองใหญ่ เช่น ปักกิ่งช่วงครึ่งปีแรกยังคงขยายตัวในอัตราร้อยละ 9.6 สูงกว่าอัตราเฉลี่ยทั้งประเทศ โดยการบริโภคขยายตัวร้อยละ 15 ส่วนใหญ่มาจากการซื้อบ้าน รถยนต์ ส่วนการลงทุนจากต่างชาติเพิ่มขึ้นร้อยละ 22 ส่งผลให้ช่วง 9 เดือนแรกเศรษฐกิจจีนขยายตัวร้อยละ 8.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนขยายตัวร้อยละ 8.0 สำหรับภาวะเศรษฐกิจในไตรมาส 4 คาดว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี ซึ่งคาดว่าอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจจีนในปี 2546 จะเกินกว่าเป้าหมายที่ร้อยละ 8.0
เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจจีนที่ร้อนแรงทำให้นักวิเคราะห์บางรายมีความกังวลต่อเศรษฐกิจจีนว่าอาจประสบปัญหาภาวะฟองสบู่แตก ทำให้ธนาคารจีนได้ออกมาตรการบรรเทาภาวะเศรษฐกิจโดยเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2546 จีนได้ประกาศปรับเพิ่มสัดส่วนเงินสดสำรองตามกฎหมาย สำหรับธนาคารพาณิชย์และสถาบันรับฝากเงินจากร้อยละ 6 เป็นร้อยละ 7 ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 21 กันยายน 2546 โดยคาดว่าจะช่วยชะลออัตราการขยายตัวของปริมาณเงินในระบบซึ่งขยายตัวสูงถึงร้อยละ 21.6
เศรษฐกิจญี่ปุ่น
เศรษฐกิจของญี่ปุ่นที่ตกอยู่ในภาวะซบเซา ประสบกับปัญหาภาวะเงินฝืด และการว่างงานอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีก่อน โดยรัฐบาลญี่ปุ่นและธนาคารกลางญี่ปุ่น พยายามผลักดันการปฏิรูปโครงสร้างโดยรวม ได้แก่ การยกเลิกกฎระเบียบภาคการเงิน การจัดเก็บภาษีและการใช้จ่ายของภาครัฐในการประมูล เพื่อให้การเติบโตทางเศรษฐกิจมีความมั่นคงและมีเสถียรภาพมากขึ้น แต่ในช่วงครึ่งปีหลังภาวะเศรษฐกิจญี่ปุ่นเริ่มปรับตัวดีขึ้นตั้งแต่เดือน กรกฎาคม - กันยายน เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.6 เกินกว่าที่คาดการณ์ไว้ร้อยละ 0.3 นับเป็นการการขยายตัวติดต่อกันเป็นไตรมาสที่ 7 โดยจะเห็นว่าตัวเลขการบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเติบโตได้ร้อยละ 1.5 ตัวเลขดุลการค้าที่เพิ่มสูงขึ้น เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ ร้อยละ 6.3 ภาคธุรกิจมีการใช้จ่ายเกี่ยวกับการก่อสร้างและเครื่องจักรเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีความมั่นใจต่อการ ฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้ตัวเลขการว่างงานที่ลดลง ซึ่งเป็นสัญญาณว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวไปในทิศทาง ที่ดีขึ้นในระยะต่อไป
สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นธุรกิจ (The Economic Watchers survey's Index) ในเดือนกันยายนปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 48.6 เพิ่มขึ้นจากเดือนสิงหาคมที่ 46.4 ซึ่งสอดคล้องกับดัชนี PMI ที่ปรับตัวดีขึ้น ในเดือนสิงหาคมอยู่ที่ 52.5 ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจปรับตัวดีขึ้น ในขณะเดียวกันความเชื่อมั่นของ ผู้บริโภคก็ปรับตัวดีขึ้น โดย ESRI's index of Tokyo consumers, setiment ในเดือนสิงหาคม ปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 43.7
ญี่ปุ่นได้มีมาตรการสร้างตลาดเงินเยนเพื่อชำระหนี้การค้า โดยมีเป้าหมายเพื่อกระตุ้นการค้าระหว่างญี่ปุ่นกับประเทศในภูมิภาคเอเชียให้ขยายตัวมากขึ้น และเพื่อลดการใช้เงินดอลล่าร์ สรอ. ในการทำธุรกรรมทางการเงินในเอเชียให้น้อยลง โดยคาดว่าจะสามารถดำเนินมาตรการนี้ได้อย่างเร็วที่สุดในช่วงงบประมาณ 2547 ของญี่ปุ่น
IMF ได้ปรับเพิ่มประมาณการขยายตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่นในปี 2546 มาอยู่ที่ร้อยละ 2 จากที่เคย คาดว่าจะขยายตัวเพียงร้อยละ 1.1 เป็นผลจากการบริโภคภาคเอกชน การลงทุนภาคเอกชน และการส่งออกปรับตัวดีขึ้น
เศรษฐกิจสหภาพยุโรป
ในไตรมาส 3 ปี 2546 เศรษฐกิจสหภาพยุโรปขยายตัวร้อยละ 0.6 จากร้อยละ 0.5 สูงกว่าใน ไตรมาสที่สองเล็กน้อย โดยเป็นผลมาจากการเศรษฐกิจขยายตัวของเยอรมนีที่ร้อยละ 0.8 ต่อปี ฝรั่งเศสขยายตัวร้อยละ 1.6 ต่อปี และ อิตาลีขยายตัวร้อยละ 2.0 ต่อปี โดยการขยายตัวดังกล่าวได้รับแรงสนับสนุนการเติบโตจากการบริโภคของภาคเอกชน และสถานการณ์ด้านการส่งออกปรับตัวดีขึ้น
อย่างไรก็ตามเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศยูโรยังคงอ่อนแอแต่มีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างช้า โดย EU Commission ได้ประมาณการว่าเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศยูโรจะยังคงอ่อนแอต่อไป เนื่องจากตัวเลขอัตราการว่างงานอยู่ในระดับสูงถึงร้อยละ 8.9 ประกอบกับดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมลดลง ในไตรมาส 3 ภาวะการลงทุนภาคเอกชนที่ยังคงชะลอตัว รวมทั้งดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและภาคอุตสหากรรมที่ติดลบอย่างต่อเนื่อง แต่สถานการณ์ดังกล่าวลดความรุนแรงและมีแนวโน้มที่ดีขึ้น โดยจะเห็นว่ารัฐบาลได้ใช้นโยบายด้านการเงินการคลังที่ผ่อนคลายและความคืบหน้าในการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ ประกอบกับการที่เศรษฐกิจการฟื้นตัวภาวะเศรษฐกิจโลกจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้เศรษฐกิจสหภาพยุโรปขยายตัวดีขึ้น
อนึ่ง ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรป (ECB) เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2546 ECB ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยมาตรฐาน Refinancing rate ที่ร้อยละ 2 ต่อปีตามที่ นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดการณ์ หลังจากที่ปรับลดลงไปครั้งสุดท้ายร้อยละ 0.5 เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2546 โดย ECB ระบุว่านโยบายการเงินในปัจจุบันผ่อนคลาย (accommodative) โดยที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับที่เหมาะสมแล้ว และยังไม่จำเป็นที่จะปรับเพิ่มหรือลดอัตราดอกเบี้ยแต่อย่างใด ทั้งนี้นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่เชื่อว่า ECB จะยังคงอัตราดอกเบี้ยนี้ไว้อีกระยะหนึ่ง
เศรษฐกิจอาเซียน
ในไตรมาส 3 /2546 ภาวะเศรษฐกิจในประเทศอาเซียนปรับตัวดีขึ้น จากการควบคุมการระบาดของโรคซาร์สสำเร็จ ซึ่งสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุน และนักท่องเที่ยวมากขึ้น โดยเศรษฐกิจอินโดนีเชียขยายตัวร้อยละ 3.9 มาเลเชียขยายตัวร้อยละ 4.4 และสิงคโปร์ขยายตัวร้อยละ 1.0 จะเห็นว่า ตัวเลขในไตรมาสสามของปีนี้มีอัตราการขยายตัวที่ดีขึ้นเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปี 2545 การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของภูมิภาคนี้ เป็นผลมาจากอัตราความต้องการภายในประเทศทั้งการใช้จ่ายและการลงทุนภาคเอกชนที่ปรับตัวดีขึ้น การเพิ่มขึ้นของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศ
ประเทศมาเลเซีย
ได้ดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ การใช้จ่ายภาครัฐ และให้สิทธิประโยชน์ทางด้านภาษีต่าง ๆ ตามที่รัฐบาลได้ประกาศใช้มาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม คาดว่าจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายของภาคเอกชน คาดว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของมาเลเซียในปีนี้มีแนวโน้มจะขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 4.5 และสำหรับปี 2547 คาดว่าภาวะเศรษฐกิจจะขยายตัวเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 5.5 ถึง 6.0 ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มดีขึ้นในปีหน้า
ประเทศสิงคโปร์
สถานการณ์โรดชาร์สระบาดที่สามารถควบคุมได้สำเร็จ และภาวะเศรษฐกิจโลกที่ปรับตัวดีขึ้น ได้ช่วยให้เศรษฐกิจสิงคโปร์ปรับตัวดีขึ้น จากที่หดตัวลง ประกอบกับการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์โลกที่จะมีความชัดเจนมากขึ้นในปีหน้า จะช่วยให้ภาวะอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ภายในสิงคโปร์ดีขึ้น ปัจจัยดังกล่าวทำให้รัฐบาลสิงคโปร์คาดว่าภาวะเศรษฐกิจในปีนี้จะขยายที่ร้อยละ 0.5 - 1.0 และคาดว่าภาวะเศรษฐกิจในปี 2547 จะขยายตัวร้อยละ 3.0 โดยปรับตัวดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก
ประเทศอินโดนีเซีย
ธนาคารกลางอินโดนีเซียประมาณการว่าเศรษฐกิจไตรมาสที่ 3 จะขยายตัวร้อยละ 3.1 (yoy) เทียบกับไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 3.8 ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อในเดือนกันยายนอยู่ที่ร้อยละ 6.2 (yoy) เทียบกับเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 6.4 ปัจจัยสำคัญมาจากค่าเงินรูเปียห์ที่แข็งค่าขึ้น ทั้งนี้ธนาคารกลางอินโดนีเซียได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยอ้างอิง SBI ระยะ 1 เดือนลงต่อเนื่องมาอยู่ที่ร้อยละ 8.51 ในช่วงกลางเดือนกันยายน โดยลดลงจากต้นปีรวม 448 basis points
นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2546 Moody's ได้ปรับเพิ่มอันดับความน่าเชื่อถือสำหรับตราสารหนี้ระยะยาวสกุลเงินตราต่างประเทศของอินโดนีเซียจาก B3 เป็น B2 และให้ outlook อยู่ที่ระดับ stable โดยให้เหตุผลว่าอินโดนีเซียมีสถานภาพทางการเงินด้านต่างประเทศ (external financial position) แข็งแกร่งมากขึ้น ระดับหนี้ต่างประเทศลดลงตลอดจนสัดส่วนหนี้ภาครัฐปรับตัวลดลงจากร้อยละ 100 ต่อ GDP ณ สิ้นปี 2543 มาอยู่ที่ร้อยละ 69 ต่อ GDP ในปัจจุบัน นอกจากนี้ระดับทุนสำรองระหว่างประเทศที่สูงขึ้นก็มีส่วนช่วยลดความเสี่ยงของประเทศต่อ external shocks ลงไปด้วย
ในปีงบประมาณ 2546 รัฐบาลประมาณการว่างบประมาณจะขาดดุลร้อยละ 2 ของ GDP และแถลงเป้างบประมาณปี 2547 ขาดดุล 24.9 ล้านล้านรูเปียห์ หรือคิดเป็นร้อยละ 1.2 ของ GDP ลดลงจากเป้าการขาดดุลงบประมาณในปีนี้ ซึ่งตั้งไว้ที่ 34.4 ล้านล้านรูเปียห์ หรือคิดเป็นร้อยละ 1.8 ของ GDP ทั้งนี้ รัฐบาลคาดว่าเศรษฐกิจในปี 2547 จะขยายตัวร้อยละ 4.5 โดยอัตราเงินเฟ้อ ณ สิ้นปีมีแนวโน้มลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 7 จากร้อยละ 9 ณ สิ้นปี 2546 และค่าเงินรูเปียห์เฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ 8,700 รูเปียห์ต่อดอลลาร์ สรอ.
(ยังมีต่อ).../เศรษฐกิจไทย..

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ