สาร ส.ส. ฉบับที่ ๕๕ วันที่ ๑๙-๒๕ มกราคม ๒๕๔๗

ข่าวการเมือง Monday January 19, 2004 10:50 —รัฐสภา

= ประธานรัฐสภา เป็นประธานการประชุมเกี่ยวกับ พ.ร.บ.มหาวิทยาลับราชภัฏ
วันพฤหัสบดีที่ ๑๕ มกราคม ๒๕๔๗ เวลา ๑๓.๓๐ นาฬิกา นายอุทัย พิมพ์ใจชน ประธานรัฐสภา
เป็นประธานในการประชุมร่วมกันของประธานรัฐสภา ประธานวุฒิสภา ประธานคณะ กรรมาธิการสามัญ
ประจำสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา ทุกคณะ เพื่อปรึกษาหารือเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยสถาบันราชภัฏ
(ฉบับที่) พ.ศ. …. เป็นครั้งที่ ๒ ณ ห้องประชุมคณะกรรมาธิการ หมายเลข ๒๑๓-๒๑๖ ชั้น ๒ อาคารรัฐสภา
= ให้การรับรองรองประธานสภาที่ปรึกษาทางการเมืองแห่งชาติของจีน
วันที่ ๑๔ มกราคม ๒๕๔๗ เวลา ๑๕.๔๕ นาฬิกา นายสุชาติ ตันเจริญ รองประธาน
สภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง และนายพิทูร พุ่มหิรัญ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ร่วมกันให้การรับรอง
นายอับดุลลาฮัต อับดูริซิต รองประธานสภาที่ปรึกษาทางการเมืองแห่งชาติ สาธารณรัฐประชาชนจีน
และคณะ ในโอกาสเดินทางมาเยือนประเทศไทย ณ ห้องรับรอง ๑ ชั้น ๒ อาคารรัฐสภา
นายสุชาติ ได้กล่าวแสดงความยินดีที่ได้ให้การต้อนรับนายอับดุลลาฮัต และคณะ
พร้อมทั้งกล่าวถึงการเดินทางมาเยือนในครั้งนี้ตรงกับช่วงของการปิดสมัยประชุมสภาผู้แทนราษฎร
จึงทำให้ไม่มีโอกาสได้นำชมการประชุมสภาฯ นอกจากนั้นได้กล่าวถึงการเดินทางไปเยือนสาธารณรัฐ
ประชาชนจีนอย่างเป็นทางการ ตามคำเชิญของสภาประชาชนแห่งชาติสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งในการ
ไปเยือนครั้งนั้นได้มีโอกาสเข้าพบนายอู๋ ปางกั๋ว ประธานสภาฯ และได้ไปเยี่ยมชมมณฑลเฮอเป่ย ซึ่งเป็น
เมืองที่น่าสนใจ และมีการพัฒนาทางด้านอุตสาหกรรมรวมทั้งเทคโนโลยีที่ทันสมัย ซึ่งเมื่อกลับมาถึงเมืองไทย
ยังได้แนะนำให้นักธุรกิจไทยเดินทางไปศึกษาเพื่อหาลู่ทางด้านการค้าต่อไป
= เก็บตก "งานวันเด็กแห่งชาติของรัฐสภา ปี ๒๕๔๗"
การจัดงานวันเด็กแห่งชาติของรัฐสภา ประจำปี ๒๕๔๗ เมื่อวันเสาร์ที่ ๑๐ มกราคม ๒๕๔๗
มีเด็ก เยาวชน และผู้ปกครองมาร่วมงานกว่า ๕๐,๐๐๐ คน ซึ่งชี้ให้เห็นถึงความสนใจของผู้เข้าชมที่มีต่อ
สถาบันนิติบัญญัติ ด้วยฐานะเป็นหนึ่งในสามสถาบันหลักของประเทศ จากบรรยากาศงานประจำปีนี้มีปรากฏการณ์
ที่น่าสนใจเกี่ยวกับ "เด็ก" ซึ่งส่วนใหญ่มีความสนใจเกี่ยวกับการเมืองการปกครองของไทย หลายคนโตขึ้น
อยากเป็นนายกรัฐมนตรี หรือนักการเมือง
กรณีเด็กชายสมิธ ชีวะวุมิวัฒนวิทย์ อายุ ๙ ขวบ นักเรียนโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ได้พูดถึงการมาเที่ยวงานวันเด็กของรัฐสภาว่า มีความประทับใจตื่นเต้นที่ได้ชมห้องประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีการ
จัดลำดับที่นั่งบุคคลสำคัญไว้ภายในอย่างเป็นระเบียบ การจัดกิจกรรมมากกว่าที่คิดเอาไว้ สำหรับหนูน้อยคนนี้มี
ลักษณะพิเศษ คือ เป็นเด็กที่มีความสนใจเรื่องการเมืองมาตั้งแต่อายุ ๕ ขวบ เพราะชอบดูข่าวจากโทรทัศน์
เล่นอินเตอร์เน็ต และการสอบถามคุณพ่อ-คุณแม่ เมื่อเกิดข้อคำถามที่ตนเองสงสัย โดยเฉพาะนโยบายการบริหาร
ประเทศของนายกรัฐมนตรี นอกจากนี้ยังสามารถอธิบายประวัติประธานรัฐสภาที่ผ่านมาได้ถูกต้อง และยังได้ฝากถึง
ประธานรัฐสภาขอให้ขยายเวลาการเข้าชม รัฐสภา ตั้งแต่ ๐๘.๐๐-๑๘.๐๐ นาฬิกา ด้วย
เด็กอีกคนหนึ่งที่มีความสามารถในการพัฒนาทักษะการแสดงออกต่อสาธารณชนในทางที่ถูกต้อง
เธอคือ เด็กหญิงฉัตราภรณ์ ชัยสุวรรณ์ อายุ ๑๓ ปี นักเรียนโรงเรียนสตรีวิทยา ๒ ซึ่งเป็น
ผู้ได้รับรางวัลชนะเลิศ "หนูน้อยผู้ประกาศ" จากการจัดประกวดของสถานีวิทยุกระจายเสียงรัฐสภา (จำลอง)
ซึ่งได้เปิดเผยว่า ตนเองมีความสนใจงานด้าน "สื่อมวลชน" มาตั้งแต่อายุ ๔ ขวบ โดยมีคุณแม่เป็นผู้ฝึกให้อ่าน
พูด ถูกหลักการอ่านอยู่เป็นประจำ และที่สำคัญได้รับการเลี้ยงดูจากครอบครัวที่เปิดโอกาส ให้กล้าแสดงออกอยู่บ่อยครั้ง
การเข้าร่วมประกวดหนูน้อยผู้ประกาศ เพราะประสงค์ทดสอบความสามารถของตนเอง และเห็นว่าเป็นเรื่องท้าทาย
ในอนาคตอยากเป็นนักจัดรายการวิทยุ
จากการได้สัมภาษณ์ตัวแทนเด็กหญิงและเด็กชายที่มาเที่ยวงานวันเด็กแห่งชาติ
ปี ๒๕๔๗ ครั้งนี้ สาระน่ารู้ที่น่าจะเป็นประโยชน์ต่อการจัดงานของรัฐสภาปีต่อ ๆ ไป คือ การจัด
กิจกรรมให้มากขึ้น ควรขยายเวลาการเข้าชมห้องประชุมจนถึงเวลา ๑๘.๐๐ นาฬิกา และขอให้
มีบัตรแลกของรางวัลที่ระลึกให้เพียงพอกับผู้เข้าชมงาน ในด้านผู้ปกครองเองเปิดเผยว่า การเลี้ยงดูลูก
ให้มีพัฒนาการที่ดีนั้นนอกจากอาหาร การดุแลด้านอารมณ์มีความสำคัญไม่แพ้กัน "คุณภาพ" ของพ่อ-แม่
เป็นสิ่งสำคัญ ต้องไม่รำคาญ เมื่อลูกตั้งคำถามบ่อย ๆ และควรดูว่าลูกสนใจสิ่งใดเป็นพิเศษแล้ว สนับสนุน
ตามที่เด็กต้องการ การได้พูดคุยกับเด็ก ๆ และผู้ปกครองรัฐสภาควรนำ ข้อเสนอแนะเหล่านั้น
มาเป็นแนวทางในการพัฒนาการจัดงานวันเด็กแห่งชาติปีต่อ ๆ ไป ให้เกิดประโยชน์ต่อเด็ก ๆ ซึ่งเป็นอนาคต
ของชาติมากที่สุด
= การประชุมเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยราชภัฎ พ.ศ. ....
วันจันทร์ ที่ ๖ มกราคม ๒๕๔๖ เวลา ๑๐.๐๐ นาฬิกา นายอุทัย พิมพ์ใจชน ประธาน
รัฐสภา ได้ประชุมร่วมกันกับประธานวุฒิสภา ประธานกรรมาธิการสามัญประจำสภาผู้แทนราษฎร และประธาน
กรรมาธิการสามัญประจำวุฒิสภาทุกคณะ เกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยราชภัฎ พ.ศ. ....
ซึ่งที่ประชุมได้พิจารณากันอย่างกว้างขวางถึงปัญหาที่เกิดขึ้นว่าจะแก้ไขและดำเนินการต่อไปอย่างไรจึงจะถูกต้อง
ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งที่ประชุมเห็นชอบให้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมา ๑ ชุดเพื่อศึกษาปัญหาดังกล่าว
ประธานรัฐสภา จึงได้มีคำสั่งรัฐสภาที่ ๑/๒๕๔๗ ลงวันที่ ๖ มกราคม ๒๕๔๗ เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณา
ปัญหาการตราร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยราชภัฏ พ.ศ. .... จำนวน ๑๓ คน ประกอบด้วย
สมาชิกวุฒิสภา จำนวน ๕ คน ได้แก่ นายชุมพล ศิลปอาชา นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ นายเสรี
สุวรรณภานนท์ นายพนัส ทัศนียานนท์ และนายวิบูลย์ แช่มชื่น
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฝ่ายรัฐบาล จำนวน ๔ คน ได้แก่ นายวิชิต ปลั่งศรีสกุล
นายปกิต พัฒนกุล นายสามารถ แก้วมีชัย และนายสุขุมพงษ์ โง่นคำ
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฝ่ายค้าน จำนวน ๔ คน ได้แก่ นายถาวร เสนเนียม
นายพีระพันธ์ สาลีรัฐวิภาค นายวิจิตร ศรีสอ้าน นายสุภาพ คลี่ขจาย
คณะกรรมการชุดดังกล่าวนี้จะดำเนินการพิจาณาศึกษาปัญหาที่เกิดขึ้นให้แล้วเสร็จภายใน ๑๕ วัน
และให้รายงานต่อประธานรัฐสภา เพื่อพิจารณาและนำเข้าหารือถึงแนวทางแก้ไขของที่ประชุมร่วมกันของประธาน
รัฐสภาและประธานคณะกรรมาธิการสามัญของทั้ง ๒ สภา
ต่อมาในวันพฤหัสบดีที่ ๘ มกราคม ๒๕๔๗ คณะกรรมการพิจารณาปัญหาการตรา
ร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยราชภัฏ พ.ศ... ได้ประชุมร่วมกันแล้ว พบข้อเท็จจริงว่า ร่างพระราชบัญญัติ
มหาวิทยาลัยราชภัฏ พ.ศ. .... มีการแก้ไขไม่สอดคล้องกันในมาตรา ๕๒ วรรคสอง กับมาตรา ๑๘ (๘)
เรื่องการแต่งตั้งตำแหน่งศาสตราจารย์พิเศษ และมาตรา ๑๘(๙) กับมาตรา ๓๑ (๗) เรื่องการแต่งตั้งตำแหน่ง
อาจารย์พิเศษ และพร้อมกันนี้คณะกรรมการจึงได้มีความเห็นร่วมกันถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาเป็น ๒ แนวทาง ดังนี้
แนวทางที่ ๑ ให้นำร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยราชภัฏ พ.ศ. .... ขึ้นทูลเกล้าฯ
ต่อไปตามมาตรา ๙๓ พร้อมกราบบังคมทูลถวายข้อเท็จจริงและเหตุผลให้ทรงทราบถึงความไม่สอดคล้องกัน
ของร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว
แนวทางที่ ๒ คือ แก้ไขกระบวนการรัฐสภา
มีความเห็นแยกเป็น ๔ ทาง คือ
๑. ให้เริ่มที่สภาผู้แทนราษฎรทบทวนมติและตั้งกรรมาธิการร่วมทั้ง ๒ สภา เพื่อ
พิจารณาแก้ไข ในประเด็นที่ไม่สอดคล้องกันเท่านั้น
๒. ให้เสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยราชภัฏ
พ.ศ. .... ในประเด็นที่ไม่สอดคล้องกันอีกฉบับ พร้อมถวายเหตุผลที่ต้องทูลเกล้าฯ พร้อมกันทั้ง ๒ ฉบับ
๓. ในกรณีที่ไม่นำทูลเกล้าฯ ตามมาตรา ๙๓ ให้เสนอร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัย
ราชภัฏ พ.ศ. .... ใหม่ทั้งฉบับ โดยแก้ไขเฉพาะในประเด็นที่ไม่สอดคล้องกัน
๔. ให้ประธานวุฒิสภาแก้ไขให้ถูกต้อง สอดคล้องกัน แล้วส่งสภาผู้แทนราษฎร
ดำเนินการต่อไป
ซึ่งแนวทางดังกล่าว คณะกรรมการจะได้นำเสนอต่อประธานรัฐสภาเพื่อนำเข้าปรึกษาหารือ
ในที่ประชุมร่วมกันของประธานรัฐสภา ประธานวุฒิสภา ประธานคณะกรรมาธิการสามัญประจำสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาต่อไป
= การเตรียมความพร้อมในการเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรสมัยสามัญทั่วไป
สภาผู้แทนราษฎรจะมีการเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรสมัยสามัญทั่วไปในวันพุธที่ ๔
กุมภาพันธ์ ๒๕๔๗ และเตรียมการต่าง ๆ ไว้ดังนี้คือ
๑. การพัฒนาด้านสารสนเทศ ได้มีการปรับปรุงข้อมูลซึ่งเผยแพร่บนเว็บไซต์
ของรัฐสภาให้มีความทันสมัยและเป็นปัจจุบัน โดยได้มีการพัฒนาโปรแกรมการนำเข้าข้อมูลในวงงาน
รัฐสภาให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อความคล่องตัวในการนำข้อมูล
เผยแพร่บนเว็บไซต์ของรัฐสภา รวมทั้งทำให้หน่วยงานต่าง ๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร
สามารถแก้ไข และปรับปรุงข้อมูลได้อย่างรวดเร็ว ทันต่อเหตุการณ์ เช่น ได้มีการจัดทำโปรแกรม
ข้อมูลระเบียบวาระการประชุมเพื่อให้สำนักการประชุม สามารถ update ข้อมูล ได้เอง โดยไม่ต้องรอให้
สำนักสารสนเทศดำเนินการให้ เป็นต้น
๒. การจัดเตรียมสถานที่ ได้เตรียมความพร้อมในเรื่องของการดูแลความปลอดภัย
พร้อมทั้งจัดระบบการจราจรไว้อย่างเข้มงวดกับผู้ที่มาประชุมและมาติดต่อราชการตามกฎ ระเบียบ ของสำนักงานฯ
และจะอำนวยความสะดวกในเรื่องการจอดรถให้แก่สมาชิกฯ รวมทั้งได้เตรียมที่จอดรถไว้ให้ที่สนามเสือป่า
โดยมีรถบริการรับ-ส่ง เหมือนเช่นเคย
๓. ด้านอุปกรณ์ควบคุมการประชุม ได้มีการเตรียมความพร้อมของไมโครโฟน โทรทัศน์วงจรปิด คอมพิวเตอร์
ควบคุมระบบ รวมทั้งระบบเสียงภายในอาคารรัฐสภาเรียบร้อยแล้ว
๔. ด้านบุคลากร ได้จัดเตรียมบุคลากรผู้ที่มีความรู้และความชำนาญเพื่อทำหน้าที่
ช่วยเหลือในด้านต่าง ๆ ในห้องประชุมสภา เพื่อบริการและอำนวยความสะดวกให้แก่สมาชิก โดยจัด
เจ้าหน้าที่อยู่ปฏิบัติหน้าที่จดประเด็นในห้องประชุมสภา เดินหนังสือ ประสานงานกับผู้เข้าร่วมชี้แจง และประสานงาน
กับผู้แทนของส่วนราชการ หน่วยงาน หรือองค์กรอิสระที่มาชี้แจงต่อที่ประชุมสภา พร้อมทั้งได้จัดเตรียมเครื่อง
คอมพิวเตอร์ให้พอเพียงกับบุคลากรที่จะรองรับการให้บริการแก่สมาชิกฯ
๕. ด้านการประชาสัมพันธ์ ได้มีการพัฒนาและปรับปรุงการนำเสนอข่าวสารเกี่ยวกับ
การประชุมสภาผู้แทนราษฎร โดยมีการนำเสนอผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ตของรัฐสภา และนอกจากนี้ยังมีการ
ปรับปรุงรายการข่าวสารจากสำนักประชาสัมพันธ์เพื่อเตรียมที่จะรองรับในการนำเสนอข่าวสาร
การประชุมสภาผู้แทนราษฎรในสมัยสามัญทั่วไปที่จะมาถึงนี้
= รับสมัครนักกีฬาร่วมแข่งขันกีฬาสามัคคี ๔ หน่วยงาน
ด้วยรัฐสภาจะเป็นเจ้าภาพในการจัดการแข่งขันกีฬา "สามัคคี ๔ หน่วยงาน" ครั้งที่ ๕
ชิงถ้วยรางวัลพระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ระหว่างวันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ - ๔
มีนาคม ๒๕๔๗ ณ สนามกีฬากระทรวงสาธารณสุข โดยมีหน่วยงานที่เข้าร่วมการแข่งขัน ได้แก่ สำนักงานเลขาธิการ
สภาผู้แทนราษฎร และสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
และสำนักราชเลขาธิการ
ในการจัดการแข่งขันกีฬาดังกล่าวคณะกรรมการจัดการแข่งขันได้กำหนดประเภทกีฬา จำนวน ๕ ประเภท
ได้แก่ กอล์ฟ (ทีมผู้บริหาร) ฟุตบอล (ชาย ๑๑ คน / หญิง ๗ คน) แบดมินตัน
(คู่ชาย / คู่หญิง /คู่ผสม / ผู้บริหาร) เทเบิ้ลเทนนิส (คู่ชาย / คู่หญิง / คู่ผสม) และเปตอง (ทีมชาย
๓ คน / ทีมหญิง ๓ คน / ทีม คู่ผสม / ทีมผู้บริหาร)
สำหรับผู้สนใจสมัครเข้าร่วมการแข่งขันกีฬาในประเภทต่าง ๆ สามารถติดต่อได้ดังนี้
- กอล์ฟ และฟุตบอลชาย สมัครได้ที่ นายบุญยงค์ จันทร์แสง สำนักกรรมาธิการ ๑
โทร. ๐ ๒๒๔๔ ๒๑๐๖
- ฟุตบอลหญิง สมัครได้ที่ นายสัณห์ชัย สินธุวงษ์ สำนักกรรมาธิการ ๑
โทร. ๐ ๒๒๔๔ ๒๑๑๙
- แบดมินตัน สมัครได้ที่ นายวันชัย วรรณสว่าง สำนักกรรมาธิการ ๑
โทร. ๐ ๒๒๔๔ ๒๑๒๔
- เทเบิ้ลเทนนิส สมัครได้ที่ นายณัฐพัฒน์ พัดทอง สำนักงานประธานสภาผู้แทนราษฎร
โทร. ๐ ๒๓๕๗ ๓๑๘๓
- เปตอง สมัครได้ที่ นายสถิตย์พร ศรีกัน สำนักกรรมาธิการ ๑
โทร. ๐ ๒๒๔๔ ๒๑๒๕ -๖
จึงขอเชิญข้าราชการและลูกจ้างของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร
และสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา สมัครเข้าร่วมการแข่งขัน และขอเชิญเข้าร่วมกิจกรรมกองเชียร์ตามกำหนดวัน เวลา และสถานที่ดังกล่าว
= จี้แก้ปัญหาแรงงานต่างด้าว
ที่รัฐสภา วันที่ ๑๔ มกราคม ๒๕๔๗ เวลา ๑๔.๔๕ นาฬิกา นายแพทย์เปรมศักดิ์ เพียยุระ
ประธานคณะกรรมาธิการการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร ได้แถลงผลการประชุมการพิจารณาเรื่องการคุ้มครองแรงงานต่างด้าวว่า
มติที่ประชุมสมัชชาใหญ่องค์การรัฐสภาอาเซียน ครั้งที่ ๒๔ ที่มีขึ้น ในระหว่างวันที่ ๗-๑๒ กันยายน ๒๕๔๖
ณ กรุงจาการ์ตา สาธารณรัฐอินโดนีเซีย โดยประธานรัฐสภาเป็นผู้เข้าร่วมประชุม และได้แจ้งมติของที่ประชุมฯ
ให้คณะกรรมาธิการการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร ไปดำเนินงานติดตามมาตรการและนโยบายของรัฐบาล
เพื่อรายงานต่อการประชุมครั้งที่ ๒๕ ในปี
๒๕๔๗ ต่อไปนั้น คณะกรรมาธิการได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมสรุปผลการพิจารณาได้ดังนี้
ในรอบปี ๒๕๔๖ มีการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าว พม่า กัมพูชา และลาว
ใน ๖ ประเภทกิจการ จำนวน ๒๘๘,๗๘๐ คน โดยมีแรงงานต่างด้าวที่เคยจดทะเบียนไว้เมื่อปีที่แล้วหายไป
จำนวน ๑๒๐,๐๐๐ คน ซึ่งเกิดจากปัญหาและขั้นตอนที่ยุ่งยาก และไม่มีความแตกต่างในการจดทะเบียน
โดยเฉพาะความไม่ชัดเจนจากนโยบาย
ดังนั้นการที่กระทรวงแรงงานเตรียมจะจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวอีกครั้งในเดือนมีนาคม ๒๕๔๗
ซึ่งจะมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าวใหม่ โดยจะนำร่องใน ๓ จังหวัด คือ ปทุมธานี ระนอง
และสมุทรสาคร และเพิ่มจังหวัดตากเข้าไปด้วย เพราะเป็นจังหวัดที่ติดชายแดนและมีการใช้แรงงานต่างด้าวมาก
แต่คณะกรรมาธิการตั้งข้อสังเกตว่าการเพิ่มแรงงานต่างด้าวปีละ ๕ แสน กว่าคน ตามงานวิจัยของสถาบันเอเซีย
ควรมีการทบทวนและรับฟังความคิดเห็นใหม่เพราะข้อเท็จจริงตามความจำเป็นจริง ๆ นั้นจะต้องควบคุมการใช้แรงงานต่างด้าว
ที่ไม่มีตัวเลขชัดเจน ซึ่งมีแต่ตัวเลขตามความต้องการที่ประเมินจากผู้ประกอบการเท่านั้น
= กรรมาธิการการเกษตรฯ หนุนช่วยที่ทำกินเกษตรกร
นายก่ำซุง ยังประภากร ประธานคณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ สภาผู้แทนราษฎร
เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมาธิการฯ ประจำวันพุธที่ ๑๔ มกราคม ๒๕๔๗ กรณีราษฎรครอบครองที่ดินของรัฐ
โดยผิดกฎหมาย ในหลายพื้นที่ โดยมีทั้งที่ดินสาธารณประโยชน์อุทยาน แห่งชาติ ป่าไม้ ที่ราชพัสดุ
รวมทั้ง สปก. ปัญหานี้ส่งผลให้ราษฎรได้รับความเดือดร้อน เนื่องจากการขาดเอกสารสิทธิ์จากการครอบครอง
ทำให้ไม่สามารถรับประโยชน์จากนโยบายการแปลงสินทรัพย์เป็นทุน กรรมาธิการฯ จึงเชิญเจ้าหน้าที่จากหลาย
หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมที่ดิน สำนักงานคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกร ทหาร กรมป่าไม้ ราชพัสดุ
เพื่อหาแนวทางการปฏิบัติให้เกษตรกรได้รับเอกสารสิทธิและกรรมสิทธิ์ในที่ดินที่ตนครอบครองอยู่ นอกจากนี้
ยังเสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องร่วมกัน "ปฏิรูปกฎหมายที่ดิน" เสียใหม่
ผลการประชุมในวันดังกล่าว สรุปว่า
๑. ราษฎรมีความต้องการในกรรมสิทธิที่ดินที่ตนครอบครอง
๒. รัฐบาลควรแก้กฎหมายแต่ละพื้นที่ดินเป็นการเฉพาะ
๓. ควรมีการปรับปรุงระเบียบเรื่องการบริหารจัดการจัดสรรที่ดินของราษฎร
๔. ควรมีการกันพื้นที่ สปก. และที่ดินที่ราษฎรอาศัยอยู่ออกจากที่ดินประเภท
อื่น ๆ เพื่อลดความเดือดร้อนเรื่องที่อยู่อาศัยของราษฎร และสร้างความมั่นคงต่อชีวิตและสอดคล้องกับนโยบายแปลงสินทรัพย์เป็นทุนของรัฐบาล
นอกจากการให้ความสนใจเรื่องกรรมสิทธิ์ที่ดินของราษฎรแล้ว คณะกรรมาธิการฯ จะนำเรื่อง
"การหามาตรการป้องกันการใช้สารเคมีกับพืช ผัก ผลไม้ ของสินค้าเกษตร" เนื่องจากปัจจุบันประชากรของประเทศ
ได้รับความเดือดร้อนจากการบริโภคพืชเกษตรที่มีสารพิษตกค้างส่งผลต่อการบริโภค รวมทั้งการไม่สั่งซื้อสินค้าเกษตร
จากไทยของต่างประเทศ ทำให้เศรษฐกิจของประเทศเสียหาย
ทั้งนี้ จะเชิญหน่วยงานผู้รับผิดชอบ อาทิ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมวิชาการ
ผู้ประกอบการสารเคมี เกษตรกร มาร่วมกันหารือถึงแนวทางปฏิบัติที่ถูกวิธี ปลอดภัยต่อชีวิต ในด้าน
ผู้ประกอบการด้านสารเคมีเอง มักจะลักลอบนำเข้าสารเคมีจากต่างประเทศ และการตั้งโรงงานผสม
สารเคมีที่ไม่ได้มาตรฐาน
คณะกรรมาธิการฯ จะเสนอแนวทางการกระตุ้นกรณีดังกล่าวดังนี้
๑. เชิญหน่วยงานรับผิดชอบหารือ
๒. ผลักดันกฎหมายการตั้งโรงงาน ฟาร์มการเกษตร และการกำหนด
มาตรฐานสารตกค้างในสินค้าเกษตรให้ตรงตามมาตรฐานกรมวิชาการ
๓. จะนำผลสรุปการสัมมนา ๔ ภูมิภาค คือ เชียงใหม่ จันทบุรี ชัยภูมิ และ
นครศรีธรรมราช จัดทำเป็นเอกสารวิชาการเผยแพร่เป็นตำราไปยังสถาบันการศึกษาด้านการเกษตรต่อไป
โดยจะได้นำผลการประชุมและข้อเสนอของคณะกรรมาธิการฯ เสนอนายอุทัย
พิมพ์ใจชน ประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อส่งไปยังรัฐบาลต่อไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ