ไม้ยางพารา

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 21, 2004 14:19 —กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม

        ไม้ยางพารา
ลักษณะไม้ยางพารา
ไม้ยางพารา ได้จากการแปรรูปต้นยางพาราที่มีอายุมาก ต้นแก่ วายยางแล้วมาแปรรูป ดังนั้น ขนาดของไม้แปรรูปที่ได้จึงมีขนาดโต 70 - 100 ซม. หรือเล็กกว่านั้นไม้ยางพาราท่อนขนาดยาวที่นำมาแปรรูปส่วนมากจะยาวไม่เกิน 4 เมตร ไม้ยางพาราแปรรูปจึงมีขนาดสั้นและแผ่นไม่ค่อยใหญ่และไม่ยาว
ไม้ยางพาราเนื้อไม้มีสีขาว อมครีม หรืออมเหลือง ขณะที่ยังสดอยู่ หลังจากแห้งแล้วนำไปไสผิวหน้าออกใหม่ๆ จะเป็นสีขาวแกมน้ำตาลอ่อนหรือแกมชมพู หลังจากทิ้งไว้ให้ถูกอากาศเป็นเวลานานๆ สีจะเข้มขึ้นอีกเล็กน้อย มีความถ่วงจำเพาะ 0.70 ที่ความชื้นในเนื้อไม้ 12 % ลักษณะเนื้อไม้ส่วนที่เป็นกระพี้และแก่นไม่แตกต่างกัน เนื้อไม้ค่อนข้างละเอียด เสี้ยนสนเล็กน้อยถึงมาก มักจะพบว่ามีน้ำยาง ( latex ) ออกมาทางด้านหัวท้ายของไม้แปรรูป
ลักษณะโครงสร้าง
ไม้ยางพาราไม่มีวงเจริญเติบโตให้เห็นเด่นชัดทางด้านหน้าตัด แต่จะเห็นเป็นลายไม้เนื่องจากความแตกต่างระหว่างความแน่นของไฟเบอร์และปริมาณความหนาแน่นของหมู่เยื่อ parenchyma ทางด้านข้าง pore เดี่ยวและแฝด 2 - 3 คละกัน กระจายห่างๆ อย่างสม่ำเสมอ มี Metatracheal parenchyma (concertric) ตัดกับ ray เห็นเป็นลักษณะตาข่ายทางด้านหน้าตัดปริมาณไม้ยางพารา
ปริมาณไม้ยางพาราที่มีอยู่ในประเทศไทย เป็นผลพลอยได้จากอาชีพการทำสวนยาง ซึ่งเกษตรกรชาวสวนยางจะโค่นปลูกแทนเมื่อต้นยางมีอายุประมาณ 18 - 23 ปีขึ้นไป ในระหว่างปี 2536 - 2540 มีอัตราการโค่นยางปีละ 200,000 - 240,000 ไร่ สามารถผลิตไม้ยางได้ประมาณ 8.75 - 11.84 ล้านลูกบาศก์เมตร ไม้ยางที่ได้นำมาผลิตเป็นเฟอร์นิเจอร์ และชิ้นส่วนมีมูลค่าในปี 2535 - 2539 เฉลี่ยปีละ 7,883 ล้านบาท
การใช้ประโยชน์จากไม้ยางพารา
ไม้ยางในสวนยางเก่าแก่เมื่อถึงอายุโค่นจะเหลือจำนวน 45 ต้น / ไร่ คิดเป็นปริมาณไม้ยางสำหรับใช้ประโยชน์ได้ 45 ลูกบาทศก์เมตร / ไร่ สามารถใช้ประโยชน์ในการทำเฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วนจากไม้ยางพารา
ในปัจจุบันมีการโค่นต้นยางเพื่อปลูกแทนปีละประมาณ 200,000 ไร่ ได้เนื้อไม้ประมาณ 9 ล้าน ลูกบาศก์เมตร ประมาณการว่านำไปใช้ประโยชน์ได้เพียงร้อยละ 30 หรือประมาณ 3 ล้านลูกบาศก์เมตร ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 70 ถูกเผาทิ้งไป เพราะอยู่ห่างไกลจากถนนไม่สามารถนำรถบรรทุกออกมาใช้ประโยชน์ได้
การแปรรูปและความยากง่ายในการตกแต่งด้วยเครื่องมือ
ไม้ยางพาราเป็นไม้ที่แปรรูปไม่ยากนัก แต่จะพบว่าไม้แปรรูปที่ได้นั้นมีจำนวนไม่น้อยที่พื้นผิวด้านข้างเป็นขุยหรือขน (woollly or fussy grain) เนื่องจากตำหนิตามธรรมชาติของไม้ยางพารา ส่วนมากมักจะเกิดมี Tension wood ในขณะที่ต้นไม้ยังยืนต้นอยู่ บ่อยครั้งที่เนื้อไม้ส่วนที่มี Tension wood เมื่อแปรรูป ขุยหรือขนที่เกิดขึ้นขณะแปรรูปไม้สดๆ ผสมกับน้ำยางที่ยังคงมีอยู่ในไม้ทำให้เกิดติดพันเลื่อย ทำให้เลื่อยติดขัด ไม้ที่มี Tension wood นี้จะบิดงอง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ไม้แปรรูปที่มีขนาดบาง กว้างและยาว จะยิ่งบิดงอง่ายและมาก การไสกบหรือแต่งขัดเงาไม้ในส่วนนี้จะทำได้ยากกว่าไม้ปกติ ส่วนที่เป็น Tension wood นี้อีกเหมือนกันที่อาจเป็นสาเหตุอย่างหนึ่งที่ทำให้ใบเลื่อยบิดได้เนื่องจากมีความเข้มในไม้ (internal growth stresses)
ดังนั้น การแปรรูปไม้ยางพาราเฉพาะที่จะนำมาใช้เป็นเครื่องเรือน จำเป็นต้องคัดเลือกไม้ท่อนที่มีลักษณะดี โดยหลีกเลี่ยงความเสียหายอันอาจเกิดขึ้นกับเลื่อยด้วย
ตำหนิและอัตราการแปรรูปของไม้ยางพารา
ไม้ยางพาราที่นำออกมาแปรรูปนั้นจะเป็นต้นยางที่มีอายุแก่เต็มที่หรือต้นที่ให้น้ำยางน้อยลงแล้ว ซึ่งส่วนใหญ่จะมีลำต้นขนาดเล็ก ดังนั้น ปริมาณไม้ที่แปรรูปได้จากท่อนหนึ่งๆ จึงเป็นอัตราส่วนที่ไม่สูงมากนัก และจะขึ้นอยู่กับเทคนิคการเลื่อยและชนิดของเลื่อยที่ใช้เป็นสำคัญ สำหรับโรงงานแปรรูปไม้ยางพาราเพื่อประดิษฐ์กรรม ปัจจุบันส่วนใหญ่ใช้เลื่อยเปิดปีก และเลื่อยซอยทั้งหมด จะมีใช้เลื่อยสายพานบ้างทางภาคใต้เป็นบางแห่งเท่านั้น เลื่อยวงเดือนมีคลองลึก ฟันเลื่อยกว้างประมาณ 1 /4 - 3/10 นิ้ว ซึ่งในการซอยไม้กระดานหนา 1 /2 - 1 นิ้ว จะทำให้เสียเนื้อไม้ไปประมาณ 20 - 50 เปอร์เซ็นต์ ของไม้เลื่อยออกมาแต่ละแผ่น เป็นต้น
ในการทดลองแปรรูปไม้ยางพาราของงานวิจัยการแปรรูปไม้และประดิษฐ์กรรม กองวิจัยผลิตผลป่าไม้นั้น ได้ทดลองแปรรูปไม้จำนวน 41 ท่อน การทดลองใช้เลื่อยนอนเป็นเลื่อยเปิดปีก และเลื่อยสายพานเป็นเลื่อยซอย โดยแปรรูปเป็นไม้ขนาดหนา 2, 2 ? , ? , และ ? นิ้ว กว้าง 8, 6, 5, 4, 3, และ 2 นิ้ว ตามแต่จะได้ โดยเผื่อหน้าไม้ไว้จากขนาดปรกติดังนี้ คือ ความหนาเผื่อไว้ 3/32 - 1/8 นิ้ว ความกว้างเผื่อไว้ 3/16 - 1 /4 นิ้ว เพื่อการหดตัวและการปรับหน้าไม้ของผู้ใช้ภายหลัง ผลการทดลองแปรรูปปรากฏว่าได้อัตราการแปรรูปไม้เฉลี่ย 47 %
ตำหนิในไม้ยางพารา
ตำหนิที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติในไม้ยางพารา นอกจากตาและไส้ไม้ซึ่งมีอยู่ในไม้ทุกชนิดแล้ว ตำหนิอื่นๆ ที่สำคัญซึ่งมีส่วนทำให้การใช้ประโยชน์ไม้แปรรูปจำกัดลง และควรกล่าวถึงในที่นี้ได้แก่ ตำหนิเกี่ยวกับการเจริญเติบโต ตำหนิเกี่ยวกับความผิดปรกติของเซลล์เนื้อไม้ และตำหนิเนื่องจากการกรีดยาง
ตำหนิเกี่ยวกับการเจริญเติบโต : ไม้ยางพาราจัดเป็นไม้ประเภทโตเร็วชนิดหนึ่ง ซึ่งจากสถิติปรากฏว่า ไม้ได้ขนาดตัดฟันอายุ 25 - 30 ปี จะมีความโตวัดรอบ 100 - 120 เซนติเมตร หรืออีกนัยหนึ่งจะมีอัตราการเจริญเติบโตทางเส้นผ่าศูนย์กลางปีละประมาณ 1.07 - 1.28 เซนติเมตร / ปี
ในการตรวจนับวงปีของไม้ยางพาราจากสวน อายุประมาณ 25 ปี จำนวน 6 ต้น รวม 14 แว่น ในระดับความสูงต่างๆ กัน มีอัตราการเจริญเติบโตทางเส้นผ่าศูนย์กลางเฉลี่ย 1.21 เซนติเมตร / ปี อย่างไรก็ตาม สำหรับอัตราการเจริญเติบโตสูงสุดในปีหนึ่งที่ตรวจพบนั้น มีเส้นผ่าศูนย์กลางเพิ่มขึ้นถึง 3.1 เซนติเมตร
ไม้ที่เติบโตเร็ว และขณะเมื่อตัดฟันมาใช้ประโยชน์ยังมีอายุน้อย ดังตัวอย่างไม้ยางพารานี้ ในเนื้อไม้จะมีแรงเค้นที่เกิดจากการเจริญเติบโต หรือที่เรียกว่า " growth stress " อยู่มาก กล่าวคือ ในกระบวนการเติบโตของเซลล์เนื้อไม้ขั้นสุดท้าย โดยเปลี่ยนจากเซลล์พาเรงคิมา ไปเป็นเซลล์โปรเชนไคมานั้น เซลล์จะหดตัวทางด้านยาว และขยายตัวทางด้านข้าง แต่เนื่องจากเซลล์เหล่านี้เป็นเซลล์ส่วนหนึ่งของลำต้น จึงไม่อาจหดหรือขยายตัวได้โดยอิสระ จึงทำให้เกิดแรงเค้นสะสมอยู่ภายในลำต้น เมื่อนำไม้ไปทำการแปรรูป ไม้บริเวณใกล้ไส้จะมีการขยายตัวทางความยาว ส่วนไม้บริเวณใกล้เปลือกจะมีการหดตัวทางความยาวขึ้น ทั้งนี้เพื่อปลดปล่อยแรงเค้นที่มีอยู่ เป็นผลทำให้ไม้แปรรูปเกิดการโก่งงอ สำหรับชิ้นไม้ที่เลื่อยอมไส้ และรวมทั้งไม้ท่อน การปล่อยแรงเค้นดังกล่าวจะทำให้เกิดรอยแตกไปตามไส้ การโก่งงอและแตกในสภาพสดเช่นนี้ไม่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงความชื้นในไม้แต่ประการใด
สำหรับไม้ยางพาราหลังจากการแปรรูปแล้วจะเกิดการโก่งงอเห็นได้ชัด โดยเฉพาะไม้แปรรูปจากไม้ท่อนขนาดเล็กจะมีการโค้งงอมากกว่าไม้ท่อนขนาดใหญ่ จากการตรวจวัดไม้แปรรูป จำนวน 25 แผ่น หนา 1 นิ้ว กว้าง 4 - 6 นิ้ว ยาว 1 เมตร ซึ่งได้จากการศึกษาอัตราการแปรรูปของไม้ท่อนขนาดเล็ก เส้นผ่าศูนย์กลางระหว่าง 6 - 10 นิ้ว ไม้สด ที่แปรรูปแล้วมีการบิดงอดังนี้
การโค้ง (Bow) มีปรากฏ 8 แผ่น ส่วนโค้งสูงสุดกลางแผ่น สูงจากพื้นระนาบ 1 - 9 มิลลิเมตร และโดยเฉลี่ย 4.5 มิลลิเมตร
การโก่ง (Spring) มีปรากฏในไม้ 8 แผ่น ส่วนโก่งสูงสุดตรงกึ่งกลางแผ่น (โดยวางขอบตั้งขึ้น ) สูงจากพื้นระนาบ 1 - 5 มิลลิเมตร และโดยเฉลี่ยโก่ง 3 มิลลิเมตร
การบิด ( Twisted) มีปรากฏในไม้ 13 แผ่น ( บางแผ่นเกิดซ้ำกับแผ่นที่มีการโค้ง และโก่งด้วย ) การบิดตัววัดจากขอบหนึ่งตรงปลายสุดของแผ่น โดยให้ปลายสุดอีกด้านหนึ่งของแผ่นมีหน้ากว้างสัมผัสกับพื้นระนาบ การบิดวัดได้ตั้งแต่ 1 - 10 มิลลิเมตร และโดยเฉลี่ยบิด 5.2 มิลลิเมตร
ในจำนวนไม้แปรรูปสดที่ทำการศึกษา 25 แผ่นนี้ ปรากฏว่าแผ่นไม้ที่มีลักษณะดี ไม่มีการโค้ง โก่ง และบิด หรือมีตำหนิดังกล่าวอยู่เล็กน้อยมีจำนวนเพียง 6 แผ่นเท่านั้น ซึ่งนับได้ว่ามีจำนวนค่อนข้างน้อยมาก และนับเป็นปัญหาที่สำคัญอีกอันหนึ่งที่จำกัดการใช้ ประโยชน์ไม้ยางพาราในลักษณะของไม้แปรรูป
ตำหนิเกี่ยวกับความผิดปรกติของเซลล์เนื้อไม้
ต้นไม้ซึ่งมีไส้ (pith) ไม่อยู่ตรงจุดศูนย์กลางของลำต้นนั้น เนื้อไม้ของด้านที่มีการเจริญเติบโตมากจะมีองค์ประกอบทางเคมี ลักษณะของโครงสร้างของเซลล์และคุณสมบัติทางกายภาพผิดแผกไปจากเนื้อไม้ส่วนอื่นๆ ที่มีการเจริญเติบโต ซึ่งมีไส้อยู่ห่างจากเส้นรอบวงเท่าๆ กัน ในใบไม้กว้าง เช่น ไม้ยางพารานี้ ไม้ส่วนดังกล่าวเรียกว่า " Tension Wood" กล่าวคือ จะเกิดขึ้นบริเวณส่วนบนของลำต้นเอนหรือกิ่งและในลำต้นส่วนอื่นๆ บางส่วนก็ต้องรับแรงดึงเพื่อฝืนให้ลำต้นตรง คุณสมบัติที่แตกต่างไปจากไม้ปรกติ ได้แก่ ปริมาณของลิกนิกและเฮมิเซลลูโลสลดลง แต่เซลลูโลสเพิ่มขึ้น มีไฟเบอร์ชนิดเจลาตินัสปรากฏอยู่ การหดตัวทางด้านความยาวสูงกว่าไม้ปรกติประมาณ 2 เท่า สำหรับความแข็งแรง เช่นโมดุลัสยืดหยุ่น โมดุลัสแตกร้าว และการรับแรงกดขนานเสี้ยนลดลง แต่สามารถรับแรงดึงขนาดเสี้ยนได้เพิ่มขึ้น เป็นต้น
ลักษณะภายนอกที่อาจสังเกตเห็นได้ของ Tension Wood นอกจากดูทางด้านหน้าตัดซึ่งไส้มักไม่ได้ศูนย์กลางแล้ว คือ เมื่อทำการเลื่อยโดยเฉพาะไม้สด ผิวหน้าไม้ตรงส่วนดังกล่าวจะมีส่วนไฟเบอร์ ฉีกขาดติดรวมกันอยู่เป็นกระจุก ทำให้ผิวหน้าไม้เลื่อยหยาบกว่าส่วนอื่นๆ เมื่อนำไปไสผิวหน้าจะขรุขระไม่เรียบเช่นกัน โดยมักมีเสี้ยนเป็นขุยยาวติดอยู่เสมอ (Wooly Grain) ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาทางด้านใช้ประโยชน์ คือ เมื่อทำการไสปรับหน้าไม้ครั้งสุดท้ายให้ได้ขนาดตามต้องการ แม้ยังไม่เรียบก็ไม่อาจนำมาไสซ้ำได้อีก เพราะจะทำให้มีขนาดต่ำกว่ากำหนด การขัดช่วยในภายหลังมักทำได้ไม่หมด เพราะเสี้ยนแยกลึกลงไปในเนื้อไม้ด้วย
จากการสังเกตตำหนิดังกล่าวในการแปรรูปและการไสไม้ยางพารา ปรากฏว่าผิวหน้าไม้แปรรูปที่เข้าลักษณะดังกล่าวปรากฏให้เห็นไม่น้อย โดยเฉพาะที่ผิวหน้าไม้แปรรูปชิ้นเดียวกันและตำแหน่งเดียวกัน ตามความกว้างของแผ่น ส่วนหนึ่งของความกว้างผิวหน้าจะเรียบ อีกส่วนหนึ่งจะหยาบมาก และเสี้ยนขุย ซึ่งเมื่อนำไม้ลักษณะนี้มาไสส่วนหลังก็มีผิวไม่เรียบเช่นกัน เป็นที่น่าสังเกตว่าไม้ยางพาราเป็นไม้ที่มีการหดตัวทางความยาวสูงมาก ไม้ยางพาราจากสภาพสดถึงอบแห้งสนิท หดตัวตามความยาวถึง 0.9+0.23% สำหรับไม้ชนิดอื่นๆ ทั่วไป จะหดตัวประมาณ 0.1 - 0.3 % เท่านั้น (ไม้สักหดตัวตมความยาวประมาณ 0.07 - 0.11 % ) การหดตัวตามความยาวของไม้ยางพารานี้ทำให้เกิดปัญหาเรื่องการบิดงอขึ้น เนื่องจากการเรียบตัวของเสี้ยนเนื้อไม้มิได้ขนานกันโดยตลอด ส่วนหนึ่งจะเบี่ยงทำมุมกับแกนลำต้นเสมอ โดยเฉพาะบริเวณรอบตา หรือส่วนที่มีเสี้ยนสน เสี้ยนวน ดังนั้น จึงทำให้การหดตัวของไม้ไม่สม่ำเสมอตลอดความยาวของแผ่น การโก่งงอจึงเกิดขึ้นได้มากกว่าไม้อื่นๆ ที่หดตัวทางความยาวน้อยตำหนิเนื่องมาจากการกรีดยาง
ต้นยางพาราที่มีท่อยาง (Latex Canals) อยู่ในส่วนของเปลือกชั้นในถัดจากเนื้อเยื่อเจริญ (Cambium) ออกมาด้านนอก ในการกรีดยางเพื่อให้ได้น้ำยางมากจึงต้องกรีดให้ลึกลงไปถึงเปลือกชั้นในท่อยางปรากฏมากที่สุด แต่จะต้องไม่ให้ลึกเกินไป จนเปลือกอ่อนที่ติดอยู่กับชั้นของเยื่อเจริญขาดออก มิฉะนั้นหน้ายางจะเกิดตำหนิขึ้น อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติแม้ผู้กรีดยางที่มีความชำนาญมากก็ไม่อาจรักษาหน้ายางให้ปราศจากตำหนิดังกล่าวได้หมด ตำหนิดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้มาก โดยเฉพาะส่วนที่กรีดยางไม่พิถีพิถันหรือไม่ถูกวิธีการ นอกจากนี้การกรีดยางในสภาวะอากาศชื้นมากโดยเฉพาะหน้าฝน หน้ายางซึ่งผ่านการกรีดยางไปใหม่ๆ มักถูกเชื้อราเข้าทำลาย เกิดการเน่าขึ้น และลามลงไปถึงชั้นของเนื้อเยื่อ ดังนั้นต้นยางพาราส่วนโคนซึ่งถูกกรีดยางไปแล้วนี้ เมื่อเจริญเติบโตต่อไปจะเกิดความผิดปรกติขึ้น กล่าวคือ ส่วนโคนดังกล่าวจะพองโตโดยรอบผิว มีลักษณะเป็นปุ่ม เนื้อไม้ภายในจะมีเสี้ยนวนมาก และมีรอยแผล ซึ่งมีสารสีน้ำตาลเข้มปรากฏอยู่ทั่วไป ลักษณะของแผลจะเป็นแถบยาว หรืออยู่บริเวณกว้างแผ่นขนานไปกับวงเติบโต และไปตามความสูงของบริเวณที่ถูกกรีด เมื่อทำการแปรรูปไม้ส่วนโคนนี้ รอยแผลดังกล่าวจะปรากฏให้เห็นทั่วไปบนผิวหน้าไม้
การผึ่งและอบ ( Seasoning)
ไม้ยางพาราเป็นไม้ที่แห้งช้าและมีตำหนิจากการผึ่งค่อนข้างมาก โดยเฉพาะการบิดงอ จากรายงานการทดลองพบว่า กรใช้น้ำหนักทับมากๆ โดยใช้ไม้รอง (Sticker) วางระยะถี่ๆ ไม่เกิน 45 ซม. สามารถช่วยลดการบิดงอได้มาก การหดตัวไม่สูงนักนับว่าดีกว่าไม้หลายชนิดที่นิยมใช้กันอยู่
เทคนิคการอบไม้ยางพารา
การใช้ประโยชน์ไม้ยางพาราในประเทศไทย เดิมคนไทยส่วนมากจะรู้จักคุณค่าของมันในรูปแบบของน้ำยางสีขาวเท่านั้น ส่วนเนื้อไม้นั้นแทบจะไม่ได้นำไปใช้ประโยชน์อะไรเลยนอกจากนำไปทำฟืนและถ่าน ราคาของไม้ยางพาราจึงค่อนข้างต่ำ ต่อเมื่อไม้มีค่าชนิดต่างๆ ในป่าลดลงหรือหายากและมีราคาแพงมากขึ้น ผู้ประกอบการด้านอุตสาหกรรมการใช้ประโยชน์ไม้จึงได้เพิ่มหันมาใช้ไม้ยางพาราแทน เพราะสามารถหาซื้อได้ง่าย โดยเฉพาะทางภาคใต้และภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ประจวบกับเวลานี้มีการเปลี่ยนพันธุ์และเปลี่ยนรุ่นไม้ยางพาราใหม่ จึงทำให้มีไม้ยางพาราออกสู่ตลาดอย่างมากและเริ่มเป็นที่นิยมของผู้ผลิตและผู้ใช้ เพราะลักษณะเนื้อไม้ยางพาราที่มีสีขาวเมื่อนำมาขัดหรือลงน้ำมันชักเงาแล้วจะดูสวยงามไม่แพ้ไม้ชนิดอื่น และราคาค่อนข้างถูกกว่าไม้สักและไม้มีค่าอื่นๆ นอกจากนี้โรงงานประดิษฐ์กกรรมต่างๆ ยังได้ทำการค้นคว้าหาวิธีการปรับปรุงคุณภาพของไม้แปรรูปหรือสิ่งประดิษฐ์ให้มีรูปแบบที่สวยงามคงทนยิ่งขึ้น เพื่อทำเป็นสินค้าส่งออก เช่น ขาวิทยุ ทีวี เฟอร์นิเจอร์ เก้าอี้รับแขก และโต๊ะอาหารเป็นต้น
ไม้ยางพารามีข้อเสีย คือ เมื่อไม้ตัดฟันใหม่ๆ ความชื้นยังสูงอยู่ และเนื้อไม้มีลักษณะค่อนข้างอ่อนและมีแป้งมาก พวกเชื้อรา (Stain Fungi) จะเข้าทำลาย โดยเฉพาะราสีน้ำเงิน ทำให้เนื้อไม้มีสีคล้ำ ราคาตก และถ้าไม้มีความชื้นเกิน 25% พวกมอดจะเข้าทำลาย ดังนั้นภายหลังการตัดฟันภายใน 24 ชั่วโมง ถ้ายังไม่มีการแปรรูปจะต้องนำไม้ท่อนนั้นไปแช่หรือจุ่มในน้ำยา ( สารเคมี ) เสียก่อน และเมื่อหลังแปรรูปแล้วเช่นกัน ต้องนำไปแช่ ทา หรืออัดน้ำยาเสียก่อนที่จะนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป
การอบไม้ยางพาราในประเทศไทย โดยเฉพาะภาคใต้ของประเทศนั้นโดยมากนิยมสร้างห้องอบหรือเตาอบ แล้วใช้พัดลมเป่าอากาศร้อนเข้าไปในเตาอบเพื่อทำให้ไม้แห้ง แต่ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการอบไม้ชนิดนี้มักจะมีคุณภาพไม่สู้ดี กล่าวคือ ไม้มักจะมีตำหนิ เช่น แตกปลาย แตกผิว หรืออาจโค้งงอได้ เพราะการควบคุมการอบไม้มีหลักเกณฑ์ที่แน่นอนต้องใช้ความชำนาญของผู้ควบคุมเตาอบเป็นเกณฑ์ มีความสามารถที่จะควบคุมอุณหภูมิภายในเตาให้เป็นไปตามความต้องการได้ ตลอดจนการเร่งหรือลดอุณหภูมิเป็นไปด้วยความยากลำบากไม่ได้ดังประสงค์
ส่วนการอบไม้ด้วยเตาอบที่ใช้หลักวิชาการนั้นต้องเป็นเตาอบขนาดใหญ่ ขนาดบรรจุไม้ตั้งแต่ 1,000 ลูกบาศ์ฟุตขึ้นไป การลงทุนค่อนข้างสูง ต้องมีหม้อต้มน้ำ ( Boiler ) เพื่อใช้ไอน้ำมาอไม้และใช้พ่นในเตาอบด้วย ต้องมีเครื่องควบคุมอุณหภูมิทั้งเปียกและแห้ง ตลอดจนพัดลมอัตโนมัติที่หมุนพัดไปมาได้ทั้งซ้ายและขวา โดยมากเตาอบขนาดใหญ่เหล่านี้จะมีอยู่ในกรุงเทพมหานครหรือหัวเมืองใหญ่ๆ คุณภาพของไม้ที่อบด้วยเตาชนิดนี้ค่อนข้างดีมาก มีตำหนิน้อย เพราะผู้ควบคุมสามารถบังคับหรือควบคุณอุณหภูมิภายในเตาและความชื้นสัมพัทธ์ในเตาได้ นอกจากนี้ยังสามารถติดตามการลดของความชื้นในไม้ภายในเตาได้ตลอดเวลา ทำให้ผู้ควบคุมเตาสามารถปรับแต่งตารางอบไม้ได้ทันเหตุการณ์ ซึ่งจะช่วยย่นระยะเวลาในการอบไม้ลงได้อีกด้วย
ในบางท้องที่ซึ่งไม่มีเตาอบทั้งสองแบบดังกล่าว ก็สามารถใช้วิธีการง่ายๆ ด้วยการนำไม้แปรรูปที่มีอยู่แล้วมาผึ่งกระแสอากาศ แต่ก่อนที่จำนำมาผึ่งต้องไปจุ่มหรือทาสารเคมีก่อน วิธีนี้ก็สามารถทำให้ไม้แห้งได้ แต่ต้องใช้เวลา เป็นวิธีการที่ค่อนข้างอนุรักษ์นิยม สามารถประหยัดค่าใช้จ่ายในเรื่องฟืนและกระแสไฟฟ้า และต้องใช้เวลาผึ่งประมาณ 2 - 3 เดือน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับฤดูกาล สถานที่ ชนิดไม้ ขนาดไม้ที่ใช้ผึ่งด้วย โดยสามารถทำให้ไม้มีความชื้นไดประมาณ 15 - 18 %
การป้องกันตำหนิที่เกิดจากการอบไม้ กลเม็ดที่จะทำให้ไม้แปรรูปเสียหายน้อยที่สุดนั้นต้องเริ่มจากการแปรรูปที่ถูกวิธี เลื่อยตามเสี้ยนตรง ไม่อมไส้และอมกระพี้ รวมทั้งการอบน้ำยาเคมีก่อนที่จะนำไปใช้ประโยชน์ และหลังจากที่นำไม้เข้าเตาอบแล้วควรมีการอบอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ โดยในวันแรกควรให้มีความชื้นสัมพัทธ์ภายในเตาสูงประมาณ 70 - 80 % เข้าไว้ เพื่อให้ไม้ทุกชิ้นในเตาเริ่มต้นความชื้นที่ใกล้เคียงกัน และน้ำในไม้ลดลงเสมอกันทั้งกองเช่นกัน ซึ่งถ้าใช้ตารางอบที่เหมาะสมทุกอย่างจะเป็นไปด้วยดี ไม้จะมีตำหนิลดลงไปด้วย
ตำหนิอันเกิดจากการอบไม้ยางพารา โดยมากมักจะเกิดจากการใช้เตาอบแบบใช้ไอร้อนโดยตรง ไม่มีเครื่องพ่นไอน้ำ เมื่อความชื้นสัมพัทธ์ในเตาแห้งมากๆ ผิวของไม้ก็จะแตกหรือมีรอยปริตามหัวไม้หรือปลายไม้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ควรหลีกเลี่ยงอย่างมาก ถ้าเป็นไปได้การเอาไม้ยางพาราแปรรูปเข้าไปอบในเตาชนิดนี้ ในวันแรกควรจะต้องใช้อุณหภูมิให้ต่ำที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ พอวันที่สองและสาม จึงค่อยๆ เพิ่มอุณหภูมิขึ้นทีละน้อย ตามความชำนาญของผู้ควบคุม ก็จะสามารถลดอัตราการสูญเสียของไม้ซี่งเกิดตำหนิจากการอบไม้ได้ทางหนึ่ง
การอบไม้ยางพาราใช้เวลาประมาณ 6 วัน จากไม้สดที่มีความชื้น 50 % คงเหลือ 10 % การบิดงอเป็นตำหนิที่เกิดขึ้นเช่นเดียวกับการผึ่ง การใช้น้ำหนักทับข้างบน และใช้ไม้รองระยะถี่ๆ เช่นเดียวกับการผึ่ง พร้อมกับใช้การปรับความชื้นในเตาให้สูงค่อยลบ (Presteaming and equalization ) จะช่วยลดการบิดได้มากทีเดียว ส่วนที่ทำความเสียหายให้แก่เตาอบอีกอย่างหนึ่งก็คือ ขณะอบไม้ยางพาราจะมีไอของกรดบางชนิดจากไม้ผสมออกมากับความชื้น ทำให้ส่วนประกอบของเตาที่เป็นเหล็กเกิดสนิมและเสียหายเร็ว หากส่วนที่เป็นเหล็กนั้นใช้อลูมิเนียมแทนก็จะช่วยได้มาก
คุณสมบัติเกี่ยวกับการแห้ง การหดตัว และการคงรูปขณะใช้งาน
โดยการนำเข้าอบในเตาอบอุตสาหกรรม ปรากฏว่าไม้ยางพาราเป็นไม้ที่อบแห้งได้ง่ายและรวดเร็ว เช่น ไม้หนา 1 - 2 ? นิ้ว กว้าง 3 - 6 นิ้ว ความชื้นเริ่มอบ 60 - 70 % อาจอบให้แห้งมีความชื้น 8 - 10 % ได้ภายในเวลา 5 - 7 วัน ในการทดลองผึ่งแห้งด้วยอากาศในเดือน พฤษภาคม - กรกฎาคม 2521 (ฝนตกค่อนข้างชุก) ปรากฏว่าไม้หนา 1 นิ้ว กว้าง 6 นิ้ว
(ยังมีต่อ).../การหดตัวของ..

แท็ก ยางพารา   ว่าน  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ