(ต่อ 1) ไม้ยางพารา

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 21, 2004 14:28 —กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม

        การหดตัวของไม้ยางพารา
การหดตัว (Shrinkage) หมายถึงการเปลี่ยนขนาดเนื่องมาจากการสูญเสียความชื้นของไม้ต่ำกว่าจุดหมาด ( Fiber Saturation Point) ลงไป สำหรับจุดหมาดของไม้เมืองไทย 83 ชนิด ที่ประมาณได้โดยวิธีการหาจุดตัดจากหดตัว เป็นตั้งแต่ 16 - 44 % และโดยเฉลี่ยเป็น 24.4 % สำหรับไม้ยางพารา จุดหมาดที่หาได้จากวิธีนี้เป็น 21.3 % ( ซึ่งอาจกล่าวโดยอนุโลมได้ว่า การหดตัวส่วนใหญ่ในไม้ยางพาราจะมีขึ้นเมื่อความชื้นลดลงต่ำกว่า 21.3%)
การคงรูปขณะใช้งาน ( Dimensional Stability)
นับเป็นคุณลักษณะของไม้ที่สำคัญประการหนึ่งในการพิจารณาถึงความเหมาะสมสำหรับไม้ที่นำมาใช้ทำเครื่องเรือน หรือส่วนประกอบของอาคารที่ต้องการความแนบเนียนในการเข้าไม้ เช่น วงกบและกรอบประตูหน้าต่าง การอบหรือผึ่งไม้มีวัตถุประสงค์ที่จะให้ความชื้นเหลืออยู่ในไม้ได้ส่วนสัมพันธ์กันกับสภาวะความชื้นในอากาศโดยเฉลี่ยของสถานที่ซึ่งจะนำไม้นั้นไปใช้งานให้มากที่สุด เพื่อว่าไม้จะได้มีขนาดค่อนข้างคงที่ไม่เปลี่ยนแปลงมากนักในภายหลัง อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะอยู่ภายในร่มหรือห้องปิด เช่นห้องปรับอากาศ เนื่องจากความแปรปรวนของสภาวะความชื้นอากาศย่อมมีอยู่เสมอตามช่วงเวลาของวันและฤดูกาล ดังนั้นไม้ที่อบแห้งอย่างถูกต้องเมื่อสัมผัสกับการเปลี่ยนแปลงสภาวะอากาศที่แตกต่างไปจากสภาวะโดยเฉลี่ย (ซึ่งใช้เป็นเกณฑ์ในการอบ) มาก การเปลี่ยนขนาดก็จะเกิดขึ้นได้อีก เช่น ในช่วงอากาศชื้นมากในหน้าฝนไม้จะพองตัวออก และในช่วงอากาศแห้งมากในหน้าหนาวไม้จะหดตัวลงสลับกันไป ซึ่งจะทำให้เกิดรอยห่าง ข้อต่อหลวม หรือประตูหน้าต่างคับเปิดปิดไม่สะดวก เหล่านี้เป็นต้น ความมากน้อยในการเปลี่ยนขนาดของไม้ดังกล่าวขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการดังนี้ คือ ระยะเวลาที่ไม้สัมผัสกับสภาวะอากาศเช่นนั้น ขนาดของชิ้นไม้ การใช้สารเคมี สี หรือน้ำมันชักเงาเคลือบผิวไม้ และประการสุดท้ายจะขึ้นอยู่กับชนิดของไม้ด้วย ไม้พวกหนึ่งหลังจากอบแห้งดี และนำไปใช้งาน จะดูด (หรือคาย) ความชื้นจากอากาศน้อยมาก เช่น ไม้สักหรือไม้มะค่าโมง ซึ่งเป็นผลให้การคงรูปดี แต่ในไม้อีกพวกหนึ่ง การดูด (หรือคาย ) ความชื้นจากอากาศจะสูงมาก เช่น ไม้ยูคาลิปตัสและไม้เกต ซึ่งไม้พวกหลังนี้การคงรูปขณะใช้งานไม่ดี
ไม้ยางพาราเป็นไม้ที่มีการเปลี่ยนแปลงความชื้นได้ง่ายเมื่ออากาศเปลี่ยนแปลงไป ดังนั้นเพื่อป้องกันการดูดคายความชื้นที่เป็นไปได้ง่ายในไม้ยางพารา การเคลือบสีหรือการชักเงาควรใช้วัสดุที่มีคุณภาพสูงในการป้องกันความชื้น สำหรับการเปลี่ยนแปลงเฉพาะด้านรัศมีและสัมผัส จะเห็นได้ว่าไม้ยางพาราจัดเป็นไม้ที่มีการหดตัวน้อย แต่เนื่องจากดูดความชื้นได้มาก การพองตัวก็เป็นไปได้มากเช่นกัน และยิ่งไปกว่านั้นการยืดหดตัวทางด้านยาวจองไม้ยางพาราสูงผิดปรกติ จึงทำให้การคงรูปขณะใช้งานไม่ดีนัก ทั้งนี้เว้นแต่ว่าไม้ยางพาราจะได้รับการอบที่ถูกต้องและมีการเคลือบผิวดีเป็นพิเศษ
กลสมบัติของไม้ยางพารา
ไม้ยางพาราไม่จัดเป็นไม้เนื้อแข็งตามมาตรฐานของกรมป่าไม้และสำนักงานมาตรฐาน กระทรวงอุตสาหกรรม เป็นไม้ที่ไม่เหมาะสมอย่างยิ่งที่จะใช้เป็นไม้ในการก่อสร้าง ทั้งนี้เนื่องจากขนาดไม้ยางพาราที่จะนำมาเป็นไม้แปรรูปเป็นขนาดไม้ก่อสร้างหายาก การบิดงอและไม่คงทนเป็นสาเหตุสำคัญ แต่ก็ใช้ทำเป็นไม้แบบคอนกรีตดีพอสมควร ใช้ทำรังใส่ของดีมาก และมีแรงยึดตะปูสูง
อย่างไรก็ดีไม้ยางพารานั้นเหมาะอย่างยิ่งที่จะใช้ทำเครื่องเรือน โดยเฉพาะ โต๊ะ เก้าอี้ เพราะใช้ไม้แปรรูปที่มีขนาดไม่ใหญ่และยาวนัก สามารถเลือกไม้ส่วนที่ดีคัดมาทำโต๊ะและเครื่องเรือนได้ ความแข็งแรงไม่ใช่ปัญหาใหญ่ สำหรับไม้ยางพาราที่ใช้ทำเครื่องเรือนสีขาวนวลของเนื้อไม้ ทำให้มีลักษณะคล้ายไม้ Ramin (Gonystyllus spp. ) ของมาเลเซีย และคล้ายไม้มะปิน (Sterculia alata Roxb.) ของไทย ที่เป็นที่นิยมกันมากขณะนี้
ความทนทาน
ไม้ยางพาราเป็นไม้ที่ไม่ทน ผุง่าย และมอดกิน หากใช้ทำเครื่องเรือน ซึ่งโดยปกติไม่ถูกแดดและฝน เพราะใช้ภายในบ้าน สามารถทนอยู่ได้นานหากได้รับการป้องกันรักษาเนื้อไม้จากราและแมลงอย่างถูกต้องแล้ว ความทนทานก็ไม่แตกต่างไปจากเครื่องเรือนที่ทำจากไม้ชนิดอื่นๆ ที่นิยมใช้กันอยู่
ปัญหาสำคัญของไม้ยางพาราก็คือ การที่จะทำให้ไม้ยางพาราไม่เกิดราและมีสีเกิดขึ้นกับเนื้อไม้เป็นสีดำหรือน้ำเงิน ก่อนนำไปใช้ทำเครื่องเรือนและมิให้มีมอดเข้าไปกินภายหลังที่เป็นเครื่องเรือนแล้วเป็นเรื่องที่จะต้องทำเป็นพิเศษกว่าไม้ชนิดอื่นๆ ทั้งนี้เพื่อให้ได้เครื่องเรือนที่ดีสวยงามน่าใช้ศัตรูทำลายไม้ยางพาราและการป้องกัน
ไม้ยางพาราเป็นไม้ที่มีปริมาณแป้งอยู่ในเนื้อไม้ในเปอร์เซ็นต์ที่สูงมากเมื่อเปรียบเทียบกับไม้ชนิดอื่นๆ จากผลการวิเคราะห์ของกองวิจัยผลิตผลป่าไม้พบว่า ปริมาณแป้งที่มีอยู่ในไม้ยางพารานั้นมีอยู่สูงถึง 5.08 % ในขณะที่ในไม้ชนิดอื่นๆ จะมีปริมาณแป้งโดยเฉลี่ยไม่เกิน 1% เท่านั้น การที่ไม้ยางพารามีแป้งอยู่ในเนื้อไม้มากเช่นนี้ นอกจากจะทำให้ไม้ยางพารามีสีขาวนวลเป็นที่ต้องตาต้องใจผู้ใช้ประโยชน์ไม้ทั้งภายในและต่างประเทศ จนสามารถทำรายได้ให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจประดิษฐ์กรรมไม้ยางพาราอย่างมากแล้วคุณสมบัติประการ นี้ยังทำให้ไม้ยางพาราเป็นที่ชื่นชอบของสิ่งมีชีวิตอื่นๆ อีกด้วย อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าเสียดายว่าสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ที่นิยมชมชอบไม้ยางพาราเช่นเดียวกับมนุษย์นั้น ไม่ได้ร่วมมือกับมนุษย์ในการสร้างสรรความสวยงามให้กับไม้ยางพาราเพื่อจะนำมาใช้ประโยชน์ แต่กลับเข้าใช้ประโยชน์ แป้งที่มีอยู่มากในไม้ยางพาราเป็นอาหาร โดยกัดกินหรือเจริญเติบโตอยู่บนไม้ยางพารา ทำให้เกิดความเสียหายในลักษณะต่างๆ กัน ซึ่งถ้าหากไม่ได้รับการป้องกันแก้ไขที่ถูกต้องแล้วจะก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงต่ออุตสาหกรรมการใช้ประโยชน์ไม้ยางพาราได้ การที่จะป้องกันการเข้าทำลายไม้ยางพาราของสิ่งมีชีวิตต่างๆ เหล่านี้ จำเป็นที่จะต้องทำความรู้จักกับสิ่งมีชีวิตต่างๆ เหล่านั้นให้ดีเสียก่อน จึงจะสามารถวางแผนการป้องกันแก้ไขได้อย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพที่สุด สิ่งมีชีวิตที่เข้าทำลายไม้ยางพารานี้มีอยู่หลายชนิดด้วยกัน แต่ที่พบบ่อยและทำความเสียหายให้เกิดกับไม้ยางพาราได้อย่างรุนแรงมีอยู่ด้วยกัน 2 จำพวก คือ
ก. มอด คือ แมลงที่เข้าเจาะทำลาย เนื้อไม้ ทำให้เนื้อไม้เป็นรูพรุนอยู่ภายใน รูทางออกของตัวแก่แมลงจำพวกนี้ที่พบบนผิวไม้ทำให้ความสวยงามของผิวไม้ภายนอกเสียไป มอดจำพวกสำคัญที่พบทำความเสียหายให้เกิดกับไม้ยางพาราทั้งก่อนการใช้ประโยชน์และหลังจากที่นำมาประกอบเป็นเครื่องใช้ไม้สอยแล้ว ได้แก่ มอดขี้ขุย (Powder Post Beetles) ซึ่งจะเข้าทำลายไม้ได้รุนแรงมากจนเนื้อไม้ภายในถูกบ่อนทำลายเป็นผงคล้ายแป้งเป็นส่วนใหญ่ เหลือเฉพาะผิวไม้ด้านนอกเป็นผนังบางๆ มีรูทางออกกระจายทั่วไป มอดจำพวกนี้มีอยู่หลายชนิดด้วยกัน แต่ที่พบกระจายทั่วไปทั้งประเทศโดยเฉพาะตามแหล่งที่มีการทำไม้ยางพารา มี 3 ชนิดด้วยกัน คือ
1. Minthea Rugicollis Walker เป็นมอดขนาดเล็ก ลำตัวยาว 1.8-3.2 มิลลิเมตร สีน้ำตาล ปีกหน้าเมื่อส่องดูด้วยกล้องขยายจะพบขนสีขาวอมเหลืองเรียงไปตามยาวของลำตัว 6 แถว ตัวแก่ของมอดชนิดนี้มีอายุ 21 วัน ไข่จะฟักเป็นตัวหนอนในระยะเวลา 6 - 12 วัน ตัวหนอนกัดกินเนื้อไม้ประมาณ 2 เดือน จึงกลายเป็นดักแด้ ซึ่งจะออกเป็นตัวแก่ คือ ตัวมอด ในระยะเวลาประมาณ 7 วัน การเข้าทำลายไม้ของมอดชนิดนี้เริ่มจากตัวแก่หรือมอดตัวเมีย ซึ่งจะออกจากดักแด้ซึ่งอยู่ในเนื้อไม้ แล้วมาผสมพันธุ์กับมอดตัวผู้ แล้ววางไข่ซึ่งมีลักษณะเป็นหลอดแหลมเรียวเล็กๆ เข้าไปในช่องว่างระหว่างเซลล์หรือรอยแตกของเนื้อไม้ โดยตัวเมียตัวหนึ่งสามารถวางไข่ได้ 30 - 80 ฟอง ไข่จะฟักเป็นตัวอ่อน และกัดกินเนื้อไม้ โดยกินแห้งในเนื้อไม้เป็นอาหาร และขับถ่ายของเสียเป็นผงละเอียดคล้ายแป้งออกมา ในช่วงแรกของการทำลาย ผงคล้ายแป้งนี้จะอัดอยู่ในรูภายในเนื้อไม้ แต่ภายหลังเมื่อตัวหนอนเข้าดักแด้และกลายเป็นตัวแก่เจาะรูออกมาภายนอกเนื้อไม้ ผงเหล่านี้ก็จะหลุดล่วงตามรูทางออกของมอดมากองอยู่ภายนอก การทำลายเมื่อเกิดมากๆ เนื้อไม้ภายในจะถูกทำลายไปหมด เหลือแต่เพียงผิวนอกบางๆ ที่มีรูพรุนขนาดหัวเข็มหมุดอยู่ภายนอก ไม้ที่ถูกทำลายก็จะเสียกำลังความแข็งแรงไปไม่สามารถรับน้ำหนักหรือแรงกดต่างๆ ได้
มอดชนิดนี้มักพบเข้าทำลายไม้ที่มีความชื้นค่อนข้างต่ำ โดยพบเข้าทำลายไม้ที่มีความชื้น ตั้งแต่ 2-30% แต่ที่พบเข้าทำลายมากจะพบในไม้ที่มีความชื้น 12 - 15%
2. Sinoxylon Anale Lesne จัดเป็นมอดขนาดกลางสีน้ำตาลดำ ลำตัวยาว 4.0 -5.5 มิลลิเมตร แผ่นหลังขรุขระ ด้านบนเป็นหนามเล็กๆ เรียงกัน 4 - 5 อัน ปีกส่วนท้ายตัดเฉียงมีหนามข้างละ 1 อัน การเข้าทำลายไม้เริ่มด้วยมอดตัวเมียวางไข่บนรอยแตกหรือซอกไม้ แล้วตัวหนอน จะเจาะเข้าไปในไม้และทำลายไม้ในลักษณะเดียวกันกับมอดชนิดแรกที่กล่าวถึง แต่ช่วงระยะเวลาการเจริญเติบโตจากไข่ไปเป็นตัวแก่ยาวกว่า คือ ใช้เวลาทั้งสิ้นประมาณ 4 - 6 เดือน และรูทางออกจะมีขนาดประมาณเท่าหัวไม้ขีด ซึ่งใหญ่กว่ารูทางออกของมอดชนิดแรก
มอดชนิดนี้สามารถเข้าทำลายไม้สดได้ คือ จะพบตัวเมียวางไข่บนไม้ที่เพิ่งตัดได้และเมื่อตัวแก่ออกไปแล้ว จะสามารถกลับเข้าทำลายไม้ได้อีก ถ้าความชื้นในไม้ยังคงสูงกว่า 20%
3. Heterobostrychus Acquails Waterhouse จัดเป็นมอดขนาดใหญ่ มีสีน้ำตาลดำ มอดมีลักษณะเป็นรูปทรงกระบอก ตัวยาว 6 - 13 มิลลิเมตร ตัวผู้และตัวเมียมีลักษณะแตกต่างกัน คือ ปีกคู่หน้าของตัวผู้จะมีหนามข้างละ 1 อัน ตัวหนอนของมอดชนิดนี้มีขนาดใหญ่กว่ามอดชนิดสอง 2-3 เท่า และลักษณะการทำลายก็ใกล้เคียงกัน แต่รูทางออกจะมีขนาดใหญ่กว่า และมีระยะห่างจากกันมากกว่า ช่วงระยะเวลาการเจริญเติบโตของมอดทั้งสองชนิดนี้ก็ใกล้เคียงกัน คือ ประมาณ 4 - 6 เดือน แต่มอดขนาดใหญ่นี้จะพบเข้าทำลายไม้สด น้อยกว่ามอดชนิดที่ 2 คือ มักจะเข้าทำลายไม้ที่มีเดือน แต่มอดขนาดใหญ่นี้จะพบเข้าทำลายไม้สดน้อยกว่ามอดชนิดที่ 2 คือ มักจะเข้าทำลายไม้ที่มีความชื้นต่ำกว่า 50 / 5 ลงมาถึง 20%
นอกจากมอดขี้ขุยที่กล่าวถึงทั้ง 3 ชนิดแล้ว ยังมีมอดอีกจำพวกหนึ่งที่มีแนวโน้มว่าอาจจะระบาดทำลายไม้ยางพาราได้ โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ของประเทศ (Ambrosia Beetles) มอดชนิดที่กล่าวถึงนี้ชอบระบาดในแถบที่มีฝนตกชุกและมีความชื้นสูง ปัจจุบันพบว่าทำความเสียหายให้เกิดกัไม้ยางพาราในประเทศมาเลเซียอย่างมาก ลักษณะการเข้าทำลายของแมลงจำพวกนี้ คือ เจาะทำลายเนื้อไม้ภายในและในขณะเดียวกันบริเวณรูทำลายจะมีเชื้อราสีเทาดำเข้าทำลายด้วย ทำให้บริเวณความเสียหายรุนแรงขึ้น แมลงพวกนี้พบทำลายไม้ชนิดอื่นๆ ในประเทศไทยยังไม่พบเข้าทำความเสียหายให้เกิดกับไม้ยางพารา แต่ก็จัดเป็นแมลงชนิดหนึ่งที่ควรจะได้หาทางป้องกันการทำลายเสียแต่ต้นมือ เนื่องจากเข้าทำลายแล้วจะทำความเสียหายให้เกิดได้อย่างรุนแรงมาก
การป้องกันมิให้เกิดสีและมอดกิน
การป้องกันมิให้ราขึ้นไม้จนมีสีเกิดขึ้นและมอดเข้ากินไม้ ทำได้ด้วยการใช้น้ำยาเคมีช่วยตามขั้นตอน คือ เมื่อเป็นไม้ท่อนหลังตัดโค่นและทอนเป็นไม้ท่อนไม่เกิน 2 วัน ( 48 ซม.) ลอกเปลือกให้หมดแล้วใช้น้ำยา Sodium pentachlorophenate (DPCB) เข้มข้น 5 % สำหรับป้องกันรา ผสมดีลดริน 0.36 % สำหรับป้องกันมอด ละลายน้ำพ่นหรือจุ่มแล้วแต่ความสะดวก จะได้ผลในทางป้องกันได้ดีอย่างน้อยก็ 2 สัปดาห์ ก่อนที่จะแปรรูปและหลังแปรรูปแล้วทันที่ นำไปจุ่มน้ำยาดังกล่าวประมาณ 1 นาที นำไปผึ่งไว้ในที่ร่มมิให้ถูกฝน แล้วนำไปอบตามขั้นตอนก็จะช่วยได้มากทีเดียว การปฏิบัติดังนี้เปลืองน้ำยามากและอาจไม่สะดวกเพราะต้องลอกเปลือก อาจทำได้อีกวิธีหนึ่งคือ นำไม้เข้าแปรรูปทันที หลังตัดฟัน พยายามให้ใช้เวลาน้อยที่สุดไม่ควรเกิน 2 วัน เมื่อแปรรูปแล้วนำลงจุ่มน้ำยาทันทีที่ลงจากแท่นเลื่อย แล้วนำไปผึ่งและอบต่อไปก็จะได้ผลเช่นเดียวกัน และทางกลับหากไม้ยางพารานั้นเกิดราเป็นสีขึ้นแล้ว น้ำยาก็ไม่อาจแก้ไขสีนั้นหายไปได้
การทดลองในประเทศเพื่อนบ้านมาเลเซียก็ใช้วิธีเดียวกันกับที่กล่าวมาแล้ว คือ นำไม้ยางพาราที่แปรรูปใหม่ๆ จากท่อนที่ตัดโค่นและทอนมาไม่เกิน 48 ซม. จุ่มลงในน้ำยาซึ่งประกอบด้วย Sodium pentachlorophenate (กันรา) ผสม gamma benzene hexahloride แบะ borax ( กันมอด ) แล้วนำไปผึ่งและอบต่อไป (อัตราส่วนไม่ได้ยอกไว้ว่าเท่าไร) สำหรับการอัดน้ำยาโดยใช้ Copper - chrome argenic หรือสารหนู มักไม่ค่อยนิยม เพราะทำให้ไม้ยางพารามีสีเขียวปนเหลือง ซึ่งไม่เป็นที่ต้องการของผู้ใช้
อนึ่ง เท่าที่ได้พบที่ประเทศมาเลเซีย โรงงานสับชิ้นไม้ส่งต่างประเทศที่ลงทุนร่วมกันระหว่างมาเลเซียและญี่ปุ่น ที่ยะโฮบารุก็ได้ใช้น้ำยาเคมีพ่นผสมกับชิ้นไม้ยางพาราทับเพื่อป้องกันราทำให้เกิดสี ได้พยายามสอบถามเจ้าหน้าที่ญี่ปุ่นว่าใช้น้ำยาอะไร ได้รับคำตอบแต่เพียงว่าน้ำยาเคมี คิดว่าคงจะใช้น้ำยาสูตรเดียวกันก็เป็นได้
ข. เชื้อรา เชื้อราที่พบเข้าทำลายไม้ยางพารานั้น ส่วนมากจะเป็นพวกเดียวกันกับที่พบเข้าทำลายไม้ที่นำมาใช้ประโยชน์โดยทั่วๆ ไป แต่โดยที่สีของไม้ยางพาราเป็นคุณสมบัติประการสำคัญที่ทำให้ไม้ชนิดนี้มีคุณค่าเป็นที่นิยมใช้ทั่วไป เชื้อราที่ทำให้คุณสมบัติประการนี้เสื่อมไปจึงเป็นเชื้อราที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจการใช้ประโยชน์ไม้ยางพาราอย่างยิ่ง เชื้อราจำพวกที่สำคัญที่ควรกล่าวถึงในที่นี้มีอยู่ 2 จำพวกด้วยกัน คือ
1. เชื้อราย้อมสี หรือ Blue Stain หรือ Stain Fungi เป็นเชื้อราที่ทำให้เกิดสีตามผิวหรือภายในเนื้อไม้ เชื้อราพวกนี้ไม่ทำให้ความแข็งแรงของเนื้อไม้เสียไป เพราะเชื้อราไม่ได้เข้าทำลายผนังเซลล์ของไม้ สีที่พบอาจจะเป็นสีเทาอ่อนหรือเทาแก่เกือบดำ แล้วแต่ความรุนแรงในการทำลาย ถึงแม้ว่าจะไม่มีผลต่อความแข็งของไม้ แต่กลับมีผลทำให้ความสวยงามและราคาของไม้เสียหาย เนื่องจากไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมเครื่องเรือนหรือเฟอร์นิเจอร์ได้นอกจากจะนำไปใช้ทำเชื้อเพลิง เนื่องจากสีที่เกิดขึ้นภายในเนื้อไม้นั้นไม่สามารถทำให้ลบเลือนไปได้โดยง่าย
เชื้อราจำพวกนี้ต้องการความชื้นในการเจริญเติบโตค่อนข้างสูง โดยจะพบการเข้าทำลายได้อย่างรุนแรงในไม้ที่มีความชื้นมากว่า 30% ขึ้นไป อย่างไรก็ดี เราอาจพบการเข้าทำลายของราจำพวกนี้ในไม้สดที่นำไปอบจนความชื้นต่ำกว่า 30% ได้ ถ้าไม้นั้นไม่ได้ถูกนำเข้าอบในเวลาที่รวดเร็วพอที่จะทำให้เส้นใยของเชื้อราเจริญและสร้างสีขึ้นได้
2. ราขนมปัง หรือ Mold เป็นเชื้อราที่พบเข้าทำลายไม้ที่มีความชื้นสูงเป็นส่วนใหญ่ แต่อาจพบเข้าทำลายไม้แห้งที่เก็บอยู่ในสถานที่ที่มีความชื้นสูงได้ เนื่องจากเชื้อราจำพวกนี้ไม่จำเป็นต้องอาศัยความชื้นจากภายในเนื้อไม้ในการเจริญเติบโต แต่อาจจะใช้ความชื้นจากบรรยากาศโดยรอบก็ได้ ลักษณะการทำลายของเชื้อราจำพวกนี้ที่จะสังเกตได้ก็คือจะพบขุยละเอียดสีต่างๆ เช่น ขาว เขียว เหลือง เทา หรือ ดำ บนผิวไม้ ขุยเหล่านี้เกิดจากเซลล์สืบพันธุ์ของเชื้อราที่เจริญอยู่บนผิวไม้ ไม้ที่ถูกเชื้อราจำพวกนี้เข้าทำลายจะไม่สูญเสียความแข็งแรงไป และสีที่เกิดจากขุยของเชื้อราบนผิวไม้ก็สามารถที่จะขัดหรือเช็ด หรือไสออกได้ แต่ไม้ที่ถูกเชื้อราจำพวกนี้เข้าทำลายอย่างรุนแรงนั้นจะไม่นิยมนำไปใช้ในการทำเฟอร์นิเจอร์และเครื่องใช้ต่างๆ เนื่องจากจะต้องเสียเวลาและค่าใช้จ่ายในการกำจัดเชื้อราจำพวกนี้ออกไปเสียก่อน
การป้องกันรักษาเนื้อไม้ยางพารา
เนื่องจากไม้ยางพาราอาจจะถูกทั้งมอดและเชื้อราเข้าทำลายได้อย่างรวดเร็วหลังการตัดฟัน คือ ตัวเมียของมอดจะเข้าวางไข่บนไม้หรือตามรอยแตกของไม้ที่เพิ่งโค่นล้มลง และเส้นใยของเชื้อราก็จะเริ่มเจริญเข้าไปในเนื้อไม้ได้ภายในระยะเวลา 24 ชั่วโมงหลังการตัดฟัน ดังนั้นเพื่อป้องกันการเข้าทำลายของศัตรูทำลายไม้ยางพาราในทันทีที่ตัดฟันลง ก็จะสามารถป้องกันการเข้าทำลายของทั้งมอดและเชื้อราก่อนการแปรรูปไม้ได้ อย่างไรก็ดี เนื่องจากทั้งมอดและเชื้อราที่ได้กล่าวถึงข้างต้น ส่วนใหญ่สามารถเข้าทำลายไม้ยางพาราหลังการแปรรูปได้อีก ถ้าไม้แปรรูปนั้นไม่ได้ผ่านขั้นตอนการป้องกันมอดและเชื้อราอีกครั้งหนึ่งการที่จะช่วยให้ไม้ยางพาราปลอดจากการเข้าทำลายของมอดและเชื้อราที่กล่าวมาแล้วทั้งในขณะที่เป็นไม้ซุง เป็นไม้แปรรูป หรือเป็นผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปต่างๆ นั้น ควรจะยึดถือขั้นตอนต่างๆ ดังต่อไปนี้ คือ
ก. หลังการตัดฟันไม้ การป้องกันอาจใช้วิธีใดวิธีหนึ่งใน 2 วิธีคือ
1. การป้องกันโดยใช้สารเคมี ไม้ยางพาราที่ตัดฟันลงแล้วใหม่ๆ ควรจะได้รับการพ่นด้วยส่วนผสมของยากันเชื้อราและยาฆ่าแมลงเพื่อป้องกันความเสียหายจากมอดและเชื้อรา ซึ่งทั้งสองชนิดสามารถเข้าทำลายไม้ได้ในเวลาอันรวดเร็วมาก การพ่นยาจะต้องพ่นให้ทั่วทั้งท่อน โดยเฉพาะทางด้านหน้าตัดและตมรอยแตกของไม้และเปลือกไม้ ควรจะเอาใจใส่ดูแลเป็นพิเศษให้ยาเข้าไปเคลือบอยู่อย่างทั่วถึง เพราะการเข้าทำลายส่วนใหญ่นั้นเริ่มจากทางด้านหน้าตัดและตามรอยแตกบนผิวไม้
นอกจากการพ่นยาแล้ว อาจใช้การจุ่มไม้ลงในน้ำยาหรือใช้แปรงทาน้ำยาบนท่อนไม้ให้ทั่ว แต่ทั้งสองวิธีนี้ไม่นิยมใช้ในกรณีที่มีไม้มากๆ เนื่องจากสิ้นเปลืองเวลาในการปฏิบัติมาก
2. การป้องกันโดยไม่ใช้สารเคมี หลังการตัดฟันถ้าจำเป็นต้องทิ้งไม้ไว้เพื่อรอการแปรรูปเป็นเวลานาน หรือไม่สามารถที่จะใช้เคมีในการป้องกันการเข้าทำลายของศัตรูทำลายไม้ยางพาราได้ควรนำไม้ลงแช่ในน้ำโดยให้ท่อนไม้จมอยู่ใต้น้ำตลอดเวลา ก็จะสามารถป้องกันไม่ให้ไม้นั้นเสียหายได้เป็นเวลานานเท่าที่ไม้นั้นแช่อยู่ในน้ำ แหล่งน้ำที่นำไม้ลงแช่อยู่ในน้ำนานๆ อาจถูกแบคทีเรียเข้าทำลาย ซึ่งนอกจากจะเกิดกลิ่นเหม็นแล้ว ยังทำให้สีของไม้เปลี่ยนไปด้วย
การพ่นน้ำลงบนไม้ให้เปียกชุ่มอยู่เสมอ เป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะป้องกันการเข้าทำลายศัตรูไม้ยางพาราได้ วิธีนี้เป็นที่นิยมกันมากในต่างประเทศ แต่ปัจจุบันยังไม่มีการนำเข้ามาใช้ในประเทศไทย
ข. หลังการแปรรูป ไม้ยางพาราที่แปรรูปแล้ว ไม่ว่าจะแปรรูปมาจากไม้ซุงที่ได้รับการใช้สารเคมีในการป้องกันศัตรูทำลายไม้หรือจากการแช่น้ำก็ตาม จำเป็นต้องรีบนำไปจุ่มในสารเคมีที่ใช้ในการป้องกันการทำลายของทั้งมอดและเชื้อราอีกครั้งหนึ่ง การจุ่มควรใช้เวลาประมาณหนึ่งนาที โดยจุ่มให้เปียกทั่วทั้งท่อนแล้วจึงนำไปกองผึ่งหรือนำเข้าอบให้แห้ง ก็จะสามารถป้องกันการเสียหายที่จะเกิดขึ้นก่อนที่จะนำไม้ยางพาราไปใช้ประโยชน์ต่อไปได้
ไม้ที่ได้รับการจุ่มน้ำยาหลังการแปรรูปแล้ว เมื่อนำมาใช้ทำเฟอร์นิเจอร์จะต้องมีการตัดทอน ไส ตกแต่ง กลึง เจาะ หรือบากไม้ หลังจากที่ได้ขนาดตามต้องการแล้ว ต้องทำการจุ่มไม้ในน้ำยาป้องกันมอดและเชื้อราอีกครั้งหนึ่ง แล้วกองผึ่งไว้ให้แห้งเสียก่อนจึงจะนำไปประกอบเป็นเฟอร์นิเจอร์ต่อไปได้โดยปลอดภัยไม่มีมอดและเชื้อราเข้าทำลายหลังจากที่ได้ประกอบเป็นผลิตภัณฑ์เรียบร้อยแล้วสารเคมีที่ใช้ในการป้องกันรักษาเนื้อไม้ยางพารา แบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ
ก. สารเคมีที่ใช้ในการป้องกันเชื้อรา เท่าที่ฝ่ายวิจัยป้องกันรักษาเนื้อไม้ กองวิจัยผลิตผลป่าไม้ ได้ทำการวิจัยมาแล้ว พบว่ามีสารเคมีอยู่หลายชนิดด้วยกัน ซึ่งอาจจะเลือกใช้ชนิดใดชนิดหนึ่งใน 3 ชนิดนี้ คือ
1. Busan 1009 ( Unicide 20) 3%
2. Farmay plus 3%
3. Sodium pentachlorophenate 2%
สำหรับ Sodium pentachlorophenate นั้น ปัจจุบันนิยมใช้กันอย่างกว้างขวาง เนื่องจากหาได้ง่ายและราคาถูกกว่า 2 ชนิดแรก แต่สารเคมีชนิดนี้เป็นสารที่มีพิษตกค้างร้ายแรงซึ่งหลายประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศที่พัฒนาแล้ว ซึ่งเป็นผู้นำเข้าผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปไม้ยางพาราประกาศห้ามใช้ การใช้สารเคมีชนิดนี้กับไม้ยางพาราที่จะนำไปทำผลิตภัณฑ์ส่งไปขายให้ประเทศเหล่านี้อาจเกิดปัญหาในการนำเข้าที่ทำให้เกิดผลเสียหายอย่างร้ายแรงต่อการลงทุนทำอุตสาหกรรมส่งออกผลิตภัณฑ์ไม้ยางพาราได้
ข. สารเคมีที่ใช้ในการป้องกันมอด จากผลการวิจัยพบว่า สารเคมีชนิดใดชนิดหนึ่งดังต่อไปนี้ สามารถนำไปใช้ในการป้องกันมอดทำลายไม้ยางพาราได้ ถ้าไม้นั้นได้รับการป้องกันถูกต้องตามขั้นตอนที่ได้กล่าวไว้แล้วข้างต้น
1. Cislin 0.005%
2. Perigen 0.01%
3. Chlordane 1%
4. Aldrin 0.5%
5. Sumithion 3%
6. Boron Compound 15%
สารเคมี 2 ชนิดแรก เป็นสารที่มีประสิทธิภาพสูงในการป้องกันแมลงและปลอดภัยต่อทั้งผู้ใช้ยาและผู้ใช้ผลิตภัณฑ์ แต่มีราคาแพง จึงไม่ใคร่ใช้กันแพร่หลายนักในประเทศไทย สารเคมีชนิดที่ 3 และที่ 4 เป็นสารเคมีที่ใช้ได้ผลมาเป็นเวลานานพอสมควร แต่ปัจจุบันการใช้สารเคมีจำพวกนี้ประสบปัญหา เช่นเดียวกับการใช้ Sodium Pentachlorophenate จึงควรที่จะพิจารณาให้ดีก่อนที่จะเลือกใช้สารเคมีจำพวกนี้ ส่วน Sumithion เป็นสารเคมีชนิดใหม่ที่เริ่มนำมาใช้ในด้านการป้องกันรักษาเนื้อไม้ ปรากฏว่าใช้ป้องกันการทำลายมอดได้ผลดี สำหรับ Boron Compound นั้น ปัจจุบันใช้กันอย่างกว้างขวางภายในประเทศ แต่จัดเป็นสารเคมีที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันมอดได้ในระยะเวลาที่สั้นกว่าสารอื่นๆ อีก 5 ชนิด
ในการป้องกันไม้ยางพาราจากการเข้าทำลายของมอดและเชื้อรานั้น จำเป็นต้องใช้สารเคมีชนิดใดชนิดหนึ่งในข้อ ก. แล้วนำมาผสมกับสารเคมีชนิดใดชนิดหนึ่งในข้อ ข. แล้วจึงนำส่วนผสมของสารเคมีทั้งสองชนิดไปใช้ในการป้องกันไม้ยางพาราต่อไปตามกรรมวิธีที่ต้องการ สำหรับกรรมวิธีที่ได้กล่าวถึงแล้วข้างต้น ได้แก่ การพ่นยา หรือจุ่ม หรือทางสารเคมีบนไม้ เป็นวิธีที่ต้องการอุปกรณ์ที่หาได้ง่ายๆ ไม่ยุ่งยาก และเสียค่าใช้จ่ายในการซื้อหาอุปกรณ์ไม่มากนัก แต่ไม้ที่ผ่านกรรมวิธีการป้องกันรักษาเนื้อไม้ดังกล่าวมีตัวยาเคลือบอยู่เฉพาะที่ผิวนอกของไม้หรือซึมเข้าไปในเนื้อไม้แต่เพียงตื้นๆ เท่านั้น ในกรณีที่ต้องการให้น้ำยาป้องกันรักษาเนื้อไม้ซึมเข้าไปในเนื้อไม้มากๆ จำเป็นที่จะต้องใช้กรรมวิธีการป้องกันรักษาเนื้อไม้แบบใช้กำลังอัด หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่าการอัดน้ำยาไม้
การอัดน้ำยาไม้ ( Wood Impregnation )
การอัดน้ำยา คือ การป้องกันรักษาเนื้อได้โดยการใช้เครื่องจักรเพื่อทำให้เกิดแรงดัน ดันสารเคมีให้เข้าไปอยู่ในเนื้อไม้ ซึ่งถูกจัดเรียงไว้ภายในถังอัดน้ำยาซึ่งจะต้องเป็นถังที่มีความทนทานต่อแรงกำลังอัด ( Pressure ) ได้สูง และมีฝาปิดสนิทได้ การอัดน้ำยาไม้นี้เป็นที่นิยมใช้กันมากในปัจจุบัน เนื่องจากสามารถอัดน้ำยาเข้าไปได้ลึกและสม่ำเสมอกว่ากรรมวิธีอื่นๆ ยิ่งไปกว่านั้นยังสามารถควบคุมปริมาณของยาที่จะให้เข้าไปในไม้ได้ตามความต้องการอีกด้วย เป็นกรรมวิธีที่สามารถใช้อาบน้ำยาไม้ได้ทั้งสดและไม้อบแห้งแล้ว แต่มีข้อเสีย คือ เครื่องมือและอุปกรณ์ที่ใช้มีราคาแพง และจำเป็นต้องเสียค่าขนสงไม้ไปและกลับจากโรงงานอัดน้ำยาไม้ ซึ่งเป็นการเพิ่มต้นทุนการอัดน้ำยาไม้ให้สูงขึ้น
อุปกรณ์ที่ใช้ในการอัดน้ำยาไม้
การอัดน้ำยาไม้แบ่งออกเป็นวิธีย่อยได้หลายวิธี แต่มีอุปกรณ์หลักที่จำเป็นที่จะต้องใช้เหมือนกัน คือ
1. ถังอัดน้ำยา ( Impregnated Tank )
2. ถังเก็บน้ำยา ( Storage and Measuring Tank )
3. เครื่องอัดความดัน ( Hydraulic Pump )
4. เครื่องทำสูญญากาศ ( Vacuum Pump )
การอัดน้ำยาไม้วิธีต่างๆ
การอัดน้ำยาไม้โดยใช้กำลังอัดแต่ละวิธี มีกรรมวิธีการปฏิบัติที่แตกต่างกันไปเล็กน้อย ทั้งนี้ก็เพื่อให้ได้ไม้อัดน้ำยาที่เหมาะสมต่อการนำไปใช้งานในลักษณะที่แตกต่างกันออกไป วิธีที่ใช้กันอยู่มากตามโรงงานอัดน้ำยาไม้ทั้งในและต่างประเทศ ได้แก่ การอัดน้ำยาแบบเต็มเซลล์ และการอัดน้ำยาแบบไม่เต็มเซลล์ ซึ่งหลักเกณฑ์ในการอัดน้ำยาทั้งสองวิธีนี้ และวิธีอื่นๆ ที่มีแนวโน้มว่าเหมาะสมที่จะนำมาใช้ในการป้องกันรักษาไม้ยางพารา มีดังต่อไปนี้
1. การอัดนำยาแบบเต็มเซลล์ ( Full Cell Process ) เป็นการอัดน้ำยาไม้โดยมีวัตถุประสงค์ให้น้ำยาป้องกันรักษาเนื้อไม้เข้าไปอยู่เต็มในเซลล์และในช่องว่างระหว่างเซลล์ของไม้ น้ำยาที่ใช้ในการอัดน้ำยาไม้วิธีนี้มีทั้งน้ำยาจำพวกสารเคมีที่ละลายในน้ำและสารเคมีที่ละลายในน้ำมัน ขั้นตอนในการอัดน้ำยาไม้แบบเต็มเซลล์มีดังนี้ คือ
- นำไม้เข้าบรรจุในถังอัดน้ำยา
- ทำสูญญากาศภายในถังอัดน้ำยา
- ปล่อยน้ำยาเข้าเต็มถัง
- เพิ่มแรงอัดภายในถังอัดน้ำยา
- ลดแรงอัด
- สูบน้ำยาออก
- ทำสูญญากาศในถังอีกครั้งหนึ่ง
- นำไม้ออกจากถังอัดน้ำยา
2. การอัดน้ำยาแบบไม่เต็มเซลล์ ( Empty Cell Process ) เป็นการอัดน้ำยาโดยให้น้ำยาซึมเจ้าไปอยู่ในผนังเซลล์ของไม้โดยไม่เข้าไปอยู่ในช่องว่าระหว่างเซลล์ แบ่งออกเป็น 2 วิธีย่อยๆ คือ วิธีของรือปิง และวิธีของลอว์รี่ ขั้นตอนการอัดน้ำยา 2 วิธีย่อยนี้ คล้ายคลึงกับการอัดน้ำยาแบบเต็มเซลล์ แต่หลังจากที่นำไม้เข้าบรรจุในถังอัดน้ำยาแล้วจะไม่มีการทำสูญญากาศก่นอที่จะปล่อยน้ำยาเข้าถัง การอัดน้ำยาไม้แบบไม่เต็มเซลล์นี้นิยมใช้กันมากในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นไม้หมอนรถไฟ เสาไฟฟ้า เสาโทรเลข หรือไม้ที่ใช้ในการก่อสร้างอื่นๆ เนื่องจากเป็นวิธีที่ทำให้น้ำยาซึมเข้าไปในเนื้อไม้ได้ลึก โดยไม่สิ้นเปลืองน้ำยามาก ไม้ที่จะนำมาอัดน้ำยาตามกรรมวิธีนี้ได้ดีจะต้องเป็นไม้จำพวกที่อัดน้ำยาได้ไม่ยากนัก
3. การอัดน้ำยาแบบสลับระดับความดัน (Oscillation and Alternating Pressure Process)
เป็นการอัดน้ำยาโดยการเปลี่ยนระดับความดันภายในถังอัดน้ำยาให้สูงๆ ต่ำๆ สลับกันหลายๆ ครั้ง โดยมีวัตถุประสงค์ให้น้ำยาถูกดันเข้าไปในเซลล์ของไม้ให้มากที่สุด เป็นวิธีที่ใช้ได้ผลดีกับไม้ พวกที่อัดน้ำยาได้ยาก สามารถใช้ได้กับทั้งไม้สดและไม้แห้งแล้ว
4. Cellon Process คือ การอัดน้ำยาไม้โดยใช้ตัวทำลาย เป็นสารที่หลังจากที่ได้ทำหน้าที่เป็นตัวนำสารเคมีที่เป็นตัวยาป้องกันรักษาเนื้อไม้เข้าไปในเนื้อไม้แล้ว จะไม่คงอยู่ในเนื้อไม้พร้อมกับตัวยา แต่จะระเหยออกมาจากไม้จนหมด ไม้ที่อัดน้ำยาเสร็จแล้วจะมีลักษณะเหมือนกับไม้ที่ไม่ได้อัดน้ำยาแต่จะมีความทนทานเพิ่มขึ้น สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้กว้างขวางกว่าเดิม
(ยังมีต่อ).../การผลิตเครื่องเรือน...

แท็ก ยางพารา  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ