(ต่อ 2) ไม้ยางพารา

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 21, 2004 14:35 —กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม

        การผลิตเครื่องเรือนจากไม้ยางพารา
การนำไม้ยางพารามาใช้ทำเครื่องเรือนในประเทศไทยมีมามากกว่า 20 ปีแล้ว โดยส่วนใหญ่จะผลิตขายต่างประเทศ และปัจจุบันการใช้ไม้ยางพารามาทำเครื่องเรือนได้เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากความต้องการของตลาดและการขาดแคลนของไม้ชนิดอื่น ถ้ามองถึงความเหมาะสมของไม้ยางพาราที่จะนำมาใช้ทำเครื่องเรือนแล้ว จะเห็นว่า
1. ปริมาณไม้ : ไม้ยางพาราเมื่อมีอายุ 20 - 30 ปี เจ้าของสวนจะโค่นเพื่อปลูกทดแทน เนื่องจากให้ปริมาณน้ำยางน้อย ดังนั้น ทุกปีจะมีการโค่นสวนยางประมาณ 3 แสนกว่าไร่ คิดเป็นเนื้อไม้ประมาณ 8 ล้านลูกบาศ์กเมตร
2. ลักษณะของเนื้อไม้ : สีตามธรรมชาติของไม้ยางพาราเป็นสีขาวอมเหลืออ่อน หรืออมครีม มีลวดลายให้เห็นถ้าเลื่อยไม้ตัดรัศมี จึงเหมาะที่จะใช้ทำเครื่องเรือนสีธรรมชาติหรือสีย้อม
3. น้ำหนักและความแข็งแรง : ถ้าเปรียบเทียบไม้ยางพารากับไม้สักแล้ว จะพบว่าเป็นไม้อยู่ในกลุ่มเดียวกัน คือ มีน้ำหนักและความแข้งแรงปานกลาง
4. คุณสมบัติเกี่ยวกับการอบแห้ง การหดตัว และการคงรูปขณะใช้งาน : จากข้อมูลการอบไม้ของโรงงานอบไม้ จะพบว่าการอบไม้ยางพาราหนา 2 นิ้ว จะใช้เวลาประมาณ 10 - 12 วัน ซึ่งจะเร็วกว่าการอบไม้สักประมาณ 2 เท่า การแตกเสียหายจากการอบมีน้อย นอกจากไม้ติดไส้ที่จะแตกเสียหายมาก สำหรับการหดตัวของไม้ในด้านรัศมีและด้านสัมผัสจะใกล้เคียงกับไม้สัก แต่การหดตัวทางด้านยาวตามเสี้ยนไม้ของไม้ยางพาราจะมีค่าสูงกว่าปรกติ คือ 0.9 - 1.1 % การเรียงไม้อย่างถูกวิธีและการใช้น้ำหนักกดทับขณะอบจะช่วยลดการเสียหายจากการโก่งบิดงอได้ การคงรูปขณะใช้งานของไม้ยางพาราอยู่ในเกณฑ์ใช้ได้
5. ความยากง่ายในการตกแต่งด้วยเครื่องจักร : ไม้ยางพาราเป็นไม้เนื้อแข็งปานกลาง สามารถแปรรูป เลื่อย หรือไสได้ง่าย
สำหรับปัญหาของไม้ยางพาราที่ทำให้ไม้ยางพาราได้ชื่อว่าเป็นไม้ปัญหา (Trouble Wood) ที่โรงงานผลิตเครื่องเรือนไม้ยางพาราจะต้องคำนึงถึง คือ
1. ไม้ยางพาราถูกทำลายด้วยมอดหรือราได้ง่าย หลังการตัดทอนและวจะต้องรีบแปรรูป ป้องกันรักษาด้วยการอาบหรืออัดน้ำยาเคมีและอบแห้ง ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากไม้ยางพาราควรจะนำไปใช้ในที่แห้ง ไม่สัมผัสน้ำ หรือความชื้นสูง
2. ไม้ยางพารามีการบิด โก่งงอ และมีตามาก การนำมาใช้ควรทำเป็นชิ้นส่วนสั้นๆ หากต้องการทำชิ้นส่วนที่มีความยาวหรือหน้ากว้าง ควรจะใช้ไม้ประสาน
3. การเลื่อยตัดทอน การซอย การเจาะรู การตีบัว หากใบมีดไม่คมหรือหรือการขัดที่รุนแรงจะทำให้เกิดรอยไม้บนเนื้อไม้ได้
4. ไม้ยางพารามีเสี้ยนขุยเป็นบางบริเวณ ทำให้การไสให้เรียบทำได้ยาก ต้องเสียเวลาขัดมาก การย้อมสีก็ทำได้ยาก เนื่องจากการดูดซึมสีไม่เท่ากัน การทำชิ้นส่วนด้วยวิธีกลึงกลมจะลดเสี้ยนขุย
5. ไม้ยางพาราจะมีปริมาณลดลงในหน้าฝน เนื่องจากการชักลากทำได้ยาก
การวางแผนการผลิต
การผลิตเครื่องเรือนก็เพื่อที่จะจำหน่ายให้ลูกค้าโดยที่ทำและส่งสินค้าตามรูปแบบที่ได้ตกลงกัน ในจำนวนที่ถูกต้อง คุณภาพที่ถูกต้อง เวลาที่ถูกต้อง โดยที่ค่าใช้จ่ายควรจะต่ำสุดเท่าที่จะเป็นได้ด้วยการลงทุนที่น้อยที่สุด
การผลิตจะขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของธุรกิจ การจัดการ การผลิตจะไม่สามารถมีประสิทธิภาพถ้ายังไม่สามารถวางแผนการผลิตได้ การวางแผนการผลิตจะไม่ดีไปกว่าการทำโปรแกรมการขาย ซึ่งหมายความว่าการทำรายละเอียดการขายหรือการคาดการณ์ จะต้องทำเป็นระยะยาว แม้แต่การสั่งจองซื้อของลูกค้าก็จะต้องรวมสิ่งที่อยู่นอกเหนือการคาดการณ์ด้วย
วัตถุประสงค์หลักของการวางแผนการผลิตมี 4 ข้อ คือ
1. เพื่อที่จะรักษาให้ได้ผลผลิตออกมามากที่สุดเท่าที่จะทำได้
2. เพื่อที่จะรักษาปริมาณการเก็บวัสดุและงานในการผลิตให้น้อยที่สุด
3. เพื่อใช้กำลังการผลิตของโรงงานให้เต็มความสามารถ
4. เพื่อเป็นข้อมูลการบริหาร การขาย การซื้อ และการผลิต เพื่อให้เกิดการตัดสินใจ และจัดลำดับได้ถูกต้องและ ทันที
เทคนิคการผลิต
ปัญหาใหญ่ที่สุดของการผลิตเครื่องเรือนที่โรงงานเกือบทุกโรงประสบเหมือนกัน คือ มีรูปแบบที่จะต้องผลิตมากมาย และแต่ละชิ้นส่วนก็มีรูปร่างและขนาดแตกต่างกันไป การผลิตเครื่องเรือนโดยทั่วไปจึงไม่เป็นแบบสายการผลิต แต่เป็นการผลิตเป็นรุ่นๆ รุ่นหนึ่งๆ อาจจะเป็นจำนวนสิบหรือจำนวนร้อยขึ้นอยู่กับชนิดของผลิตภัณฑ์ ดังนั้น การผลิตจึงต้องการความถูกต้องของขนาดชิ้นส่วน ซึ่งเครื่องจักรใหม่ๆ จะมีความถูกต้อง 0.05 มิลลิเมตร แต่โดยทั่วไปแล้วชิ้นงานควรมีความถูกต้อง 0.1 - 0.3 มิลิเมตร ซึ่งจะวัดรวมถึงขนาดที่เปลี่ยนไปจากการเปลี่ยนแปลงความชื้นด้วย
ข้อดีของการผลิตที่มีความถูกต้องสูง
1. สามารถใช้ชิ้นส่วนร่วมกันสำหรับผลิตภัณฑ์ที่เหมือนกัน
2. การเลื่อนพอดีของชิ้นส่วน ไม่จำเป็นต้องใช้มือประกอบ
3. ข้อต่อจะมีความแข็งแรงและประกอบได้ง่าย
4. สามารถผลิตได้คราวละมากๆ
5. จำนวนชิ้นส่วนที่ใช้ไม่ได้ลดลง
6. การถูกตำหนิต่อว่าจากลูกค้ามีน้อย
7. ให้กำไรในการผลิตได้มากกว่า
เพื่อจะได้ให้การผลิตชิ้นส่วนและผลิตภัณฑ์ที่ถูกต้อง จะต้องดำเนินการ คือ
1. จะต้องบำรุงรักษาเครื่องจักรอย่างถูกวิธีเป็นประจำ
2. ใช้เครื่องมือเฉพาะ
3. ใช้เครื่องมือที่บำรุงรักษาดี
4. การตั้งเครื่องมือต้องใช้อุปกรณ์ตั้งที่ละเอียด จะต้องตรวจสอบหลังการตั้งโดยการป้อนไม้ตัวอย่าง แล้ววัดขนาด
5. จะต้องเขียนแบบการผลิต และตัวเลขที่แน่นอนกำกับ
6. ใช้เครื่องมือที่มีความถูกต้องสูง เช่น เวอร์เนียร์ ไม้บรรทัดเหล็ก ฉาก เป็นต้น
7. ใช้เกจและเท็มเพลทควบคุมขนาดขณะทำการผลิต
8. ใช้จิ๊กในการขึ้นรูป และประกอบทุกครั้งที่ใช้ได้
9. ที่เครื่องจักรและที่ประกอบจะต้องมีแสงสว่างเพียงพอ
10. ควรจะมีการตรวจเช็คเป็นจุดๆ
การใช้เครื่องจักร
การใช้เครื่องจักรในการผลิตเครื่องเรือน ควรจะเอาใจใส่สิ่งต่อไปนี้
1. เมื่อเป็นไปได้ ควรจะใช้เครื่องจักรที่มีระบบป้อนชิ้นงานได้อันโนมัติ
2. จะต้องใช้อุปกรณ์ป้องกันเสมอ
3. ควรจะมีระบบดูดฝุ่น
4. ควรจะใช้ใบมีดที่เป็นทังสเตน คาร์ไบด์ ที่ให้อายุการใช้งานนาน
5. การเลือกความเร็วในการป้อนชิ้นงาน จะมีผลต่อความเรียบของผิว
6. เครื่องจักรแบบหลายหัว เช่น เครื่องไส 4 หน้า เครื่องทำเดือย 2 ด้าน เป็นต้นจะเหมาะกับโรงงานที่มีกำลังการผลิตสูง ไม่เหมาะกับโรงงานขนาดเล็ก
ขั้นตอนการผลิตเครื่องเรือนจากไม้ยางพารา
การผลิตเครื่องเรือนจากไม้ยางพาราก็เหมือนกับการผลิตเครื่องเรือนจากไม้สักและไม้อื่นๆ ทั่วไป นอกจากการอัดและอาบน้ำยาไม้ป้องกันมอดและรา และหลีกเลี่ยงข้อเสียของคุณสมบัติของไม้ตามที่ได้กล่าวแล้วข้างต้น
ไม้ยางพาราหลังจากโค่นแล้ว จะต้องรีบดำเนินการตัดทอนนำเข้าโรงงานแปรรูป และจุ่ม/อัดน้ำยาเคมีป้องกันมอดและรา แล้วจึงนำเข้าเตาอบเพื่อให้ไม้แห้ง ถ้าหากชักช้าไม้จะเปลี่ยนสีเป็นสีน้ำตาล หรือสีดำ และมอดเข้าทำลายได้ ไม้ทีออกจากเตาควรมีความชื้น 8 - 10 % ไม้ที่อบแล้วควรจะเก็บในที่แห้ง มีหลังคา อากาศถ่ายเทได้สะดวก
การเตรียมไม้ด้วยการตัดหยาบ โดยจะตัดส่วนของไม้ที่มีตำหนิออกทิ้ง และให้ได้ไม้ไว้ใช้ มีขนาดความยาวกว่าขนาดที่ต้องการเล็กน้อย ประมาณ 1 - 5 เซนติเมตร การผ่าไม้ให้ได้ขนาดเล็กลงควรหลีกเลี่ยง เพราะอาจจะเกิดการบิดงอ ควรจะใช้ไม้ขนาดที่อบ
การไสไม้
ปรกติจะต้องไสชิดก่อนแล้วจึงไสขนาน จึงจะได้ไม้เหลี่ยมที่มีมุมเป็นมุมฉาก เครื่องไสชิดสามารถติดตั้งเครื่องป้อนอัตโนมัติเข้าที่แท่นหลัง สำหรับการไสที่ต้องการความรวดเร็วและเป็นชิ้นงานที่มีบัว อาจจะใช้เครื่องไส 4 หน้า
การตัดขนาด
สามารถใช้เครื่องเลื่อยวงเดือนแบบแท่นเลื่อน หรือเครื่องเลื่อยตัดขนาดแบบ 2 ใบเลื่อย
การตีบัว
เครื่องเร้าเตอร์และเครื่องเพลาตั้งเป็นเครื่องจักรที่ใช้กันมาก เมื่อใช้ร่วมกับจิ๊กจะสามารถทำงานได้หลายรูปร่างและทำงานได้รวดเร็ว ปัจจุบันมีการติดเครื่องจักรแบบอันโนมัติ ทำให้ใช้งานได้สะดวกมากยิ่งขึ้น
การกลึง
เป็นวิธีการที่นิยมทำชิ้นส่วนเครื่องเรือนส่งประเทศญี่ปุ่น และไม้ยางพาราทำได้ดีกว่าไม้เหลี่ยมด้วย เนื่องจากเกิดขุยน้อยกว่า
การจุ่มน้ำยา
สำหรับชิ้นส่วนที่ทำจากไม้แปรรูปที่จุ่มน้ำยาจะต้องจุ่มน้ำยาอีกครั้ง เนื่องจากน้ำยาเก่าได้ถูกไสกลึงออกหมดการลงแป้งรองพื้น
เป็นวิธีที่ทำให้เสี้ยนของไม้ยางพาราไม่ตั้งขึ้นเมื่อทาแลคเกอร์ ทำให้เคลือบสีผิวได้ง่าย ไม่ต้องขัดมาก และใช้อุดร่องเสี้ยน โรงงานทั่วไปจะดินสอพองผสมกาวลาเท็กซ์ 1 - 2 % ทาให้ทั่ว
การขัดกระดาษทราย
เป็นขั้นตอนก่อนการประกอบและเคลือบสีผิว การขัดจะมีผลอย่างมากต่อการเคลือบสีผิว การขัดจึงต้องทำให้ผิวของชิ้นงานราบเรียบ โดยทั่วไปการขัดขั้นสุดท้ายจะใช้กระดาษทรายเบอร์ 240
การทำเดือย
การเข้าไม้แบบใช้เดือยเหลี่ยมสามารถทำได้ และให้ความแข็งแรงมากด้วย แต่ปัจจุบันนิยมใช้เดือยกลมที่ทำได้ง่ายและรวดเร็ว โดยใช้เครื่องเจาะที่มีระยะห่างของดอก 22 และ 32 มิลลิเมตร ขนาดของเดือยจะต้องให้ความแข็งแรงได้เพียงพอ
การอัดประกอบ
สำหรับเครื่องเรือนที่ผลิตส่งออกส่วนใหญ่จะทำเป็นพวกเครื่องเรือนถอดประกอบได้ ( Knock Down) เพื่อประหยัดในการขนส่ง จึงจะประกอบเฉพาะบางชิ้นส่วน การประกอบจะใช้กาวลาเท็กซ์ กาวยูเรีย หรือกาวอื่นๆ แล้วแต่ความแข็งแรงที่ต้องการ การทำจิ๊กประกอบจะช่วยให้ประกอบได้แน่นอนและรวดเร็ว
การเคลือบสีผิว
เป็นวิธีเพิ่มคุณค่าของเครื่องเรือน ทำให้ผิวหน้าของไม้แลดูสวยงาม
การตรวจสอบเครื่องเรือนที่ผลิตควรมีการตรวจสอบทุกขั้นตอน โดยเฉพาะเมื่อผลิตเสร็จ แล้วจะต้องตรวจสอบอย่างละเอียด เมื่อพบข้อบกพร่องจะต้องแก้ไขก่อนส่งให้ลูกค้า การตรวจสอบสามารถทำกับผลิตภัณฑ์ทุกชิ้น หรือใช้วิธีสุ่มตัวอย่างแล้วแต่ความจำเป็นของวิธีทดสอบ สิ่งที่ควรตรวจสอบคือ
1. ความเที่ยงตรงของผลิตภัณฑ์ ได้แก่ ขนาดต่างๆ ทั้งภายนอกและภายใน ระยะห่างของส่วนที่เคลื่อนที่
2. ความเรียบร้อยของผลิตภัณฑ์ เช่น จากตำหนิของไม้ (ตา จุดดำ) รา รูมอด ความแนบสนิทขอบรอยต่อ
3. คุณภาพของสีผิว เช่น ความเรียบ สี ความมัน เป็นต้น
4. ความแข็งแรงทนทาน
ไม้ประสาน
ไม้ประสาน ( Laminated Timber ) หมายถึง ผลิตภัณฑ์ไม้ที่ผลิตจากากรนำไม้ชิ้นเล็กๆ มาประกอบกันด้วยกาว โดยให้เสี้ยนไม้ของชิ้นที่ติดอยู่ในแนวเดียวกัน
สำหรับไม้ยางพาราซึ่งเป็นไม้โตเร็ว มีตำหนิมาจากตา การโก่ง บิดงอ การประสานจึงเป็นวิธีที่เหมาะสมที่ทำไม้เป็นแผ่นใหญ่หรือท่อนยาว เช่น หน้าโต๊ะ พนังเตียง พี้นบันได เป็นต้น
(ยังมีต่อ).../อุตสาหกรรม..

แท็ก ยางพารา  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ