กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่อง FTA ให้กับเกษตรกรผู้ปลูกหอมและกระเทียมในจังหวัดศรีสะเกษและเกษตรผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมในจังหวัดนครราชสีมา

ข่าวเศรษฐกิจ Friday September 23, 2005 13:31 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

          กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ  กระทรวงพาณิชย์ ได้จัดเวทีเสวนาชาวบ้านเรื่อง FTA มีผลต่อเกษตรกรผู้ปลูกหอมกระเทียมอย่างไร ณ ศาลาอำเภอยางชุมน้อย จังหวัดศรีสะเกษ เพื่อเป็นการสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการเปิดเสรีการค้า
นางอัญชนา วิทยาธรรมธัช นักวิชาการพาณิชย์ 9 ชช. กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศกล่าวถึงการร่วมเดินทางเสวนาในครั้งนี้ว่า รู้สึกพอใจกับการเดินทางมาสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการเปิดเขตการค้าเสรี หรือ FTA เนื่องจากเกษตรกรผู้ปลูกหอมและกระเทียมให้ความสนใจเข้าร่วมการเสวนาครั้งนี้อย่างคับคั่ง อย่างไรก็ตามได้เสนอแนะให้เกษตรกรรู้จักบริหารจัดการผลผลิต เพื่อให้สินค้ามีคุณภาพและได้มาตรฐานมากขึ้นในทุกขั้นตอน ซึ่งจะส่งผลให้เกษตรกรขายผลผลิตหอมและกระเทียมได้ในราคาที่ดีขึ้น ทั้งนี้เพื่อรองรับการส่งออกและการแข่งขันกับประเทศคู่ค้าเมื่อเปิดเขตการค้าเสรีในอนาคต
สำหรับ ในระยะยาวเกษตรกรจำเป็นต้องรู้จักวิธีการดูแลรักษาผลผลิตให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการปลูกหอม จะต้องไม่มีสารตกค้าง หรืออาจหันมาปลูกผลผลิตโดยการใช้เกษตรอินทรีย์ ซึ่งเป็นเรื่องที่จะต้องส่งเสริมให้เกษตรกรเข้าใจและเพาะปลูกกันต่อไป
ขณะที่การจัดเวทีเสวนาชาวบ้านเรื่อง FTA มีผลต่อเกษตรกรผู้ปลูกหม่อน และเลี้ยงไหมอย่างไร ณ อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา นางอัญชนา กล่าวว่า สินค้าเส้นไหม จัดเป็นสินค้าอ่อนไหว ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีการลดภาษีให้กับประเทศใด ๆ ตามข้อตกลงเปิดเขตการค้าเสรี หรือ FTA โดยเฉพาะกับประเทศจีน อินเดีย และหากจะลดภาษีเส้นไหมจริง ก็จะลดภาษีได้ในอีก 5 ปีข้างหน้าหรือ ปี 2553 ดังนั้นเกษตรกรผู้ผลิตจึงมีเวลาปรับตัว แต่สำหรับปัญหาด้านโควต้านำเข้าเส้นไหมที่เป็นวัตถุดิบร้อยละ 20 และโควตานำเข้าผ้าไหมสำเร็จรูปที่ร้อบละ 17.5 ยังถือเป็นกรณีถกเถียงกันถึงความไม่พร้อมหากเปิดเขตการค้าเสรี เนื่องจากอัตราภาษีนำเข้ายังแตกต่างกัน ในเรื่องนี้ทางกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศจะติดตามข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาอย่างรอบคอบ เพื่อให้เกษตรกรผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมและผู้ผลิตเส้นไหม ได้รับประโยชน์สูงสุด ดังนั้นการเปิดเขตการค้าเสรีหรือ FTA จึงเป็นเรื่องที่เกษตรกรต้องทำความเข้าใจและจะต้องเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับการเปิดการค้าเสรี
ด้านนายวิรัตน์ สุดเสน่ห์หา นายกสมาคมไหมไทยนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า ภาครัฐจะต้องทบทวนโควต้าภาษีนำเข้าบางรายการ ที่ยังเป็นปัญหา เพื่อให้เกษตรกรมีอาชีพมีรายได้มากขึ้น ทั้งนี้ก็เห็นด้วยกับการเปิดเสรีการค้า โดยเฉพาะการนำเข้าเส้นไหมเสรีในอนาคต ซึ่งเชื่อว่าจะส่งผลดีให้ผู้ผลิตมีสิทธิ์ซื้อเส้นไหมมาทำการผลิตผ้าไหมได้มากขึ้น
สำหรับสถิติการส่งออกหอมแดงสดไทยในปี 2547 ที่ผ่านมาอยู่ที่ 59,878 ตัน ส่วนปริมาณการส่งออกหอมแดงแห้งส่งออกรวม 131 ตัน โดยหอมแดงแห้งและหอมแดงสด ส่งออกมากในมาเลเซีย และอินโดนีเซีย ส่วนสถิติการนำเข้าหอมแดงสด นำเข้ารวม 21,488 ตัน หอมแดงแห้ง 5,095 ตัน ซึ่งนำเข้ามาจากอินโดนีเซีย จีนและพม่า
สถิติการส่งออกประเทียมของไทยในช่วงปี 2547 ไทยส่งออกได้รวม 2,717 ตัน โดยส่งออกไปแคนาดา และโปแลนด์มากที่สุด ส่วนการนำเข้ากระเทียมรวม 60,441 ตัน โดยนำเข้าจากจีนมากที่สุดถึง 53,368 ตัน หรือเกือบร้อยละ 90 ของการนำเข้าทั้งหมด
สถิติการนำเข้าเส้นไหมจากจีนในเดือนกรกฏาคมที่ผ่านมาก อยู่ที่กิโลกรัมละ 905.66 บาท ส่วนราคาเส้นไหมที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยต่อปี 2548 อยู่ที่กิโลกรัมละ 1,280 บาท ซึ่งถือว่าเป็นระดับราคาที่ดีกว่า 2 ปีที่ผ่านมา โดยแหล่งนำเข้าเส้นไหมของไทยส่วนมากมาจากจีน โดยช่วงระยะ 2 ปีที่ผ่านมาไทยนำเข้าเส้นไหมจากจีนเฉลี่ยถึงร้อยละ 71
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ อาคาร ค ถ.ราชดำเนินกลาง แขวงบวรนิเวศน์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200 โทรศัพท์ (66) 2282-6171-9 แฟกซ์ (66) 2280-0775
-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ