รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ มอบแนวนโยบายเพื่อยกระดับธุรกิจประกันชีวิตให้เกิดความเชื่อมั่นสูงขึ้น เน้นสร้างฐานะการเงินให้เข้มแข็ง เพิ่มศักยภาพการแข่งขัน และพร้อมให้บริการแก่ผู้เอาประกันภัยอย่างรวดเร็วเป็นธรรม
กรมการประกันภัย ได้จัดประชุมร่วมระหว่างผู้บริหารระดับสูงของบริษัทประกันชีวิต ทั้ง 26 บริษัท นายกสมาคมและกรรมการบริหารของสมาคมประกันชีวิตไทย และ ผู้บริหารระดับสูงของกรมการประกันภัย เพื่อร่วมหารือแนวนโยบายในการส่งเสริมพัฒนาธุรกิจประกันชีวิต เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2547 โดยมีรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล) เป็นประธานการประชุม ณ ห้องประชุมชั้น 9 กรมการประกันภัย
นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล เปิดเผยว่า ได้มอบแนวโยบายของกระทรวงพาณิชย์ต่อที่ประชุมฯ เพื่อให้ภาคธุรกิจประกันชีวิต และกรมการประกันภัยช่วยกันผลักดันธุรกิจให้เติบโตอย่างมีเสถียรภาพ โดยเน้นความสำคัญใน 5 ประการ ดังนี้
1. ส่งเสริมฐานะการเงินและสภาพคล่องของบริษัทประกันชีวิต โดยการให้บริษัทปรับปรุงฐานะการเงินให้เข้มแข็งมั่นคง มีศักยภาพในการแข่งขันมากขึ้น ซึ่งมีแนวทางมาตรการที่ต้องเน้นให้ความสำคัญ คือ ตรวจสอบให้ทุกบริษัทดำรงเงินกองทุนให้ครบถ้วนตามกฎหมาย ส่งเสริมให้มีช่องทางการลงทุนใหม่ๆ ที่สอดคล้องกับการพัฒนาของตลาดทุนเพื่อให้บริษัทฯ มีรายได้จากการลงทุนมากขึ้น และส่งเสริมให้บริษัทมีการควบรวมกิจการ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการเงินและการแข่งขัน
2. ปรับปรุงมาตรฐานคุณภาพการให้บริการจ่ายเงินผลประโยชน์ตามสัญญา ประกันภัย ซึ่งต้องเป็นการให้บริการที่สะดวกรวดเร็ว ถูกต้อง ครบถ้วนให้กับผู้เอา ประกันภัย ผู้รับผลประโยชน์ หรือ ทายาทของผู้เอาประกันภัย
3. สร้างเสริมความเชื่อมั่นและภาพพจน์ที่ดีให้กับธุรกิจประกันชีวิตโดยส่วนรวม โดยการส่งเสริมธรรมาภิบาล (Good Governance) ในธุรกิจประกันภัยให้เกิดการปฏิบัติ ที่ชัดเจนสามารถปฏิบัติได้ รวมทั้งกำหนดมาตรฐานกรอบการปฏิบัติที่ดีในการดำเนินธุรกิจ Code of Best Practise / Code of Conduct
4. เสริมสร้างความรู้ความเข้าใจด้านการประกันภัยแก่ประชาชนโดยการ ประชาสัมพันธ์เผยแพร่ความรู้ผ่านสื่อต่างๆ รวมทั้งการปรับปรุงหลักสูตรและบรรจุเนื้อหาเกี่ยวกับการประกันภัยไว้ในหลักสูตรการศึกษาทั้งระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา
5. พัฒนาคุณภาพความรู้และจรรยาบรรณของบุคลากรในธุรกิจประกันชีวิต โดยเน้นให้ภาคธุรกิจให้ความสำคัญในการกำหนด Code of conduct of agent เพื่อบังคับใช้ในธุรกิจ จัดอบรมทบทวนความรู้แก่ตัวแทนประกันชีวิตสม่ำเสมอ และมี Black List เพื่อขจัดตัวแทนฯ ที่ไม่ดีและบริษัทต้องรับผิดชอบต่อการกระทำของตัวแทนฯในสังกัด นอกจากนี้แล้วยังขอความร่วมมือให้ภาครัฐและเอกชนต้องร่วมกันกำหนดมาตรการ และขั้นตอนในการพัฒนายกระดับตัวแทนประกันชีวิตสู่ความเป็นมืออาชีพ
ที่มา: http://www.doi.go.th