ผลการทบทวนมาตรการนำวัสดุหีบห่อของกลับมาใช้

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday February 10, 2004 16:53 —สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย

          สำนักงานพาณิชย์ในต่างประเทศ ณ กรุงบรัสเซลส์ ได้รายงานว่าเมื่อวันที่ 29 มกราคม  2547 สหภาพยุโรปได้ให้ความเห็นชอบต่อการทบทวนมาตรการนำวัสดุหีบห่อของกลับมาใช้ (Directive 94/62/EC of 20 December 1994)  ซึ่งได้ยื่นเสนอโดยคณะกรรมาธิการยุโรปเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2544 โดยมีประเด็นสำคัญสรุปได้ ดังนี้ 
1. เป้าหมาย สหภาพยุโรปกำหนดระยะเวลาที่จะบังคับใช้มาตรการการเก็บวัสดุหีบห่อ (recovery) ในอัตราร้อยละ 60-75 โดยต้องนำวัสดุกลับมาใช้ใหม่ (recycling) ในอัตราร้อยละ 55-70 ทั้งนี้ ครอบคลุมทั้งวัสดุหีบห่อที่ใช้ในครัวเรือนและวัสดุหีบห่อนำเข้า และได้ขยายระยะเวลาการบรรลุเป้าหมายสำหรับประเทศสมาชิกปัจจุบันและสมาชิกใหม่ ดังนี้
1.1 ขยายระยะเวลาการบรรลุเป้าหมายดังกล่าว สำหรับประเทศสมาชิกฯ ปัจจุบันรวม 3 รายคือ กรีซ ไอร์แลนด์ และโปรตุเกส จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2554 แทนกำหนดวันเดิมคือวันที่ 31 ธันวาคม 2555
1.2 กำหนดเวลาบรรลุเป้าหมายฯ สำหรับประเทศสมาชิกฯ รายใหม่ ดังนี้
- ไซปรัส เชค เอสโทเนีย ฮังการี ลิทัวเนีย สโลวาเกีย และสโลเวเนีย จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2551
- มอลตา จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2556
- โปแลนด์ จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2557
- แลทเวีย จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2558
2. การจัดเก็บวัสดุหีบห่อด้วยวิธีการเผาจะถือว่าเป็นการนำกลับมาใช้ใหม่ (recycled) ต่อเมื่อโรงงานเผาติดตั้งอุปกรณ์ตามระบบการนำพลังงานกลับมาใช้ใหม่ (energy recovery systems)
อนึ่ง ได้เห็นควรให้คณะกรรมาธิการฯ จัดทำรายงานผลความคืบหน้าการบังคับใช้มาตรการตามคำสั่งฯ และผลกระทบที่มีต่อสิ่งแวดล้อมและตลาดของสหภาพยุโรป ภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2548
3. ผลกระทบต่อประเทศไทย การส่งออกสินค้าจากไทยสู่สหภาพยุโรป ต่างก็บรรจุหีบห่อเข้ามาทั้งสิ้น โดยเฉพาะสินค้าอาหารแช่แข็ง (เช่น สินค้าประมง ไก่ และอาหารพร้อมรับประทาน เป็นต้น) การดำเนินการดังกล่าวจะมีผลกระทบต่อไทยในเบื้องต้นโดยสรุปคือ
3.1 เป็นการเพิ่มภาระการลงทุนของผู้ประกอบการในการจัดเก็บวัสดุหีบห่อ การขนส่ง แยกแยะ และบำบัด หรืออาจมีการเรียกร้องให้ผู้ส่งออกปรับเปลี่ยนวัสดุหีบห่อให้เหมาะสมกับมาตรการดังกล่าว นอกจากนี้ยังมีค่าใช้จ่ายในการแต่งตั้งตัวแทนในการจัดเก็บวัสดุหีบห่อ ซึ่งคาดว่าผู้นำเข้าอาจผลักภาระส่วนหนึ่งให้ผู้ผลิตและผู้ส่งออก
3.2 ราคาสินค้าไทยและประเทศที่สามอื่น ๆ ที่ส่งสินค้าเข้าสหภาพยุโรป จะมีราคาสูงขึ้น ในขณะที่ต้องคงรักษาคุณภาพและมาตรฐานให้ตรงกับกฎระเบียบรวมทั้งระดับราคาเพื่อให้แข่งขันกับประเทศคู่แข่งได้ต่อไป
3.3 นับเป็นความพยายามอีกครั้งหนึ่ง ในการนำประเด็นเหตุผลด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเข้ามาเชื่อมโยงกับประเด็นการค้า
ที่มา: หอการค้าไทย ศูนย์ข้อมูลธุรกิจ www.thaiechamber.com
-ดท-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ