เมื่อเวลา ๐๙.๓๐ นาฬิกา นายอุทัย พิมพ์ใจชน ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร
ชุดที่ ๒๑ ปีที่ ๔ ครั้งที่ ๓ (สมัยสามัญทั่วไป) เป็นพิเศษ โดยมีการพิจารณาเรื่องด่วนจำนวน ๑ เรื่องคือ ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณ
รายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๔๗ โดยคณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ หลังจากนั้น
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวชี้แจงว่า ถึงแม้เศรษฐกิจไทยจะมีการเจริญเติบโตในระดับที่สูง
การดำเนินมาตรการต่าง ๆ เพื่อพัฒนาและ วางรากฐานทางเศรษฐกิจและสังคมให้แข็งแกร่งเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นที่จะต้องมีการ
ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจให้มีความเข้มแข็ง ทันสมัยและ เป็นธรรม การปฏิรูปการบริหาร
จัดการและการบริหารกำลังคนภาครัฐให้มีประสิทธิภาพและ ทันสมัยการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และเทคโนโลยีของประเทศอันเป็นพื้นฐาน
สำคัญแห่งการยกระดับความสามารถเชิงแข่งขันของประเทศ ด้วยความจำเป็นดังกล่าวรัฐบาลจึงได้จัดทำ
งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมจำนวนหนึ่งแสนสามหมื่นห้าพันห้าร้อยล้านบาท โดยมีวัตถุประสงค์ของการใช้งบประมาณดังต่อไปนี้
๑. เงินเบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญ เพื่อจ่ายเป็นเงินบำเหน็จดำรงชีพ
๒. ค่าใช้จ่ายตามมาตรการพัฒนาและบริหารกำลังคนเพื่อรองรับ
การเปลี่ยนแปลง เนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายในการพัฒนาระบบราชการ
๓. ค่าใช้จ่ายการปรับค่าตอบแทนบุคลากรภาครัฐ เนื่องจากค่าตอบแทนภาครัฐ
และเอกชนมีความเหลื่อมล้ำกันสูงและไม่ได้มีการปรับเงินค่าตอบแทน
มานานแล้ว
๔. ค่าใช้จ่ายเพื่อการเสริมสร้างศักยภาพเพื่อการแข่งขันและการพัฒนาที่ยั่งยืน
ของประเทศ
๕. เงินอุดหนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
และนอกจากนี้ยังได้มีการตั้งรายจ่ายชดใช้เงินคงคลังไว้ในร่างพระราชบัญญัติฯ นี้ด้วย
หลังจากนั้น นายบัญญัติ บรรทัดฐาน ผู้นำฝ่ายค้านฯ ได้อภิปรายว่า การจัดทำงบประมาณร่ายจ่ายเพิ่มเติมนั้นจะต้องเป็น
กรณีที่มีความจำเป็นจริง ๆ เท่านั้น ทั้งนี้ถ้าหากปล่อยให้สามารถจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมได้โดยง่ายจะทำให้เกิดความเสียหาย
อย่างน้อย ๔ ประการคือ
๑. อาจเป็นผลให้การใช้จ่ายงบประมาณขาดความระมัดระวังเท่าที่ควร
๒. ในกรณีที่รัฐบาลไม่สามารถจะจัดเก็บรายได้สูงไปกว่าที่กำหนดเอาไว้ก็จะมี
กรณีที่เรียกเก็บภาษีอากรจากประชาชนมากขึ้น
๓. รัฐสภาควบคุมได้ยาก
๔. จะทำให้การจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีมีความสำคัญลดลง
และร่างพระราชบัญญัติฯ ฉบับนี้มีเรื่องที่ควรพิจารณาในหลายประเด็นด้วยกันเช่น เงินเบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญ เป็นตัวอย่าง
ของการนำเงินในอนาคตมาใช้ โดยหวังจะให้เกิดการใช้จ่ายในประเทศ และการใช้จ่ายเงินในการพัฒนากำลังคนโดยมีปรับจำนวนข้าราชการ
อาจไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร การไม่ชี้แจงรายละเอียดในงบกลางว่าจะนำไปใช้ในเรื่องใดบ้าง เรื่องเงินอุดหนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
ซึ่งรัฐบาลควรจัดสรรเงินให้เพิ่มมากกว่านี้
นอกจากนี้สถานการณ์โรคระบาดในปัจจุบัน สถานการณ์ภาคใต้ อาจมีผลกระทบกับการประมาณการรายได้และประมาณการรายรับ
เมื่อผู้นำฝ่ายค้านอภิปรายฯเสร็จ ประธานสภาฯ ได้ให้ พันเอกวินัย สมพงษ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร บัญชีรายชื่อ พรรคชาติพัฒนา อภิปรายต่อ
โดยกล่าวว่า งบประมาณ รายจ่ายเพิ่มเติมนี้ไม่เห็นด้วยกับการใช้เงินจำนวนห้าหมื่นเก้าพันล้านบาท เป็นค่าใช้จ่ายเพื่อการเสริมสร้างศักยภาพในการแข่งขันฯ
เนื่องจากอาจจะซ้ำซ้อนกับกระทรวงต่าง ๆ ที่ได้มีการอนุมัติงบประมาณไปก่อนหน้านี้แล้ว และรัฐบาลควรจะใช้เงินที่รัฐสภาจัดสรรให้แล้วไปก่อน
และควรนำงบประมาณจำนวนนี้ไปชำระหนี้สาธารณะ
ต่อมา นายสรรเสริญ สมะลาภา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายว่า งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมนี้
ไม่ได้มีวัตถุประสงค์สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจ การเร่งการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอาจทำให้เกิดภาวะฟองสบู่ได้ และการนำเงินบำเหน็จมาใช้ก่อน
เป็นการนำเงินมาใช้ผิดวัตถุประสงค์ ซึ่งเงินดังกล่าวเป็นหลักประกันให้แก่บุตร หลาน และรัฐบาลต้องชี้แจงให้ชัดเจนว่าจะนำเงินจำนวนห้าหมื่นเก้าพันล้านบาทไปใช้จ่าย
อะไรบ้าง อีกทั้งไม่ควรนำเงินที่ได้จากการขายหุ้นรัฐวิสาหกิจให้แก่กองทุนวายุภัคของรัฐบาลแล้วนำมาใช้เป็นเงินงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม
นายประกิจ พัฒนกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคไทยรักไทย ได้อภิปรายว่า การใช้จ่ายเงินงบประมาณแผ่นดินนี้มีระเบียบ
ควบคุมการใช้จ่ายเงินอยู่แล้ว โดยมีกระทรวง การคลังทำหน้าที่สั่งจ่าย และสภาผู้แทนราษฎรก็สามารถควบคุมการใช้จ่ายได้โดยผ่านทาง
คณะกรรมาธิการหรือโดยการตั้งกระทู้ถามในการประชุมสภา นอกจากนี้แล้วยังมีวุฒิสภาทำหน้าที่ควบคุมอีกชั้นหนึ่งด้วย ส่วนกรณีที่ไม่มีรายละเอียดชี้แจง
ในการจัดทำงบกลาง ก็เนื่องจากเป็นเงินงบประมาณที่ตั้งขึ้นเพื่อรองรับโครงการที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งยังไม่เกิดขึ้น
นายกอร์ปศักดิ สภาวสุ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร บัญชีรายชื่อ พรรค ประชาธิปัตย์ ได้อภิปรายว่า การใช้งบประมาณรายจ่าย
ซึ่งตั้งไว้เป็นจำนวนมากการเบิกจ่ายอาจ ไม่สามารถทำได้ทันเนื่องจากเหลือระยะเวลาเพียง ๗ เดือนเท่านั้น ส่วนเรื่องการจัดเก็บภาษี ควรใช้การ
จัดเก็บภาษีทางตรงได้แก่ ภาษีบุคคลธรรมดา และนิติบุคคล โดยการลดภาษีเพื่อขยายฐานการจัดเก็บมากกว่าจัดเก็บจากภาษีทางอ้อม หรือ VAT (ภาษีมูลค่าเพิ่ม)
นอกจากนี้รัฐบาลควรนำเงินที่ได้จากการขายหุ้นรัฐวิสาหกิจให้แก่กองทุนวายุภัคไปชำระหนี้ให้แก่ธนาคารออมสินอีกด้วย
นายวิจิตร ศรีสอ้าน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ได้อภิปรายว่า ระบบงบประมาณใหม่นี้เป็น
แบบมุ่งเน้นผลงานตามยุทธศาสตร์ แต่การจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมนี้ขาดความชัดเจนและไม่เป็นไปตามระบบการจัดทำ งบประมาณแบบใหม่
และการอนุมัติงบประมาณโดยไม่ทราบรายละเอียดต่าง ๆ อาจทำให้ไม่เหมาะสม และการประมาณการรายได้น่าจะมีการนำผลกระทบต่าง ๆ จาก
สถานการณ์ไข้หวัดนก และเหตุการณ์ปัญหาภาคใต้ที่มีต่อการท่องเที่ยว การส่งออก มาคำนวณด้วย ส่วนเรื่องที่มีการตั้งเงินเพื่อชดใช้เงินคงคลัง
เพื่อชดใช้เงินคงคลังที่ได้มีการนำไปใช้ในเดือนกันยายนปีงบประมาณ ๒๕๔๖ ไม่ได้มีการแสดงรายรับเอาไว้ในประมาณการรายรับ และการปรับเงินให้แก่ข้าราชการ
จะปรับให้แก่ใครบ้าง และจะเริ่มใช้เมื่อไหร่ และจะทำด้วยวิธีใด ซึ่งข้อมูลดังกล่าวยังไม่ได้รับการ ชี้แจง แต่มีการตั้งงบประมาณขึ้น
นายพินิจ จันทรสุรินทร์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดลำปาง พรรค ไทยรักไทย อภิปรายว่า การเสนองบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม
เป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะการ จัดเก็บรายได้สามารถทำได้มากขึ้น และการนำเงินไปใช้จ่ายเพื่อดำเนินการตามยุทธศาสตร์ต่าง ๆ โดยเฉพาะยุทธศาสตร์
การเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของประเทศและยุทธศาสตร์การบริหาร จัดการประเทศของรัฐบาล ย่อมส่งผลให้ประชาชนได้รับประโยชน์ ส่วนเรื่องการชดใช้เงินคลัง
หลังจากได้พิจารณารูปแบบการเสนองบประมาณเพิ่มเติมแล้ว ตามกฎหมายกำหนดไว้ว่าไม่ จำเป็นต้องแสดงรายละเอียดในงบประมาณเพิ่มเติมนี้
นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายว่า รายละเอียดของงบประมาณร่ายจ่ายเพิ่มเติม
และประมาณ การรายรับรายจ่ายยังขาดความชัดเจน เงินบำเหน็จดำรงชีพรัฐบาลรู้อยู่แล้วว่าจะต้องใช้ใน
งบประมาณรายจ่ายประจำปี ๒๕๔๗ เหตุใดจึงไม่ใส่ไว้ตั้งแต่แรก นอกจากนี้ยังมีการประมาณ การรายได้ รวมถึงการคาดการณ์ทางเศรษฐกิจ
การตั้งรายจ่ายที่ไม่เป็นน่าเชื่อถืออีกด้วย
นายโภคิน พลกุล รองนายกรัฐมนตรี ได้ตอบข้ออภิปรายของสมาชิกหลายท่านเกี่ยวกับ การตั้งรายจ่ายชดใช้เงินคลังที่สมาชิกมีประเด็นข้อสงสัยว่า
ไม่มีการแสดง รายรับไว้ในร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมฯ นั้น โดยชี้แจงว่า ในการจัดทำร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมฯ นั้น
ไม่ต้องแสดงรายรับไว้ในร่างฯ แต่ควรที่จะชี้แจงถึงรายรับต่าง ๆ ต่อสภาผู้แทนราษฎร และโดยปกติจะนำรายรับไปใส่ในเอกสารประกอบการพิจารณาร่างงบประมาณ
รายจ่ายประจำปีงบประมาณนั้น ๆ ซึ่งถือปฏิบัติกันมาในอดีต ส่วนประเด็นที่ว่ายอดเงินที่จะนำไปชดใช้เงินคงคลังจำนวนสามหมื่นเก้าพันล้านบาทนั้นจะรวมอยู่ในยอดเงิน
หนึ่งแสนสามหมื่นล้านบาทนี้ด้วยหรือไม่ ขอชี้แจงว่า ตามกฎหมายระบุว่ารายจ่ายเพื่อ ชดใช้เงินคงคลัง หรือชดใช้ทุนสำรอง ให้แยกตั้งไว้เป็นส่วนหนึ่งต่างหาก
และให้ถือเป็นรายจ่ายของงบประมาณที่ได้มีการจ่ายเงินคงคลังหรือทุนสำรองนั้นด้วย
ร้อยเอกสุชาติ เชาว์วิศิษฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ตอบข้อซักถามของสมาชิกฯ ในเรื่องของการจัดเก็บรายได้ตามที่ตั้งเป้าไว้
หนึ่งแสนสามหมื่นล้าน สามารถทำได้อย่างแน่นอน เนื่องจากเศรษฐกิจของเราเติบโตเพิ่มเป็นอย่างมาก และ ๔ เดือนที่ผ่านมาสามารถจัดเก็บรายได้สูงกว่า
งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมถึงแปดหมื่นหกพันล้านบาทและยังเหลือเวลาในการจัดเก็บอีกถึง ๘ เดือนด้วยกัน ส่วนหนึ่งที่ทำให้การจัดเก็บเกินกว่าเป้าหมาย
ก็เนื่องมาจากมีการเพิ่มบุคลากรในการจัดเก็บ และมีการพัฒนาระบบคอมพิวเตอร์ของกรมสรรพากรให้มีศักยภาพสูง สำหรับการจัดเก็บภาษีก็จัดเก็บตามอัตราปกติ
ไม่ได้มีการจัดเก็บเกินกว่าที่กำหนดไว้ เพราะไม่สามารถทำได้เนื่องจากมีกฎหมายระบุเอาไว้ ส่วนผลกระทบจากกรณีไข้หวัดนกจากการคำนวณไม่น่าจะกระทบกับ
เศรษฐกิจมากนัก และจากการคำนวณยังพบว่าถ้าประเทศไทยส่งออกไม่ได้เลยในช่วงนี้จะกระทบกับจีดีพี เพียงร้อยละ ๒ เท่านั้น และที่ไม่นำเงินไปใช้หนี้สาธารณะ
ในขณะนี้ก็เพราะต้องคำนึงถึงจุดที่พอดีระหว่างการใช้จ่ายเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจกับการนำเงินไปใช้หนี้สาธารณะ
นายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ได้ชี้แจงเพิ่มเติมว่า การจัดทำร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม
ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๔๗ พ.ศ. … นี้ ได้มีการประชุมและพิจารณาร่วมกันของหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง ๔ หน่วยงานหลักได้แก่ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
ธนาคารแห่งประเทศไทย สภาพัฒนาเศรษฐกิจและ สังคมแห่งชาติ และสำนักงบประมาณ ซึ่งมีกระบวนการขั้นตอนในการพิจารณาเหมือนกันกับ การพิจารณางบประมาณปกติ
และการจัดทำร่างพระราชบัญญัติงบประมาณนี้มีความเหมาะสมและสมเหตุสมผล เนื่องจากการใช้งบประมาณเพิ่มเติมนั้นมีระยะเวลาไม่ถึงปีงบประมาณจึงได้ จัดทำเป็นงบประมาณกลาง
เพราะหากจัดทำตามรายกระทรวงจะต้องมีวิธีการดำเนินการหลายขั้นตอน นอกจากนี้ยังมีเรื่องต่าง ๆ ที่ยังอยู่ในระหว่างรอการดำเนินการแก้ไข อาทิ
- การให้เงินเบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญ ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ในระหว่างการขอ หลักการให้ออกเป็นกฎหมาย จึงเป็นไปไม่ได้ที่รัฐบาล
จะตั้งงบประมาณ ๓๓,๐๔๐ ล้านบาท ก่อนที่จะมีกฎหมาย
- การพัฒนาและบริหารกำลังคนเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลง
- การปรับเงินค่าตอบแทนบุคลากรภาครัฐ ซึ่งไม่ได้มีการปรับมานานนับ ๑๐ ปี แล้ว ดังนั้นเมื่อรัฐบาลมีความพร้อมก็เห็นสมควรให้เกิดการปรับเปลี่ยน
สำหรับงบประมาณที่ใช้เพื่อส่งเสริมศักยภาพการแข่งขันและการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศนั้น รัฐบาลยังคงยึดกรอบหลักการของความเหมาะสมและสมเหตุสมผล
ไม่ได้ใช้งบนี้เพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองแต่อย่างใด
นายตรีพล เจาะจิตต์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดนครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ได้อภิปรายไม่เห็นด้วยกับร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๔๗ พ.ศ. … โดยให้เหตุผลดังนี้
๑. ไม่มีรายละเอียดประกอบการพิจารณา โดยเฉพาะในเรื่องเกี่ยวกับค่าใช้จ่าย เพื่อการเสริมสร้างศักยภาพการแข่งขันและการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศ
๒. ไม่ยุติธรรม เนื่องจากจัดทำงบประมาณแบบกระจุก ไม่กระจายในทั่วประเทศอย่างเหมาะสม โดยเฉพาะทางภาคเหนือจะมีโครงการเกิดขึ้นหลายโครงการ อาทิ โครงการจัดมหกรรมพืชสวนโลก งบประมาณจำนวน ๔,๐๐๐ ล้านบาท โครงการจัดตั้งตลาดกลางสินค้าเกษตร จำนวน ๓๑๔ ล้านบาท โครงการส่งเสริมพัฒนาและกระจาย SME ภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่ จำนวน ๑๓๐ ล้านบาท และโครงการก่อสร้างศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ จังหวัดเชียงใหม่ จำนวน ๒๓๐ ล้านบาท
๓. รัฐบาลไม่เคยประสบความสำเร็จในการใช้งบประมาณแก้ปัญหาต่าง ๆ
ในอดีต โดยเฉพาะปัญหาที่เกี่ยวกับสินค้าทางการเกษตร
ดังนั้นรัฐบาลจึงควรถอนงบประมาณค่าใช้จ่ายที่ใช้เพื่อการเสริมสร้างศักยภาพการแข่งขัน และการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศจำนวน ๕๙,๐๐๐ ล้านบาท เพราะเป็นการ สิ้นเปลืองโดยใช่เหตุ
นายเจือ ราชสีห์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดสงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ได้อภิปรายไม่เห็นด้วยกับร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายนี้ โดยให้เหตุผลว่า รัฐบาลไม่มีความโปร่งใสในการจัดทำงบประมาณ อีกทั้งยังเป็นการจัดทำงบประมาณรายจ่ายซึ่งมีแต่งบกลาง ซึ่งนายกรัฐมนตรีมีอำนาจในการใช้แต่เพียงผู้เดียว นอกจากนี้โครงการต่าง ๆ ที่ทางรัฐบาลจัดขึ้นล้วนแต่อยู่ทางภาคเหนือ โดยเฉพาะจังหวัดเชียงใหม่ จึงขอให้รัฐบาลจัดโครงการเพื่อช่วยเหลือประชาชนที่กำลังเดือดร้อนในพื้นที่อื่น ๆ ทั่วประเทศ
นายธีระ สลักเพชร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดตราด พรรค ประชาธิปัตย์ ได้อภิปรายว่า เอกสารงบประมาณประกอบร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมยังไม่มีความสมบูรณ์เท่าที่ควร และตลอดระยะเวลา ๓ ปีที่ผ่านมา รัฐบาลได้ใช้เงินอย่างฟุ่มเฟือย เป็นเหตุให้ต้องจัดเก็บภาษีให้ได้มากขึ้น ประชาชนจึงถูกรีดภาษี อีกทั้งการที่รัฐบาลจัด งบประมาณรายจ่ายที่มีแต่งบกลางนั้นไม่ได้เกิดประโยชน์แต่อย่างใด เนื่องจากไม่ได้กระจายงบประมาณไปใช้ในทั่วประเทศอย่างแท้จริง ซึ่งหากรัฐบาลกระจายงบประมาณให้แก่กระทรวง ทบวง กรม ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องก็จะมีการตรวจสอบได้มากขึ้น และเกิดประโยชน์กับประชาชนอย่างแท้จริง ดังนั้นจึงไม่เห็นด้วยกับร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้
นายวิสาร เตชะธีราวัฒน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดเชียงราย พรรคไทยรักไทย ได้อภิปรายสนับสนุนร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมนี้ โดยให้เหตุผลว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีความเจริญเติบโตทางด้านเศรษฐกิจและการเมืองมากขึ้นจึงเก็บภาษีได้มากขึ้น และเมื่อมีรายได้มากขึ้นก็ควรจะนำเงินรายได้ดังกล่าวมาพัฒนาประเทศ และควรจัดไว้ในงบกลาง เพราะในอนาคตหากเกิดปัญหาหรือสภาวการณ์รุนแรงใด ๆ ขึ้น รัฐบาลจะได้นำงบประมาณส่วนนี้ไปใช้ในการแก้ไขปัญหาได้อย่างทันท่วงที
นายประกอบ รัตนพันธ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดนครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ได้อภิปรายไม่เห็นด้วยกับร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายฉบับนี้ โดยให้เหตุผลว่า การที่รัฐบาลมีรายได้เพิ่มมากขึ้นจากการจัดเก็บภาษีนั้น เป็นการได้มาจากความเดือดร้อนของประชาชนที่ถูกขูดรีดให้จ่ายภาษีเพิ่มขึ้นมากกว่าเดิมและการนำภาษีของประชาชนมาใช้อย่างไม่ยุติธรรม ไม่กระจายงบประมาณรายจ่ายให้ทั่วทุกภูมิภาคนั้น ไม่เป็นธรรมต่อประชาชน จึงขอให้รัฐบาลจัดสรรงบประมาณให้แก่กระทรวงที่รับผิดชอบในเรื่องต่าง ๆ นอกจากนี้รัฐบาลไม่ได้ จัดสรรงบประมาณเพื่อใช้ในการส่งเสริมและสนับสนุนการปฏิรูปการศึกษาแต่อย่างใด
นายธวัชชัย อนามพงษ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดจันทบุรี พรรค ชาติพัฒนา ได้อภิปรายถึงการเก็บภาษีได้เกินเป้าหมายของรัฐบาลจำนวน ๑๓๕,๕๓๗ ล้านบาท ซึ่งสูงกว่าเป้าหมายเดิม ๑๔.๖ % โดยจะเห็นว่าเศรษฐกิจดีขึ้นแต่เฉพาะในกลุ่มของคนมีเงินเท่านั้น อาทิ กลุ่มบริษัทใหญ่ และกลุ่มตลาดหลักทรัพย์ ส่วนในกลุ่มระดับกลางและคนยากจนนั้นได้รับความเดือดร้อนและถูกรีดไถในการเรียกเก็บภาษี โดยเฉพาะบางรายต้องหยุดกิจการไป จึงตั้ง ข้อสังเกตว่า หากเศรษฐกิจของประเทศดีจริงแล้วจะต้องมีการลงทุนเพิ่มขึ้น แต่ในความเป็นจริง ไม่ได้เป็นอย่างนั้นแต่อย่างใด ดังนั้นจึงไม่เห็นด้วยกับร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่าย เพิ่มเติมนี้
นายชัย ชิดชอบ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร บัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทย ได้อภิปรายว่า รัฐบาลได้กอบกู้สถานการณ์ทางเศรษฐกิจไว้ได้อย่างดีเยี่ยมและสร้างรายได้เพิ่มมากขึ้น จึงควรที่จะนำมาใช้ในการพัฒนาประเทศ โดยเห็นว่ารัฐบาลมีภารกิจที่จะต้องดำเนินการและแก้ไขปัญหาต่าง ๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นภาวะไข้หวัดนก ความรุนแรงของสถานการณ์ทางภาคใต้ ดังนั้นจึงเห็นด้วยกับร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๔๗ พ.ศ. …. และยังให้ความเห็นว่า งบประมาณที่ขอไว้นี้ยังน้อยเกินไปเมื่อเทียบกับ ภารกิจที่รัฐบาลจะต้องดำเนินการ
นายพิเชษฐ พันธุ์วิชาติกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดกระบี่ พรรคประชาธิปัตย์ ได้อภิปรายว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยนั้น ไม่ได้เป็นไปอย่างที่ รัฐบาลได้ชี้แจง เนื่องจากการเติบโตทางเศรษฐกิจนั้นจะต้องเป็นการเติบโตที่ยั่งยืน ไม่สร้างความเดือดร้อนและไม่สร้างหนี้สินให้แก่ประชาชน ซึ่งหากรัฐบาลมีรายได้จากการเก็บภาษีมากขึ้นแล้วนั้น สิ่งที่รัฐบาลควรพิจารณาดำเนินการคือ
๑. นำไปใช้หนี้ เพื่อเป็นการลดภาระหนี้สินของประเทศไทย
๒. นำมาจัดทำงบประมาณเพิ่มเติม
๓. ลดอัตราภาษี
ดังนั้นจึงไม่เห็นด้วยกับร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมฉบับนี้
นายพินิจ จันทรสุรินทร์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดลำปาง พรรค ไทยรักไทย ได้ชี้แจงถึง การตั้งงบประมาณขาดดุลของรัฐบาล
นั้นจะสูงกว่างบประมาณที่ขาดดุลจริงอยู่มาก เช่น ในปี ๒๕๔๕ ได้ตั้งงบขาดดุลไว้ ๒๐๐,๐๐๐ ล้านบาท แต่ขาดดุลจริง ๑๗๐,๐๐๐ ล้านบาท ในปี ๒๕๔๖ ได้ตั้งงบขาดดุลไว้
๑๗๔,๙๐๐ ล้านบาท ขาดดุลจริง ๗๙,๐๐๐ ล้านบาท และในปี ๒๕๔๗ นี้ ได้ตั้งงบขาดดุลไว้ ๙๙,๐๐๐ บาท ซึ่งอาจจะขาดดุลเพียง ๑๓,๐๐๐ ล้านบาทเท่านั้น
ซึ่งรัฐบาลเห็นว่า เงินจำนวนนี้ควรจะนำไปใช้เพื่อพัฒนาประเทศ จึงได้จัดตั้งงบประมาณกลางปีขึ้นและมั่นใจว่ารัฐบาลจะสามารถหารายได้ ได้มากกว่างบ
ประมาณที่ขอไว้
นายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ได้ชี้แจงเพิ่มเติมว่า ทุกสิ่งที่รัฐบาลดำเนินการนั้นต้องคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของประเทศชาติเป็นสำคัญ
จึงขอให้มองการทำงานของรัฐบาลในมุมกว้างที่เกิดประโยชน์ ไม่ควรมองในมุมของความเสียหายที่มีเพียง เล็กน้อยเท่านั้น
นายอลงกรณ์ พลบุตร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดเพชรบุรี พรรคประชาธิปัตย์ ได้อภิปรายถึงการจัดทำร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมฉบับนี้ว่า
ไม่โปร่งใสและไร้มาตรฐาน โดยรัฐบาลได้ปกปิดและไม่แสดงรายละเอียดต่าง ๆ ให้ครบถ้วนชัดเจน อีกทั้งยังไม่มีหลักเกณฑ์ในการบริหารงบประมาณอย่างโปร่งใส จึงไม่มั่นใจว่ารัฐบาลจะนำงบประมาณในส่วนนี้ไปใช้อย่างตรงไปตรงมา นอกจากนี้รัฐบาลควรจะจัดสรรงบประมาณให้แต่ละหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้บริหารกันอย่างเต็มที่เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ดังนั้นจึงไม่เห็นด้วยกับร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๔๗ พ.ศ. ….
นายจาตุรนต์ ฉายแสง รองนายกรัฐมนตรี ได้อภิปรายชี้แจงในกรณีการ จัดสรรงบประมาณเพื่อส่งเสริมและพัฒนาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวน ๑๒,๓๐๐ ล้านบาทนั้นเป็นอัตราส่วน ๒๒.๕% ของรายได้สุทธิของรัฐบาล และเมื่อรายได้ของรัฐบาลเพิ่มขึ้น ๑๓๕,๕๓๗ ล้านบาท รายได้ของท้องถิ่นก็จะต้องเพิ่มขึ้นประมาณ ๓๐,๕๐๐ ล้านบาท ซึ่งได้มาจากการจัดเก็บภาษี โดยการจัดสรรงบประมาณนี้ รัฐบาลได้ดำเนินการจัดสรรตามที่ได้ประกาศไว้ว่าจะให้รายได้ของท้องถิ่นในปี ๒๕๔๗ เป็นอัตรา ๒๒.๕ % ของรายได้ปัจจุบัน
สำหรับหลักเกณฑ์ของการดำเนินการนั้น เป็นการตั้งงบประมาณไว้ในส่วนของเงินอุดหนุน ซึ่งเป็นรายจ่ายหนึ่งในงบกลาง ทั้งนี้งบประมาณที่จัดทำขึ้นอยู่ในช่วงกลางปี ซึ่งมีเวลาดำเนินการไม่มากนัก หากจะต้องจัดทำรายการเพื่อขออนุมัติอาจเกิดความล่าช้า โดยได้จัดสรรเงินอุดหนุนนี้ตามมติของคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๒๘ ตุลาคม ๒๕๔๖ เรื่องการจัดสรรรายได้ให้แก่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งจะพิจารณาจัดสรรให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยสำนัก งบประมาณควรจะประสานการดำเนินการกับคณะกรรมการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
นอกจากนี้ยังชี้แจงในส่วนของเงินอุดหนุนเฉพาะกิจ และเงินอุดหนุนทั่วไป ซึ่งเงินอุดหนุนเฉพาะกิจนั้นเป็นเงินที่รัฐบาลกำหนดให้ใช้ตามวัตถุประสงค์อย่างชัดเจน ซึ่งองค์กรนั้นจะต้องนำไปใช้ตามวัตถุประสงค์ แต่ข้อเสีย คือ หากจัดสรรเงินอุดหนุนเฉพาะกิจไว้เป็นจำนวนมาก องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็จะเหลือเงินสำหรับใช้ดำเนินการในเรื่องอื่น ๆ น้อยลง ซึ่งอุดหนุนเฉพาะกิจในบางกรณีนั้นยังมีความจำเป็นที่จะต้องกำหนดไว้ แต่ในอนาคตควรจะปรับลดลง สำหรับเงินอุดหนุนทั่วไปนั้น จะมีการกำหนดวัตถุประสงค์ของการนำเงินไปใช้ไว้อย่างกว้าง ๆ อย่างไรก็ตามเงินอุดหนุนทุกประเภทนั้นจะต้องจัดทำขึ้นอย่างถูกต้องตามกฎหมายจึงเป็นเรื่องที่โปร่งใสและตรวจสอบได้
กลุ่มงานสื่อมวลชน สำนักประชาสัมพันธ์
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร