สรุปการประชุมสภาผู้แทนราษฎร วันพุธที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๗

ข่าวการเมือง Monday February 16, 2004 09:02 —รัฐสภา

                เมื่อเวลา ๐๙.๓๐ นาฬิกา  นายอุทัย  พิมพ์ใจชน ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธาน
ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ ๒๑ ปีที่ ๔ ครั้งที่ ๓ (สมัยสามัญทั่วไป) เป็นพิเศษ โดยมีการพิจารณา
เรื่องด่วนจำนวน ๑ เรื่องคือ ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปี งบประมาณ พ.ศ. ๒๕๔๗
โดยคณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ หลังจากนั้น
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวชี้แจงว่า ถึงแม้เศรษฐกิจไทยจะมีการ
เจริญเติบโตในระดับที่สูง การดำเนินมาตรการต่าง ๆ เพื่อพัฒนาและวางรากฐานทางเศรษฐกิจและสังคมให้แข็งแกร่ง
เป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นที่จะต้องมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปฏิรูปโครงสร้าง
เศรษฐกิจให้มีความเข้มแข็ง ทันสมัยและ เป็นธรรม การปฏิรูปการบริหารจัดการและการบริหารกำลังคนภาครัฐ
ให้มีประสิทธิภาพและทันสมัยการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และเทคโนโลยีของประเทศอันเป็นพื้นฐานสำคัญแห่งการยกระดับ
ความสามารถเชิงแข่งขันของประเทศ ด้วยความจำเป็นดังกล่าวรัฐบาลจึงได้จัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม
จำนวนหนึ่งแสนสามหมื่นห้าพันห้าร้อยล้านบาท โดยมีวัตถุประสงค์ของการใช้งบประมาณดังต่อไปนี้
๑. เงินเบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญ เพื่อจ่ายเป็นเงินบำเหน็จดำรงชีพ
๒. ค่าใช้จ่ายตามมาตรการพัฒนาและบริหารกำลังคนเพื่อรองรับ
การเปลี่ยนแปลง เนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายในการพัฒนาระบบราชการ
๓. ค่าใช้จ่ายการปรับค่าตอบแทนบุคลากรภาครัฐ เนื่องจากค่าตอบแทนภาครัฐ
และเอกชนมีความเหลื่อมล้ำกันสูงและไม่ได้มีการปรับเงินค่าตอบแทน
มานานแล้ว
๔. ค่าใช้จ่ายเพื่อการเสริมสร้างศักยภาพเพื่อการแข่งขันและการพัฒนาที่ยั่งยืน
ของประเทศ
๕. เงินอุดหนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
และนอกจากนี้ยังได้มีการตั้งรายจ่ายชดใช้เงินคงคลังไว้ในร่างพระราชบัญญัติฯ นี้ด้วย
หลังจากนั้น นายบัญญัติ บรรทัดฐาน ผู้นำฝ่ายค้านฯ ได้อภิปรายว่า การจัดทำ งบประมาณร่ายจ่ายเพิ่มเติม
นั้นจะต้องเป็นกรณีที่มีความจำเป็นจริง ๆ เท่านั้น ทั้งนี้ถ้าหากปล่อยให้สามารถจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมได้
โดยง่ายจะทำให้เกิดความเสียหาย อย่างน้อย ๔ ประการ คือ
๑. อาจเป็นผลให้การใช้จ่ายงบประมาณขาดความระมัดระวังเท่าที่ควร
๒. ในกรณีที่รัฐบาลไม่สามารถจะจัดเก็บรายได้สูงไปกว่าที่กำหนดเอาไว้ก็จะมี
กรณีที่เรียกเก็บภาษีอากรจากประชาชนมากขึ้น
๓. รัฐสภาควบคุมได้ยาก
๔. จะทำให้การจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีมีความสำคัญลดลง
และร่างพระราชบัญญัติฯ ฉบับนี้มีเรื่องที่ควรพิจารณาในหลายประเด็นด้วยกันเช่น
เงินเบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญ เป็นตัวอย่างของการนำเงินในอนาคตมาใช้ โดยหวังจะให้เกิดการ
ใช้จ่ายในประเทศ และการใช้จ่ายเงินในการพัฒนากำลังคนโดยมีการปรับจำนวนข้าราชการ อาจไม่ประสบ
ผลสำเร็จเท่าที่ควร การไม่ชี้แจงรายละเอียดในงบกลางว่าจะนำไปใช้ในเรื่องใดบ้าง เรื่องเงินอุดหนุนให้
องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งรัฐบาลควรจัดสรรเงินให้เพิ่มมากกว่านี้ นอกจากนี้สถานการณ์โรคระบาดในปัจจุบัน
สถานการณ์ภาคใต้ อาจมีผลกระทบกับการประมาณการรายได้และประมาณการรายรับ
เมื่อผู้นำฝ่ายค้านอภิปรายฯเสร็จ ประธานสภาฯ ได้ให้ พันเอกวินัย สมพงษ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร บัญชีรายชื่อ
พรรคชาติพัฒนา อภิปรายต่อโดยกล่าวว่า งบประมาณรายจ่าย เพิ่มเติมนี้ไม่เห็นด้วยกับการใช้เงินจำนวนห้าหมื่นเก้าพันล้านบาท
เป็นค่าใช้จ่ายเพื่อการเสริมสร้างศักยภาพในการแข่งขันฯ เนื่องจากอาจจะซ้ำซ้อนกับกระทรวงต่าง ๆ
ที่ได้มีการอนุมัติงบประมาณไปก่อนหน้านี้แล้ว และรัฐบาลควรจะใช้เงินที่รัฐสภาจัดสรรให้แล้วไปก่อน และควรนำงบประมาณ
จำนวนนี้ไปชำระหนี้สาธารณะ
ต่อมา นายสรรเสริญ สมะลาภา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร บัญชีรายชื่อ พรรค
ประชาธิปัตย์ อภิปรายว่า งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมนี้ไม่ได้มีวัตถุประสงค์สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจ การเร่งการ
เจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอาจทำให้เกิดภาวะฟองสบู่ได้ และการนำเงินบำเหน็จมาใช้ก่อนเป็นการนำเงินมาใช้ผิดวัตถุประสงค์
ซึ่งเงินดังกล่าวเป็นหลักประกันให้แก่บุตร หลาน และ รัฐบาลต้องชี้แจงให้ชัดเจนว่าจะนำเงินจำนวนห้าหมื่นเก้าพันล้านบาท
ไปใช้จ่ายอะไรบ้าง อีกทั้งไม่ควรนำเงินที่ได้จากการขายหุ้นรัฐวิสาหกิจให้แก่กองทุนวายุภัคของรัฐบาลแล้วนำมาใช้เป็นเงิน
งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม
นายปกิต พัฒนกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคไทยรักไทย ได้อภิปรายว่า การใช้จ่ายเงินงบประมาณ
แผ่นดินนี้มีระเบียบควบคุมการใช้จ่ายเงินอยู่แล้ว โดยมีกระทรวงการคลังทำหน้าที่สั่งจ่าย และสภาผู้แทนราษฎรก็สามารถควบคุม
การใช้จ่ายได้โดยผ่านทางคณะกรรมาธิการหรือโดยการตั้งกระทู้ถามในการประชุมสภา นอกจากนี้แล้วยังมีวุฒิสภาทำหน้าที่ควบคุม
อีกชั้นหนึ่งด้วย ส่วนกรณีที่ไม่มีรายละเอียดชี้แจงในการจัดทำงบกลางก็เนื่องจากเป็นเงินงบประมาณที่ตั้งขึ้นเพื่อรองรับโครงการ
ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งยังไม่เกิดขึ้น
นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ได้อภิปรายว่า การใช้งบประมาณ
รายจ่ายซึ่งตั้งไว้เป็นจำนวนมากการเบิกจ่ายอาจไม่สามารถทำได้ทันเนื่องจากเหลือระยะเวลาเพียง ๗ เดือนเท่านั้น ส่วนเรื่องการจัดเก็บภาษี
ควรใช้การจัดเก็บภาษี ทางตรงได้แก่ ภาษีบุคคลธรรมดา และนิติบุคคล โดยการลดภาษีเพื่อขยายฐานการจัดเก็บมากกว่า
จัดเก็บจากภาษีทางอ้อม หรือ VAT (ภาษีมูลค่าเพิ่ม) นอกจากนี้รัฐบาลควรนำเงินที่ได้จากการขายหุ้นรัฐวิสาหกิจให้แก่กองทุนวายุภัคไปชำระหนี้
ให้แก่ธนาคารออมสินอีกด้วย
นายวิจิตร ศรีสอ้าน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ได้อภิปรายว่า ระบบงบประมาณใหม่นี้
เป็นแบบมุ่งเน้นผลงานตามยุทธศาสตร์ แต่การจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมนี้ขาดความชัดเจนและไม่เป็นไปตามระบบการจัดทำงบประมาณแบบใหม่
และการอนุมัติงบประมาณโดยไม่ทราบรายละเอียดต่าง ๆ อาจทำให้ไม่เหมาะสม และการประมาณการ
รายได้น่าจะมีการนำผลกระทบต่าง ๆ จากสถานการณ์ไข้หวัดนก และเหตุการณ์ปัญหาภาคใต้ที่มีต่อการท่องเที่ยว การส่งออก มาคำนวณด้วย
ส่วนเรื่องที่มีการตั้งเงินเพื่อชดใช้เงินคงคลัง เพื่อชดใช้เงิน คงคลังที่ได้มีการนำไปใช้ในเดือนกันยายนปีงบประมาณ ๒๕๔๖ ไม่ได้มีการแสดง
รายรับเอาไว้ในประมาณการรายรับ และการปรับเงินให้แก่ข้าราชการจะปรับให้แก่ใครบ้าง และจะเริ่มใช้เมื่อไร และจะทำด้วยวิธีใด
ซึ่งข้อมูลดังกล่าวยังไม่ได้รับการชี้แจง แต่มีการตั้งงบประมาณขึ้น
นายพินิจ จันทรสุรินทร์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดลำปาง พรรคไทยรักไทย อภิปรายว่า การเสนองบประมาณ
รายจ่ายเพิ่มเติมเป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะการจัดเก็บรายได้สามารถทำได้มากขึ้น และการนำเงินไปใช้จ่ายเพื่อดำเนินการตามยุทธศาสตร์ต่าง ๆ
โดยเฉพาะ ยุทธศาสตร์การเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของประเทศและยุทธศาสตร์การบริหารจัดการประเทศของรัฐบาล ย่อมส่งผล
ให้ประชาชนได้รับประโยชน์ ส่วนเรื่องการชดใช้เงินคลัง หลังจากได้พิจารณา รูปแบบการเสนองบประมาณเพิ่มเติมแล้ว
ตามกฎหมายกำหนดไว้ว่าไม่จำเป็นต้องแสดงรายละเอียดในงบประมาณเพิ่มเติมนี้
นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายว่า รายละเอียด
ของงบประมาณร่ายจ่ายเพิ่มเติม และประมาณการรายรับ รายจ่ายยังขาดความชัดเจน เงินบำเหน็จดำรงชีพรัฐบาลรู้อยู่แล้วว่า
จะต้องใช้ในงบประมาณรายจ่ายประจำปี ๒๕๔๗ เหตุใดจึงไม่ใส่ไว้ตั้งแต่แรก นอกจากนี้ยังมีการประมาณ การรายได้ รวมถึงการ
คาดการณ์ทางเศรษฐกิจ การตั้งรายจ่ายที่ไม่เป็นน่าเชื่อถืออีกด้วย
นายโภคิน พลกุล รองนายกรัฐมนตรี ได้ตอบข้ออภิปรายของสมาชิกหลายท่านเกี่ยวกับการตั้งรายจ่ายชดใช้เงินคลัง
ที่สมาชิกมีประเด็นข้อสงสัยว่า ไม่มีการแสดงรายรับไว้ในร่าง พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมฯ นั้น โดยชี้แจงว่า ในการจัดทำร่างพระราชบัญญัติ
งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมฯ นั้น ไม่ต้องแสดงรายรับไว้ในร่างฯ แต่ควรที่จะชี้แจงถึงรายรับต่าง ๆ ต่อสภาผู้แทนราษฎร
และโดยปกติจะนำรายรับไปใส่ในเอกสารประกอบการพิจารณาร่างงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณนั้น ๆ ซึ่งถือปฏิบัติกันมาในอดีต
ส่วนประเด็นที่ว่ายอดเงินที่จะนำไป ชดใช้เงินคงคลังจำนวนสามหมื่นเก้าพันล้านบาทนั้นจะรวมอยู่ในยอดเงินหนึ่งแสนสามหมื่นล้านบาท
นี้ด้วยหรือไม่ ขอชี้แจงว่า ตามกฎหมายระบุว่ารายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลังหรือชดใช้ทุนสำรอง ให้แยกตั้งไว้เป็นส่วนหนึ่งต่างหาก และให้ถือ
เป็นรายจ่ายของงบประมาณที่ได้มีการจ่ายเงินคงคลังหรือทุนสำรองนั้นด้วย
ร้อยเอกสุชาติ เชาว์วิศิษฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ตอบข้อซักถามของสมาชิกฯ ในเรื่องของการจัดเก็บรายได้
ตามที่ตั้งเป้าไว้หนึ่งแสนสามหมื่นล้าน สามารถทำได้ อย่างแน่นอน เนื่องจากเศรษฐกิจของเราเติบโตเพิ่มเป็นอย่างมาก และ ๔ เดือน
ที่ผ่านมาสามารถจัดเก็บรายได้สูงกว่างบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมถึงแปดหมื่นหกพันล้านบาทและยังเหลือเวลาในการ
จัดเก็บอีกถึง ๘ เดือนด้วยกัน ส่วนหนึ่งที่ทำให้การจัดเก็บเกินกว่าเป้าหมาย ก็เนื่อง มาจากมีการเพิ่มบุคลากรในการจัดเก็บ
และมีการพัฒนาระบบคอมพิวเตอร์ของกรมสรรพากรให้มีศักยภาพสูง สำหรับ การจัดเก็บภาษีก็จัดเก็บตามอัตราปกติ ไม่ได้มีการจัดเก็บเกินกว่าที่นั้น
เพราะไม่สามารถทำได้ เนื่องจากมีกฎหมายกำหนดเอาไว้ ส่วนผลกระทบจากกรณีไข้หวัดนกจากการคำนวณไม่น่าจะกระทบกับเศรษฐกิจมากนัก
และจากการคำนวณยังพบว่าถ้าประเทศไทยส่งออกไม่ได้เลย ในช่วงนี้จะกระทบกับจีดีพี เพียงร้อยละ ๒ เท่านั้น และที่ไม่นำเงินไปใช้หนี้สาธารณะ
ในขณะนี้ก็เพราะต้องคำนึงถึงจุด ที่พอดีระหว่างการใช้จ่าย เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจกับ การนำเงินไปใช้หนี้สาธารณะ
นายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ได้ชี้แจงเพิ่มเติมว่า การจัดทำร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปี
งบประมาณ พ.ศ. ๒๕๔๗
พ.ศ. … นี้ ได้มีการประชุมและพิจารณาร่วมกันของหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง ๔ หน่วยงานหลักได้แก่ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
ธนาคารแห่งประเทศไทย สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และสำนักงบประมาณ ซึ่งมีกระบวนการขั้นตอนในการพิจารณาเหมือนกันกับการพิจารณา
งบประมาณปกติ และการจัดทำร่างพระราชบัญญัติงบประมาณนี้มีความเหมาะสมและสมเหตุสมผล เนื่องจากการใช้งบประมาณเพิ่มเติมนั้นมีระยะเวลา
ไม่ถึงปีงบประมาณจึงได้ จัดทำเป็นงบประมาณกลาง เพราะหากจัดทำตามรายกระทรวงจะต้องมีวิธีการดำเนินการหลายขั้นตอน นอกจากนี้ยังมีเรื่องต่าง ๆ
ที่ยังอยู่ ในระหว่างรอการดำเนินการแก้ไข อาทิ
- การให้เงินเบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญ ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ในระหว่างการขอหลักการให้ออกเป็นกฎหมาย จึงเป็นไปไม่ได้ที่รัฐบาล
จะตั้งงบประมาณ ๓๓,๐๔๐ ล้านบาท ก่อนที่จะมีกฎหมาย
- การพัฒนาและบริหารกำลังคนเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลง
- การปรับเงินค่าตอบแทนบุคลากรภาครัฐ ซึ่งไม่ได้มีการปรับมานานนับ ๑๐ ปี แล้ว ดังนั้นเมื่อรัฐบาลมีความพร้อมก็เห็นสมควรให้เกิดการปรับเปลี่ยน
สำหรับงบประมาณที่ใช้เพื่อส่งเสริมศักยภาพการแข่งขันและการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศนั้น รัฐบาลยังคงยึดกรอบหลักการของความเหมาะสม
และสมเหตุสมผล ไม่ได้ใช้งบนี้เพื่อ ผลประโยชน์ทางการเมืองแต่อย่างใด
นายตรีพล เจาะจิตต์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดนครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ได้อภิปรายไม่เห็นด้วยกับร่างพระราชบัญญัติ
งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ประจำปี งบประมาณ พ.ศ. ๒๕๔๗ พ.ศ. … โดยให้เหตุผลดังนี้
๑. ไม่มีรายละเอียดประกอบการพิจารณา โดยเฉพาะในเรื่องเกี่ยวกับค่าใช้จ่าย เพื่อการเสริมสร้างศักยภาพการแข่งขันและการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศ
๒. ไม่ยุติธรรม เนื่องจากจัดทำงบประมาณแบบกระจุก ไม่กระจายในทั่วประเทศ
อย่างเหมาะสม โดยเฉพาะทางภาคเหนือจะมีโครงการเกิดขึ้นหลายโครงการ อาทิ โครงการจัดมหกรรม พืชสวนโลก งบประมาณจำนวน ๔,๐๐๐ ล้านบาท
โครงการจัดตั้งตลาดกลางสินค้าเกษตร จำนวน ๓๑๔ ล้านบาท โครงการส่งเสริมพัฒนาและกระจาย SME ภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่ จำนวน ๑๓๐ ล้านบาท
และโครงการก่อสร้างศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ จังหวัดเชียงใหม่ จำนวน ๒๓๐ ล้านบาท
๓. รัฐบาลไม่เคยประสบความสำเร็จในการใช้งบประมาณแก้ปัญหาต่าง ๆ ในอดีต โดยเฉพาะปัญหาที่เกี่ยวกับสินค้าทางการเกษตร
ดังนั้นรัฐบาลจึงควรถอนงบประมาณค่าใช้จ่ายที่ใช้เพื่อการเสริมสร้างศักยภาพ การแข่งขัน และการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศ
จำนวน ๕๙,๐๐๐ ล้านบาท เพราะเป็นการสิ้นเปลืองโดยใช่เหตุ
นายเจือ ราชสีห์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดสงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ได้อภิปรายไม่เห็นด้วยกับร่างพระราชบัญญัติ
งบประมาณรายจ่ายนี้ โดยให้เหตุผลว่า รัฐบาลไม่มีความโปร่งใสในการจัดทำงบประมาณ อีกทั้งยังเป็นการจัดทำงบประมาณรายจ่ายซึ่งมีแต่งบกลาง ซึ่ง
นายกรัฐมนตรีมีอำนาจในการใช้แต่เพียงผู้เดียว นอกจากนี้โครงการต่าง ๆ ที่ทางรัฐบาลจัดขึ้นล้วนแต่อยู่ทางภาคเหนือ โดยเฉพาะจังหวัดเชียงใหม่
จึงขอให้รัฐบาลจัดโครงการเพื่อช่วยเหลือประชาชนที่กำลังเดือดร้อนในพื้นที่อื่น ๆ ทั่วประเทศ
นายธีระ สลักเพชร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดตราด พรรคประชาธิปัตย์ ได้อภิปรายว่า เอกสารงบประมาณประกอบร่างพระราชบัญญัติ
งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมยังไม่มีความสมบูรณ์เท่าที่ควร และตลอดระยะเวลา ๓ ปีที่ผ่านมา รัฐบาลได้ใช้เงินอย่างฟุ่มเฟือย เป็นเหตุให้ต้องจัดเก็บภาษีให้ได้มากขึ้น
ประชาชนจึงถูกรีดภาษี อีกทั้งการที่รัฐบาลจัด งบประมาณรายจ่ายที่มี แต่งบกลางนั้นไม่ได้เกิดประโยชน์แต่อย่างใด เนื่องจากไม่ได้กระจายงบประมาณ
ไปใช้ในทั่วประเทศอย่างแท้จริง ซึ่งหากรัฐบาลกระจายงบประมาณให้แก่กระทรวง ทบวง กรม ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องก็จะมีการตรวจสอบได้มากขึ้น และเกิดประโยชน์
กับประชาชนอย่างแท้จริง ดังนั้นจึงไม่เห็นด้วยกับร่าง พระราชบัญญัติฉบับนี้
นายวิสาร เตชะธีราวัฒน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดเชียงราย พรรคไทยรักไทย ได้อภิปรายสนับสนุนร่างพระราชบัญญัติงบประมาณ
รายจ่ายเพิ่มเติมนี้ โดยให้เหตุผลว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีความเจริญเติบโตทางด้านเศรษฐกิจและการเมืองมากขึ้นจึงเก็บภาษีได้มากขึ้น และเมื่อมีรายได้มากขึ้น
ก็ควรจะนำเงินรายได้ดังกล่าวมาพัฒนาประเทศ และควรจัดไว้ในงบกลาง เพราะในอนาคตหากเกิดปัญหาหรือสภาวการณ์รุนแรงใด ๆ ขึ้น รัฐบาลจะได้นำ
งบประมาณส่วนนี้ไปใช้ในการแก้ไขปัญหาได้อย่างทันท่วงที
นายประกอบ รัตนพันธ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดนครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ได้อภิปรายไม่เห็นด้วยกับร่างพระราชบัญญัติ
งบประมาณรายจ่ายฉบับนี้ โดยให้เหตุผลว่า การที่รัฐบาลมีรายได้เพิ่มมากขึ้นจากการจัดเก็บภาษีนั้น เป็นการได้มาจากความเดือดร้อนของประชาชนที่ถูกขูดรีด
ให้จ่ายภาษีเพิ่มขึ้นมากกว่าเดิมและการนำภาษีของประชาชนมาใช้อย่างไม่ยุติธรรม ไม่กระจายงบประมาณรายจ่ายให้ทั่วทุกภูมิภาคนั้น ไม่เป็นธรรมต่อประชาชน
จึงขอให้รัฐบาลจัดสรรงบประมาณให้แก่กระทรวงที่รับผิดชอบในเรื่องต่าง ๆ นอกจากนี้รัฐบาลไม่ได้ จัดสรรงบประมาณเพื่อใช้ในการส่งเสริมและสนับสนุน
การปฏิรูปการศึกษาแต่อย่างใด
นายธวัชชัย อนามพงษ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดจันทบุรี พรรคชาติพัฒนา ได้อภิปรายถึงการเก็บภาษีได้เกินเป้าหมายของรัฐบาล
จำนวน ๑๓๕,๕๓๗ ล้านบาท ซึ่งสูงกว่า เป้าหมายเดิม ๑๔.๖ % โดยจะเห็นว่าเศรษฐกิจดีขึ้นแต่เฉพาะในกลุ่มของคนมีเงินเท่านั้น อาทิ
กลุ่มบริษัทใหญ่ และกลุ่มตลาดหลักทรัพย์ ส่วนในกลุ่มระดับกลางและคนยากจนนั้นได้รับความ เดือดร้อนและถูกรีดไถในการเรียกเก็บภาษี โดยเฉพาะ
บางรายต้องหยุดกิจการไป จึงตั้งข้อสังเกตว่า หากเศรษฐกิจของประเทศดีจริงแล้วจะต้องมีการลงทุนเพิ่มขึ้น แต่ในความเป็นจริงไม่ได้เป็นอย่างนั้นแต่อย่างใด
ดังนั้นจึงไม่เห็นด้วยกับร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมนี้
นายชัย ชิดชอบ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร บัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทย ได้อภิปรายว่า รัฐบาลได้กอบกู้สถานการณ์ทางเศรษฐกิจไว้ได้
อย่างดีเยี่ยมและสร้างรายได้เพิ่มมากขึ้น จึงควร ที่จะนำมาใช้ในการพัฒนาประเทศ โดยเห็นว่ารัฐบาลมีภารกิจที่จะต้องดำเนินการและแก้ไขปัญหาต่าง ๆ
มากมาย ไม่ว่าจะเป็นภาวะไข้หวัดนก ความรุนแรงของสถานการณ์ทางภาคใต้ ดังนั้นจึง เห็นด้วยกับร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม
ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๔๗
พ.ศ. …. และยังให้ความเห็นว่า งบประมาณที่ขอไว้นี้ยังน้อยเกินไปเมื่อเทียบกับ ภารกิจที่รัฐบาลจะต้องดำเนินการ
นายพิเชษฐ พันธุ์วิชาติกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดกระบี่ พรรค ประชาธิปัตย์ ได้อภิปรายว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจ
ของประเทศไทยนั้น ไม่ได้เป็นไปอย่างที่รัฐบาล ได้ชี้แจง เนื่องจากการเติบโตทางเศรษฐกิจนั้นจะต้องเป็นการเติบโตที่ยั่งยืน ไม่สร้างความเดือดร้อนและ
ไม่สร้างหนี้สินให้แก่ประชาชน ซึ่งหากรัฐบาลมีรายได้จากการเก็บภาษีมากขึ้นแล้วนั้น สิ่งที่รัฐบาลควรพิจารณาดำเนินการคือ
๑. นำไปใช้หนี้ เพื่อเป็นการลดภาระหนี้สินของประเทศไทย
๒. นำมาจัดทำงบประมาณเพิ่มเติม
๓. ลดอัตราภาษี
ดังนั้นจึงไม่เห็นด้วยกับร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมฉบับนี้
นายพินิจ จันทรสุรินทร์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดลำปาง พรรคไทยรักไทย ได้ชี้แจงถึง การตั้งงบประมาณขาดดุลของรัฐบาลนั้นจะสูงกว่างบประมาณ
ที่ขาดดุลจริงอยู่มาก เช่น ในปี ๒๕๔๕ ได้ตั้งงบขาดดุลไว้ ๒๐๐,๐๐๐ ล้านบาท แต่ขาดดุลจริง ๑๗๐,๐๐๐ ล้านบาท ในปี ๒๕๔๖ ได้ตั้งงบขาดดุลไว้
๑๗๔,๙๐๐ ล้านบาท ขาดดุลจริง ๗๙,๐๐๐ ล้านบาท และในปี ๒๕๔๗ นี้ ได้ตั้งงบขาดดุลไว้ ๙๙,๐๐๐ บาท ซึ่งอาจจะขาดดุลเพียง ๑๓,๐๐๐ ล้านบาทเท่านั้น ซึ่งรัฐบาล
เห็นว่า เงินจำนวนนี้ควรจะนำไปใช้เพื่อพัฒนาประเทศ จึงได้จัดตั้งงบประมาณกลางปีขึ้นและมั่นใจว่ารัฐบาลจะสามารถหารายได้ได้มากกว่างบประมาณที่ขอไว้
นายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ได้ชี้แจงเพิ่มเติมว่า ทุกสิ่งที่รัฐบาลดำเนินการนั้นต้องคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของประเทศชาติเป็นสำคัญ
จึงขอให้มองการทำงานของรัฐบาลในมุมกว้างที่เกิดประโยชน์ ไม่ควรมองในมุมของความเสียหายที่มีเพียงเล็กน้อย เท่านั้น
นายอลงกรณ์ พลบุตร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดเพชรบุรี พรรคประชาธิปัตย์ ได้อภิปรายถึงการจัดทำร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมฉบับนี้ว่า
ไม่โปร่งใสและ ไร้มาตรฐาน โดยรัฐบาลได้ปกปิดและไม่แสดงรายละเอียดต่าง ๆ ให้ครบถ้วนชัดเจน อีกทั้งยังไม่มี หลักเกณฑ์ในการบริหารงบประมาณ
อย่างโปร่งใส จึงไม่มั่นใจว่ารัฐบาลจะนำงบประมาณในส่วนนี้ ไปใช้อย่างตรงไปตรงมา นอกจากนี้รัฐบาลควรจะจัดสรรงบประมาณให้แต่ละหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ได้บริหารกันอย่างเต็มที่เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ดังนั้นจึงไม่เห็นด้วยกับร่างพระราชบัญญัติ งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๔๗ พ.ศ. ….
นายจาตุรนต์ ฉายแสง รองนายกรัฐมนตรี ได้อภิปรายชี้แจงในกรณีการจัดสรร งบประมาณเพื่อส่งเสริมและพัฒนาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวน ๑๒,๓๐๐
ล้านบาทนั้นเป็นอัตราส่วน ๒๒.๕% ของรายได้สุทธิของรัฐบาล และเมื่อรายได้ของรัฐบาลเพิ่มขึ้น ๑๓๕,๕๓๗ ล้านบาท รายได้ของท้องถิ่นก็จะต้องเพิ่มขึ้นประมาณ ๓๐,๕๐๐ ล้านบาท
ซึ่งได้มาจากการจัดเก็บภาษี โดยการจัดสรรงบประมาณนี้ รัฐบาลได้ดำเนินการจัดสรรตามที่ได้ประกาศไว้ว่าจะให้รายได้ของท้องถิ่น ในปี ๒๕๔๗ เป็นอัตรา ๒๒.๕ %
ของรายได้ปัจจุบัน
สำหรับหลักเกณฑ์ของการดำเนินการนั้น เป็นการตั้งงบประมาณไว้ในส่วนของเงินอุดหนุน ซึ่งเป็นรายจ่ายหนึ่งในงบกลาง ทั้งนี้งบประมาณที่จัดทำขึ้นอยู่ในช่วงกลางปี ซึ่งมีเวลา
ดำเนินการไม่มากนัก หากจะต้องจัดทำรายการเพื่อขออนุมัติอาจเกิดความล่าช้า โดยได้จัดสรรเงินอุดหนุนนี้ตามมติของคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๒๘ ตุลาคม ๒๕๔๖ เรื่องการจัดสรร
รายได้ให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งจะพิจารณาจัดสรรให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยสำนักงบประมาณควรจะประสานการดำเนินการกับคณะกรรมการกระจายอำนาจ
ให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
นอกจากนี้ยังชี้แจงในส่วนของเงินอุดหนุนเฉพาะกิจ และเงินอุดหนุนทั่วไป ซึ่งเงินอุดหนุนเฉพาะกิจนั้นเป็นเงินที่รัฐบาลกำหนดให้ใช้ตามวัตถุประสงค์อย่างชัดเจน ซึ่งองค์กรนั้น
จะต้องนำไปใช้ตามวัตถุประสงค์ แต่ข้อเสีย คือ หากจัดสรรเงินอุดหนุนเฉพาะกิจไว้เป็นจำนวนมาก องค์กร ปกครองส่วนท้องถิ่นก็จะเหลือเงินสำหรับใช้ดำเนินการในเรื่องอื่น ๆ
น้อยลง ซึ่งอุดหนุนเฉพาะกิจ ในบางกรณีนั้นยังมีความจำเป็นที่จะต้องกำหนดไว้ แต่ในอนาคตควรจะปรับลดลง สำหรับเงินอุดหนุนทั่วไปนั้น จะมีการกำหนดวัตถุประสงค์
ของการนำเงินไปใช้ไว้อย่างกว้าง ๆ อย่างไรก็ตามเงินอุดหนุนทุกประเภทนั้นจะต้องจัดทำขึ้นอย่างถูกต้องตามกฎหมายจึงเป็นเรื่องที่โปร่งใสและตรวจสอบได้
นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ได้อภิปรายว่า การสร้างรายได้ ๓ ปีที่ผ่านมาของรัฐบาลไม่ประสบความสำเร็จ ภาวะเงินออมของคนในประเทศลดลง หนี้สินที่เรียกว่าหนี้สินต่อครัวเรือนมีแนวโน้มที่จะกลายเป็นหนี้บุคคลแทนในเรื่องของนโยบายเกี่ยวกับเรื่องของการพัฒนาที่ยั่งยืนในแง่ของสิ่งแวดล้อมกับทรัพยากรธรรมชาติ รัฐบาลก็ไม่ได้ทำอะไรที่เรียกว่าพัฒนาที่ยั่งยืน แต่ที่เห็นก็คือ แนวทางแปลง สินทรัพย์เป็นทุน
นายพงษ์พิช รุ่งเป้า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดนครราชสีมา พรรคชาติพัฒนา ได้อภิปรายว่า ในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ ๒๕๔๗ มี ๕ แนวทางตามเอกสารงบประมาณประกอบร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๔๗ พ.ศ. … ของรัฐบาล ซึ่งมีแนวทางประการใหญ่ ๆ ๕ ประการ ที่จะต้องพิจารณาให้เกิดประโยชน์สูงสูดต่อประชาชน
นางฮูวัยดีย๊ะ พิศสุวรรณ อุเซ็ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดนครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ได้อภิปรายว่า ในเรื่องของแผนงานปรับปรุงโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคม เพื่อสร้างความเข้มแข็งของปัจจัยสนับสนุนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่มีคุณภาพ และการที่รัฐบาล ได้คัดเลือกผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการสนับสนุนจนเป็นระดับท็อปเทน ในขณะที่มีสินค้าอีกหลายประเภทในหมู่บ้าน ในตำบลที่ยังไม่ได้รับการสนับสนุนเท่าที่ควร และรัฐบาลก็ยังไปส่งเสริมในผลิตภัณฑ์ที่ได้มีการพัฒนาฝีมือมาอย่างต่อเนื่องแล้ว
นายจักรพันธุ์ ยมจินดา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร บัญชีรายชื่อ พรรคไทยรักไทย ได้อภิปรายว่า ในงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๔๗ ประเทศไทยมีรายได้มากขึ้นเปรียบเสมือนครอบครัวมีรายได้มากขึ้น บริษัทก็มีรายได้มากขึ้นนั้น ก็ย่อมจะมีเงินเหลือที่จะนำไปใช้จ่ายในโครงการต่าง ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการทั้งของประเทศ องค์กร และครอบครัว
นายสนั่น สุธากุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดสตูล พรรคประชาธิปัตย์ ได้อภิปรายว่า งบประมาณไม่มีความชัดเจนในหลาย ๆ อย่าง เป็นการจัดตั้งงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมในช่วงก่อนที่จะมีการเลือกตั้งทั่วไปสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่จะมีขึ้นในปี ๒๕๔๘ นอกจากนี้งบประมาณ ที่กำลังพิจารณามาจาการจัดเก็บรายได้เพิ่มเติมที่สูงกว่าเป้าหมายที่มีการกำหนดไว้ถึงร้อยละ ๑๔ เศษ ๆ ซึ่งรายได้ที่จัดเก็บเพิ่มขึ้นนั้นเกิดขึ้นท่ามกลางความเดือดร้อนของประชาชนที่ทำมาหากิน ตามปกติและไม่เคยเสียภาษีมาก่อน
นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร พรรคประชาธิปัตย์ ได้อภิปรายว่า ในเรื่องของร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปี พ.ศ. ๒๕๔๗ รายละเอียดทั้งหมดที่รัฐบาลได้ชี้แจงมากับเอกสารเกี่ยวกับเศรษฐกิจของประเทศไทยดีเฉพาะคนที่อยู่ใกล้ตัวนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลเท่านั้น แต่เศรษฐกิจของประชาชนยังย่ำแย่ การทำพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายกลางปี เรื่องภาษีประชาชนต้องจ่ายภาษีอย่างหนัก
ร้อยเอกสุชาติ เชาว์วิศิษฐ รัฐมนตรีว่ากระทรวงการคลัง ได้ชี้แจงในที่ประชุมว่า เป็นหน้าที่ของพลเมืองที่ดีที่จะต้องเสียภาษีให้ถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนด การเสียภาษีเป็นหน้าที่ของผู้ที่มีเงินได้ทุกคน ถ้าเข้าเกณฑ์ที่ต้องเสียภาษีนี้ แล้วการจัดเก็บภาษีให้ทั่วถึงเป็นหน้าที่ของ ข้าราชการกรมเก็บภาษี และไม่มีข้าราชการคนไหนจะเก็บภาษีได้เกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด
นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสิงห์บุรี พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายว่า ในเรื่องของรายได้ที่รัฐบาลประมาณการไว้ ที่ต้องดำเนินการเก็บภาษีให้ เป็นธรรม ให้ยุติธรรม ไม่ใช่เอื้อประโยชน์ให้กับพวกพ้อง หรือธุรกิจบางชนิด บางประเภท
นายเทวัญ ลิปตพัลลภ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครราชสีมา พรรคชาติพัฒนา อภิปรายว่า งบประมาณรายจ่ายเพิ่มงบกลางคือ เงินอุดหนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัด และเพื่อสนับสนุนให้เกิดการขยายตัวของเศรษฐกิจในระดับรากหญ้า
นางกุสุมาลวตี ศิริโกมุท สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดมหาสารคาม พรรคไทยรักไทย ได้อภิปรายว่า เห็นด้วยกับร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปี งบประมาณ พ.ศ. ๒๕๔๗ โดยเฉพาะโครงการต่าง ๆ ที่ผ่านมาทำให้ประชาชนได้รับผลประโยชน์ และในเรื่องค่าใช้จ่ายเพื่อการเสริมสร้างศักยภาพและการแข่งขันในการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศ จำนวน ๕๙,๐๐๐ ล้านบาท เพื่อใช้ในโครงการเร่งด่วนของรัฐบาล ซึ่งก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน
นายนริศ ขำนุรักษ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดพัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ ได้อภิปรายว่า งบกลางบางปีงบประมาณ โดยเฉพาะงบประมาณปี ๒๕๔๗ ไม่เป็นธรรมและไม่เป็นกลุ่มในบางพื้นที่และไม่มีรายละเอียดที่ชัดเจน
นาวาตรีสุธรรม ระหงษ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสมุทรสาคร พรรค ประชาธิปัตย์ อภิปรายว่า การที่รัฐบาลมีรายได้เพิ่มเติมจำนวน ๑๓๕,๕๐๐ ล้านบาทนั้น มาจากฝีมือในการบริหารงานที่มีประสิทธิภาพของรัฐบาลในการทำงาน
นายวิฑูรย์ นามบุตร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุบลราชธานี พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายว่างบประมาณเป็นเครื่องมือ เป็นกลไก ของรัฐบาลที่จะนำไปพัฒนาบ้านเมือง
นายจุฤทธิ์ ลักษณวิศิษฏ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ได้อภิปรายว่า การจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมครั้งนี้ ไม่มีรายละเอียดในการจัดทำงบประมาณทั้งในส่วนของรายรับและรายจ่าย
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายว่า ประเด็นที่มีการพูดกันเรื่องของการจัดเก็บภาษีอากรนั้นเป็นการสะท้อนความรู้สึกของประชาชนในการที่จะเสียภาษีได้ถูกต้องทั้งหมดครบถ้วน มักเป็นปัญหาอยู่เสมอ การเสียภาษีอากรเป็นหน้าที่ของประชาชน และประชาชนเต็มใจที่จะเสียภาษีอากร โดยเฉพาะถ้ารัฐบาลเอาภาษีอากรไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชน ถ้ารัฐบาลทำให้การเสียภาษีอากรง่ายต่อการเข้าใจและให้ประชาชนมองเห็นว่า มันเกิดความเป็นธรรม งบประมาณที่เสนอเข้ามาสะท้อนตัวตนของนายกฯ ทักษิณ ในฐานะนักบริหารงบประมาณกลางปีที่ทำขึ้น นายกรัฐมนตรีบอกว่าเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงความสำเร็จในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจ
นายวิชัย ชัยจิตวณิชกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุดรธานี พรรคชาติพัฒนา อภิปรายว่า เรื่องที่มาของรายรับ สมาชิกส่วนใหญ่พูดถึงกรมสรรพากร กรมสรรพสามิต ขาดกรมศุลกากร ที่ไม่ได้พูดถึง ซึ่งวันนี้กรมศุลกากรเองตั้งงบติดลบไว้ ๙,๘๐๐ ล้านบาท
นายโภคิน พลกุล รองนายกรัฐมนตรี อภิปรายว่า เงิน ๓๙,๐๐๐ ล้านบาท เป็นการถ่ายถอนตั๋วเงินคลัง ซึ่งแล้วแต่ว่าถึงกำหนดครบรอบ เมื่องบประมาณปี ๔๗ ที่ต้องตั้งเงินชดใช้เงิน คงคลังไป ๑๓๕,๕๐๐ ล้านบาท คือ การถ่ายถอนตั๋วของเดือนกันยายน ปี ๔๕ จากนั้นเดือนมิถุนายน ปี ๒๕๔๖ จะไม่มีตั๋วเงินคงคลังให้ไปถ่ายถอน แต่ที่ได้ถอนคือ ตั๋วเงินคลังที่กำหนดในเดือนสิงหาคมและกันยายน ปี ๒๕๔๖ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องเอามาใส่ไว้ในงบประมาณ รายจ่ายเพิ่มเติมที่ได้เสนอในปี ๒๕๔๗ นี้ วัตถุประสงค์ในการเสนองบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมครั้งนี้ เพราะรัฐบาลเห็นว่ามี รายได้สูงกว่าประมาณการที่ได้กำหนดไว้
เมื่อจบการอภิปรายที่ประชุมได้มีมติรับหลักการในร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๔๗ ในวาระที่ ๑ ด้วยคะแนนเสียง ๓๒๕ เสียง จากนั้นนายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เสนอขอตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๔๗ จำนวน ๓๕ คน ตามสัดส่วนของพรรคดังนี้
คณะรัฐมนตรี ๘ ท่าน
พรรคไทยรักไทย ๑๖ ท่าน
พรรคประชาธิปัตย์ ๗ ท่าน
พรรคชาติไทย ๒ ท่าน
พรรคชาติพัฒนา ๒ ท่าน
คณะรัฐมนตรี ประกอบด้วย
๑. นายโภคิน พลกุล
๒. ร้อยเอกสุชาติ เชาว์วิศิษฐ
๓. นายวราเทพ รัตนากร
๔. นายสรอรรถ กลิ่นประทุม
๕. นายชัย ชิดชอบ
๖. นายเอกพร รักความสุข
๗. นายรุ่งเรือง พิทยศิริ
๘. นายวุฒิพันธุ์ วิชัยรัตน์
พรรคไทยรักไทย ประกอบด้วย
๑. นายวิชาญ มีนชัยนันท์
๒. นายมงคล กิมสูนจันทร์
๓. นายปกิต พัฒนกุล
๔. นายวิทยา บุรณศิริ
๕. นายพงษ์ศักดิ์ วรปัญญา
๖. นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ
๗. นายประแสง มงคลศิริ
๘. นายบัวสอน ประชามอญ
๙. นายทองดี มนิสสาร
๑๐. นายชวลิต วิชยสุทธิ์
๑๑. นายพิทยา บุญเฉลียว
๑๒. นายสุชาติ ตันติวณิชชานนท์
๑๓. นายประเสริฐ จันทรรวงทอง
๑๔. นางฟาริดา สุไลมาน
๑๕. นายเสริมศักดิ์ การุญ
๑๖. นายภาคิน สมมิตร
พรรคประชาธิปัตย์ ประกอบด้วย
๑. นายวิจิตร ศรีสอ้าน
๒. นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ
๓. นายจุติ ไกรฤกษ์
๔. นายอลงกรณ์ พลบุตร
๕. นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ
๖. นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย
๗. นายสรรเสริญ สมะลาภา
พรรคชาติไทย ประกอบด้วย
๑. นายณัฐวุฒิ ประเสริฐสุวรรณ
๒. นายวิรัตน์ รัตนเศรษฐ์
พรรคชาติพัฒนา ประกอบด้วย
๑. นายสมศักดิ์ พันธ์เกษม
๒. นายวารุจ ศิริวัฒน์
กำหนดแปรญัตติ ๗ วัน ตามข้อบังคับ
ประธานฯ ในที่ประชุมสั่งปิดประชุมเมื่อเวลา ๒๐.๒๕ นาฬิกา

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ