ผลการประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้าระหว่างไทย-กัมพูชาครั้งที่ 1 (The First Joint Trade Committee between Thailand and Cambodia)
ในวันที่ 8 มีนาคม 2547 ได้มีการประชุมคณะกรรมร่วมทางการค้าไทย-กัมพูชา ครั้งที่ 1 โดยมี ฯพณฯ นายวัฒนา เมืองสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นหัวน้าคณะฝ่ายไทย และมี ฯพณฯ นายจอม ประสิทธิ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กัมพูชา เป็นหัวหน้าคณะฝ่ายกัมพูชา
การประชุมได้เน้นความร่วมมือทางด้านการค้าและการลงทุนภายใต้กรอบ ECS ได้แก่
- ระบบการหักบัญชี จะมีการมอบหมายให้สถาบันการเงินของแต่ละฝ่ายเป็นผู้ดำเนินการ โดยฝ่ายไทยจะมอบให้ธนาคารเพื่อการนำเข้าและสงออก และเจ้าหน้าที่ของทั้งสองฝ่าย จะหารือในรายละเอียดการดำเนินการต่อไปโดยเร็ว
- การรับซื้อผลผลิตทางการเกษตร ไทยจะรับซื้อสินค้าเกษตรของกัมพูชา โดยเบื้องต้นจะกำหนดไว้ 8 รายการ คือ ถั่วเหลือง ละหุ่ง ถั่วลิสง มันฝรั่ง เมล็ด มะม่วงหิมพานต์ ยูคาลิปตัส ข้าวโพดหวาน และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ โดยไม่ต้องเสียภาษี ซึ่งจะช่วยแก้ไขปัญหาการขาดดุลการค้าของกัมพูชากับไทยได้ในระดับหนึ่ง ปัจจุบันกัมพูชาขาดดุลการค้ากับไทย ประมาณ 680 ล้านเหรียญสหรัฐ
- ไทยจะให้สิทธิทางภาษีศุลกากร (AISP) แก่กัมพูชา เพิ่มขึ้นจาก 48 รายการ เป็น 310 รายการ เช่น ปูสดแช่แข็ง พริกแห้ง เมล็ดฝ้าย ไม้กวาด สิ่งทอผ้าฝ้าย และใยสังเคราะห์ ผ้าเช็ดถ้วยชาม ผ้าเช็ดพื้น เป็นต้น
- ไทยจะสนับสนุนค่าใช้จ่ายให้นักธุรกิจกัมพูชามาเข้าร่วมแสดงสินค้าในประเทศไทยร่วม 12 งาน ที่ผ่านไปเร็ว ๆ นี้ คือ งานแสดงสินค้าอัญญมีและเครื่องประดับ งานแสดงแฟชั่นและเครื่องหนัง งานแสดงสินค้าอาหารสำเร็จรูป เป็นต้น
- ให้มีความร่วมมือทางศุลกากร โดยจัดทำ One stop service โดยกำหนดที่ปอยเปต-อรัญประเทศ เป็นด่านแรก เพื่ออำนวยความสะดวกการค้าชายแดนระหว่างไทยกับกัมพูชา เพื่อให้การค้าชายแดนขยายตัว ซึ่งจะมีผลให้การค้าโดยรวมไทยกัมพูชาเพิ่มมากขึ้นโดยปริยาย
- ไทยและกัมพูชาจะเร่งการศึกษา การจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ (EPZ) ที่เกาะกง ฝ่ายกัมพูชาขอให้ไทยศึกษาเพิ่มที่ปอยเปตอีกแห่งหนึ่ง เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกให้กับนักลงทุนต่างชาติที่จะมาลงทุนในกัมพูชาเพิ่มขึ้น
- ไทยได้จ้างที่ปรึกษาให้ศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งตลาดกลางค้าส่ง และส่งออกในกัมพูชา ซึ่งจะแล้วเสร็จในปี 2547 เพื่อกัมพูชาจะได้มีแหล่งรวบรวมสินค้า โดยเฉพาะสินค้าเกษตรเพื่อจัดจำหน่ายไปยังส่วนต่าง ๆ ของประเทศและส่งออก
- เร่งรัดให้มีการตกลงว่าด้วยการขนส่งสินค้าผ่านแดน ในกรอบความตกลงว่าด้วยการขนส่งข้ามพรมแดนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS) ซึ่งกำหนดให้แล้วเสร็จในปีหน้า
ทั้งนี้ เป็นนโยบายของรัฐบาลไทยในการให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อให้มีรายได้เพิ่มขึ้น และเมื่อมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้นแล้ว ไทยก็จะสามารถขายสินค้าได้มากขึ้น
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ อาคาร ค ถ.ราชดำเนินกลาง แขวงบวรนิเวศน์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200 โทรศัพท์ (66) 2282-6171-9 แฟกซ์ (66) 2280-0775
-พห-