บันทึกการประชุมวุฒิสภา ครั้งที่ ๑๑ (สมัยสามัญทั่วไป) เป็นพิเศษ

ข่าวการเมือง Thursday March 11, 2004 08:40 —รัฐสภา

                        บันทึกการประชุมวุฒิสภา
ครั้งที่ ๑๑ (สมัยสามัญทั่วไป) เป็นพิเศษ
วันอังคารที่ ๙ มีนาคม ๒๕๔๗
ณ ตึกรัฐสภา
เริ่มประชุมเวลา ๐๙.๕๐ นาฬิกา
เมื่อสมาชิกฯ มาประชุมครบองค์ประชุมแล้ว นายสหัส พินทุเสนีย์ รองประธานวุฒิสภา
คนที่สอง ผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนประธานวุฒิสภา ขึ้นบัลลังก์
ผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนประธานวุฒิสภาได้กล่าวเปิดประชุมแล้วแจ้งให้ที่ประชุมรับทราบ
เรื่อง ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ ๙ (สมัยสามัญทั่วไป) วันพุธที่ ๓ มีนาคม ๒๕๔๗
ที่ประชุมได้พิจารณาและลงมติไม่เห็นชอบด้วยกับการแก้ไขเพิ่มเติมร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. และกำหนดจำนวนบุคคลที่จะ
ประกอบเป็นคณะกรรมาธิการร่วมกันเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ตามรัฐธรรมนูญฯ
มาตรา ๑๗๕ (๓) เป็นจำนวนสภาละ ๑๒ คน
ต่อมา ผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนประธานวุฒิสภาได้ปรึกษาที่ประชุมเพื่อขอเลื่อน
เรื่องที่ประธานจะแจ้งต่อที่ประชุม ในลำดับที่ ๑.๑ ถึงลำดับที่ ๑.๓ ออกไปก่อน เนื่องจาก
รัฐมนตรีว่าการและรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ต้องเข้าร่วมประชุมคณะรัฐมนตรี
เป็นประจำทุกวันอังคาร จึงไม่อาจจะเข้าร่วมประชุมและชี้แจงข้อมูลต่อที่ประชุมวุฒิสภา
ตามวัน เวลา และสถานที่ดังกล่าวได้ ซึ่งที่ประชุมมีมติเห็นชอบ
จากนั้น ผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนประธานวุฒิสภาได้ปรึกษาที่ประชุมเพื่อขอเลื่อน
เรื่องที่คณะกรรมาธิการพิจารณาเสร็จแล้ว ในลำดับที่ ๔.๑ ถึงลำดับที่ ๔.๓ ออกไปก่อน
เนื่องจากรายงานดังกล่าวเป็นเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกับระเบียบวาระลำดับที่ ๑.๑ ถึงลำดับที่ ๑.๓
ซึ่งที่ประชุมมีมติเห็นชอบ ผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนประธานวุฒิสภาจึงเสนอให้ที่ประชุมพิจารณา
เรื่องที่คณะกรรมาธิการพิจารณาเสร็จแล้ว ตามลำดับ ดังนี้
๑. รายงานผลการพิจารณาศึกษาของคณะกรรมาธิการการเศรษฐกิจ การพาณิชย์
และอุตสาหกรรม เฉพาะประเด็น "สงครามที่อาจเกิดขึ้นระหว่างสหรัฐอเมริกากับอิรัก"
ซึ่งคณะกรรมาธิการการเศรษฐกิจ การพาณิชย์และอุตสาหกรรมพิจารณาเสร็จแล้ว
เมื่อคณะกรรมาธิการฯ เสนอรายงาน และมีสมาชิกฯ อภิปรายแล้ว ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบ
ด้วยกับรายงานดังกล่าว เพื่อส่งไปยังคณะรัฐมนตรีเพื่อประกอบการพิจารณาดำเนินการต่อไป
๒. รายงานการพิจารณาของคณะกรรมาธิการสามัญเพื่อพิจารณาศึกษา
และสอบสวนการปฏิบัติราชการของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ส่วนที่สอง (รายงานลับ)
ซึ่งคณะกรรมาธิการสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว โดยที่คณะกรรมาธิการฯ ได้ขอให้ผ่านการพิจารณา
ในวาระนี้ไปเนื่องจากปัจจุบันได้มีการแต่งตั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินแล้ว ซึ่งที่ประชุมมีมติอนุญาต
ต่อจากนั้น ผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนประธานวุฒิสภาได้ปรึกษาที่ประชุมเพื่อขอเลื่อน
เรื่องที่คณะกรรมาธิการพิจารณาเสร็จแล้ว ในลำดับที่ ๔.๖ ออกไปก่อน ซึ่งที่ประชุมมีมติเห็นชอบ
ผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนประธานวุฒิสภาจึงเสนอให้ที่ประชุมพิจารณาเรื่องที่คณะกรรมาธิการพิจารณา
เสร็จแล้ว คือ รายงานผลการพิจารณารายงานการประชุมลับ เรื่อง การเลือกกรรมการตุลาการ
ศาลยุติธรรมผู้ทรงคุณวุฒิ ตามรัฐธรรมนูญฯ มาตรา ๒๗๔ (๓) และเป็นไปตามมาตรา ๓๘
แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พุทธศักราช ๒๕๔๓
ซึ่งคณะกรรมาธิการตรวจรายงานการประชุมและติดตามมติของวุฒิสภาพิจารณาเสร็จแล้ว
เมื่อคณะกรรมาธิการฯ เสนอรายงาน ที่ประชุมได้พิจารณาและมีมติไม่เปิดเผยรายงานการประชุมลับ
เรื่องดังกล่าว
หลังจากนั้น ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบให้เลื่อนเรื่องที่คณะกรรมาธิการพิจารณาเสร็จแล้ว
ในลำดับที่ ๔.๘ ออกไปก่อน และมีมติเห็นชอบให้นำเรื่องในลำดับที่ ๔.๑๓ ขึ้นมาพิจารณาก่อน
ผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนประธานวุฒิสภาจึงเสนอให้ที่ประชุมพิจารณาเรื่องที่คณะกรรมาธิการพิจารณาเสร็จแล้ว ตามลำดับ ดังนี้
๑. รายงานการพิจารณา เรื่อง แนวทางการแก้ปัญหาการผลิต การตลาดสุกร
อย่างยั่งยืน ซึ่งคณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์พิจารณาเสร็จแล้ว เมื่อคณะกรรมาธิการฯ
เสนอรายงาน ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบด้วยกับรายงานพร้อมทั้งข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการฯ
เพื่อส่งไปยังคณะรัฐมนตรีเพื่อประกอบการพิจารณาดำเนินการต่อไป
๒. รายงานการพิจารณาศึกษาปัญหาการบังคับใช้กฎหมายเรื่อง การส่งออกข้าว
ซึ่งคณะกรรมาธิการการเศรษฐกิจ การพาณิชย์และอุตสาหกรรมพิจารณาเสร็จแล้ว
เมื่อคณะกรรมาธิการฯ เสนอรายงาน และมีสมาชิกฯ อภิปรายแล้ว ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบ
ด้วยกับรายงานพร้อมทั้งข้อสังเกตและข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการฯ เพื่อส่งไปยังคณะรัฐมนตรี
เพื่อประกอบการพิจารณาดำเนินการต่อไป
๓. รายงานการพิจารณาศึกษาและติดตามการแก้ไขฟื้นฟูวิกฤตเศรษฐกิจ
ของประเทศ ซึ่งคณะกรรมาธิการการเศรษฐกิจ การพาณิชย์และอุตสาหกรรมพิจารณาเสร็จแล้ว
เมื่อคณะกรรมาธิการฯ เสนอรายงาน และมีสมาชิกฯ อภิปรายแล้ว ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบ
ด้วยกับรายงานดังกล่าว เพื่อส่งไปยังคณะรัฐมนตรีเพื่อประกอบการพิจารณาดำเนินการต่อไป
๔. รายงานผลการพิจารณาศึกษา เรื่อง ความรุนแรงต่อสตรีในครอบครัว
ซึ่งคณะกรรมาธิการกิจการสตรี เยาวชนและผู้สูงอายุพิจารณาเสร็จแล้ว เมื่อคณะกรรมาธิการฯ
เสนอรายงาน และมีสมาชิกฯ อภิปรายแล้ว ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบด้วยกับรายงานพร้อมทั้ง
ข้อสังเกตและข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการฯ เพื่อส่งไปยังคณะรัฐมนตรีเพื่อประกอบการพิจารณาดำเนินการต่อไป
๕. รายงานการพิจารณาศึกษาปัญหาการทะเลาะวิวาทและการใช้ความรุนแรง
ของนักเรียนนักศึกษา ซึ่งคณะกรรมาธิการการศึกษา ศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรมพิจารณาเสร็จแล้ว
เมื่อคณะกรรมาธิการฯ เสนอรายงาน และมีสมาชิกฯ อภิปรายแล้ว ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบด้วยกับ
รายงานพร้อมทั้งข้อสังเกตและข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการฯ เพื่อส่งไปยังคณะรัฐมนตรี
เพื่อประกอบการพิจารณาดำเนินการต่อไป
จากนั้น ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบให้นำเรื่องตั้งกรรมาธิการร่วมกันเพื่อพิจารณา
ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….
ให้ที่ประชุมพิจารณา และมีมติให้ตั้งกรรมาธิการร่วมกันฝ่ายวุฒิสภา จำนวน ๑๒ คน
ประกอบเป็นคณะกรรมาธิการร่วมกันเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ประกอบด้วย
๑. นายคำนวณ ชโลปถัมภ์ ๒. นายเสรี สุวรรณภานนท์
๓. นายสัก กอแสงเรือง ๔. พลตำรวจเอก วิรุฬห์ พื้นแสน
๕. พันตำรวจเอก สุรพงศ์ ไผ่นวล ๖. นายทองใบ ทองเปาด์
๗. พลตำรวจตรี อำพล งามจิตร ๘. นายพิชัย ขำเพชร
๙. นายประสิทธิ์ ปทุมารักษ์ ๑๐. นายวงศ์พันธ์ ณ ตะกั่วทุ่ง
๑๑. นายพิเชฐ พัฒนโชติ ๑๒. นายอรรถพล ใหญ่สว่าง
เลิกประชุมเวลา ๑๕.๑๕ นาฬิกา
(นายมนตรี รูปสุวรรณ)
เลขาธิการวุฒิสภา
สรุปผลการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ
ตั้งกรรมาธิการร่วมกันเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ
จำนวน ๑ ฉบับ คือ
- ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
(ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….
กลุ่มงานรายงานการประชุม
สำนักรายงานการประชุมและชวเลข
โทร. ๐ ๒๖๖๘ ๖๒๙๐ - ๕ ต่อ ๑๑๐-๑๑๑
โทรสาร ๐ ๒๖๖๘ ๖๒๙๐ - ๕ ต่อ ๑๒๑

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ