สรุปสถานการณ์ส่งออกสินค้าเฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วนประจำเดือน ก.พ.2547(ม.ค.-ก.พ.2547)

ข่าวเศรษฐกิจ Monday March 15, 2004 09:15 —กรมส่งเสริมการส่งออก

          การส่งออกสินค้าเฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วนในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2547   มีมูลค่า 97.79 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคม ร้อยละ 8.3 คาดว่าเดือนมีนาคม 2547จะมีมูลค่าการส่งออกประมาณ 96.7ล้านเหรียญสหรัฐฯ  (คาดว่ามกราคม-มีนาคม 2547 มีมูลค่าส่งออกรวม 284.78   ล้านเหรียญสหรัฐฯ)
การส่งออกสินค้าเฟอร์นิเจอร์ไม้ ซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ 58.22 ของการ ส่งออกสินค้าเฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วนทั้งหมดของไทยในเดือนกุมภาพันธ์ มีมูลค่า 56.74 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคมร้อยละ 7.56 คาดว่าเดือนมีนาคม จะมีมูลค่าส่งออกประมาณ 53.78 ล้านเหรียญสหรัฐ
ภาพรวมการส่งออกเฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน :
การส่งออกเฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วนเดือนม.ค.-ก.พ. 2547 เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.61 เมื่อเทียบกับช่วงเดือนกันของปี 2546 และ มีมูลค่า 188.08 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยส่งออกไปยังสหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้นร้อยละ 42.54 และ 24.54 อนึ่ง สำหรับตลาดญี่ปุ่น ไทยส่งออกเฟอร์นิเจอร์มูลค่า 55.85 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นตลาดอันดับ 2 แต่มีอัตราการขยายตัวลดลงเมื่อเปรียบกับช่วงเดียวกันปี 2546 คือ ลดลงร้อยละ 15.49 เนื่องจากญี่ปุ่นประสบภาวะเศรษฐกิจซบเซาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2545 ทำให้ญี่ปุ่นชะลอการสั่งซื้อจากไทย และหันไปนำเข้าเฟอร์นิเจอร์ราคาถูกจากจีนแทน
เดือนกุมภาพันธ์ การส่งออกชิ้นส่วนเฟอร์นิเจอร์ขยายตัวมากที่สุด คือ ร้อยละ 43.27 เนื่องจากผู้ประกอบการหันไปส่งออกชิ้นส่วนเฟอร์นิเจอร์ซึ่งมีอัตราภาษีเฉลี่ยในหลายๆตลาดต่ำกว่าเฟอร์นิเจอร์สำเร็จรูป ในขณะที่เฟอร์นิเจอร์โลหะ มีอัตราการขยายตัวลดลงอย่างต่อเนื่องถึงร้อยละ 35.92 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปี 2546 เนื่องจากยังไม่สามารถแก้ปัญหาเหล็ก ที่กำลังขาดแคลนและราคาสูง ซึ่งเป็นผลจากราคาในตลาดโลก และอาจมีการกักตุนในไทย ทำให้ราคาเหล็กที่ขายในท้องตลาดสูงอย่างผิดปกติ โดยในขณะนี้ เหล็กรีดเย็นราคาเพิ่มขึ้นร้อยละ 61.4 เป็น 27.50 บาทต่อกิโลกรัม
จากการจัดงาน TIFF 2004 ที่ผ่านมา พบว่าผู้นำเข้าสหรัฐฯให้ความสนใจกับเฟอร์นิเจอร์ไม้ไผ่ หวาย เฟอร์นิเจอร์สนามทำด้วยไม้สัก และรูปแบบที่เลียนแบบของเก่า ส่วนเฟอร์นิเจอร์ประเภท Accent Furniture เช่น โต๊ะเดี่ยว ตู้ขนาดเล็กจะเน้นสีเข้มเป็นหลัก จะไม่นิยมสีขาว ตลาดอิตาลี จะเน้นความประณีต โปร่งตา และประโยชน์ใช้สอย เช่น นิยมตู้เสื้อผ้าแบบ walk-in มากขึ้น
เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วนมีอัตราภาษีนำเข้าประเทศสหรัฐฯ ร้อยละ 0-12.8 และ ญี่ปุ่นร้อยละ 0.4-3.9 หากไทยทำ FTA กับประเทศคู่เจรจา ท่าทีภาษีที่จะให้กับประเทศคู่เจรจา จะลดลงเหลือร้อยละ 0 ซึ่งคาดว่าจะลดลงได้ภายในไม่เกิน ปี 2006(2549)
ขณะนี้ญี่ปุ่นกำลังอยู่ในระหว่างพิจารณาเปลี่ยนแปลงให้ สมอ.ของไทยเป็นผู้ตรวจสอบและออกใบรับรองมาตรฐาน JIS (Japan Industrial Standards Institute) เองได้เลย โดยจะเป็นการอำนวยความสะดวก และลดค่าใช้จ่ายกับผู้ประกอบการไทย
เป้าหมายการส่งออกปี 2547 :
มูลค่า 1,166 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 12 เมื่อเทียบกับปี 2546
ที่มา: http://www.depthai.go.th
-อบ-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ