สาร ส.ส. ฉบับที่ ๖๓ วันที่ ๑๕-๒๑ มีนาคม ๒๕๔๗

ข่าวการเมือง Monday March 15, 2004 10:35 —รัฐสภา

ประธานรัฐสภาให้การรับรอง
วันอังคารที่ ๙ มีนาคม ๒๕๔๗ เวลา ๑๘.๐๐ นาฬิกา นายอุทัย พิมพ์ใจชน ประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราษฎร ให้การรับรอง H.E.Mr. Tamer A. Khalil เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอาหรับอียิปต์ ประจำประเทศไทย พร้อมด้วย H.E.Mr. El Hassane Zasid เอกอัครราชทูตราชอาณาจักรโมร็อกโก ประจำประเทศไทย และคณะ ณ ไร่ธนพรรณการ์เด้น อำเภอหนองใหญ่ จังหวัดชลบุรี
= ทูตโปแลนด์คนใหม่เยี่ยมคารวะ
วันที่ ๑๐ มีนาคม ๒๕๔๗ เวลา ๑๐.๑๐ นาฬิกา นายอุทัย พิมพ์ใจชน ประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราษฎร ให้การรับรอง นายบอกดาน กูราลชิก เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐ โปแลนด์ประจำประเทศไทย ในโอกาสเข้ารับตำแหน่งใหม่ ณ ห้องรับรอง ๑ ชั้น ๒ อาคารรัฐสภา ๑ โดยนายบอกดาน กูราลชิก ได้กล่าวขอบคุณประธานรัฐสภาที่ให้โอกาสเข้าเยี่ยมคารวะ พร้อมทั้ง กล่าวถึงการที่เลือกมาประจำประเทศไทยเนื่องจากประชาชนชาวไทยมีความเป็นมิตรและประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความสวยงาม อีกทั้งยังมีความคุ้นเคยกับประเทศในแถบเอเชียเป็นอย่างดี และเมื่อประมาณ ๔ เดือนที่ผ่านมาได้นำประธานาธิบดีโปแลนด์มาเยือนประเทศไทย ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จทางด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเป็นอย่างดี หลังจากนั้นทั้งสองได้สนทนาถึงสถานการณ์ด้านต่าง ๆ ของประเทศโปแลนด์ อาทิ ด้านเศรษฐกิจ การเมือง รวมทั้งการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ซึ่ง ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ทั้งสองยังได้แสดงเจตนารมณ์ในการให้ความร่วมมือ และสนับสนุนซึ่งกันและกันเพื่อกระชับความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ในการนี้ เอกอัครราชทูตฯ ได้เชิญประธานรัฐสภาไปเยือนสาธารณรัฐโปแลนด์ด้วย
= ประธานรัฐสภาให้การรับรองเจ้าชายแห่งโรมาเนีย
วันที่ ๑๐ มีนาคม ๒๕๔๗ เวลา ๑๑.๐๐ นาฬิกา ณ ห้องรับรอง ๑ ชั้น ๒ อาคาร รัฐสภา ๑ นายอุทัย พิมพ์ใจชน ประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราษฎร พร้อมด้วยนายพิทูร พุ่มหิรัญ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ให้การรับรองเจ้าชายราดู แห่งโรมาเนีย ผู้แทนพิเศษของรัฐบาลโรมาเนียด้านการรวมตัวความร่วมมือและการพัฒนาที่ยั่งยืน ในโอกาสเดินทางมาเยือนประเทศไทย เจ้าชายราดูแห่งโรมาเนียกล่าวว่า รัฐสภาไทยมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับรัฐสภาโรมาเนียมาช้านาน รวมทั้งมีการจัดตั้งกลุ่มมิตรภาพระหว่างกันขึ้น ซึ่งถือว่าเป็นรากฐานที่ดีต่อความสัมพันธ์และการเรียนรู้ซึ่งกันและกันในอนาคต ต่อจากนั้นทั้งสองฝ่ายได้สนทนากันถึงเรื่องการแลกเปลี่ยนการเยือนระหว่างประเทศทั้งสอง โดยประธานฯ ได้กล่าวว่า รัฐสภาไทยได้มีนโยบายในการแลกเปลี่ยนการเยือนกับ รัฐสภาต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทางรัฐสภาโรมาเนียได้ให้ความสำคัญในเรื่องการแลกเปลี่ยน การเยือนเช่นกัน เพราะถือว่าเป็นเรื่องของความสัมพันธ์ทางการทูต โดยได้มีการส่งคณะผู้แทนไปเยือนประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกเป็นจำนวนมาก เพื่อเป็นการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างกัน และในปี ค.ศ.๒๐๐๗ นี้ ประเทศโรมาเนียมีเป้าหมายสำคัญที่จะเข้าร่วมกันสหภาพยุโรปด้วย
= ประชุมกรรมการโครงการยุวชนประชาธิปไตย
วันพุธที่ ๑๐ มีนาคม ๒๕๔๗ เวลา ๑๐.๐๐ นาฬิกา นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง เป็นประธานในการประชุมคณะกรรมการยุวชนประชาธิปไตย ณ ห้องประชุมรองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ชั้น ๓ อาคารรัฐสภา
โครงการยุวชนประชาธิปไตย จัดโดยสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรร่วมกับสถาบันพระปกเกล้า มีวัตถุประสงค์เพื่อฝึกอบรมเยาวชนให้เข้าใจและช่วยเผยแพร่ทัศนคติเกี่ยวกับ การเมืองการปกครอง เพราะปัจจุบันพบว่าประชาชนยังมีส่วนร่วมในการเมืองการปกครองไม่มากนัก และยังมีศักยภาพไม่เพียงพอ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรและสถาบันพระปกเกล้า จึงมีความเห็นว่า จะต้องสร้างเยาวชนรุ่นใหม่ ๆ ให้เข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองปกครองในอนาคตอย่างมีประสิทธิภาพ และให้ได้รับการเรียนรู้ถึงสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในทางการเมืองและสังคมโลก กล้าแสดงความคิดเห็น สร้างจิตสำนึกให้มีคุณธรรมในการอยู่ร่วมกันในสังคม
นอกจากนี้เป้าหมายหลักที่ต้องการเห็น คือ เด็กที่เข้าโครงการอบรมยุวชนประชาธิปไตยแล้ว สามารถไปสร้างเครือข่ายในภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศ เพื่อให้เยาวชนที่ไม่ได้เข้า ฝึกอบรมได้มีโอกาสเรียนรู้ประชาธิปไตยจากเยาวชนที่ได้ผ่านการอบรมมาแล้ว ซึ่งสิ่งนี้จะเป็นการสร้างรากฐานทางประชาธิปไตยให้แข็งแรงมั่นคงทั่วประเทศ
สำหรับโครงการฝึกอบรมนี้จะจัดขึ้น ๒ รุ่น ๆ ละ ๑๖๐ คน รวม ๓๒๐ คน เป็นเยาวชนชาย หญิง อายุระหว่าง ๑๕.๒๐ ปี โดยขอรายละเอียดเพิ่มเติม ติดต่อได้ที่ กลุ่มงานเผยแพร่ประชาธิปไตย สำนักประชาสัมพันธ์ โทร. ๐ ๒๓๕๗ ๓๑๐๐ ต่อ ๓๑๐๓-๖
= อิหร่านสนับสนุนไทยในการต่อต้านยาเสพติด
ที่รัฐสภา วันที่ ๑๑ มีนาคม ๒๕๔๗ เวลา ๑๐.๐๐ นาฬิกา ณ ห้องรับรอง ๑ ชั้น ๒ อาคารรัฐสภา ๑ นายสุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ให้การรับรอง นายเซเยด อโมลฟาซัล ราซาวี ประธานกลุ่มมิตรภาพสมาชิกรัฐสภาอิหร่าน-ไทย และคณะ
รองประธานฯ ได้กล่าวต้อนรับและแสดงความเสียใจที่ประเทศอิหร่านประสบภัยทางธรรมชาติ จนทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนเป็นจำนวนมาก จากนั้นทั้งสองได้สนทนาถึงรัฐสภาของ ทั้งสองประเทศ ซึ่งรัฐสภาไทย ประกอบด้วย ๒ สภา คือ สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา ซึ่งสมาชิก สภาผู้แทนราษฎรมาจากระบบบัญชีรายชื่อ จำนวน ๑๐๐ คน มาจากการเลือกตั้ง จำนวน ๔๐๐ คน สำหรับวุฒิสภา สมาชิกมาจากการเลือกตั้ง จำนวน ๒๐๐ คน ส่วนรัฐสภาอิหร่าน สมาชิกมาจาก การเลือกตั้ง จำนวน ๒๙๐ คน
ต่อจากนั้นประธานกลุ่มมิตรภาพฯ ได้กล่าวว่า รัฐบาลอิหร่านขอสนับสนุนประเทศไทย ที่กำลังปฏิบัติการต่อต้านยาเสพติด เพราะประเทศอิหร่านก็เป็นประเทศหนึ่งที่ได้ประกาศสงครามกับยาเสพติดเช่นเดียวกัน และในโอกาสนี้ได้นำความระลึกถึงจากนาย Mahdi Karrabi ประธานสภา ที่ปรึกษาอิสลามแห่งสาธารณรัฐอิสลามอิหร่านมายังรองประธานฯ พร้อมกันนี้ขอเรียนเชิญท่านเดินทางไปเยือนประเทศอิหร่านในโอกาสต่อไป
= ส.ส.ใหม่ รายงานตัว
ตามที่สภาผู้แทนราษฎร ได้มีประกาศเรื่อง ให้ผู้มีรายชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่ของพรรค การเมืองในลำดับถัดไปเลื่อนขึ้นมาเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร นั้น ในวันที่ ๑๐ มีนาคม ๒๕๔๗ นายมงคล สิมะโรจน์ ซึ่งเป็นผู้มีรายชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อลำดับที่ ๘๐ พรรคไทยรักไทย ได้มารายงานตัวต่อสำนักงานเลขาธิการผู้แทนราษฎร เพื่อแทนตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ว่าง เนื่องจาก นายเสริมศักดิ์ การุญ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ พรรคไทยรักไทย ได้ขอลาออก
นายมงคล สิมะโรจน์ เกิดเมื่อวันที่ ๒๑ มกราคม ๒๔๘๕ จบการศึกษาระดับปริญญาตรี ด้านวิศวกรรมศาสตร์ จากจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย ปริญญาโทโครงสร้าง Michigan St. University เคยดำรงตำแหน่งรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร รองหัวหน้าพรรคไทยรักไทย และประธานฝ่ายบริหารพรรคไทยรักไทย
และจากการที่นายพรเสก กาญจนจารี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ได้ลาออกเมื่อวันที่ ๔ มีนาคม ๒๕๔๗ นั้น ในวันที่ ๑๒ มีนาคม ๒๕๔๗ ที่ผ่านมา คุณหญิงจรัสศรี ทีปิรัช ซึ่งเป็นผู้มีรายชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อลำดับที่ ๓๔ พรรคประชาธิปัตย์ ได้มา รายงานตัวแทนเพื่อแทนตำแหน่งที่ว่าง โดยสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ได้จัดให้มีการรับรายงานตัว ณ บริเวณ ห้องโถงชั้นล่าง อาคารรัฐสภา
= วุฒิสภาเห็นชอบ "ตรวจสอบประวัติและความประพฤติ" ว่าที่ กทช.
วันที่ ๘ มีนาคม ๒๕๔๗ วุฒิสภามีมติภายหลังการประชุมเห็นชอบตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญตรวจสอบประวัติและความประพฤติผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กทช. ที่คณะกรรมการสรรหา กทช. เสนอ จำนวน ๑๔ คน เพื่อให้วุฒิสภาเลือกให้เหลือ จำนวน ๗ คน
คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) เป็นองค์กรของรัฐที่เป็นอิสระมีหน้าที่จัดสรรคลื่นความถี่และกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมจัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. ๒๕๔๓
กทช.ประกอบด้วยประธานกรรมการ ๑ คน และกรรมอื่นอีก ๖ คน ซึ่งต้องเป็นผู้ที่มี ผลงาน หรือเคยปฏิบัติงานที่แสดงให้เห็นถึงการเป็นผู้มีความรู้ ความเข้าใจ และมีความเชี่ยวชาญหรือมีประสบการณ์ ในกิจการโทรคมนาคม เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องการศึกษา ศาสนา วัฒนธรรม เศรษฐกิจ ความมั่นคง กฎหมายมหาชน หรือกิจการท้องถิ่น อันจะเป็นประโยชน์ต่อกิจการโทรคมนาคม มีวาระ อยู่ในตำแหน่ง ๖ ปี นับแต่วันที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง และให้ดำรงตำแหน่งได้เพียงวาระเดียว ในวาระเริ่มแรกเมื่อครบกำหนด ๓ ปี ให้ กทช. ออกจากตำแหน่งจำนวน ๓ คน โดยวิธีจับสลาก สำหรับกรรมการฯ ที่พ้นจากตำแหน่งในกรณีนี้ไม่สามารถได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการฯ ได้อีก กรรมการฯ ที่ได้รับการสรรหาเข้ามาใหม่ ๓ คน จะมีวาระการดำรงตำแหน่ง ๖ ปี นับแต่วันที่พระมหากษัตริย์ทรง แต่งตั้ง
= การพัฒนาฐานข้อมูลสารสนเทศอิเล็กทรอนิกส์ของสำนักวิชาการ
สำนักวิชาการและสำนักพัฒนาบุคลากร ได้ร่วมกันจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เรื่อง "การพัฒนาฐานข้อมูลสารสนเทศอิเล็กทรอนิกส์ของสำนักวิชาการ" โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อนำเสนอฐานข้อมูลสารสนเทศอิเล็กทรอนิกส์ที่จัดทำโดยสำนักวิชาการ และที่จัดซื้อออนไลน์จากต่างประเทศ รวมทั้งร่วมรับฟังความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับ Digital Resources (ทรัพยากรสารสนเทศดิจิตอล) จากวิทยากรของสถาบันวิทยบริการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ผู้เข้าร่วมสัมมนาซึ่งเป็นข้าราชการสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรระดับ ผู้อำนวยการกลุ่มงานขึ้นไป หรือผู้แทนที่ปฏิบัติงานเกี่ยวข้องกับการใช้ฐานข้อมูล ซึ่งจะได้รับความรู้ ความเข้าใจ และเกิดทักษะในการสืบค้นข้อมูล สามารถนำคู่มือการสืบค้นฐานข้อมูลต่าง ๆ ไปประยุกต์ใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อการปฏิบัติงานของตนเองอย่างมีประสิทธิภาพ
ฐานข้อมูลทั้งหมดที่นำมาแสดงในการสัมมนาครั้งนี้ให้บริการทางเครือข่ายอินเตอร์เน็ตผ่านทางเว็บไซต์ของสำนักวิชาการที่ www.parliament.go.th/library ผู้สนใจสามารถเข้าร่วมเป็น ผู้สังเกตการณ์ และทดลองใช้ฐานข้อมูลได้ตามวันและเวลาข้างต้น หรือหากสนใจคู่มือการสืบค้นฐานข้อมูลต่าง ๆ โปรดติดต่อขอรับภายหลังจากการสัมมนาได้ที่ กลุ่มงานทรัพยากรสารสนเทศ สำนักวิชาการ อาคารรัฐสภา ๓ โทร. ๐ ๒๒๔๔ ๑๐๘๑ และที่เคาน์เตอร์บริการห้องสมุด โทร. ๐ ๒๒๔๔ ๑๓๗๕ หรือ e-mail มาที่ rlib21@parliament.go.th
= ไม่ไปเลือกตั้ง "อบจ." ย่อมเสียสิทธิทางการเมือง
วันอาทิตย์ที่ ๑๔ มีนาคม ๒๕๔๗ ประชาชนคนไทย ๗๔ จังหวัด ได้แสดงความเป็น พลเมืองผู้รักประชาธิปไตย ด้วยการไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดและสมาชิก องค์การบริหารส่วนจังหวัดกันอย่างพร้อมเพรียง เป็นที่น่าปลื้มใจที่ประเทศไทยมีพัฒนาการด้านการเมืองการปกครองอยู่ในลำดับดีขึ้นกว่าอดีตมาก ในขณะที่มีคนไทยบางคนไม่ไปใช้สิทธิการเลือกตั้งของตนเอง จะด้วยเหตุผลใดก็ตาม หากไม่แจ้งเหตุอันควรย่อมเสียสิทธิตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งมาตรา ๒๓ (แก้ไขเพิ่มเติม) ดังนี้คือ
๑. สิทธิยื่นคำร้องคัดค้านการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ผู้บริหารท้องถิ่น และสมาชิกสภาท้องถิ่น
๒. สิทธิร้องคัดค้านการเลือกตั้งกำนันและผู้ใหญ่บ้านตามกฎหมายว่าด้วยลักษณะการปกครองท้องถิ่น
๓. สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ผู้บริหาร ท้องถิ่น และสมาชิกสภาท้องถิ่น
๔. สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นกำนันและผู้ใหญ่บ้าน ตามกฎหมายว่าด้วยลักษณะ ปกครองท้องที่
๕. สิทธิเข้าชื่อร้องขอ เพื่อให้รัฐสภาพิจารณากฎหมายตามกฎหมายว่าด้วยการ เข้าชื่อเสนอกฎหมาย
๖. สิทธิเข้าชื่อร้องขอให้สภาท้องถิ่นพิจารณาออกข้อบัญญัติท้องถิ่นตามกฎหมาย ว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอข้อบัญญัติท้องถิ่น
๗. สิทธิเข้าชื่อร้องขอ เพื่อให้วุฒิสภามีมติถอดถอนบุคคลตามกฎหมายประกอบ รัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
๘. สิทธิเข้าชื่อร้องขอให้ถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่นตามกฎหมายว่าด้วยการลงคะแนนเสียง เพื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ