เวลา ๐๙.๓๐ นาฬิกา นายอุทัย พิมพ์ใจชน ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ ๒๑ ปีที่ ๔ ครั้งที่ ๑๐ (สมัยสามัญทั่วไป) เมื่อครบ องค์ประชุมแล้วประธานได้กล่าวเปิดการประชุม จากนั้นประธานได้แจ้งให้ที่ประชุมรับทราบ ดังนี้
๑. รับทราบรายงานผลการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนกรณีความรุนแรง
อันเนื่องมาจากโครงการท่อก๊าซไทย-มาเลเซีย ของคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (อยู่ในระหว่างรอการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ)
๒. รับทราบผลการดำเนินการตามรายงานผลการพิจารณาศึกษาระบบการประกัน
คุณภาพการศึกษาตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๒
จากนั้น ที่ประชุมได้พิจารณา เรื่องที่คณะกรรมาธิการพิจารณาเสร็จแล้ว ดังนี้
๑. รายงานผลการพิจารณาศึกษาปัญหาการทำผลงานทางวิชาการเพื่อเลื่อน
ตำแหน่งของข้าราชการครูในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งคณะกรรมาธิการการศึกษาพิจารณาเสร็จแล้ว โดยศาสตราจารย์วิจิตร ศรีสอ้าน ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการศึกษา ได้ชี้แจงต่อที่ประชุมว่า การปฏิรูประบบการศึกษาทำให้เกิดผลกระทบกับครูจำนวนมากในการที่จะทำผลงานทางวิชาการเพื่อเลื่อนตำแหน่ง คณะกรรมาธิการฯ จึงได้ศึกษาเรื่องดังกล่าวแล้วเห็นว่าควรปรับปรุงหลักเกณฑ์เดิม ของคณะกรรมการ ข้าราชการครู (ก.ค.) ดังนี้คือ
๑. ให้มีการเร่งรัดพัฒนาหลักเกณฑ์ต่าง ๆ ตามแนวที่สำนักงานปฏิรูปการศึกษาได้เสนอไว้ โดยประเมินจากผลงานการปฏิบัติงานตามหน้าที่มากกว่าการประเมินโดยใช้เอกสารเป็นจำนวนมาก
๒. ผลงานทางวิชาการนั้นต้องเชื่อมโยงกับเรื่องคุณภาพของการเรียนการสอน เพื่อจะ
ได้เกิดประโยชน์ต่อตัวนักเรียนอย่างแท้จริง
๓. การทำผลงานทางวิชาการนั้นต้องไม่เป็นภาระแก่ครูมากจนเกินไปจนทำให้กระทบต่อ
การทำหน้าที่สอนของครู
การพิจารณาของคณะกรรมาธิการฯ ได้ตั้งข้อสังเกตไว้ท้ายรายงานผลการพิจารณาศึกษาปัญหาการทำผลงานทางวิชาการเพื่อเลื่อนตำแหน่งของข้าราชการครูในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ประธานในที่ประชุมจึงได้เปิดโอกาสให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหลายท่านอภิปรายอย่างกว้างขวาง หลังจากนั้นประธานได้ขอให้ที่ประชุมลงมติว่าจะส่งข้อสังเกตดังกล่าว ให้แก่คณะรัฐมนตรีรับไปดำเนินการต่อไปหรือไม่ ซึ่งที่ประชุมก็ได้ลงมติเห็นชอบให้ส่งข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการฯ ไปยังคณะรัฐมนตรีเพื่อดำเนินการต่อไป
จากนั้นที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบให้นำเรื่องต่าง ๆ ที่คณะกรรมาธิการการศึกษาพิจารณาเสร็จแล้วมาพิจารณารวมกัน ดังนี้
๑. รายงานผลการพิจารณาศึกษา เรื่องการวิเคราะห์หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน
พุทธศักราช ๒๕๔๔
๒. รายงานการพิจารณาศึกษาเรื่องปัญหาอัตรากำลังครูและบุคลากรทางการศึกษา
๓. รายงานผลการพิจารณาศึกษาเรื่อง การกระจายอำนาจงบประมาณด้านการศึกษา
ให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในส่วนที่เกี่ยวข้องกับโครงการอาหารกลางวันและอาหารเสริม (นม) โรงเรียน
๔. รายงานผลการพิจารณาศึกษาเรื่อง สภาพปัญหาการบริหารเขตพื้นที่การศึกษา
เมื่อศาสตราจารย์วิจิตร ศรีสอ้าน ประธานคณะกรรมาธิการได้เสนอรายงานทั้ง ๔ เรื่อง ทีละเรื่อง ตามลำดับต่อที่ประชุมแล้ว ได้มีการพิจารณาข้อสังเกตเกี่ยวกับรายงานผลการพิจารณาเรื่องต่าง ๆ ซึ่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหลายท่านร่วมอภิปรายกันอย่างกว้างขวาง โดยมีกรรมาธิการเป็น ผู้ตอบชี้แจง จนเวลาพอสมควรแล้วประธานจึงได้ขอให้ที่ประชุมลงมติว่าเห็นชอบกับข้อสังเกตต่าง ๆ ของคณะกรรมาธิการหรือไม่ ซึ่งที่ประชุมได้มีลงมติเห็นชอบด้วยกับข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการทั้ง ๔ เรื่อง โดยลงมติทีละเรื่องตามลำดับ เพื่อให้ส่งข้อสังเกตต่าง ๆ ของคณะกรรมาธิการไปยังคณะรัฐมนตรีเพื่อดำเนินการต่อไป
พักการประชุม เวลา ๑๓.๒๕ นาฬิกา
จากนั้นได้มีการประชุมต่อเวลา ๑๓.๓๐ นาฬิกา โดยมีการพิจารณากระทู้ต่าง ๆ คือ
กระทู้ถามสด จำนวน ๓ เรื่อง
๑. กระทู้ถามสดของ นายวิชาญ มีนชัยนันท์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กรุงเทพมหานคร พรรคไทยรักไทย เป็นผู้ตั้งกระทู้ถาม เรื่อง ร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร ถามนายกรัฐมนตรี ซึ่งนายประชา มาลีนนท์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ตอบกระทู้ว่า รัฐบาลและกรุงเทพมหานครมีมาตรการในการกำหนดนโยบาย การวางแผนการใช้ที่ดินให้สอดคล้องกับการให้บริการการสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะการใช้ระบบขนส่งมวลชน ที่ทำการพัฒนาเพื่อลดความแออัดของบริเวณเมืองชั้นใน และขยายพื้นที่รองรับกิจกรรมด้านเศรษฐกิจต่อเนื่องจากสนามบินสุวรรณภูมิ โดยมีการกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินตามร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร เช่น เขตวงแหวนถนนรัชดาภิเษก ซึ่งอยู่ในเขตการให้บริการขนส่งมวลชนระบบรถรางและพัฒนาศูนย์คมนาคม ๓ แห่ง ได้แก่ ศูนย์พหลโยธิน มักกะสัน และตากสิน ส่วนพื้นที่ระหว่างถนนวงแหวนรัชดาภิเษกและวงแหวนรอบนอก โดยผังเมืองรวมได้กำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินบริเวณดังกล่าวนี้เป็นที่ดินที่อยู่อาศัยหนาแน่น ปานกลาง และน้อย รวมทั้งมีการพัฒนาศูนย์พาณิชยกรรม และศูนย์ชุมชนเมือง รวมทั้งมีการพัฒนาพื้นที่รอบนอกกรุงเทพมหานคร ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เกษตรกรรมได้กำหนดให้เป็นพื้นที่ชนบท เกษตรกรรม และได้กำหนดเขตอุตสาหกรรม ที่ก่อให้เกิดปัญหามลพิษและเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติภัยให้ย้ายออกไปนอกพื้นที่ชานเมืองกรุงเทพมหานคร หรือปริมณฑลด้วย ส่วนแนวทางในการแก้ไขปัญหานั้นรัฐบาล กรุงเทพมหานคร กรมโยธาธิการ และ กรมผังเมือง ได้คำนึงถึงปัญหาและอุปสรรค คาดว่าจะเกิดขึ้น โดยเฉพาะการลงทุนภาคอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งกรมผังเมืองมีการกำหนดพื้นที่ (FAR) อัตราส่วนพื้นที่อาคาร : พื้นที่แปลงที่ดิน และ (OSR.) อัตราส่วน พื้นที่ว่างเป็นพื้นที่อาคารรวม ซึ่งทำให้นักลงทุนต้องถูกจำกัดการใช้ที่ดินมากขึ้น ส่วนในพื้นที่นอกถนนวงแหวนรอบนอก ซึ่งได้ถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่อนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรมนั้นจะทำให้เป็นพื้นที่ที่ถูกจำกัดการพัฒนา ไม่สามารถจัดสรรที่ดิน รวมทั้งไม่สามารถขายที่ดินให้กับนักลงทุนได้ หน่วยงานที่ เกี่ยวข้องจึงได้วางแนวทางในการแก้ไขปัญหาในด้านต่าง ๆ ของการวางผังเมือง โดยมุ่งเน้นการควบคุมและป้องกันสิทธิของประชาชนไม่ให้กระทบสิทธิของผู้อื่น จึงได้สร้างมาตรการสนับสนุนให้เกิดการปฏิบัติ ตามผังเมืองโดยรวม
๒. กระทู้ถามสดของ นายเทวัญ ลิปตพัลลภ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัด
นครราชสีมา พรรคชาติพัฒนา เป็นผู้ตั้งกระทู้ถาม เรื่อง มาตรการในการป้องกันการใช้อำนาจรัฐคุกคามในการเลือกตั้งท้องถิ่น ถามนายกรัฐมนตรี ซึ่งนายประชา มาลีนนท์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ตอบว่า รัฐบาลจะไม่ยอมให้มีการใช้อำนาจรัฐคุกคามหรือกระทำการให้ผู้หนึ่งผู้ใดได้รับความเสียหายได้เปรียบหรือได้รับประโยชน์แก่ผู้หนึ่งผู้ใดอันเกี่ยวกับ การเลือกตั้งท้องถิ่น โดยต้องการจะให้การเลือกตั้งเป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย ซึ่งต้องมีความบริสุทธิ์ยุติธรรมและทุกคนต้องปฏิบัติตามกฎหมาย ในส่วนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้มีการเตรียมมาตรการรองรับการเลือกตั้งในทุกระดับ เพื่อให้การรักษาความสงบเรียบร้อยในการเลือกตั้งท้องถิ่นที่จะมีขึ้นเป็นไปด้วยความเรียบร้อย รวมทั้งให้การสนับสนุนการปฏิบัติงานของคณะกรรมการการเลือกตั้ง และได้มีการกำชับให้ข้าราชการตำรวจทุกคนทั่วประเทศปฏิบัติตามแผนรักษาความสงบเรียบร้อย ในการเลือกตั้งและสนับสนุนคณะกรรมการการเลือกตั้ง รวมทั้งให้วางตัวเป็นกลางด้วย
สำหรับกรณีที่ครูถูกคุกคามนั้น ถ้ามีหลักฐานชัดเจน ผู้อำนวยการโรงเรียนต่าง ๆ สามารถแจ้งความกับคณะกรรมการการเลือกตั้งหรือสถานีตำรวจได้
๓. กระทู้ถามสดของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กรุงเทพมหานคร
พรรคประชาธิปัตย์ เป็นผู้ตั้งกระทู้ถาม เรื่อง การดำเนินการตามกฎหมายในการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ถามนายกรัฐมนตรี ซึ่งนายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เป็นผู้รับมอบหมายให้ตอบกระทู้ว่า รัฐบาลมีหน้าที่ในการค้ำประกันเพื่อให้รัฐวิสาหกิจมีเงินในการลงทุน กฎหมายหนี้สาธารณะนั้นมีหลักการว่ารัฐบาลจะค้ำประกันหนี้ของรัฐวิสาหกิจที่แปรรูปนั้นเพื่อให้เป็นไปตามหลักของคำจำกัดความหนี้สาธารณะ จากนั้นนายพรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้ตอบกระทู้ว่า ในหนังสือบริคณห์สนธิ ได้ร่างกฎหมายไว้ว่าจะให้ต่างชาติถือหุ้นได้ไม่เกิน ๒๕% นั้น ซึ่งมีขั้นตอนหนึ่งที่สำคัญ คือ กระบวนการแปรรูปไฟฟ้าฝ่ายผลิตไปเป็นบริษัทจำกัด มหาชน และจะต้องกระจายหุ้น ส่วนหนึ่งไปอยู่ในตลาด คือ เปิดโอกาสให้นักลงทุนมีโอกาสเข้าไปลงทุนได้ โดยมีหลักเกณฑ์ในการกำกับดูแลโดยคณะกรรมการกำกับตลาดหลักทรัพย์ และในตลาดหลักทรัพย์ได้เปิดโอกาสให้นักลงทุนต่างประเทศเข้ามาลงทุนได้เพื่อเป็นการป้องกันทรัพย์สินของประเทศ จึงได้มีการยืนยันว่าจะต้องไม่เกิน ๒๕%
ในส่วนของหนี้สาธารณะจะลดลงหรือไม่นั้น นายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ตอบกระทู้ว่า เมื่อมีการกระจายหุ้นหนี้ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ถ้าเป็นหนี้ของรัฐวิสาหกิจต้องเพิ่มขึ้นแน่นอน เพราะการไฟฟ้าฝ่ายผลิตต้องการที่จะลงทุน และรัฐบาลต้องทำหน้าที่ค้ำประกัน จากนั้นมาจัดตั้งองค์กรกำกับดูแลสาขา ดำเนินการปรับโครงสร้างภายในของรัฐวิสาหกิจและแปรสภาพ โดยการจดทะเบียนและการกระจายหุ้นต่อไป
กระทู้ถามทั่วไป จำนวน ๓ เรื่อง คือ
๑. กระทู้ถามของนายสุขุมพงศ์ โง่นคำ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดกาฬสินธุ์
พรรคไทยรักไทย เป็นผู้ตั้งกระทู้ถาม เรื่อง ปัญหาชาวต่างชาติเข้ามาก่ออาชญากรรมในประเทศ ถามนายกรัฐมนตรี ซึ่งในเรื่องของกระทู้ถามดังกล่าวนี้ผู้ตั้งกระทู้ถามได้ขอถอนออกไป
๒. กระทู้ถามของ นายอำนวย คลังผา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดลพบุรี พรรค
ไทยรักไทย เป็นผู้ตั้งกระทู้ถาม เรื่อง การโจรกรรมพระพุทธรูป ถามนายกรัฐมนตรี ซึ่งนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ตอบกระทู้ว่า การดูแลโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุต่าง ๆ นั้นเป็นหน้าที่ของกรมศิลปากร และเป็นไปตามกฎหมายการดูแลโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ตั้งแต่ปี ๒๕๐๔ เป็นต้นมา ส่วนในเรื่องของการลงทะเบียนนั้น ได้มีการลงทะเบียนในส่วนที่เป็นสมบัติของวัดทั้งหมด ซึ่งได้จดทะเบียนมาตั้งแต่ปี ๒๕๒๑ และได้มีการถ่ายภาพไว้ รวมทั้งมีการแนบท้ายลงในราชกิจจานุเบกษาไว้ด้วย สำหรับหน้าที่ของวัดในการแจ้งความ การขึ้นทะเบียนต่าง ๆ กรมศิลปากรจะส่งหลักฐานการขึ้นทะเบียนผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดและให้พนักงานตำรวจในพื้นที่ดูแล โดยเฉพาะพระพุทธรูปที่ขึ้นทะเบียนและถ้ามีการโจรกรรมพระพุทธรูปเกิดขึ้น ทางกรมศิลปากรจะส่งหลักฐานไปให้กรมศุลกากร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ องค์กรศึกษาวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมระหว่างประเทศเป็นผู้ดูแล ถ้ามีการส่งลำเลียงผ่านไปยังต่างประเทศหรือต่างจังหวัด
๓. กระทู้ถามของนายวัฒนา เซ่งไพเราะ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กรุงเทพมหานคร
พรรคไทยรักไทย เป็นผู้ตั้งกระทู้ถาม เรื่อง ปัญหาการทุจริตคอรัปชั่นในวงราชการ ถามนายกรัฐมนตรี ซึ่งนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ตอบกระทู้ ในเรื่องสงครามทุจริตคอรัปชั่นนั้น เกิดขึ้นตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน แต่รัฐบาลได้มีการดำเนินการในการดูแลแก้ไขปัญหานี้ร่วมกับองค์กร ซึ่งดูแลในเรื่องของการปราบปรามการทุจริตคอรัปชั่นโดยตรงคือ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) ซึ่งส่วนใหญ่การทุจริตคอรัปชั่นนั้นจะเป็นเรื่องของผลประโยชน์ทับซ้อนมากที่สุด ในช่วงที่ผ่านมารัฐบาลได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการในการดูแลการทุจริตของข้าราชการทั่วประเทศ (ปท.) ซึ่งทำหน้าที่ในการตรวจสอบการกล่าวหา ถ้าพบว่ามีการทุจริตคอรัปชั่นจริง และมีหลักฐานชัดเจน จะส่งเรื่องดังกล่าวให้กระบวนการยุติธรรม และ ปปช. ดำเนินการต่อไป ในส่วนของข้าราชการที่จะปฏิบัติงานเพื่อไม่ให้มีการทุจริตคอรัปชั่นเกิดขึ้นในวงราชการนั้น กฎหมายได้กำหนดไว้คือ การประหยัด ซื่อสัตย์ โปร่งใส ลดขั้นตอน และมีประสิทธิภาพ
ปิดการประชุมเวลา ๑๖.๐๐ นาฬิกา