นโยบายการจัดการขยะของไทย

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday March 16, 2004 14:59 —สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

ความเห็นและข้อเสนอแนะ
เกี่ยวกับนโยบายการจัดการขยะของไทย
1. ความเป็นมา
ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 9 ได้กำหนด “ยุทธศาสตร์
การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม”โดยมีสาระสำคัญเกี่ยวกับการเพิ่มประสิทธิภาพ การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ สภาพแวดล้อม ชุมชนและการจัดการปัญหามลพิษอย่างมีประสิทธิภาพ สำหรับปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่สำคัญประการหนึ่งของประเทศไทย คือ การจัดการขยะ ซึ่งในแผนฯ 9 ได้ระบุเป้าหมายไว้ คือ จัดให้มีการกำจัดและลดกากของเสียอันตรายจากภาคอุตสาหกรรมและชุมชนโดยมีอัตราเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า ร้อยละ 50 และ นำขยะมูลฝอยกลับมาใช้ใหม่ไม่ต่ำกว่า ร้อยละ 30
การเพิ่มขึ้นของขยะ ซึ่งแต่เดิมจะเกิดขึ้นเฉพาะในเมืองใหญ่ๆ เช่น กรุงเทพฯ และเชียงใหม่ เป็นต้น แต่ปัจจุบันปัญหานี้ได้ขยายวงกว้างมากขึ้นในทุกเขตเมือง โดยแปรตามกับความเจริญและการขยายขนาดของเมือง ซึ่งสภาพเศรษฐกิจยิ่งดีมากขึ้นเท่าไรปัญหาขยะก็เพิ่มมากขึ้นเท่านั้น ปัจจุบัน ประเทศไทยใช้การจัดการขยะด้วยการฝังกลบเป็นส่วนใหญ่ และมีปัญหาการต่อต้านจากประชาชนในพื้นที่ที่มีการฝังกลบเป็นอย่างมาก เนื่องจากไม่อยากให้อยู่ใกล้ชุมชนของตนเองถึงแม้จะมีการจัดการที่ดีเพียงใดก็ตาม ในด้านการกำจัดขยะโดยใช้วิธีเผาในปัจจุบันต่างประเทศได้หันมาใช้วิธีนี้กันมากขึ้น เช่น ในญี่ปุ่นและยุโรป แต่ก็มีปัญหาเรื่องการเกิดมลพิษและมีค่าใช้จ่ายที่สูงมาก ในหลายประเทศจึงได้หันมาใช้วิธีนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ หรือรีไซเคิล (Recycle) ซึ่งได้ผลดี เช่นที่ สหรัฐอเมริกา และเยอรมัน สามารถ รีไซเคิลได้ประมาณร้อยละ 80 ฉะนั้นแนวทางใหม่ในการจัดการขยะโดยการรีไซเคิลน่าจะมีประสิทธิภาพดีสำหรับประเทศไทย ซึ่งในปัจจุบันมีปริมาณขยะเกิดขึ้นประมาณ 14.32 ล้านตัน/ปี มีการจัดเก็บ 11.62 ล้านตัน/ปีและมีการกำจัดที่ถูกต้องเพียง 5 ล้านตัน/ปี หรือร้อยละ 35 โดยประเทศไทยมีโรงกำจัดขยะประเภทฝังกลบ 98 แห่ง และประเภทเตาเผาขยะ 3 แห่ง ทั้งนี้มีการรีไซเคิลขยะ 6.3 ล้านตัน หรือร้อยละ 18 เท่านั้น ทั้งที่จริงแล้วศักยภาพของขยะที่สามารถนำมารีไซเคิลควรจะมีมากกว่านี้ โดยเฉพาะบรรจุภัณฑ์ที่สามารถเรียกคืนได้ และกากอุตสาหกรรมที่สามารถนำมาเป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมต่อเนื่องได้ ซึ่งมีการนำกลับมาใช้เพียงร้อยละ 20 ดังนั้นจึงมีประเด็นว่าทำอย่างไรจะสามารถบริหารจัดการขยะให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากกว่าในปัจจุบัน รวมทั้งส่งเสริมให้มีการรีไซเคิลขยะในชุมชนของประเทศไทยมากยิ่งขึ้น
สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โดยคณะทำงานวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ทรัพยากร สิ่งแวดล้อมและพลังงาน จึงได้จัดทำการศึกษาและจัดทำความเห็นและข้อเสนอแนะ เรื่อง “นโยบายการจัดการขยะ” ของไทยเพื่อเสนอต่อสภาที่ปรึกษาฯ และต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป ทั้งนี้ เพื่อให้รัฐบาลใช้เป็นทางเลือกในเชิงนโยบายในการจัดการขยะให้บรรลุเป้าหมายตามยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่กำหนดไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 9 ต่อไป
2. การดำเนินการของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
สภาที่ปรึกษาฯ โดยคณะทำงานวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ทรัพยากร สิ่งแวดล้อมและพลังงาน ได้มีการดำเนินการศึกษาดังนี้ (1) ศึกษาข้อมูล กฎหมาย ระเบียบ และงานวิจัยที่เกี่ยวข้องในการจัดการขยะ (2) จัดสัมมนากลุ่มย่อยโดยเชิญนักวิชาการ ผู้แทนองค์กรภาคประชาชน ผู้แทนหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง และนักธุรกิจที่มีประสบการณ์ด้านการจัดการขยะมาให้ความเห็นจำนวน 3 ครั้ง (3) จัดประชุมสัมมนาใหญ่เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากภาคประชาชน หน่วยงานองค์กรที่เกี่ยวข้อง และสมาชิกสภาที่ปรึกษาฯ จำนวน 2 ครั้ง (4) ศึกษาดูงานการจัดการขยะรีไซเคิลที่บริษัทวงศ์พาณิชย์ จังหวัดพิษณุโลก ซึ่งคณะทำงานวิทยาศาสตร์ฯ ได้นำความรู้และความคิดเห็นที่ได้มาประมวลและสังเคราะห์ เพื่อจัดทำความเห็นและข้อเสนอแนะ เรื่อง นโยบายการจัดการขยะของไทยเสนอต่อสภาที่ปรึกษาฯ และคณะรัฐมนตรีต่อไป
3. ปัญหาและแนวโน้มการจัดการขยะของประเทศไทย
ในประเทศที่พัฒนาแล้ว และประเทศที่กำลังพัฒนาต่างให้ความสำคัญกับการรักษาสิ่งแวดล้อมมากขึ้น มีการเชื่อมโยงนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมเข้ากับมาตรการด้านการเมือง เศรษฐกิจและสังคม ตลอดจนการค้าระหว่างประเทศ เช่น ประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป ได้ใช้มาตรฐานสากล ISO 14000 หรือประเทศสหรัฐอเมริกามีการกีดกันสินค้าที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งกระแสโลกาภิวัตน์ที่กระตุ้นให้กลุ่มพลังต่าง ๆ สนใจในสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่กำลังประสบกับปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะปัญหาการจัดการขยะ ซึ่งการจัดการขยะของประเทศไทยควรจะต้องควบคุมปริมาณการผลิตขยะทั้งจากภาคชุมชนและภาคอุตสาหกรรม โดยการส่งเสริมให้มีการลดปริมาณขยะ ทั้งนี้เนื่องจากการนำขยะที่ยังใช้ได้กลับมาใช้ประโยชน์ใหม่อีกครั้งหนึ่ง จะส่งผลดีต่อการลดการใช้วัตถุดิบทางธรรมชาติในการผลิตสินค้าขึ้นใหม่ รวมตลอดจนถึงการลดค่าใช้จ่ายในการจัดการขยะและลดปัญหาด้านสถานที่กำจัดขยะ ในภาพรวมปัญหาด้านการจัดการขยะของประเทศไทยสามารถสรุปได้ดังนี้
3.1 การกำจัดขยะจากชุมชน ขยะอันตรายจากภาคอุตสาหกรรมขยะติดเชื้อจากสถานพยาบาล ขยะจากห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ และขยะอันตรายจากต่างประเทศ แม้จะมีการดำเนินการอยู่แล้วในปัจจุบัน แต่ในภาพรวมแล้วการกำจัดขยะส่วนใหญ่ยังไม่ได้มาตรฐาน กล่าวคือ
3.1.1 การกำจัดขยะจากชุมชนหลายแห่งดำเนินการไม่ถูกต้องตามหลักสุขาภิบาลและการรักษาสิ่งแวดล้อม มีการกองทิ้งกลางแจ้ง ปล่อยให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของแมลง หนู และสัตว์นำโรค รวมทั้งส่งกลิ่นเหม็นรบกวนต่อชุมชน
3.1.2 การกำจัดขยะจากภาคอุตสาหกรรมที่ถูกต้องตามหลักสุขาภิบาล
ยังดำเนินการไม่ทั่วถึง โดยในปัจจุบันภาคอุตสาหกรรมผลิตขยะไม่อันตรายประมาณ 3 ล้านตันต่อปีและขยะอันตรายประมาณ 1.24 ล้านตันต่อปี แต่มีการนำไปกำจัดอย่างถูกหลักสุขาภิบาลไม่เกิน 5 แสนตันต่อปี หรือ 40% ของทั้งหมด ซึ่งแสดงว่าขยะอันตรายจากภาคอุตสาหกรรมจำนวนมากไม่ได้ถูกกำจัด อย่างถูกต้อง
3.1.3 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นส่วนใหญ่ขาดศักยภาพในการจัดการขยะติดเชื้อ โดยพบว่าสถานพยาบาลส่วนใหญ่โดยเฉพาะภาคเอกชนไม่มีเตาเผาขยะติดเชื้อของตนเอง กล่าวคือ การกำจัดขยะติดเชื้อยังไม่ครบทุกแหล่งกำเนิด และการรวบรวมขยะติดเชื้อของสถานพยาบาล ยังทำไม่ถูกวิธี ทำให้ขยะติดเชื้อบางส่วนปะปนกับขยะทั่วไป
3.1.4 มีการนำเข้าผลิตภัณฑ์หรือสิ่งของที่ถือว่าเป็นขยะอันตรายจาก ต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง เพื่อนำเข้ามาเป็นวัตถุดิบสำหรับการผลิตสินค้าภายในประเทศ โดยขาดการควบคุมที่รัดกุม ซึ่งวัสดุเหลือใช้จากสินค้าหรือผลิตภัณฑ์เหล่านั้นเป็นขยะอันตรายต่อสาธารณะ
3.1.5 การศึกษาวิจัยในห้องปฎิบัติการของหน่วยงานทั้งของภาครัฐและเอกชนและสถาบันอุดมศึกษาต่างๆ มีการใช้สารเคมีที่เป็นอันตราย ซึ่งอาจมีการระบายสู่สาธารณะโดยที่ยังไม่มีการกำจัดที่ถูกต้องตามหลักสุขาภิบาล
3.2 อัตราการผลิตขยะทุกประเภทของประชาชนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น รวมทั้งการผลิตขยะในภาคธุรกิจ การค้า อุตสาหกรรม มีอัตราเพิ่มขึ้นตามการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เนื่องจาก
3.2.1 ยังไม่มีการใช้เครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์ ในการจูงใจให้ประชาชน โรงเรียน สถาบันการศึกษา ชุมชน และธุรกิจเอกชน ลดปริมาณขยะและส่งเสริมการนำขยะกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่
3.2.2 ยังไม่มีมาตรการส่งเสริมธุรกิจรับซื้อคืน ซากบรรจุภัณฑ์ และวัสดุ เหลือใช้ที่มีการใช้อย่างฟุ่มเฟือยหรือกำจัดยาก
3.2.3 ยังไม่มีมาตรการของรัฐตามหลักการ “ผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย” ที่กำหนดไว้ในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 9 ที่ชัดเจน เพื่อจูงใจให้ลดปริมาณขยะและส่งเสริมการนำขยะกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่
3.3 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นส่วนใหญ่ประสบปัญหาการกำจัดขยะ ดังนี้
3.3.1 ไม่มีสถานที่กำจัดขยะจากชุมชน เนื่องจากมีการต่อต้านจากประชาชนที่ไม่ต้องการอยู่อาศัยใกล้กับสถานที่กำจัดขยะ
3.3.2 งบประมาณมีไม่เพียงพอในการจัดซื้อที่ดิน วัสดุอุปกรณ์ และเทคโนโลยี
ในการจัดการขยะให้ถูกหลักสุขาภิบาล
3.3.3 ขาดบุคลากรที่มีความชำนาญในการบริหารจัดการขยะ
3.4 โรงงานอุตสาหกรรมจำนวนมากมีการทิ้งกากของเสียอุตสาหกรรมจากกระบวนการผลิตออกสู่ภาวะแวดล้อม ทั้งที่กากของเสียดังกล่าวอาจเป็นประโยชน์กับโรงงานอุตสาหกรรมแห่งอื่น
3.5 กฎหมายด้านการจัดการขยะกำหนดให้มีหลายหน่วยงานรับผิดชอบในเรื่องขยะ ทำให้ประชาชนหรือเอกชนซึ่งต้องถูกบังคับใช้ตามกฎหมายเกิดความสับสน เกิดพฤติกรรมที่เบี่ยงเบนจากกฎเกณฑ์ของสังคม ส่วนเจ้าพนักงานผู้ปฏิบัติหน้าที่ด้านการจัดการขยะมีความสับสนไม่แน่ใจในอำนาจหน้าที่ รวมทั้งมีปัญหาการประสานงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในส่วนกลางและส่วนท้องถิ่นในการจัดการขยะ
3.6 เทคโนโลยีเพื่อการจัดการขยะยังมีราคาแพงและกระบวนการผลิตที่สะอาด ยังไม่ได้รับการส่งเสริมให้มีการนำมาใช้อย่างแพร่หลาย กล่าวคือ
3.6.1 เทคโนโลยีสำหรับกำจัดขยะในปัจจุบันที่ใช้อย่างแพร่หลายในประเทศไทยปัจจุบัน เช่น การฝังกลบ การใช้เตาเผา และการหมักทำปุ๋ย เป็นต้น ยังมีราคาแพงและมีลิขสิทธิ์จาก
ต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ ทำให้เป็นภาระค่าใช้จ่ายแก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและภาคเอกชนของไทย จึงจำเป็นต้องจัดหาเทคโนโลยีที่มีราคาถูกและสามารถกำจัดขยะได้ถูกหลักสุขาภิบาลตามที่กรมควบคุม มลพิษกำหนด
3.6.2 โรงงานอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ยังไม่นำเทคโนโลยีสะอาดมาใช้ในกระบวนการผลิต ทำให้มีการสิ้นเปลืองพลังงานและเพิ่มกากของเสียอุตสาหกรรมที่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม
3.7 ประชาชน ชุมชนท้องถิ่น และองค์กรภาคเอกชนยังไม่ได้รับการส่งเสริมให้มีส่วนร่วมในการจัดการขยะร่วมกับภาครัฐอย่างเพียงพอ
3.8 ประชาชนโดยทั่วไปยังขาดองค์ความรู้ในการจัดการขยะตั้งแต่การคัดแยกขยะ การนำขยะกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ และการจัดตั้งธนาคารขยะ รวมทั้งความรับผิดชอบและการมีวินัยในเรื่องขยะต่อส่วนรวม
4. ความเห็นและข้อเสนอแนะของสภาที่ปรึกษาฯ เรื่อง นโยบายการจัดการขยะของประเทศไทย
ในภาพรวมเนื่องจากปัจจุบันมีปริมาณขยะเกิดขึ้นปีละประมาณ 14.32 ล้านตัน โดยมีการกำจัดที่ถูกต้องเพียง 5 ล้านตัน หรือร้อยละ 35 และมีการนำขยะมารีไซเคิลเพียงร้อยละ 18 ซึ่งมีสาเหตุสำคัญมาจากประเทศไทยยังขาดโรงงานกำจัดขยะอีกเป็นจำนวนมากและการรีไซเคิลขยะยังไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ดังนั้นรัฐบาลทั้งในส่วนกลาง ส่วนภูมิภาคและส่วนท้องถิ่นจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการจัดหาพื้นที่สำหรับกำจัดขยะมูลฝอยให้ถูกหลักสุขาภิบาลและสัมพันธ์กับปริมาณขยะ พร้อมทั้งดูแลชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากโรงกำจัดขยะให้อยู่ได้อย่างปกติสุขและยั่งยืนสภาที่ปรึกษาฯ มีความเห็นและข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลในเรื่อง การจัดการขยะ ดังนี้
4.1 รัฐบาลควรเร่งส่งเสริมด้านการพัฒนาระบบกำจัดขยะจากชุมชน ขยะจากห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ ขยะอันตรายจากภาคอุตสาหกรรม ขยะติดเชื้อ และขยะอันตรายจากต่างประเทศให้ได้มาตรฐาน ทั่วประเทศ ดังนี้
4.1.1 รัฐควรมีมาตรการกำจัดขยะจากชุมชนให้ได้มาตรฐานอย่างทั่วถึง โดยเร่งสำรวจสถานการณ์การกำจัดขยะจากชุมชนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่ง และกำกับดูแล การจัดเก็บขยะให้ทั่วถึง พร้อมทั้ง จัดให้มีระบบติดตามให้ความช่วยเหลือด้านวิชาการ วัสดุอุปกรณ์และ งบประมาณ เพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีศักยภาพในการจัดเก็บรวบรวม และกำจัดขยะในชุมชนให้ถูกต้องตามหลักสุขาภิบาลและเหมาะสมกับสภาพของท้องถิ่น นอกจากนี้องค์ประกอบของขยะจากชุมชนโดยทั่วไปควรจะมีเป้าหมายให้มีขยะซึ่งสามารถย่อยสลายได้มากกว่า 50 % ดังนั้นจึงควรส่งเสริมให้องค์กร ปกครองส่วนท้องถิ่นมีการจัดทำปุ๋ยจุลินทรีย์จากขยะสดที่สามารถย่อยสลายได้และควรประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรใช้ปุ๋ยจุลินทรีย์เพิ่มขึ้นทดแทนการนำเข้าสารเคมีจากต่างประเทศ
4.1.2 รัฐควรมีมาตรการกำจัดขยะจากภาคอุตสาหกรรมให้ได้มาตรฐานอย่างทั่วถึง โดยรัฐบาลควรเร่งติดตามตรวจสอบแหล่งกำเนิดขยะอุตสาหกรรมทุกแห่งให้ส่งขยะอุตสาหกรรมไปกำจัดอย่างถูกต้องตามหลักสุขาภิบาลและเป็นไปตามกฎหมาย โดยส่งไปสถานที่ได้รับอนุญาตกำจัดขยะ อุตสาหกรรม นอกจากนี้รัฐบาลควรส่งเสริมให้มีโรงงานกำจัดขยะกระจายตัวอยู่ตามจังหวัดต่างๆ ที่มี โรงงานอุตสาหกรรมหนาแน่น เพื่อเป็นแหล่งรองรับการรีไซเคิลของเสียจากภาคอุตสาหกรรม
4.1.3 รัฐบาลควรเคร่งครัดในการตรวจสอบการกำจัดขยะติดเชื้อของโรงพยาบาลและสถานพยาบาลทั้งของรัฐและเอกชน รวมทั้งพัฒนาศักยภาพขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้พร้อมในการจัดการขยะติดเชื้อ รัฐบาลโดยกระทรวงสาธารณสุขและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ควรกำหนดมาตรการในการกำจัดขยะติดเชื้อให้มีประสิทธิภาพและถูกต้องตามหลักสุขาภิบาล รวมทั้งให้การฝึกอบรมในขณะเดียวกันต้องส่งเสริมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในแต่ละจังหวัดรวมตัวกัน จัดให้มีระบบกำจัดขยะติดเชื้ออย่างครบวงจร ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยมีราคาถูกและไม่ก่อให้เกิดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมหรือเหตุรำคาญต่อประชาชน สำหรับด้านเทคนิควิชาการนั้น กระทรวงสาธารณะสุขต้องให้การสนับสนุนด้านวิชาการ เทคนิคการจัดการและสนับสนุนการฝึกอบรม ในด้านสถานพยาบาลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รัฐควรให้เงินงบประมาณอุดหนุนในการกำจัดขยะติดเชื้อตามความจำเป็น และส่งเสริมให้ภาคเอกชนลงทุนทำธุรกิจกำจัดขยะติดเชื้อ เพื่อแบ่งเบาภาระขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
4.1.4 ปรับปรุงมาตรการควบคุมการนำเข้าผลิตภัณฑ์ที่เป็นขยะอันตรายจากต่างประเทศ โดยรัฐบาลควรมีมาตรการควบคุมการนำเข้าขยะอันตรายจากต่างประเทศ รวมทั้งกำหนดมาตรการให้ผู้นำเข้าขยะอันตรายต้องรับภาระค่าใช้จ่ายในการกำจัดขยะอันตรายอย่างเคร่งครัด
4.1.5 ปรับปรุงมาตรการ กฎหมายและระเบียบ ในการกำจัดขยะอันตรายจากการศึกษาวิจัยและทดลองในห้องปฎิบัติการต่างๆ ให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลก่อนระบายสู่สาธารณ
4.2 รัฐบาลควรพิจารณาใช้เครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์ และมาตรการผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่ายเพื่อลดปริมาณขยะและส่งเสริมการนำขยะกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ ดังนี้
4.2.1 การใช้เครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์ เพื่อลดปริมาณขยะและเพิ่มปริมาณการรีไซเคิลขยะ อาทิ
1) พิจารณาใช้มาตรการเก็บค่าธรรมเนียมพิเศษ (Surcharge) กับผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่มีซากของเสียอันตรายและธุรกิจหรืออุตสาหกรรมที่ใช้บรรจุภัณฑ์ฟุ่มเฟือยหรือกำจัดยาก แล้วนำมาจัดตั้งเป็นกองทุนเพื่อรับซื้อคืนซาก เช่น แบตเตอรี่เก่า แบตเตอรี่โทรศัพท์เคลื่อนที่เก่า ถ่านไฟฉาย และขวดบรรจุภัณฑ์ เป็นต้น
2) ส่งเสริมให้มีการคัดแยกขยะและจัดตั้งธนาคารขยะในชุมชน โรงเรียน และจัดให้มีกองทุนสนับสนุนการดำเนินงานธนาคารขยะทุกชุมชน โรงเรียน และสนับสนุนการดำเนินงานขององค์กรหรือเครือข่ายที่มีวัตถุประสงค์เพื่อลดปริมาณขยะและนำขยะกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่
3) ให้สิทธิประโยชน์ทางด้านภาษีอากรแก่ภาคเอกชนที่เข้ามาดำเนินธุรกิจ
ด้านการจัดการขยะ เช่น การทำปุ๋ยอินทรีย์จากขยะ วัสดุรีไซเคิล การผลิตพลังงานความร้อนและเชื้อเพลิงจากขยะ เป็นต้น
4.2.2 การใช้มาตรการผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย เพื่อจูงใจให้มีการลดปริมาณขยะและส่งเสริมการนำขยะกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ พร้อมทั้งควรประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่องให้ประชาชน กลุ่มผู้เกี่ยวข้องเข้าใจหลักการผู้ก่อมลพิษเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย โดยกำหนดมาตรการ ดังนี้
1) เพิ่มอัตราค่าธรรมเนียมการเก็บรวบรวม กำจัดขยะจากกลุ่มผู้มีส่วนที่ก่อให้เกิดขยะ ซึ่งค่าธรรมเนียมที่กำหนดขึ้นดังกล่าวต้องสะท้อนต้นทุนที่แท้จริงต่อการเก็บรวบรวม และกำจัดขยะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือภาคธุรกิจเอกชนที่ดำเนินธุรกิจด้านนี้
2) เพิ่มอัตราค่าปรับผู้ที่ลักลอบทิ้งขยะหรือกำจัดขยะไม่ถูกวิธี เพื่อเป็นกรอบในการควบคุมพฤติกรรมผู้เกี่ยวข้อง
4.3 สนับสนุนให้จังหวัดมีศูนย์รวมกำจัดขยะจากชุมชน
4.3.1 รัฐบาลต้องส่งเสริมให้ทุกจังหวัดจัดทำผังเมืองเพื่อเตรียมพื้นที่ไว้สร้างสถานที่กำจัดขยะมูลฝอย ซึ่งอย่างน้อยต้องเพียงพอรองรับการกำจัดขยะในอีก 10 ปีข้างหน้า โดยอาจสร้างกลไกให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหลาย ๆ แห่งร่วมกันจัดหาสถานที่กำจัดขยะดังกล่าว
4.3.2 ให้ความสำคัญกับการจัดสรรงบประมาณให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพียงพอในการจัดซื้อที่ดิน วัสดุอุปกรณ์ เทคโนโลยีในการจัดการขยะให้ถูกหลักสุขาภิบาล ตลอดจนฝึกอบรมบุคลากรให้มีความชำนาญในการจัดการขยะ
4.3.3 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นควรจัดสรรงบประมาณ เพื่อให้สวัสดิการพิเศษกับชุมชนที่อาศัยอยู่ใกล้สถานที่กำจัดขยะเพื่อให้เกิดความยั่งยืนด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมของชุมชนที่อาศัยอยู่ใกล้แหล่งกำจัดขยะ
4.3.4 รัฐควรเป็นตัวกลางในการแจ้งราคารับซื้อคืนขยะต่อสาธารณะผ่านสื่อต่างๆ ดังเช่น ราคาพืชผลการเกษตร เป็นต้น
4.4 สนับสนุนการจัดตั้งศูนย์ข้อมูลแลกเปลี่ยนกากอุตสาหกรรมสภาที่ปรึกษาฯ พบว่าสถาบันสิ่งแวดล้อมไทยและสภาอุตสาหกรรมได้ เป็นหน่วยงานนำร่องในการจัดตั้งศูนย์ข้อมูลแลกเปลี่ยนกากอุตสาหกรรม ซึ่งจะส่งเสริมให้กลุ่มอุตสาหกรรมแต่ละกลุ่มแลกเปลี่ยนกากของเสียกัน เพื่อนำไปเป็นวัตถุดิบของอีกโรงงานหนึ่ง อันเป็นการลดขยะมีพิษลงได้มาก จึงขอเสนอให้รัฐบาลสนับสนุนการจัดตั้งศูนย์ข้อมูลแลกเปลี่ยนกากของเสียอุตสาหกรรม พร้อมทั้งสนับสนุนการดำเนินงานด้านต่าง ๆ ให้โรงงานอุตสาหกรรมเข้าร่วมกิจกรรมแลกเปลี่ยนกากอุตสาหกรรม
4.5 ปรับปรุงองค์กรและกฎหมายรับผิดชอบการจัดการขยะ ดังนี้
4.5.1 เนื่องจากในปัจจุบันกรมโรงงานมีอำนาจในการออกใบอนุญาตโรงงานอุตสาหกรรม ในขณะที่กรมควบคุมมลพิษมีอำนาจกำกับดูแลปัญหามลพิษ และในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกประเภท ก็มีอำนาจและหน้าที่ในการจัดการขยะให้กับชุมชน แต่ยังไม่มีหน่วยงานรับผิดชอบโดยตรงที่เป็นองค์กรกลางที่มีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดนโยบายและแก้ปัญหาขยะทั้งระบบ ดังนั้น รัฐควรจัดตั้งองค์กรกลางในการกำกับดูแลนโยบายการแก้ปัญหาขยะทั้งระบบ และการให้คำปรึกษาแนะนำด้านเทคนิควิชาการจัดการขยะแก่องค์กรต่างๆ
4.5.2 รัฐควรปรับปรุงกฎหมายด้านการจัดการขยะ เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนและผู้ประกอบการ คัดแยกขยะ และนำขยะกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ และควรจัดให้มีการศึกษาวิจัยเพื่อปรับปรุงแก้ไขกฎหมายในการจัดการขยะให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน
4.6 พัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการจัดการขยะและส่งเสริมกระบวนการผลิตที่สะอาด ดังนี้
4.6.1 สนับสนุนการศึกษาวิจัยเทคโนโลยีกำจัดขยะที่มีราคาถูกและเหมาะสมกับประเทศไทยและเทคโนโลยีการผลิตวัสดุทดแทนสินค้าที่กำจัดยาก เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายกำจัดขยะแก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
4.6.2 ส่งเสริมโรงงานอุตสาหกรรมให้ใช้เทคโนโลยีสะอาด(clean technology) สภาที่ปรึกษาฯ มีความเห็นว่า รัฐควรส่งเสริมให้โรงงานอุตสาหกรรมตั้งแต่ขนาดเล็ก ขนาดกลางจนถึงขนาดใหญ่ให้ใช้เทคโนโลยีที่สะอาดในกระบวนการผลิต โดยลดการใช้พลังงาน ลดการทำลายสิ่งแวดล้อม และปริมาณของเสียจากกระบวนการผลิต
4.7 ส่งเสริมกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดการขยะสภาที่ปรึกษาฯ มีความเห็นว่า การมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดการขยะเป็นกลไกที่มีความสำคัญในการจัดการขยะ รัฐบาลควรเปิดโอกาสให้ประชาชน ชุมชน และท้องถิ่น เข้ามามีส่วนร่วมอย่างเป็นรูปธรรมในการจัดการขยะ ตั้งแต่การเปิดเผย ข้อมูลข่าวสาร การให้ร่วมตัดสินใจ ตลอดจนการมีส่วนร่วมในการติดตาม และกำกับการดำเนินงาน ซึ่งหลักการการให้ประชาชน ชุมชน ท้องถิ่น และองค์กรภาคเอกชนเข้ามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการของรัฐเป็นหลักการหนึ่งที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยได้บัญญัติไว้ นอกจากนี้รัฐควรส่งเสริมให้แต่ละชุมชนมีวันเก็บขยะพิษจากชุมชนทุกสัปดาห์ เช่นหลอดไฟฟ้า ถ่านไฟฉาย เป็นต้น
4.8 รัฐควรส่งเสริมให้มีการสอน และฝึกอบรมในเรื่องวินัยการจัดการขยะ การคัดแยกขยะ และการกำจัดของเสียที่ถูกวิธีให้แก่ชุมชน ภาคอุตสาหกรรม และภาคเกษตรกรรม เช่น การสอนและฝึกอบรมให้กับนักเรียนในโรงเรียน เยาวชน ประชาชน ในชุมชน เกษตรกร และอุตสาหกร ให้มีองค์ความรู้ในการจัดการขยะ การคัดแยกขยะ การกำจัดขยะและการกำจัดของเสีย การจัดทำหลักสูตรด้านการจัดการขยะ ในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา การรณรงค์ประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างวินัยในการกำจัดขยะและของเสียในชุมชนต่างๆ และเป็นการทั่วไป เป็นต้น
ภาคผนวก
ข้อมูล ระเบียบ กฎหมาย และงานวิจัย เพื่อใช้รวบรวมจัดทำความเห็นและข้อเสนอแนะ
1.พระราชบัญญัติและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
(1) พระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง
(2) พระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535
(3) พระราชบัญญัติการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติพ.ศ. 2535
(4) พระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496
(5) พระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537
(6) พระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ. 2540
(7) พระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535
(8) รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540
2.เอกสารที่ใช้ประกอบการพิจารณา และรวมรวบข้อมูล
(1) เอกสารประกอบการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ “ผ่าทางตัน ปัญหาขยะท่วมเมือง” (โดยอนุกรรมการศึกษาระบบการจัดการปัญหาขยะมูลฝอย และบำบัดน้ำเสียขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น , วุฒิสภา, วันที่ 29 เมษายน 2545 ณ รัฐสภา)
(2) นีรนุช ตรีรัตนชวนิต คู่มือดำเนินการจัดการวัสดุรีไซเคิล มูลนิธิชุมชนไทย (เอกสารประกอบการประชุม)
(3) นายอดิศักด์ ทองไข่มุกต์(รองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ) แนวทางการจัดการขยะมูลฝอยของไทย (เอกสารประกอบการประชุม)
(4) สุวรรศา จงรุ่งเรือง กรุงเทพมหานคร (เอกสารประกอบการประชุม)
(5) สมไทย วงษ์เจริญ โรงงานคัดแยกขยะเพื่อรีไซเคิลวงษ์พาณิชย์ (เอกสารประกอบการประชุม)
(6) พิชัย ถิ่นสันติสุข (สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย) การจัดการขยะ (เอกสารประกอบการประชุม)
(7) เอกสารสรุปการสัมมนาสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เรื่อง “นโยบายการจัดการขยะของไทย” วันที่ 6 กันยายน 2545 และเรื่อง “ความเห็นและข้อเสนอแนะนโยบายการจัดการของไทย” วันที่ 29 เมษายน 2546
(8) รายงานสถานการณ์มลพิษของกรมควบคุมมลพิษ พ.ศ. 2537 — 2545
รายชื่อผู้เข้าร่วมการประชุม “นโยบายสนับสนุนการนำวัสดุเหลือใช้มาหมุนเวียนใช้ประโยชน์ใหม่”
วันพุธที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2545
คณะทำงานวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี เทคโนโลยี ทรัพยากร สิ่งแวดล้อมและพลังงาน
1. ศ.นพ.ดร. วิจิตร บุณยะโหตระ
2. นางภินันทน์ โชติรสเศรณี
3. นายประดิษฐ สุโชคชัยกุล
4. นายอนันต์ วรธิติพงษ์
ผู้เข้าร่วมประชุมสัมมนา
1. นางสาวสมจินต์ พลึก การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
2. ดร.สุนีย์ มัลลิกะมาลย์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
3. นายนันทพล กาญจนวัฒน์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
4. นางสาวสาวิตรี สุขปัญญาเลิศ มูลนิธิเพื่อการพัฒนาสิ่งแวดล้อมและพลังงาน
5. นายสัญชัย สูติพันธ์วิหาร มหาวิทยาลัยมหิดล
6. นายธารา บัวคำศรี กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้
7. นายสมไทย วงษ์เจริญ วงษ์พาณิชย์ พิษณุโลก
8. นายไชยา บุญชิด กรมควบคุมมลพิษ
9. นางสาววลัยพร มุขสุวรรณ กลุ่มศึกษาและรณรงค์มลภาวะอุตสาหกรรม
10. คุณหญิงชดช้อย โชรณพนิช สมาคมสร้างสรรค์ไทย
11. นายอิทธิกร ศรีจันมล วงษ์พาณิชย์ ปราจีนบุรี
12. นางสาวปวีณา ศุรสวัสดิ์กุล กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ
รายชื่อผู้เข้าร่วมการประชุม “นโยบายการจัดการขยะ”
จัดโดยคณะทำงานวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี เทคโนโลยี ทรัพยากร สิ่งแวดล้อมและพลังงาน
วันอังคารที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2545
ผู้เข้าร่วมประชุม
1. ดร.ดารารัตน์ นันทนสุวงศ์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
2. นางสาวสมจินต์ พิลึก การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
3. นายสัญชัย สูติพันธ์วิหาร มหาวิทยาลัยมหิดล
4. นายธารา บัวคำศรี กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ง
5. นางจิราวรรณ จำปานิล สมาคมสร้างสรรค์ไทย
6. นายรังสรรค์ ปิ่นทอง กรมควบคุมมลพิษ
7. นางเพ็ญโฉม ตั้ง กลุ่มศึกษาและรณรงค์มลภาวะอุตสาหกรรม
8. คุณจุลวิทย์ ไลยยางกูล สถาบันรหัสสากล
9. นางจิรภา บุญครอบ ชุมชนเจริญดำริ
10. นายพิรียุตม์ วรรณฤทธิ์ มลูนิธิเพื่อการพัฒนาสิ่งแวดล้อมและพลังงาน
11. นายเสน่ห์ สุโขรัตน์ ร่วมใจสามัคคี
12. นายถวัลย์ อึ้งบรรจง ร่วมใจสามัคคี
13. นายไพศาล สายหอม คณะกรรมการการจัดการขยะภาคประชาชน
14. นายจงชัย ใบตระกูล สำนักรักษาความสะอาด
รายชื่อผู้เข้าร่วมการประชุม “นโยบายการจัดการขยะของไทย”
จัดโดยคณะทำงานวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี เทคโนโลยี ทรัพยากร สิ่งแวดล้อมและพลังงาน
วันพุธที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2545
ผู้เข้าร่วมประชุม
(ยังมีต่อ)

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ