การกักสินค้าภายใต้กฎหมายป้องกันการก่อการร้ายทางชีวภาพของสหรัฐฯ

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday March 18, 2004 16:38 —สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย

          กรมการค้าต่างประเทศ รายงานว่าสหรัฐฯประกาศบังคับใช้กฎหมายป้องกันการก่อการร้ายทางชีวภาพ เมื่อปี 2545 (Bioterrorism Act of 2002) โดยภายใต้กฎหมายดังกล่าวมีระเบียบย่อย 4 ฉบับที่กระทบต่อผู้ส่งออกอาหารของไทยที่ต้องปฏิบัติตาม ซึ่ง 2 ฉบับแรกได้บังคับใช้แล้วเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2546 คือ การจดทะเบียบสถานที่ประกอบการอาหารและการแจ้งข้อมูลสินค้าล่วงหน้าก่อนนำเข้า และ 2 ฉบับสุดท้าย คือ การกักสินค้าโดยฝ่ายบริหารและการจัดเก็บ บันทึกข้อมูลการรับ-ส่งสินค้าที่คาดว่าจะประกาศบังคับใช้ประมาณต้นเดือนมิถุนายนศกนี้ 
ล่าสุดหน่วยงานอาหารและยาสหรัฐฯ (US Food and Drug Administration : USFDA) ได้เผยแพร่ข่าวที่ P04-06 ลงวันที่ 27 พฤษภาคม 2547 ระเบียบสุดท้ายการกักสินค้าโดยฝ่ายบริหาร (Final Rule : Administrative Detention) ซึ่งสาระสำคัญของระเบียบสุดท้ายนี้ไม่แตกต่างจากร่างระเบียบก่อนหน้านี้ โดยสรุปสาระสำคัญได้ดังนี้
1.กลุ่มสินค้า ครอบคลุมสินค้าอาหารและยาทุกประเภทที่อยู่ภายใต้การดูแลของ US FDA ยกเว้นสินค้าที่กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ (USDA) ดูแล คือ เนื้อสัตว์ สัตว์ปีก ไข่ รวมทั้งผลิตภัณฑ์ ของทุกรายการดังกล่าว
อนึ่ง สำหรับสินค้าที่เน่าเสียง่าย (Perishable Food) US FDA ได้ให้คำนิยามว่า คือ สินค้าที่ไม่ได้ผ่านการบำบัดด้วยความร้อน (not heat-treated) ไม่ได้แช่แข็ง และไม่ได้มีการถนอมอาหารด้วยวิธีอื่นที่เป็นการป้องกันคุณภาพของอาหารจากการที่ต้องเก็บไว้นานถึง 7 วัน ปฎิทิน (calendar day) ภายใต้การขนส่งและเก็บรักษาด้วยวิธีปกติ
2. กระบวนการการดำเนินการกักสินค้า
2.1 หลักเกณฑ์การสั่งกักสินค้า หากทางเจ้าหน้าที่ US FDA มีหลักฐานข้อสงสัยหรือข่าวสารที่น่าเชื่อถือได้ว่าสินค้าอาจมีความเสี่ยงส่งผลเป็นอันตรายต่อสุขภาพชีวิตมนุษย์หรือสัตว์ เจ้าหน้าที่ US FDA จะทำการสั่งกักสินค้าโดยทันที
บุคคลที่ตัดสินใจสั่งกักสินค้า คือผู้อำนวยการของด่านที่นำเข้าสินค้านั้น (the District Diredtor) หรือผู้บริหารระดับที่สูงกว่า
2.2 ข้อมูลที่จะปรากฏในใบสั่งการกักสินค้า ประกอบด้วยหมายเลขคำสั่งกัก วัน เวลาที่สั่งกัก ประเภทสินค้าอาหาร ช่วงเวลาการกัก เหตุผลการกัก ชื่อเจ้าหน้าที่ที่สั่งกักสินค้า รวมทั้งที่อยู่และที่ตั้งของสินค้าที่ถูกสั่งกัก
2.3 ระยะเวลาการกัก ไม่เกิน 30 วัน
2.4 สถานะของสินค้าเมื่อถูกสั่งกัก จะไม่มีการส่งสินค้าที่ถูกสั่งกักไปยังผู้เกี่ยวข้อง เช่น ผู้นำเข้า เจ้าของสินค้า หรือผู้ขนส่ง และจะไม่มีการเคลื่อนย้ายสินค้าจากสถานที่ที่ได้สั่งกัก หรือสถานที่ที่สินค้าถูกย้ายไปเก็บ จนกว่าเจ้าหน้าที่ US FDA จะสั่งปล่อยสินค้านั้นหรือสิ้นสุดช่วงเวลาของการสั่งกักสินค้า
อาจจะอนุญาตให้ทำลายสินค้าที่ถูกสั่งกัก หรือย้ายไปยังสถานที่ปลอดภัย หรือเก็บและถนอมคุณภาพของสินค้า หรือเพื่อวัตถุประสงค์อื่น ๆ ที่เหมาะสม
2.5 การติดฉลากหรือทำเครื่องหมาย เมื่อมีการสั่งกักสินค้าเจ้าหน้าที่ US FDA จะติดฉลากหรือทำเครื่องหมาย โดยจะมีข้อมูลตามข้อ 2.2 พร้อมทั้งมีการแจ้งว่าห้ามบริโภคเคลื่อนย้าย เปลี่ยนแปลงหรือเข้าไปยุ่งเกี่ยว จนกว่าจะได้รับการยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษรจากเจ้าหน้าที่ US FDA
2.6 การแจ้งผู้เกี่ยวข้อง เมื่อมีการสั่งกักสินค้า US FDA จะสำเนาคำสั่งกักไปยังเจ้าของ (Owner) หรือ ผู้ดำเนินการ (Operator) หรือตัวแทนตามที่อยู่ที่ได้จดทะเบียนไว้กับ US FDA แต่ถ้าเป็นคนละคนกับเจ้าของ (Owner) หรือผู้ดำเนินการ(Operator)หรือตัวแทนที่แจ้งไว้กับ US FDA แล้ว ทั้งนี้ US FDA จะสำเนาคำสั่งกักให้ก็ต่อเมื่อเจ้าของสามารถแสดงฐานะได้อย่างชัดเจน
กรณีที่สินค้าที่ถูกสั่งกักอยู่บนยานยนต์หรือการขนส่งประเภทอื่น ๆ US FDA จะให้สำเนาคำสั่งแก่พ่อค้าส่งของ (Shipper) เจ้าของและผู้ดำเนินการของยานยนต์หรือการขนส่งประเภทนั้น ๆ เมื่อพวกเขาเหล่านั้นสามารถยีนยันได้อย่างชัดเจน
2.7 การอุทธรณ์ เมื่อสินค้าถูกกักผู้ที่ได้รับคำสั่งกักสินค้าสามารถขออุทธรณ์ได้ ดังนี้
ประเภทสินค้า ระยะเวลาการดำเนินการ
1. เน่าเสียง่าย -ภายใน 2 วันปฏิทินนับตั้งแต่วันที่ได้รับคำสั่งกักสินค้า
2. สินค้าอื่น ๆ
2.1 ขออุทธรณ์และขอให้ US FDA ชี้แจง (hearing) -ภายใน 4 วันปฏิทินนับตั้งแต่วันที่ได้รับคำสั่งกักสินค้า
2.2 ขออุทธรณ์เพียงอย่างเดียว -ภายใน 10 วันปฏิทินนับตั้งแต่วันที่ได้รับคำสั่งกักสินค้า
อนึ่งการขอให้ US FDA ชี้แจงนั้น เมื่อ US FDA อนุญาตแล้ว จะเกิดขึ้นหลังจากยื่นคำร้องขออุทธรณ์ 2 วันและ US FDA จะต้องแจ้งยืนยันตามคำสั่งเดิมหรือยกเลิกคำสั่งกักสินค้านั้น ภายใน 5 วันหลังการแจ้งคำร้องขออุทธรณ์และหลังจากการชี้แจงแล้ว
เมื่อ US FDA ยกเลิกคำสั่งการกักสินค้า หรือสิ้นสุดเวลาการกักสินค้าเจ้าหน้าที่ US FDA จะออกคำสั่งประกาศสิ้นสุดการกักสินค้าไปยังบุคคลที่ได้รับคำสั่งการกักสินค้าครั้งแรก
3. การบังคับใช้ มีผลทันทีหลังจากลงตีพิมพ์ใน Federal Register ภายใน 30 วัน
4. ข้อแตกต่างระหว่างการกักสินค้านำเข้า(Import Detention) กับการกักสินค้าโดยฝ่ายบริหาร (Administrative Detention)
4.1 การกักสินค้านำเข้า จะถูกกักก็ต่อเมื่อสินค้านั้นไม่ได้ปฏิบัติตามกฎระเบียบของสินค้าที่กำหนดไว้ เช่น การผลิต การบรรจุหีบห่อ การเก็บกักสินค้า การปนเปื้อนเชื้อโรคหรือสารปรุงแต่งที่ผิดกฎหมายหรือมีสารตกค้าง รวมทั้งการติดฉลาก เป็นต้น
4.2 การกักสินค้าโดยฝ่ายบริหาร จะสั่งกักก็ต่อเมื่อมีข้อมูลหรือหลักฐานที่เชื่อถือได้ว่าสินค้านั้นมีความเสี่ยงที่คุกคามต่อสุขภาพหรือชีวิตมนุษย์และสัตว์
ที่มา: หอการค้าไทย ศูนย์ข้อมูลธุรกิจ www.thaiechamber.com
-ดท-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ