สหภาพยุโรปทบทวนมาตรการนำวัสดุหีบห่อกลับมาใช้

ข่าวเศรษฐกิจ Monday March 22, 2004 10:20 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

          นายยรรยง พวงราช รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านการค้าต่างประเทศ แจ้งว่า 
ได้รับรายงานจากสำนักงานพาณิชย์ในต่างประเทศ ณ กรุงบรัสเซลส์ ว่าสหภาพยุโรปได้กำหนดมาตรการคุ้ม
ครองสิ่งแวดล้อมซึ่งเกี่ยวข้องกับการนำวัสดุหีบห่อกลับมาใช้ใหม่ โดยครอบคลุมทั้งวัสดุที่ใช้ในครัวเรือนและวัสดุ
ที่นำเข้าจากต่างประเทศ โดยประเทศสมาชิกจะต้องออกกฎหมายเพื่อบังคับใช้มาตรการดังกล่าว ซึ่งในกลางปี
2549 มีเป้าหมายให้ประเทศสมาชิกจะต้องเก็บวัสดุหีบห่อ (Recovery) ในอัตราร้อยละ 60-75 และนำ
วัสดุกลับมาใช้ใหม่ (Recycling) ในอัตราร้อยละ 55-70 ยกเว้นบางประเทศอาจขยายระยะเวลาออกไป
เช่น กรีซ ไอร์แลนด์ โปรตุเกส ขยายเวลาออกไปจนถึงปี 2554 สำหรับประเทศสมาชิกใหม่ จะขยายเวลา
ไปมากกว่านั้น (ปี 2555 — 2558)
มาตรการดังกล่าวมีผลกระทบต่อประเทศไทย โดยเฉพาะผู้ผลิต/ส่งออกสินค้าอาหารแช่แข็ง เช่น
สินค้าประมง ไก่ และอาหารพร้อมรับประทาน เนื่องจากเป็นการเพิ่มภาระการลงทุนในด้านการจัดเก็บวัสดุ
การขนส่ง การแยกแยะ และกำจัด หรืออาจมีการเรียกร้องให้ผู้ส่งออกไทยปรับเปลี่ยนการใช้วัสดุให้เหมาะสม
กับมาตรการนี้ รวมทั้ง ยังมีค่าใช้จ่ายในการแต่งตั้งตัวแทนในการจัดเก็บวัสดุ ซึ่งคาดว่าผู้นำเข้าอาจผลักภาระ
ส่วนหนึ่งให้ผู้ผลิต/ผู้ส่งออกไทย
นอกจากนี้ มาตรการดังกล่าว ยังทำให้ราคาสินค้าไทยและประเทศผู้ส่งออกสินค้าอื่น ๆ มีราคาสูงขึ้น
ในขณะที่ต้องคงรักษาคุณภาพและมาตรฐานให้ตรงกับกฎระเบียบ รวมทั้งรักษาระดับราคาเพื่อให้แข่งขันกับ
ประเทศคู่แข่งได้
แม้ว่าคณะกรรมาธิการยุโรป จะเน้นว่า การออกมาตรการดังกล่าวต้องไม่เป็นการบิดเบือนทางการ
ค้า (Trade Distortion) แต่กระทรวงพาณิชย์ ก็มีความเห็นว่า มาตรการนี้อาจมีผลต่อต้นทุนในอนาคต
และถือเป็นการนำมาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี (Non-Tariff Barrier) วิธีหนึ่งมาใช้ เป็นความ
พยายามอีกครั้งหนึ่งในการนำประเด็นด้านอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมมาเชื่อมโยงกับประเด็นการค้า
ในปี 2546 ประเทศไทยส่งออกสินค้าไก่แปรรูป 8,461 ล้านบาท ไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง 7,025
ล้านบาท ปลาหมึกสดแช่เย็นแช่แข็ง 3,664 ล้านบาท ผักสดแช่เย็นแช่แข็งและแห้ง 1,395 ล้านบาท
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ อาคาร ค ถ.ราชดำเนินกลาง แขวงบวร
นิเวศน์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200 โทรศัพท์ (66) 2282-6171-9 แฟกซ์ (66) 2280-0775
-สส-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ