ความเห็นและข้อเสนอแนะ
เกี่ยวกับกฎหมายที่ไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ : ประเด็นสิทธิของคนพิการ
1.หลักการและเหตุผล
ปัจจุบันแนวความคิดของสังคมโลกเรื่อง “คนพิการ” ได้เปลี่ยนไปจากอดีตอย่างสิ้นเชิง กล่าวคือ ในอดีตคนพิการถูกมองว่า เป็นเรื่องของกรรมเก่าแต่ปางก่อน ช่วยเหลือตนเองมิได้ ไร้ความรู้ความสามารถในการประกอบอาชีพ และการดำรงชีวิต ทำให้การปฏิบัติต่อคนพิการ หรือการให้ความช่วยเหลือในรูปแบบต่าง ๆ เป็นไปบนพื้นฐานของทัศนคติแบบ “เวทนานิยม” แต่ปัจจุบันประเทศที่เจริญได้ตระหนักถึงความจริงที่ว่า คนพิการโดยกำเนิด ความเจ็บป่วย หรืออุบัติเหตุต่าง ๆ เขาเหล่านั้นก็ยังเป็นมนุษย์ที่มีศักยภาพในบางด้านที่คนปรกติมักจะมองข้าม การช่วยเหลือจึงได้พัฒนาก้าวไปสู่การสร้างสรรค์ต่อคนพิการทั้งด้านร่างกาย จิตใจ และสติปัญญา เพื่อให้มีความสามารถที่จะช่วยตัวเอง และมีส่วนร่วมในส่วนต่าง ๆ ของสังคมได้อย่างภาคภูมิใจ ในประเทศไทยแนวคิดดังกล่าวได้มีการยอมรับมากขึ้น ดังจะเห็นได้จากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับปัจจุบันได้รับรองความเชื่อในศักดิ์ศรี และความเท่าเทียมกันของมนุษย์ไว้หลายมาตรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมาตรา 30 ได้บัญญัติว่า “บุคคลย่อมเสมอภาคกันในกฎหมาย และได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน ชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคล เพราะเหตุแห่งความแตกต่างในเรื่องถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ภาษา เพศ อายุ สภาพทางกาย หรือสุขภาพ สถานะของบุคคล ฐานะทางเศรษฐกิจ หรือสังคม ความเชื่อทางศาสนา การศึกษาอบรม หรือความเห็นทางการเมืองอันไม่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ จะกระทำมิได้ มาตรการที่รัฐกำหนดขึ้นเพื่อขจัดอุปสรรคหรือส่งเสริมให้บุคคลสามาถใช้สิทธิและเสรีภาพได้เช่นเดียวกับบุคคลอื่น ย่อมไม่ถือว่าเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม”
จึงเห็นได้ว่า เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ในเรื่องสิทธิของบุคคลได้วางหลักไว้ 2 ประการ คือ
- หลักการห้ามเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม
- หลักขจัดอุปสรรคหรือส่งเสริมความเสมอภาค
เนื่องจากสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทยได้มีหนังสือขอให้สภาที่ปรึกษา ฯ พิจารณาแนวทางการแก้ไขกฎหมาย ระเบียบ และข้อปฏิบัติต่าง ๆ ที่จำกัดสิทธิของคนพิการ สภาที่ปรึกษา ฯ โดยคณะทำงานสิทธิมนุษยชน ฯ ได้พิจารณาดำเนินการเรื่องนี้ โดยเน้นเฉพาะด้านกฎหมายที่ไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ
2.วิธีการดำเนินการ
1. ศึกษาข้อมูล เอกสาร รายงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงผลงานการศึกษาวิจัย เรื่อง ปัญหาสิทธิคนพิการ
2. ประชุมร่วมกับผู้แทนสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย
3. การประชุมสัมมนากับหน่วยงานที่เกี่ยวกับคนพิการ และบรรดาผู้ทรงคุณวุฒิ
3.ข้อเท็จจริง
1. “ คนพิการ ” หมายถึง บุคคลซึ่งความสามารถถูกจำกัดในการปฏิบัติกิจกรรมในชีวิตประจำวัน และการมีส่วนร่วมทางสังคมได้ เนื่องจากมีความบกพร่องทางการเห็น การได้ยินการเคลื่อนไหว การสื่อสาร จิตใจ อารมณ์ พฤติกรรม สติปัญญาหรือการเรียนรู้ และมีความต้องการจำเป็นพิเศษด้านต่าง ๆ เพื่อให้สามารถดำเนินชีวิตและมีส่วนร่วมในสังคมได้อย่างบุคคลทั่วไป อย่างไรก็ตามการนิยามในกฎหมายแต่ละฉบับมีความแตกต่างกัน
2. ตามพระราชบัญญัติการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ พ.ศ.2534 ได้กำหนดความพิการไว้ 5 ประเภท คือพิการทางกาย พิการทางการได้ยิน หรือการสื่อความหมาย พิการทางกายหรือความเคลื่อนไหว พิการทางจิตใจหรือพฤติกรรม พิการทางสติปัญญา หรือการเรียนรู้
3. ปี พ.ศ.2546 สถิติจดทะเบียนคนพิการจากสำนักส่งเสริมและพิทักษ์คนพิการ สำนักงานส่งเสริมสวัสดิการและพิทักษ์เด็ก เยาวชน ผู้ด้อยโอกาส คนพิการ และผู้สูงอายุ พบว่า คนพิการมีทั้งสิ้น 357,759 คน โดยเป็นชาย 214,425 คน เป็นหญิง 143,324 คน และจำแนกประเภทการพิการดังนี้
ประเภทความพิการ รวม ชาย หญิง
1. ทางการมองเห็น 37,514 19,936 17,578
2. ทางการได้ยิน 52,357 28,427 23,930
3.ทางกาย 171,249 111,360 59,889
4.ทางจิตใจ 8,326 5,074 3,252
5.ทางสติปัญญา 48,908 26,750 22,158
6. พิการซ้ำซ้อน 34,317 19,879 14,438
7.ไม่ระบุความพิการ 5,088 3,009 2,079
รวม 357,759 214,435 143,324
4. จากการศึกษาวิจัยเบื้องต้นของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพบว่า จากพระราชบัญญัติ 73 ฉบับ มีพระราชบัญญัติที่มีถ้อยคำที่เลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมอย่างชัดแจ้ง 6 ฉบับ ที่มีถ้อยคำที่เปิดโอกาสให้ใช้ดุลพินิจ 19 ฉบับ มีผลกระทบต่อการประกอบอาชีพของคนพิการอย่างชัดแจ้ง 10 ฉบับมีพระราชกฤษฎีกา ระเบียบ ข้อบังคับ ที่มีถ้อยคำที่เปิดโอกาสให้ใช้ดุลพินิจ 55 ฉบับ และจากระเบียบข้อบังคับต่าง ๆ ของรัฐวิสาหกิจ จำนวน 116 ฉบับ พบว่ามีระเบียบ ข้อบังคับที่มีถ้อยคำที่เลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมอย่างชัดแจ้ง จำนวน 43 ฉบับ และระเบียบ ข้อบังคับที่มีถ้อยคำที่เปิดโอกาสให้ใช้ดุลพินิจ จำนวน 55 ฉบับ การสำรวจถ้อยคำในกฎหมาย พบว่ามีถ้อยคำ 12 ลักษณะที่เชื่อได้ว่าจะกีดกันคนพิการในการประกอบอาชีพ ได้แก่คำว่า
1) กายพิการ
2) กายทุพพลภาพ
3) หูหนวก เป็นใบ้ซึ่งไม่สามารถอ่านออกเขียนได้
4) ไม่สมประกอบ
5) แพทย์ได้ตรวจรับรองว่ามีร่างกายสมบูรณ์ควรรับเข้าทำงานได้หรือรับรองว่าร่างกายสมบูรณ์แข็งแรง
6) มีกายหรือจิตที่ไม่เหมาะสมที่จะเป็นข้าราชการตุลาการ อัยการหรือทนายความ
7) พิการ ทุพพลภาพจนไม่สามารถประกอบอาชีพได้
8) หย่อนความสามารถหรือสมรรถภาพหรือสูญเสียสมรรถภาพ
9) บุคคลวิกลจริต
10) จิตฟั่นเฟือนหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ
11) คนไร้ความสามารถ
12) คนเสมือนไร้ความสามารถ
โดยมีตัวอย่างข้อความในกฎหมายที่จำกัดสิทธิคนพิการ เช่น
พระราชบัญญัติการประถมศึกษา พ.ศ.2478 ม.11 “ นายอำเภอมีอำนาจยกเว้นเด็กที่มีลักษณะดังต่อไปนี้จากการเรียนอยู่ในโรงเรียนประถมศึกษา (1) เด็กที่บกพร่องในส่วนกำลังกาย กำลังความคิดหรือเป็นโรค (2) เด็กที่อยู่ห่างจากโรงเรียนประถมศึกษาที่ให้เปล่าเกินสองพันเมตร หรือไม่สามารถจะไปถึงโรงเรียนได้ด้วยเหตุใดเหตุหนึ่งที่ไม่มีทางจะหลีกเลี่ยงได้ (ต่อมาได้มีการแก้ไขเพิ่มเติม
พระราชบัญญัติการประถมศึกษา พ.ศ.2523 ม.8 ยังมีถ้อยคำดังกล่าว)
พระราชบัญญัติการประกอบโรคศิลป์ พ.ศ.2542 มาตรา 32(6) กำหนดว่า ผู้ขอขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม คือ ไม่เป็นผู้มีร่างกายทุพพลภาพ (รวมทั้งคนพิการตาบอด)
พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2518 มาตรา 24 “ ผู้ที่จะเข้ารับราชการเป็นข้าราชการพลเรือนต้องมีคุณสมบัติทั่วไป ดังต่อไปนี้ (5) ไม่เป็นผู้มีกายทุพลภาพจนไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ไร้ความสามารถหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ หรือเป็นโรค...”
5. กฎหมายที่ตราออกมาจำกัดสิทธิของคนพิการไม่ให้ประกอบอาชีพต่าง ๆ นั้นเกิดจาก
คนไทยส่วนใหญ่ มีความเชื่อว่า คนพิการไม่มีความสามารถหรือมีอย่างจำกัด แม้ว่าภายหลังสังคมจะเชื่อในศักยภาพคนพิการมากขึ้น และได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมาย เพื่อให้คนพิการประกอบอาชีพได้ แต่สภาพความเป็นจริงผู้ที่พิการภายหลังก็มักจะถูกให้ออกจากงานและผู้ประกอบการส่วนใหญ่ก็ยังเลือกที่จะจ่ายเงินเข้ากองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการมากกว่าการจ้างคนพิการเข้าทำงาน
นอกจากนี้กฎหมายที่จำกัดสิทธิของคนพิการในการประกอบอาชีพจะมีลักษณะกำหนดลักษณะงานหรืออาชีพของคนพิการ กำหนดคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามในการประกอบอาชีพ โดยการใช้ดุลยพินิจของผู้ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมักจะใช้ดุลยพินิจในเชิงปฏิเสธ และไม่เชื่อมั่นในศักยภาพคนพิการ
เสียงสะท้อนจากคนพิการ
1. คนพิการมีความต้องการความเท่าเทียมในสังคม 2 ประการ
- ความเท่าเทียมในผล โดยคนพิการควรได้รับโอกาสการฟื้นฟูสมรรถนะและพัฒนาศักยภาพ ให้มีความรู้ ความสามารถเท่าเทียมกับบุคคลโดยทั่วไปซึ่งสังคมควรจัดสิ่งอำนวยความสะดวกให้เอื้อต่อสภาพร่างกายของบุคคลดังกล่าว
- ความเท่าเทียมในโอกาส โดยคนพิการควรได้รับโอกาสในการพิจารณาเข้าทำงาน หรือดำรงตำแหน่งที่เหมาะสมกับความรู้ความสามารถ และทักษะเท่าเทียมกับบุคคลโดยทั่วไป
2. กฎหมายใดๆ ที่ระบุความไม่สมประกอบทางร่างกายของบุคคล อันเป็นเหตุให้บุคคลนั้น ซึ่งมีความรู้ความสามารถต้องเสียสิทธิในการได้รับบริการพื้นฐานการทำงาน หรือการดำรงตำแหน่งสำคัญๆ ควรได้รับการปรับปรุงแก้ไขให้สอดคล้องกับเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ หากไม่ได้แก้ไขปรับปรุงก็ต้องไม่เป็นเหตุในการนำมาพิจารณาให้บุคคลเหล่านี้เสียสิทธิที่พึงได้
3. กฎหมายหรือระเบียบของทางราชการต้องไม่เปิดให้เจ้าหน้าที่หรือบุคคลที่เกี่ยวข้องใช้ดุลยพินิจในการพิจารณาการได้รับสิทธิเช่นบุคคลปรกติ
4. การมีกฎหมาย Comprehensive civil right law เป็นการคุ้มครองสิทธิพลเมืองเต็มรูปแบบเช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกา มี American Disability Act .(ADA) โดยกำหนดว่ากฎหมายที่มีถ้อยคำกีดกันคนพิการก็จะต้องตกไปโดยปริยาย
5. ขณะนี้ คนพิการ ภาครัฐได้เปิดโอกาสและส่งเสริมให้คนพิการได้รับการศึกษาในระดับสูงมีจำนวนไม่น้อยที่ได้รับการศึกษาในระดับปริญญาตรีและโท แต่เมื่อจบการศึกษาแล้วยังขาดโอกาสการทำงานที่เท่าเทียมกับคนทั่วไปซึ่งแตกต่างอย่างมากกับประเทศที่เจริญแล้ว
6. ในกรณีหน่วยราชการ เมื่อเจ้าหน้าที่เกิดพิการทุพลภาพ ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้
ส่วนราชการขาดระเบียบที่จะกำหนดให้มีการฟื้นฟูสมรรถภาพให้กลับมาทำงานได้ หรือส่งเสริมให้คนพิการได้รับสิทธิในการทำงานที่เท่าเทียมกับคนทั่วไป
7. คนหูหนวกมีความต้องการดังนี้
7.1 ให้มีครูต้นแบบสอนคนหูหนวก เนื่องจากภาษามือมีโครงสร้างต่างจากภาษาพูด ปัจจุบันโรงเรียนสอนคนหูหนวกยังไม่มีครูต้นแบบที่เป็นคนหูหนวก มีแต่คนปรกติเป็นครูสอน และบางครั้งใช้ภาษาพูดกับเด็กนักเรียน ทำให้เด็กไม่สามารถพัฒนาได้เต็มที่
7.2 ในคณะกรรมการต่างๆ ที่มีคนพิการเป็นคนหูหนวก ควรมีล่ามภาษามือให้ด้วย กรณีที่เป็นเสียง ควรทำเป็นสื่อที่สามารถทำให้คนหูหนวกเข้าถึงได้
7.3 ในกรณีคนพิการ ถูกจับ หรือเจ็บป่วย รัฐควรจัดให้มีล่ามภาษามือ หรือมีการเข้าถึงเอกสารในสำนวนคดีให้คนพิการ
7.4 ในการสอบแข่งขันเป็นครู ควรจะให้มีการดำเนินการแยกข้อสอบระหว่างคนหูหนวกกับคนปรกติ เพราะขาดความเท่าเทียมกันในการสอบ
8. เนื่องจากค่านิยมหรือทัศนคติต่อคนพิการของคนส่วนใหญ่ในสังคมไม่ได้เปลี่ยนแปลงมากนักทำให้คนพิการหางานทำได้ยากลำบาก การดำเนินการเพียงด้านกฎหมายนั้นยังไม่เพียงพอ ไม่สามารถทำให้คนพิการมีงานทำได้ตลอด ดังนั้น รัฐควรให้กองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพแรงงานจัดสรรเงินกองทุนดังกล่าว มาฝึกงานหรือฝึกอาชีพให้คนพิการ พร้อมให้เงินกู้และส่งเสริมการผลิตสินค้า ทั้งนี้ให้มีการรวมกลุ่มกับการดำเนินงาน โดยการรวบรวมสินค้าที่ผลิตโดยคนเหล่านี้ นำไปขายเลี้ยงชีพ
9. องค์การสหประชาชาติ ได้มีมติ 56/168 เมื่อปี พ.ศ.2544 ให้ตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจศึกษาความเป็นไปได้ที่จะให้มีอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิของคนพิการ (International Convention on Protection and Promotion of the Rights and Dignity of Persons with Disability) งานดังกล่าวได้พัฒนาต่อเนื่องโดยได้รับการสนับสนุนจากมติของสหประชาชาติทุกปี
ในเดือนตุลาคม 2546 ได้มีการประชุมประเทศต่าง ๆ ในแถบเอเชียแปซิฟิก โดยประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ ณ หอประชุม ESCAPE กรุงเทพ ฯ ได้มติเป็นร่าง Bangkok Draft ที่มุ่งจะมิให้มีการเลือกปฏิบัติต่อคนพิการ ขจัดกฎหมายที่จำกัดสิทธิคนพิการ และการพัฒนา จะเปลี่ยนจาก Charity Base เป็น Right Base
โดยมีหลักการสำคัญของ Bangkok Draft คือ
(1) หลักความเป็นอิสระ สามารถเลือกมีวิถีชีวิตของตนเอง
(2) หลักการมีส่วนร่วมในสังคม
(3) หลักความหลากหลายของความเป็นมนุษย์
(4) หลักความเท่าเทียมกันของหญิง-ชาย
(5) หลักความอยู่รอดอย่างมีศักดิ์ศรีของมนุษย์
ต่อมาเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2547 คณะกรรมการเฉพาะกิจที่ทำการยกร่างอนุสัญญาดังกล่าวได้ทำการประมวลร่างของประเทศต่าง ๆ ที่ได้เสนอเข้ามาโดยประธานคณะกรรมการ ฯ ได้ใช้ Bangkok Draft เป็นหลักในการทำร่างอนุสัญญาที่สมบูรณ์ เสนอต่อที่ประชุมสหประชาชาติ ซึ่งมีการกำหนดเวลาให้แล้วเสร็จในปี 2548
เมื่อที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติได้มีมติรับรองเป็นอนุสัญญาแล้ว ประเทศไทยและประเทศอื่น ๆ ในฐานะประเทศสมาชิกก็ต้องให้การรับรองอีกครั้ง
การรณรงค์ของคนพิการ
จากสภาพปัญหาและความคับข้องใจของคนพิการ จึงได้มีความพยายามรณรงค์ และผลักดันให้เกิดการแก้ปัญหาในเรื่องที่กระทบถึงสิทธิของคนพิการในหลายๆ รูปแบบ อาทิ เช่น
1. คนพิการและสภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทย เรียกร้องให้มีการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับสถานประกอบการที่จ้างแรงงานพิการ โดยเสนอให้หน่วยงานของรัฐปฏิบัติระบบสัดส่วนการจ้างงานคนพิการเช่นเดียวกับภาคเอกชนด้วย ในกรณีไม่จ้างแรงงานคนพิการก็ต้องจ่ายเงินเข้ากองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการหรือให้สัมปทานสถานที่สำหรับคนพิการจำหน่ายสินค้าหรือบริการหรือให้หน่วยงานจ้างเหมาช่วงงานให้คนพิการด้วย
2. การเรียกร้องให้มีกฎหมายส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิของคนพิการในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร การสื่อสารและการบริการเทคโนโลยี โดยให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 เพื่อให้การทำซ้ำของงานอันมีลิขสิทธ์เป็นอักษรเบลล์หรือเสียงที่ไม่มุ่งเน้นแสวงหากำไรสามารถกระทำได้
3. การเรียกร้องบริการแก่คนพิการจากภาครัฐ เช่น จัดให้มีรถบริการสาธารณะทางบกตามแหล่งท่องเที่ยว มีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการ ให้คนนำทางพิการได้รับยกเว้นค่าโดยสาร
ให้สุนัขนำทางคนตาบอดมีสิทธิขึ้นยานพาหนะ หรือเข้าไปในอาคารสถานที่โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม รวมทั้งเก้าอี้ล้อเข็นสำหรับคนพิการ เพื่อเสรีภาพในการเดินทางและไม่ต้องรับภาระมากกว่าคนอื่นๆ
4. การสนับสนุนและส่งเสริมให้คนตาบอดซึ่งมีความรู้ความสามารถและทักษะนวดแผนไทยได้รับใบประกอบโรคศิลป์ ตาม พ.ร.บ.การประกอบโรคศิลป์ พ.ศ. 2542 เพื่อให้คนตาบอดสามารถประกอบอาชีพเลี้ยงตนและครอบครัวโดยไม่เป็นแก่ภาระสังคม
5. ผู้ปกครองคนพิการมีสิทธิได้รับบริการให้คำปรึกษาแนะนำ ฝึกอบรมทักษะการเลี้ยงดู การจัดการศึกษา ตลอดจนมีสิทธิกู้ยืมเงินเพื่อประกอบอาชีพให้พึ่งตนเองได้
6. คนพิการที่มีความพิการจนไม่สามารถประกอบอาชีพเลี้ยงตนเองได้ และมีฐานะยากจนอาศัยอยู่ตามลำพัง หรืออยู่ในครอบครัวที่มีฐานะยากจน รายได้ถัวเฉลี่ยต่อคนต่ำกว่าเกณฑ์ความจำเป็นพื้นฐานควรมีสิทธิได้รับเบี้ยยังชีพ
7. แก้ไขกฎหมายที่มีถ้อยคำที่เปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่ของหน่วยงานใช้ดุลพินิจซึ่งทำให้คนพิการจำนวนมากต้องถูกจำกัดสิทธิในการประกอบอาชีพ
4.ข้อเสนอแนะของคณะทำงานสิทธิมนุษยชนฯ
1. สมควรให้มีการทบทวน เพื่อแก้ไขพระราชบัญญัติ พระราชกฤษฎีกา ระเบียบ หรือ
ข้อบังคับใดๆ ที่มีลักษณะเป็นการจำกัดสิทธิ หรือกีดกัน อันเป็นการเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมต่อคนพิการ ซึ่งอาจขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 ทั้งนี้ยึดตามแนวทางการศึกษาวิจัย เรื่อง “การแก้ไขกฎหมายที่กีดกันคนพิการในการเข้าไปมีส่วนร่วมในสังคม : ศึกษากรณีกฎหมาย และกฎระเบียบที่จำกัดสิทธิคนพิการในการประกอบอาชีพ” โดย รองศาสตราจารย์วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ และคณะ
2. ในอนาคต การออกพระราชบัญญัติ พระราชกฤษฎีกา ระเบียบ หรือข้อบังคับใด ๆ ที่เกี่ยวกับคนพิการ จะต้องระมัดระวัง มิให้มีถ้อยคำหรือข้อความใด ที่อาจจะขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540
3. รัฐบาลควรให้การสนับสนุน และเข้าร่วมเป็นภาคี ในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิของคนพิการ ตามมติขององค์การสหประชาชาติ
ที่มา: สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
www.nesac.or.th, โทร.02-612-9222 ต่อ 118, 119 โทรสาร.02-612-6918-9