สรุปข่าวเศรษฐกิจประจำวัน วันที่ 31 มีนาคม 2547

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday March 31, 2004 14:29 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

          ข่าวเศรษฐกิจในประเทศ
1. ธปท.ยืนยันอัตราดอกเบี้ยไม่มีแนวโน้มปรับขึ้นเนื่องจากสภาพคล่องในระบบยังอยู่ในระดับสูง ผู้
ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ทิศทางอัตราดอกเบี้ยของไทยยังคงทรงตัว เนื่องจาก
สภาพคล่องในระบบสถาบันการเงินยังมีส่วนเกินในระดับที่สูงมาก นอกจากนั้น ยังไม่มีแรงกดดันจากการปรับขึ้น
อัตราดอกเบี้ยจากนอกประเทศ เห็นได้จากทิศทางอย่างเป็นทางการที่ออกมายังไม่มีแนวโน้มที่จะปรับเพิ่มขึ้น
แม้ว่าแนวโน้มสินเชื่อในระบบจะเพิ่มขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้นก็ตาม แต่ยังไม่มีผลที่จะทำให้ทิศทาง
อัตราดอกเบี้ยเปลี่ยนไปจากที่คงอยู่ในระดับต่ำ สำหรับการที่ ธ.ทหารไทย ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากระยะ
ยาวเป็นจำนวน 0.25% นั้น เชื่อว่าเป็นการปรับเพื่อบริหารเงินให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมเท่านั้น ซึ่งเป็นการ
ปรับสภาพคล่องของ ธ.ทหารไทยเพียงแห่งเดียว (ผู้จัดการรายวัน, โลกวันนี้)
2. สศช.ประเมินว่าเหตุการณ์ความไม่สงบในภาคใต้อาจส่งผลกระทบต่อจีดีพีหากสถานการณ์ยืดเยื้อ
เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า หากสถานการณ์ความไม่
สงบในภาคใต้ยังคงยืดเยื้อต่อไป ย่อมมีผลกระทบต่อการเติบโตของผลิตภัณฑ์ในประเทศ (จีดีพี) ซึ่งขณะนี้ยังไม่
สามารถประเมินเป็นตัวเลขได้ โดยก่อนหน้านี้ สศช.ได้ประกาศคงประมาณการการขยายตัวทางเศรษฐกิจปี 47
ไว้ที่ระดับ 7-8% สำหรับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบในภาคใต้ที่เห็นได้ชัดคือ ผลกระทบต่อการท่อง
เที่ยว โดยจำนวนนักท่องเที่ยวลดลงมาก ทำให้การบริโภคสินค้าและบริการลดลงตาม ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อ
เนื่องถึงภาวะการจ้างงานของคนในพื้นที่จำนวนมาก (กรุงเทพธุรกิจ)
3. เจพีมอร์แกน คาดการณ์ว่าปี 47 ไทย สิงคโปร์ และมาเลเซีย จะเป็นแหล่งที่ธุรกรรมควบรวม
กิจการร้อนแรงที่สุดในภูมิภาค นายฟิลิปส์ ลี หัวหน้าฝ่ายวาณิชธนกิจ และนายทอดด์ มาริน หัวหน้าร่วมฝ่าย
วาณิชธนกิจของ เจ.พี.มอร์แกน ประจำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เปิดเผยกับรอยเตอร์ โดยคาดการณ์ว่า
ตลอดปี 47 ไทย สิงคโปร์ และมาเลเซีย จะเป็นเป็นแหล่งที่ธุรกรรมควบรวมซื้อกิจการ (Mergers and
Acquisitions) หรือเอ็มแอนด์เอ ร้อนแรงที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และบริษัทที่อยู่ใน 3
ชาติเอเชีย น่าจะได้เปรียบจากภาวะตลาดหุ้นภายในภูมิภาคที่สดใส โดยบริษัทจะใช้หุ้นทุนแลกเปลี่ยนเพื่อซื้อ
กิจการมากกว่าจะใช้เงินสด (กรุงเทพธุรกิจ)
4. ก.ล.ต.เชื่อมั่นว่าภาวะการซื้อขายหลักทรัพย์ฯ ในขณะนี้ที่ปรับตัวลดลงเป็นผลกระทบเพียง
ระยะสั้น กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ต.ล.ท.) เปิดเผยว่า สาเหตุที่ทำให้
ตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงอย่างรุนแรงในช่วงที่ผ่านมา เนื่องจากผู้ลงทุนส่วนใหญ่มีความกังวลเกี่ยวกับความ
รุนแรงของสถานการณ์ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมถึงการคัดค้านการแปรรูปรัฐวิสาหกิจที่ยังคงเป็นปัจจัย
กระทบต่อการลงทุนด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในขณะนี้จะมีผลกระทบต่อ
ภาวะการลงทุนในระยะสั้นเท่านั้น เนื่องจากหน่วยงานภาครัฐได้ให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาอย่างเต็มที่ (โลกวันนี้)
5. สถิติการขอจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่ในเดือน ก.พ.47 เพิ่มขึ้น 24.06% เทียบต่อปีตาม
ภาวะเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้น อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า ในเดือน ก.พ.47 มีผู้ประกอบการขอ
จดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่ทั่วราชอาณาจักรจำนวน 4,249 ราย เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 24.06%
คิดเป็นเงินทุนจดทะเบียน 12,065.70 ล.บาท เพิ่มขึ้น 72.49% เป็นผลจากภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันที่ปรัวตัวดี
ขึ้นจากมาตรการของรัฐบาล ทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจเกิดความมั่นใจในการที่จะพัฒนาคุณภาพสินค้าและบริการ
ของตนให้ทัดเทียมกับมาตรฐานสากล และสร้างการแข่งขันทั้งตลาดภายในและตลาดต่างประเทศ ส่วนการจด
ทะเบียนเลิกกิจการมีจำนวน 588 ราย ลดลง 11.18% จากปีก่อน (สยามรัฐ)
ข่าวเศรษฐกิจต่างประเทศ
1. ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของ สรอ. เดือน มี.ค.47 ลดลงอยู่ที่ระดับ 88.3 รายงานจาก
นิวยอร์ค เมื่อวันที่ 30 มี.ค.47 สำนักวิจัยเอกชน Conference Board เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้
บริโภคของ สรอ. เดือน มี.ค.47 ลดลงอยู่ที่ระดับ 88.3 จาก 88.5 ในเดือน ก.พ.47 ในขณะที่ผลการ
สำรวจความคิดเห็นนักเศรษฐศาสตร์ของรอยเตอร์คาดว่าจะลดลงอยู่ที่ระดับ 86.5 อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภค
ยังรู้สึกว่าสถานการณ์ทางธุรกิจในเดือน มี.ค. น่าจะดีกว่าเดือน ก.พ. แต่ยังคงรู้สึกว่าการจ้างงานไม่สู้ดีนัก
ตลาดแรงงานไม่เพียงแค่ทำให้ผู้บริโภคขาดความเชื่อมั่นเท่านั้น แต่ยังทำให้มีมุมมองในด้านลบต่อภาวะ
เศรษฐกิจในระยะสั้นด้วย ทั้งนี้ จำนวนผู้บริโภคที่กล่าวว่าหางานทำได้ยากในเดือน มี.ค.47 เพิ่มขึ้นถึง
30.0% จาก 28.9% ในเดือน ก.พ.47 ส่วนมุมมองต่อสถานการณ์ในอนาคตของผู้บริโภคดัชนีลดลงเล็กน้อย
อยู่ที่ระดับ 91.0 จาก 91.9 ในขณะที่มุมมองต่อสถานการณ์ปัจจุบันดัชนีเพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 84.1 จาก 83.3
(รอยเตอร์)
2. ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของอังกฤษเดือน มี.ค.47 ลดลงอยู่ที่ระดับ -3 รายงาน
จากลอนดอนเมื่อวันที่ 30 มี.ค.47 บริษัทวิจัย Martin Hamblin GFK เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้
บริโภคเดือน มี.ค.47 ลดลงอยู่ที่ระดับ —3 จาก —2 ในเดือน ก.พ.47 ในขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า
จะยังคงอยู่ในระดับ —2 เท่าเดิม ซึ่งสาเหตุของการลดลงมาจากความรู้สึกกังวลต่อการขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก
ครั้งในเร็ว ๆ นี้หลังจากขึ้นมาแล้ว 2 ครั้ง ในเดือน พ.ย.46 และ ก.พ.47 ทำให้ผู้บริโภคชะลอการตัดสิน
ใจซื้อสินค้ารายการใหญ่ ๆ ส่วนกรณีการลอบวางระเบิดรถไฟในประเทศสเปนอาจจะมีผลกระทบต่อการลด
ลงของดัชนีเดือน มี.ค. เล็กน้อย สำหรับการคาดการณ์ว่าสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจทั่วไปใน 12 เดือนข้าง
หน้าลดลงเล็กน้อยอยู่ที่ระดับ —12 ในเดือน มี.ค.47 (รอยเตอร์)
3. คาดว่า ธ.กลางอังกฤษจะยังไม่ขึ้นอัตราดอกเบี้ยในวันที่ 8 เม.ย.47 นี้ รายงานจากลอนดอน
เมื่อ 30 มี.ค.47 Kate Barker สมาชิกคณะกรรมการนโยบายการเงินของ ธ.กลางอังกฤษ ให้สัมภาษณ์ว่า
ธ.กลางอังกฤษยังไม่มีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน
ในวันที่ 8 เม.ย.47 นี้ แม้ว่าราคาบ้านในเดือนนี้จะสูงขึ้นอีกร้อยละ 1.4 และสูงขึ้นร้อยละ 16.7 ในช่วง
ระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมาก็ตาม ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ ธ.กลางอังกฤษ 2 ครั้งที่ผ่านมา
ไม่ส่งผลกระทบต่อความต้องการบ้านตามที่ ธ.กลางอังกฤษคาดไว้ แต่เป้าหมายของ ธ.กลางคืออัตราเงินเฟ้อ
ไม่ใช่ราคาบ้านและ ธ.กลางอังกฤษก็ไม่ต้องการสร้างความตระหนกให้แก่ผู้บริโภคจนส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ
โดยรวมของประเทศ (รอยเตอร์)
4. รอยเตอร์คาดว่า PMI ของญี่ปุ่นในเดือน มี.ค.47 เพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 4 เดือน
รายงานจากโตเกียว เมื่อ 31 มี.ค.47 ผลสำรวจรอยเตอร์พบว่า Purchasing Managers’ Index
(PMI) ของญี่ปุ่นในเดือน มี.ค.47 อยู่ที่ระดับ 55.3 เพิ่มขึ้นจากระดับ 54.6 ในเดือนก่อน นับเป็นครั้งแรก
ในรอบ 4 เดือน (พ.ย.46) ที่ดัชนีดังกล่าวเพิ่มขึ้น เนื่องจากความเชื่อมั่นในธุรกิจได้เพิ่มขึ้นทั้งในประเทศ
และต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม ภาคโรงงานยังคงมีอุปสงค์ที่เฉื่อยชาอยู่ โดยจะเห็นได้จากการเพิ่มขึ้นของ
unfilled work orders รวมทั้งการที่วัตถุดิบโดยเฉพาะเหล็กมีราคาสูงขึ้นเนื่องจากการขาดแคลนวัตถุดิบ
นั่นเอง (รอยเตอร์)
5. รอยเตอร์คาดว่าดัชนีราคาผู้บริโภคของเกาหลีใต้ในเดือน มี.ค.47 จะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็น
เดือนที่ 4 รายงานจากโซล เมื่อ 30 มี.ค.47 ผลสำรวจรอยเตอร์คาดว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคของเกาหลีใต้
ในเดือน มี.ค.47 จะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ที่ระดับร้อยละ 0.8 เทียบต่อเดือน (ตัวเลขก่อนปรับฤดู
กาล) เนื่องจากราคาวัตถุดิบและราคาน้ำมันเพิ่มขึ้นอย่างแข็งแกร่งส่งผลให้ต้นทุนสินค้าอุตสาหกรรมเพิ่มสูงขึ้น
ส่วนในเดือน ก.พ.47 ดัชนีดังกล่าวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.4 (ตัวเลขหลังปรับฤดูกาล) เทียบต่อเดือน อย่างไรก็
ตาม ธ.กลางเกาหลีใต้มีเป้าหมายจะรักษาภาวะเงินเฟ้อให้มีเสถียรภาพ โดยคณะกรรมการนโยบายการเงิน
ของเกาหลีใต้จะทบทวนเป้าหมายอัตราดอกเบี้ยนโยบายในวันพฤหัสบดีที่ 8 เม.ย.นี้ ทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ยข้าม
คืนของเกาหลีใต้อยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 3.75 ตั้งแต่เดือน ก.ค.46 เนื่องจากผลกระทบทางด้านเครดิตใน
ระบบสถาบันการเงิน ตลอดจนตลาดแรงงานที่ซบเซาส่งผลให้การใช้จ่ายของผู้บริโภคอยู่ในระดับต่ำ แม้ว่าภาค
การส่งออกจะเฟื่องฟูก็ตาม โดย ดัชนีราคาผู้บริโภคในเดือน มี.ค.47 สำนักงานสถิติแห่งชาติเกาหลีใต้จะ
ประกาศในวันพฤหัสบดีที่ 1 เม.ย.นี้ (รอยเตอร์)
ข้อมูลเศรษฐกิจ 31/3/47 30/3/47 30/1/47 แหล่งข้อมูล
อัตราแลกเปลี่ยนถัวเฉลี่ยระหว่างธนาคาร (Bht/1US$) 39.552 39.263 ธปท.
อัตราซื้อถัวเฉลี่ยตั๋วเงิน/อัตราขายถัวเฉลี่ยของ ธพ. (Bht/1US$) 39.3825/39.6617 39.0915/39.3765 ธปท.
อัตราดอกเบี้ยกู้ยืมระหว่าง ธพ. ขนาดใหญ่ระยะ 7 วัน (ร้อยละ) 1.20 - 1.25 1.1875 - 1.2800 รอยเตอร์
ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯ (จุด)/มูลค่าซื้อ/ขาย (พันล้านบาท) 649.21/12.44 698.90/29.26 ตลท.
ราคาทองคำแท่ง (ซื้อ/ขายบาทละ) 7,750/7,850 7,750/7,850 7,400/7,500 สมาคมค้าทองคำ
ราคาน้ำมันดิบดูไบ (US$/บาเรล) 31.26 29.78 28.18 ปตท./รอยเตอร์
ราคาน้ำมันเบนซิน 95/ดีเซล (บาท) 16.99*/14.59* 16.99*/14.59* 16.99*/14.59* ปตท.
* ปรับเลด เมื่อ 10 ม.ค.47 ตามนโยบายรักษาเสถึยรภาพราคาน้ำมันของรัฐบาล

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ