บันทึกการประชุมวุฒิสภา
ครั้งที่ ๑๖ (สมัยสามัญทั่วไป)
วันจันทร์ที่ ๒๙ มีนาคม ๒๕๔๗
ณ ตึกรัฐสภา
เริ่มประชุมเวลา ๑๐.๐๐ นาฬิกา
เมื่อสมาชิกฯ มาประชุมครบองค์ประชุม นายสุชน ชาลีเครือ ประธานวุฒิสภา
และนายสหัส พินทุเสนีย์ รองประธานวุฒิสภาคนที่สอง ขึ้นบัลลังก์
ประธานวุฒิสภาได้กล่าวเปิดประชุม แล้วแจ้งให้ที่ประชุมรับทราบเรื่อง คำวินิจฉัย
ศาลรัฐธรรมนูญที่ ๒๙ - ๓๐/๒๕๔๗ ลงวันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๗ เรื่อง ประธานวุฒิสภาและ
ประธานสภาผู้แทนราษฎรส่งความเห็นสมาชิกของแต่ละสภา ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา
วินิจฉัย กรณีพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. ๒๕๔๖ และพระราชกำหนด
แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. ๒๕๔๒ พ.ศ. ๒๕๔๖
เป็นไปตามรัฐธรรมนูญฯ มาตรา ๒๑๘ วรรคหนึ่ง หรือไม่ มีความโดยสรุปว่า พระราชกำหนด
แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. ๒๕๔๖ และพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติ
ิป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. ๒๕๔๒ พ.ศ. ๒๕๔๖ เป็นไปตามรัฐธรรมนูญฯ มาตรา ๒๑๘
วรรคหนึ่ง แล้ว
ต่อมา ประธานวุฒิสภาได้เสนอให้ที่ประชุมรับรองรายงานการประชุมวุฒิสภา
ครั้งที่ ๒๙ (สมัยสามัญนิติบัญญัติ) เป็นพิเศษ วันจันทร์ที่ ๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๔๕
ซึ่งที่ประชุมได้รับรองรายงานการประชุมครั้งดังกล่าว
จากนั้น ประธานวุฒิสภา และรองประธานวุฒิสภาคนที่สอง ได้ผลัดเปลี่ยนกัน
ทำหน้าที่ประธานของที่ประชุม โดยประธานของที่ประชุมได้เสนอให้ที่ประชุมพิจารณาเรื่องด่วน
ตามลำดับ ดังนี้
๑. ตั้งคณะกรรมาธิการสามัญเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติและความประพฤติ
ของบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ทรงคุณวุฒิสาขารัฐศาสตร์
ตามรัฐธรรมนูญฯ มาตรา ๑๓๕ ซึ่งที่ประชุมมีมติให้ตั้งคณะกรรมาธิการสามัญเพื่อทำหน้าที่
ตรวจสอบประวัติฯ จำนวน ๑๑ คน ประกอบด้วย
๑. พลตำรวจโท ชูชาติ ทัศนเสถียร ๒. พลตำรวจโท ทวี ทิพย์รัตน์
๓. พลตำรวจโท ปรีชา ปฏิบัติสรกิจ ๔. นายสุนทร จินดาอินทร์
๕. นายอุดร ตันติสุนทร ๖. นายแก้วสรร อติโพธิ
๗. นายสันติ์ เทพมณี ๘. นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์
๙. นายสุพร สุภสร ๑๐. นายทองใบ ทองเปาด์
๑๑. นายชุมพล ศิลปอาชา
๒. ญัตติ เรื่อง ขอเสนอญัตติด่วน เรื่อง ปัญหาการชุมนุมคัดค้านการแปรรูปการไฟฟ้า
ฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ซึ่งนายสมพงษ์ สระกวี เป็นผู้เสนอ เมื่อผู้เสนอญัตติได้แถลงเหตุผล
และมีสมาชิกฯ อภิปรายแล้ว ที่ประชุมได้มีมติให้เลื่อนการพิจารณาญัตติดังกล่าวออกไปก่อน
๓. ญัตติ เรื่อง ขอเสนอญัตติให้วุฒิสภาตั้งคณะกรรมาธิการรับฟังและศึกษาปัญหา
การปฏิรูปโครงสร้างวิสาหกิจการไฟฟ้าของประเทศ ซึ่งนายพนัส ทัศนียานนท์ กับคณะ เป็นผู้เสนอ
เมื่อผู้เสนอญัตติได้แถลงเหตุผล และมีสมาชิกฯ อภิปรายแล้ว ที่ประชุมได้ลงมติให้ตั้งคณะกรรมาธิการ
สามัญฯ พิจารณา จำนวน ๙ คน ประกอบด้วย
๑. นายสมเกียรติ อ่อนวิมล ๒. นายมีชัย วีระไวทยะ
๓. นายสมเกียรติ ศรลัมพ์ ๔. นายประเกียรติ นาสิมมา
๕. นายสัก กอแสงเรือง ๖. นายโสภณ สุภาพงษ์
๗. นายถาวร เกียรติไชยากร ๘. นายไพบูลย์ อุปัติศฤงค์
๙. นายแก้วสรร อติโพธิ
โดยมีกำหนดการปฏิบัติภารกิจภายใน ๔๕ วัน นับแต่วันที่วุฒิสภาลงมติให้ตั้ง
คณะกรรมาธิการสามัญฯ ชุดนี้
๔. ญัตติ เรื่อง ขอเสนอญัตติให้วุฒิสภามีมติให้นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมประชุมวุฒิสภา
เพื่อแถลงข้อเท็จจริงหรือแสดงความคิดเห็นในที่ประชุมวุฒิสภา ในกรณีปัญหาการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ตามมาตรา ๒๑๐
ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งนายการุณ ใสงาม กับคณะ เป็นผู้เสนอ เมื่อผู้เสนอญัตติได้แถลงเหตุผล
และมีสมาชิกฯ อภิปรายแล้ว ที่ประชุมได้ลงมติไม่เห็นชอบด้วยกับ
ญัตติดังกล่าว
ต่อจากนั้น ประธานของที่ประชุมได้ปรึกษาที่ประชุม เพื่อขอเลื่อนการพิจารณา
เรื่องด่วนที่ ๕ พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. ๒๕๔๖ และเรื่องด่วนที่ ๖
พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. ๒๕๔๒
พ.ศ. ๒๕๔๖ ซึ่งคณะรัฐมนตรี เป็นผู้เสนอ ออกไปก่อน เนื่องจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม
ติดราชการสำคัญที่ต้องเดินทางไปต่างประเทศ ไม่สามารถเข้าร่วมการประชุมวุฒิสภาเพื่อชี้แจง
ประกอบการพิจารณาพระราชกำหนดทั้ง ๒ ฉบับดังกล่าวได้ ประกอบกับสภาผู้แทนราษฎร
ยังพิจารณาพระราชกำหนดทั้ง ๒ ฉบับดังกล่าวไม่แล้วเสร็จ ซึ่งที่ประชุมเห็นชอบ
หลังจากนั้น ประธานของที่ประชุมได้เสนอให้ที่ประชุมพิจารณาเรื่องด่วน ตามลำดับ ดังนี้
๑. ร่างพระราชบัญญัติทางหลวง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ซึ่งคณะกรรมาธิการวิสามัญ
พิจารณาเสร็จแล้ว ที่ประชุมได้พิจารณาในวาระที่ ๒ เริ่มต้นด้วยชื่อร่าง คำปรารภ แล้วเรียงตามลำดับมาตราจนจบร่าง
และลงมติในวาระที่ ๓ ให้แก้ไขเพิ่มเติม
๒. ร่างพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
ซึ่งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว ที่ประชุมได้พิจารณาในวาระที่ ๒ เริ่มต้นด้วยชื่อร่าง
คำปรารภ แล้วเรียงตามลำดับมาตราจนจบร่าง และลงมติในวาระที่ ๓ ให้แก้ไขเพิ่มเติม
อนึ่ง คณะกรรมาธิการฯ ได้เสนอข้อสังเกตในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว
ซึ่งที่ประชุมได้ลงมติเห็นชอบด้วยกับข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการฯ เพื่อแจ้งไปยังคณะรัฐมนตรีพิจารณาดำเนินการต่อไป
ต่อมา ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบให้นำเรื่อง ตั้งกรรมาธิการวิสามัญกิจการวุฒิสภา
แทนตำแหน่งที่ว่าง ๑ ตำแหน่ง ให้ที่ประชุมพิจารณา และมีมติให้ตั้ง นายจอน อึ๊งภากรณ์
เป็นกรรมาธิการแทน พลตำรวจเอก ประทิน สันติประภพ ซึ่งขอลาออกจากตำแหน่ง
เลิกประชุมเวลา ๑๗.๐๕ นาฬิกา
(นายมนตรี รูปสุวรรณ)
เลขาธิการวุฒิสภา
สรุปผลการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ
ให้แก้ไขเพิ่มเติมร่างพระราชบัญญัติ จำนวน ๒ ฉบับ ดังนี้
๑. ร่างพระราชบัญญัติทางหลวง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
๒. ร่างพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
กลุ่มงานรายงานการประชุม
สำนักรายงานการประชุมและชวเลข
โทร. ๐ ๒๘๓๑ ๙๑๒๘
โทรสาร ๐ ๒๘๓๑ ๙๑๓๘