กรมการประกันภัยปรับปรุงหลักเกณฑ์การลงทุนประกอบธุรกิจอื่นของบริษัทประกันภัย

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday April 7, 2004 13:45 —คปภ.

          นางสาวพจนีย์ ธนวรานิช อธิบดีกรมการประกันภัยเปิดเผยว่า กรมการประกันภัยได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์การลงทุนประกอบธุรกิจอื่นของบริษัทประกันภัยเพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ในตลาดการเงินในปัจจุบัน และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ได้ ลงนามในประกาศกระทรวงฯ ดังกล่าวแล้ว เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2547 ประเด็นที่ปรับปรุงมีดังนี้
1. ขยายช่องทางการลงทุน ได้แก่
1.1 ให้ลงทุนในใบแสดงสิทธิในผลประโยชน์จากหุ้น และหุ้นกู้ (Depository Receipt : DR) เพื่อเป็นการสนับสนุนการปรับปรุงโครงสร้างทางการเงินของ บมจ.บางจากปิโตรเลียมซึ่งได้ออกตราสารประเภทนี้ โดยผู้ลงทุนจะได้สิทธิประโยชน์เช่นเดียวกับผู้ถือหุ้นสามัญและหุ้นกู้ แต่มีการป้องกันความเสี่ยงโดยกระทรวงการคลังในการรับประกันเงินต้น
1.2 ประกอบกิจการให้บริการด้านงานสนับสนุนแก่บุคคลอื่น (back office) ได้แก่ การจัดตั้งการบริหารความร่วมมือในการรับประกันภัย (pool) การให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการจ่ายค่าสินไหมทดแทน งานบัญชีการเงิน งานเทคโนโลยีสารสนเทศ งานตรวจสอบภายใน และงานกำกับดูแลการปฏิบัติตามกฎหมาย (compliance) เป็นต้น เพื่อเป็นการส่งเสริมให้บริษัท ประกันภัยสามารถนำทรัพยากรที่มีอยู่ไปใช้อย่างมีประสิทธิภาพและก่อประโยชน์สูงสุด และเป็นการเพิ่มรายได้อีกทางหนึ่ง
1.3 ส่วนการลงทุนต่างประเทศ เปิดโอกาสให้บริษัทประกันภัยลงทุนซื้อ พันธบัตรหรือตั๋วเงินที่ออกโดยรัฐวิสาหกิจต่างประเทศที่มีอันดับความน่าเชื่อถือไม่ต่ำกว่า BBB ได้ เพื่อให้สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทยที่อนุญาตให้บริษัทประกันชีวิตสามารถลงทุนในหลักทรัพย์ประเภทนี้ได้แล้ว
2. ปรับปรุงเงื่อนไขการลงทุน เพื่อให้เกิดความคล่องตัว ได้แก่
2.1 มีการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการลงทุนในพันธบัตรหรือหุ้นกู้ขององค์การ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือหุ้นกู้ของบรรษัทเงินทุน ที่ไม่มีกระทรวงการคลังค้ำประกัน โดยยกเลิกการกำหนดสัดส่วนการลงทุนในแต่ละรุ่นที่ออกจำหน่าย แต่ยังคงเงื่อนไขสัดส่วนการลงทุนต่อรายและรวมทุกรายไว้ตามเดิม ส่งผลให้บริษัทมีความคล่องตัวในการบริหารจัดการ
2.2 ปรับปรุงการลงทุนในหุ้นกู้ของบริษัทจำกัด ให้ลงทุนได้เฉพาะที่มีอันดับความน่าเชื่อถือไม่ต่ำกว่า BBB- ได้ไม่เกินร้อยละ 20 ของหุ้นกู้ที่ออกจำหน่ายทั้งหมด จากเดิมถ้าหุ้นกู้ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือไม่ต่ำกว่า BBB- จะลงทุนได้ไม่เกินร้อยละ 20 ของหุ้นกู้ที่ออกจำหน่ายในแต่ละรุ่น และถ้าเป็นหุ้นกู้มีการค้ำประกันจะได้ถึง 50% ของหุ้นกู้ที่ออกจำหน่ายในแต่ละรุ่น
2.3 เพิ่มให้ลงทุนในตั๋วเงินที่มีธนาคารต่างประเทศที่มีอันดับความน่าเชื่อถือไม่ต่ำกว่า A อาวัลหรือค้ำประกันได้ เพื่อเพิ่มช่องทางเลือกในการลงทุน
3 ประเภทการลงทุนต่อไปนี้อนุญาตให้เฉพาะบริษัทประกันชีวิต คือ
3.1 การเป็นนายหน้าขายหลักทรัพย์และจัดจำหน่ายหลักทรัพย์ที่จำกัดเฉพาะหน่วยลงทุน (Broker Dealer and Underwriter: BDU) เพื่อเป็นการรองรับการประกอบธุรกิจขายกรมธรรม์ประกันชีวิตควบการลงทุน (Unit-linked) ซึ่งเป็นกรมธรรม์ชนิดใหม่ ดังนั้นบริษัทประกันชีวิตจำเป็นต้องเป็นตัวแทนหรือนายหน้าจัดจำหน่ายหน่วยลงทุนให้แก่บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ส่วนการกำกับดูแลบริษัทประกันชีวิตในการเสนอขายกรมธรรม์ชนิดนี้ กรมการประกันภัยและสำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต.จะร่วมมือกันในการกำกับดูแล
3.2 ให้บริษัทประกันชีวิตค้ำประกันการจัดให้มีสาธารณูปโภค หรือบริการสาธารณะหรือการปรับปรุงที่ดิน เพื่อส่งเสริมให้บริษัทประกันชีวิตที่ให้กู้ยืมเงินแก่โครงการจัดสรรที่ดิน สามารถให้บริการการค้ำประกันโครงการดังกล่าวต่อคณะกรรมการจัดสรรที่ดินกลางได้ โดยความเสี่ยงไม่เพิ่มเพราะจำนวนเงินการค้ำประกันจะถูกนับรวมกับจำนวนเงินให้กู้ยืม
4.เงื่อนไขการลงทุนต่อไปนี้บังคับใช้เฉพาะบริษัทประกันวินาศภัย คือ
4.1 หลักเกณฑ์การประเมินระบบควบคุมภายในและระเบียบวิธีปฏิบัติการลงทุนเฉพาะของบริษัทประกันวินาศภัย จากเดิมที่กำหนดให้ผู้สอบบัญชีเป็นผู้ประเมินระบบดังกล่าวและรายงานให้กรมการประกันภัยทราบทุกเดือนมีนาคมของทุกปี ได้เพิ่มให้คณะกรรมการตรวจสอบของบริษัทประกันวินาศภัยเป็นผู้ประเมินระบบควบคุมภายในและระเบียบวิธีปฏิบัติการลงทุนของบริษัทแทนผู้สอบบัญชีได้ แต่ทั้งนี้อนุญาตให้ถึงปี 2549 เท่านั้น เพื่อเป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายของบริษัท
4.2 ขยายสัดส่วนการลงทุนซื้อหุ้น หุ้นกู้ของบริษัทจำกัด และหน่วย ลงทุน จากเดิมกำหนดให้ลงทุนรวมกันได้ไม่เกิน 40% ของสินทรัพย์บริษัท เป็น ไม่เกิน 50% ของสินทรัพย์ของบริษัท
หลักเกณฑ์เหล่านี้ได้ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2547 จึงมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา
ที่มา: http://www.doi.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ