แนวทางการบริหารจัดการระบบบำบัดน้ำเสียรวมของชุมชนทั่วประเทศ

ข่าวเศรษฐกิจ Monday April 12, 2004 12:07 —สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

ความเห็นและข้อเสนอแนะ
เกี่ยวกับแนวทางการบริหารจัดการระบบบำบัดน้ำเสียรวมของชุมชนทั่วประเทศ
1. ความเป็นมา
ปัญหามลพิษด้านน้ำเสียที่ผ่านมาถึงแม้ว่าจะมีการดำเนินการเพื่อป้องกันแก้ไขจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆหลายหน่วยงาน แต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จตามเป้าหมายเท่าที่ควรเนื่องจากแผนดำเนินการขาดความชัดเจนและไม่สอดคล้องกัน ขาดการประสานงานระหว่างหน่วยงานของรัฐและขาดการสร้างความเข้าใจแก่ชุมชนและประชาชนในพื้นที่ หน่วยงานวางแผนและดำเนินการปฏิบัติงานในลักษณะต่างคนต่างทำจนเกิดความซ้ำซ้อนของงานและความสับสนจนไม่สามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผลกระทบที่เกิดขึ้นตามมาคือคุณภาพน้ำในแม่น้ำหลายสายเสื่อมโทรมขึ้นทุกปี ชุมชนเมืองมีสภาพสิ่งแวดล้อมที่ไม่ดี ภัยน้ำเสียคุกคามส่งผลกระทบต่อสุขภาพพลานามัย สวัสดิภาพ และคุณภาพชีวิตของประชาชน เนื่องจากขาดการจัดการน้ำเสียหรือมีการจัดการน้ำเสียที่ไม่มีประสิทธิภาพ ประชาชนขาดความเชื่อมั่น ละเลยหรือต่อต้านไม่ให้ความร่วมมือในการจัดการน้ำเสียและสูญเสียงบประมาณของรัฐ
มลพิษด้านน้ำเสียมีแหล่งที่มามาจากชุมชนขนาดใหญ่ กลาง เล็ก เกษตรกรรมบางประเภท อุตสาหกรรมบางประเภทและที่สำคัญส่วนหนึ่งเกิดจากน้ำเสียชุมชนซึ่งรัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณในการจัดการน้ำเสียโดยการก่อสร้างระบบรวบรวมน้ำเสียและระบบบำบัดน้ำเสียรวมของชุมชนแล้วเป็นจำนวนหลายหมื่นล้านบาทแต่การดำเนินงานระบบบำบัดน้ำเสียที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรับผิดชอบประสบปัญหา และอุปสรรคมาโดยตลอด ทั้งด้านขาดงบประมาณ ขาดบุคลากรที่ชำนาญ และที่สำคัญคือขาดความพร้อมในการบริหารจัดการจนไม่สามารถดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและต่อเนื่อง อีกทั้งยังขาดความเข้าใจและเกิดความสับสนในการปฏิบัติงานจัดการน้ำเสียของหน่วยงานภาครัฐเนื่องจากไม่มีแผนการจัดการที่ชัดเจนและสามารถใช้เป็นแนวทางปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม
รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณสำหรับการจัดการน้ำเสียชุมชนเป็นจำนวนมาก ทั้งด้านการศึกษาสำรวจความเหมาะสม ความเป็นไปได้ในการจัดให้มีระบบบำบัดน้ำเสียรวม และการออกแบบรายละเอียดเพื่อก่อสร้าง และงบประมาณสำหรับดำเนินการก่อสร้างระบบรวบรวมและระบบบำบัดน้ำเสีย โดยเฉพาะด้านการก่อสร้างนี้
ภาครัฐได้จัดสรรงบประมาณให้ไปแล้วกว่า 67,000 ล้านบาท เพื่อก่อสร้างระบบรวบรวมน้ำเสียและระบบบำบัดน้ำเสียรวมของชุมชนให้แก่เทศบาลต่างๆ เมืองพัทยา กรุงเทพมหานคร และอบต. บางแห่ง มีระบบบำบัดน้ำเสียทั้งที่ก่อสร้างเสร็จแล้วและที่อยู่ในระหว่างดำเนินงานก่อสร้าง รวมทั้งสิ้น 87 แห่ง ระบบบำบัดน้ำเสียเหล่านี้อยู่ในการดูแลรับผิดชอบในการเดินระบบขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นซึ่งส่วนใหญ่จะดำเนินการเดินระบบโดยใช้บุคลากรของท้องถิ่นเองและบางแห่งว่าจ้างเอกชนที่มีความชำนาญการเดินระบบ หรือมอบหมายให้องค์การจัดการน้ำเสียดำเนินการแทน ภายใต้บันทึกข้อตกลงระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและองค์การจัดการน้ำเสีย แต่ก็ยังมีปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินงานเดินระบบและดูแลรักษามาโดยตลอด ระบบบำบัดน้ำเสียหลายแห่งไม่สามารถดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณโดยเปล่าประโยชน์
ปัญหาการเดินระบบบำบัดน้ำเสียที่ไม่มีประสิทธิภาพส่วนใหญ่มักจะเกิดกับพื้นที่ที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทำการเดินระบบฯ เอง แต่ขาดความรู้ ความชำนาญ ขาดบุคลากร และงบประมาณ ทำให้ระบบบำบัดน้ำเสียขาดการดูแลและบำรุงรักษาที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ และระบบบำบัดน้ำเสียหลายแห่งเปิดเดินระบบไม่ต่อเนื่องเพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย หรือไม่บำรุงรักษาเครื่องจักรอุปกรณ์ตามกำหนดเวลา จนเกิดการชำรุดเสียหาย และใช้งานไม่ได้ในที่สุด จึงเป็นความจำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐบาลจะต้องทบทวนนโยบายในเรื่องที่จะแก้ไขและป้องกันภัยน้ำเสียโดยสำรวจประเมินสรุปสภาพเป็นจริงโดยรวมของระบบบำบัดน้ำเสียทั้งที่สร้างไว้แล้วไม่เกิดประโยชน์ใช้สอยรวมทั้งระหว่างก่อสร้างและมีแผนจะสร้างต่อไปซึ่งทั้งหมดมีผลต่องบประมาณและภัยน้ำเสียซึ่งจะมีผลต่อเศรษฐกิจและสังคมโดยรวมเป็นอย่างมาก รัฐควรมีนโยบายในการฟื้นฟูสภาพระบบรวบรวมและบำบัดน้ำเสียรวมของชุมชนให้สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งสร้างความพร้อมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อให้สามารถบริหารงานระบบฯ ได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน
สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเล็งเห็นถึงปัญหาและอุปสรรคเกี่ยวกับการบริหารจัดการระบบบำบัดน้ำเสียของชุมชนทั่วประเทศจึงได้มอบหมายให้คณะทำงานศึกษาและอนุรักษ์แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำแม่กลอง และแม่น้ำบางปะกงดำเนินการศึกษาและจัดทำความเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว เพื่อเสนอต่อสภาที่ปรึกษาฯและคณะรัฐมนตรีตามลำดับ ทั้งนี้เพื่อให้รัฐบาลใช้เป็นทางเลือกในเชิงนโยบายในการบริหารจัดการระบบบำบัดน้ำเสียให้บรรลุเป้าหมาย
2. การดำเนินการของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
สภาที่ปรึกษาฯโดยคณะทำงานศึกษาและอนุรักษ์แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำแม่กลองและแม่น้ำบางปะกงได้มีการดำเนินการศึกษาดังนี้ (1) ศึกษาข้อมูลและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องในเรื่องแผนฟื้นฟูและปรับปรุงระบบรวบรวมน้ำเสียชุมชนของประเทศ (2) จัดประชุมเสวนาโดยเชิญนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญจากองค์กรที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคเอกชน (3) การศึกษาดูงานโครงการก่อสร้างระบบรวบรวมและบำบัดน้ำเสียเทศบาลเมืองฉะเชิงเทราและโรงควบคุมคุณภาพน้ำช่องนนทรีของกรุงเทพมหานครและ (4) การเดินทางสำรวจมลพิษในแม่น้ำเจ้าพระยา ท่าจีน แม่กลองและบางปะกงเพื่อศึกษาสภาพและคุณภาพน้ำซึ่งคณะทำงานฯได้นำความรู้และความคิดเห็นที่ได้มาประมวลและสังเคราะห์เพื่อจัดทำความเห็นและข้อเสนอแนะเรื่องแนวทางการบริหารจัดการระบบบำบัดน้ำเสียรวมของประเทศต่อสภาที่ปรึกษาฯและคณะรัฐมนตรีต่อไป
3. การดำเนินการของภาครัฐ
กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ดำเนินการเพื่อจัดทำแผนฟื้นฟูและปรับปรุงระบบบำบัดน้ำเสียรวมของชุมชน โดยจัดตั้งหน่วยตรวจสอบและฟื้นฟูระบบบำบัดน้ำเสียรวมของชุมชนทั่วประเทศขึ้นเมื่อเดือนมีนาคม 2546 ซึ่งเป็นการดำเนินงานร่วมกันของ สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาค สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม องค์การจัดการน้ำเสีย และกรมควบคุมมลพิษในการตรวจสอบในพื้นที่ ประเมินผล ประมาณการค่าใช้จ่ายในการฟื้นฟูปรับปรุงระบบ และมอบหมายให้กรมควบคุมมลพิษรับผิดชอบดำเนินการจัดทำแผนฟื้นฟูและปรับปรุงระบบรวบรวมและระบบบำบัดน้ำเสียรวมของชุมชนให้แล้วเสร็จภายในสิ้นเดือนพฤษภาคม 2546 ทั้งนี้แผนฟื้นฟูและปรับปรุงระบบบำบัดน้ำเสียจะเป็นแผนงานหรือกิจกรรมดำเนินส่วนหนึ่งที่บรรจุอยู่ในแผนการจัดการน้ำเสียชุมชนแห่งชาติด้วยโดยมีเป้าหมายให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีส่วนร่วมรับผิดชอบดำเนินการและมีความพร้อมในการบริหารงาน และดูแลบำรุงรักษาระบบฯ ได้อย่างต่อเนื่องภายในปี พ.ศ. 2549 พื้นที่ดำเนินการครอบคลุมระบบบำบัดน้ำเสียที่ดำเนินการสำรวจ 77 แห่งไม่รวมระบบบำบัดน้ำเสียของกรุงเทพมหานคร 7 แห่ง และโครงการที่ไม่สามารถดำเนินการ/ชะลอโครงการ อีก 3 แห่ง ได้แก่ เทศบาลเมืองสระบุรี เทศบาลตำบลปากแพรก จังหวัดนครศรีธรรมราช และโครงการระบบบำบัดน้ำเสียจังหวัดสมุทรปราการ
กรมควบคุมมลพิษกำลังดำเนินการเพื่อให้การจัดการน้ำเสียชุมชนมีประสิทธิภาพมากขึ้นทั้งในด้านกฎหมายและด้านการบริหารจัดการ ดังนี้
1. กำหนดค่ามาตรฐานน้ำทิ้งจากแหล่งกำเนิดมลพิษประเภทอื่นๆ เช่น สถานีบริการจำหน่ายน้ำมัน
เชื้อเพลิง อาคาร และที่ดินจัดสรร เป็นต้น
2. จัดทำคู่มือปฏิบัติสำหรับหน่วยงานท้องถิ่นเกี่ยวกับการปฏิบัติงานด้านการจัดการน้ำเสียชุมชนและอำนาจหน้าที่ของท้องถิ่นในการดำเนินการภายใต้พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 ซึ่งจะช่วยให้ท้องถิ่นมีความรู้ความเข้าใจในการบริหารงานระบบบำบัดน้ำเสียมากยิ่งขึ้น และลดปัญหาการก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสียที่มีขนาดใหญ่เกินความจำเป็น ซึ่งจะช่วยลดงบประมาณในการก่อสร้างลงด้วย
3. ดำเนินการเพื่อออกกฎกระทรวงฯ ตามมาตรา 73 ในการขอและออกใบอนุญาตเป็นผู้รับจ้างให้บริการบำบัดน้ำเสียและเป็นผู้ควบคุมการดำเนินงานระบบบำบัดน้ำเสีย ซึ่ง (ร่าง) กฎกระทรวงว่าด้วยการควบคุมการรับจ้างให้บริการบำบัดน้ำเสียและการควบคุมระบบบำบัดน้ำเสียได้ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว
4. ดำเนินการกำหนดอัตราค่าบริการบำบัดน้ำเสียสำหรับระบบบำบัดน้ำเสียรวมของชุมชน ตามมาตรา 88 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535
5. สนับสนุนให้ท้องถิ่นเร่งรณรงค์ประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างจิตสำนึกและความร่วมมือจากประชาชนเพื่อการแก้ไขปัญหาน้ำเสียร่วมกัน
6. จัดทำแผนการจัดการน้ำเสียชุมชน โดยขณะนี้กรมควบคุมมลพิษได้เสนอแผนการจัดการน้ำเสียชุมชนต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ และแผนการจัดการดังกล่าวได้ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี คณะที่ 3 เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2547
7.จัดทำแผนฟื้นฟูและปรับปรุงระบบรวบรวมและระบบบำบัดน้ำเสียรวมของชุมชนทั่วประเทศ
โดยขณะนี้กรมควบคุมมลพิษได้เสนอแผนฟื้นฟูและปรับปรุงระบบรวบรวมและบำบัดน้ำเสียรวมของชุมชนทั่วประเทศต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ และแผนฟื้นฟูและปรับปรุงฯ ดังกล่าว ได้ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี คณะที่ 3 เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2547 และเพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปตามแผนฟื้นฟูและปรับปรุงฯ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ขอการสนับสนุนงบประมาณกลางปี 2547 วงเงินรวมทั้งสิ้น 186,982,000 บาท เพื่อดำเนินการสำรวจรายละเอียด วางแผน เพื่อปรับปรุงซ่อมแซมระบบบำบัดน้ำเสียของเทศบาล จำนวน 11 แห่ง สร้างความพร้อมให้ท้องถิ่น ภายหลังการดำเนินการฟื้นฟูและปรับปรุงระบบบำบัดน้ำเสีย จำนวน 33 แห่ง ปรับปรุง/ซ่อมแซมระบบบำบัดน้ำเสียให้สามารถใช้งานได้ จำนวน 5 แห่ง และสนับสนุนการเดินระบบและบำรุงรักษาของเทศบาล จำนวน 8 แห่ง
4. สถานภาพระบบบำบัดน้ำเสียรวมของชุมชน
ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณในการก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสียไปแล้วรวมทั้งสิ้น 67,290 ล้านบาท จนกระทั่งในปัจจุบันประเทศไทยมีระบบบำบัดน้ำเสียรวมของชุมชนทั้งสิ้น 87 แห่ง กระจายอยู่ทั่วประเทศ สามารถรองรับน้ำเสียได้ 2.8 ล้านลูกบาศก์เมตร/วัน รายละเอียดตามแผนภูมิที่ 1
ระบบบำบัดน้ำเสียรวมของชุมชนที่กำลังเดินระบบและกำลังก่อสร้างอยู่ในปัจจุบัน จำนวน 85 ระบบ (ไม่รวมระบบบำบัดน้ำเสียที่ยกเลิก 2 ระบบ ได้แก่ เทศบาลเมืองสระบุรี และเทศบาลตำบลปากแพรก) แบ่งเป็นประเภทหรือชนิดต่างๆ ได้แก่ ระบบบ่อผึ่งธรรมชาติ (Stabilization Pond; SP) 38 ระบบ ระบบคลองวนเวียน (Oxidation Ditch; OD) 17 ระบบ ระบบบ่อเติมอากาศ (Aerated Lagoon; AL) 14 ระบบ ระบบตะกอนเร่ง (Activated Sludge; AS) 14 ระบบ ระบบแผ่นหมุนชีวภาพ (Rotating Biological Contactor; RBC) 1 ระบบ และระบบ SBR (Sequencing Batch Reactor) จำนวน 1 ระบบ จะเห็นว่าระบบบำบัดน้ำเสียรวมของชุมชนส่วนใหญ่จะเป็นระบบบำบัดน้ำเสียแบบบ่อผึ่งธรรมชาติ เนื่องจาก เป็นระบบที่อาศัยธรรมชาติในการบำบัดน้ำเสีย ดูแลรักษาง่าย และใช้เครื่องจักรอุปกรณ์ที่ไม่ซับซ้อนมาก ไม่ต้องการบุคลากรที่ชำนาญมาก และค่าใช้จ่ายในการเดินระบบฯต่ำ แต่มีข้อเสียคือ ใช้พื้นที่มากและมักจะมีปัญหาปริมาณสาหร่าย (algae) มีมากเกินไปโดยเฉพาะในบ่อสุดท้าย
5. ปัญหาของการบริหารจัดการระบบบำบัดน้ำเสียชุมชน
ปัญหาส่วนใหญ่ที่ทำให้ระบบบำบัดน้ำเสียทำงานไม่มีประสิทธิภาพ เกิดจากสาเหตุหลักๆ ดังนี้
5.1 ขาดบุคลากรที่ชำนาญด้านการเดินระบบและควบคุมดูแลรักษา องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นส่วนใหญ่จะมีปัญหาขาดบุคลากรที่ทำหน้าที่โดยตรงในการดูแลและควบคุมระบบ นอกจากนี้บุคลากรที่มารับหน้าที่มักจะมีปัญหาไม่มีความรู้และทักษะด้านการจัดการน้ำเสียและควบคุมดำเนินงานระบบบำบัดน้ำเสีย
5.2 ขาดความชัดเจนในด้านการบังคับใช้กฎหมายโดยเฉพาะกฎหมายหรือข้อบังคับด้านการจัดเก็บค่าบริการบำบัดน้ำเสียที่ควรเป็นนโยบายที่ชัดเจนจากภาครัฐเพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นถือปฏิบัติตามหลักการผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย
5.3 ขาดการประชาสัมพันธ์ให้ความรู้และข้อเท็จจริงแก่ชุมชนและประชาชน รวมทั้งการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและร่วมตัดสินใจดำเนินการจัดการน้ำเสีย ตลอดจนการสร้างการมีส่วนร่วมดำเนินการทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน
5.4 ขาดงบประมาณสำหรับเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานระบบบำบัดน้ำเสีย เนื่องจากไม่มีความพร้อมในด้านการบริหารจัดการ ทำให้ท้องถิ่นละเลยไม่ดำเนินงานระบบอย่างจริงจัง
5.5 บ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่านเป็นกรณีตัวอย่างที่มีปัญหาในเรื่องประเด็นนโยบาย เป้าหมาย แผนงาน การสำรวจออกแบบ รวมทั้งงบประมาณโดยรวมซึ่งเมื่อเกิดปัญหาแล้วไม่มีเจ้าภาพที่แท้จริงแก้ไขปัญหา การดำเนินโครงการขนาดใหญ่ควรให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในทุกระยะ
6. ข้อเสนอแนะ
6.1 ภาครัฐควรกวดขันให้มีการดำเนินการให้เป็นไปตามผังเมืองซึ่งจะเป็นการระบุตำแหน่งของการขยายตัวของเมืองและกิจกรรมการขยายตัวของเกษตรกรรมหรือปศุสัตว์เพื่อการดำเนินงานเกี่ยวกับระบบบำบัดน้ำเสียอย่างมีประสิทธิภาพ
6.2 การดำเนินงานเกี่ยวกับการจัดการน้ำเสียควรเปิดโอกาสให้ชุมชนและประชาชนในพื้นที่เข้ามาร่วมรับรู้ตั้งแต่ต้น ร่วมคิด ให้ข้อเสนอแนะร่วมตัดสินใจ ร่วมดำเนินการจัดการน้ำเสีย ร่วมติดตามตรวจสอบและตัดสินใจเพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมเพื่อป้องกันปัญหาความขัดแย้งต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น
6.3 ในการจัดสรรงบประมาณสำหรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นผ่านแผนปฏิบัติการกำหนดขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นควรพิจารณาจากแผนผังเมือง กำหนดภาระหน้าที่ที่ท้องถิ่นจะต้องดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อมและน้ำเสียพร้อมงบประมาณที่จัดสรรตามแผนการดำเนินการไว้ให้ชัดเจนทั้งนี้เพื่อเป็นหลักประกันว่าเมื่อท้องถิ่นได้รับการจัดสรรงบประมาณประจำปีไปแล้วท้องถิ่นจะต้องดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อมและด้านน้ำเสียด้วย
6.4 นำหลักการผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่ายมาใช้ปฏิบัติอย่างจริงจังและผลักดันให้มีการจัดเก็บบริการบำบัดน้ำเสียอย่างเป็นรูปธรรม และเกิดความเป็นธรรมแก่ชุมชนและประชาชนด้วย ทั้งนี้โดยอาจจะเก็บรวมกับค่าน้ำประปาซึ่งจะต้องมีการกำหนดกฎหมายขึ้นมารองรับด้วยรวมทั้งอาจพิจารณารวมหน่วยงานที่ผลิตน้ำใช้และหน่วยงานที่ดูแลด้านการบำบัดน้ำเสียเข้าเป็นหน่วยเดียวกันซึ่งจะทำให้การจัดเก็บค่าธรรมเนียมบำบัดน้ำเสียมีประสิทธิภาพมากขึ้น
6.5 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหากไม่ประสงค์จะดำเนินงานและดูแลบำรุงรักษาระบบเองก็สามารถว่าจ้างเอกชนหรือบริษัทที่ปรึกษาที่มีความชำนาญการควบคุมระบบ หรือมอบหมายให้องค์การจัดการน้ำเสียมาดำเนินการแทนได้
6.6 เสริมสร้างสมรรถนะและพัฒนาบุคลากรขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้มีศักยภาพในการบริหารจัดการ มีทักษะ ความรู้ ความสามารถในการดำเนินงานระบบบำบัดน้ำเสียและดูแลบำรุงรักษา
6.7 ภาครัฐจะต้องกวดขันและตรวจสอบการใช้กฎหมายในเรื่องการบำบัดน้ำเสียก่อนปล่อยลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะอย่างจริงจัง
6.8 ภาครัฐควรมีระบบบำบัดน้ำเสียระบบอื่นๆนอกจากระบบสามัญ (Conventional Treatment) ให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ เศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม
6.9 ภาครัฐต้องมีความชัดเจนภายหลังการปฏิรูประบบราชการปี 2545 ในประเด็นต่างๆ ได้แก่ ส่วนราชการกำกับดูแล (Regulator) ส่วนราชการดำเนินการเชิงปฏิบัติ (Operator) และส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจดำเนินการในลักษณะการก่อสร้างระบบและปัจจัยประกอบ
6.10 ภาครัฐต้องมีแผนในการดำเนินงานเกี่ยวกับระบบบำบัดน้ำเสียภาคเกษตรกรรมและภาคอุตสาหกรรมควบคู่ไปกับการบริหารจัดการระบบบำบัดน้ำเสียชุมชน
6.11 ภาครัฐมีจุดอ่อนซึ่งควรแก้ไขในประเด็นต่างๆ ได้แก่ นโยบาย เป้าหมาย แผนงาน แผนปฏิบัติ แผนงบประมาณ ส่วนราชการรับผิดชอบ และการจัดลำดับความสำคัญรวมทั้งการติดตามประเมินผล
6.12 การดำเนินการเกี่ยวกับโครงการระบบบำบัดน้ำเสียที่มีมูลค่าสูงควรจะให้องค์กรวิชาชีพกลาง เช่น สมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยเข้ามามีส่วนร่วมตรวจสอบความถูกต้องทุกด้านรวมถึงการกำหนด Conceptual Design เพื่อมิให้เกิดการผิดพลาดดังกรณีตัวอย่างโครงการระบบบำบัดน้ำเสียคลองด่าน
6.13 ควรมีการประเมินผลโครงการบ่อบำบัดน้ำเสียในจังหวัดต่างๆรวมถึงกรุงเทพมหานครเพื่อศึกษาความคุ้มค่าการลงทุนและการดำเนินงานให้เป็นประโยชน์และมีประสิทธิภาพตามวัตถุประสงค์โดยใช้กระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน
ที่มา: สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
www.nesac.or.th, โทร.02-612-9222 ต่อ 118, 119 โทรสาร.02-612-6918-9

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ