FTA ไทย-ออสเตรเลีย ใกล้คลอด !! เตรียมลงนามกลางปีนี้…พร้อมบังคับใช้ 1 ม.ค. 48

ข่าวเศรษฐกิจ Monday April 26, 2004 08:06 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

          นางสาวชุติมา  บุณยประภัศร  รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่าขณะนี้การ
จัดทำความตกลง FTA ไทย-ออสเตรเลีย ได้เสร็จสิ้นสมบูรณ์แล้ว และจะเสนอให้คณะกรรมการนโยบาย
เศรษฐกิจ (กนศ.) พิจารณาในวันที่ 26 เมษายน 2547 คาดว่ารัฐมนตรีการค้าของไทยและออสเตรเลีย
จะมีการลงนามร่วมกันในกลางปีนี้ เพื่อให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่ 1 มกราคม 2548 เป็นต้นไป โดยใช้ชื่อว่า AFTA
(Thailand- Australia Free Trade Agreement : TAFTA) นาง
สาวชุติมา กล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า แม้ออสเตรเลียจะเป็นตลาดขนาดเล็ก มีประชากร 19.6 ล้านคน แต่ก็เป็น
ตลาดที่มีศักยภาพเนื่องจากเป็นประเทศพัฒนาแล้ว มีอำนาจการซื้อสูง ประชากรมีรายได้ต่อหัวสูงถึง 1ล้านบาท
ต่อปี ดังนั้นหากผู้ประกอบการไทยสามารถปรับปรุงคุณภาพ มาตรฐานสินค้าและบริการ รวมทั้งการตลาดให้
สอดคล้องกับข้อกำหนดและความต้องการของผู้บริโภคจะทำให้สินค้าและบริการของไทยมีโอกาสเข้าสู่ตลาด
ออสเตรเลียได้มากขึ้น ทั้งนี้ หากพิจารณาในอุตสาหกรรมหลัก ๆ จะพบว่าอุตสาหกรรมของไทยที่จะได้
ประโยชน์จากการเปิดตลาด FTA ได้แก่
อุตสาหกรรมยานยนตร์และชิ้นส่วน
คาดว่าผู้ผลิตรถยนต์ในไทย เช่น โตโยต้า อีซูซุ และมิตซูบิชิ จะสามารถส่งออกไปออสเตรเลียได้
มากขึ้นหากมีการลดภาษีนำเข้าลง โดยปัจจุบันออสเตรเลียเป็นตลาดรถปิคอัพที่สำคัญของไทยอยู่แล้ว โดยนำ
เข้าจากไทยปีละประมาณ 85% ของความต้องการทั้งหมด ซึ่งการทำ FTA จะช่วยเสริมตลาดส่งออกรถยนต์
จากไทยเพิ่มขึ้นถึง 30% ทั้งในส่วนของรถปิคอัพและรถยนต์นั่งขนาดเล็ก
อุตสาหกรรมอาหาร
ออสเตรเลียเป็นประเทศที่ใช้มาตรการสุขอนามัยพืชและสัตว์ หรือ SPS ที่เข้มงวดมาก ไทยและ
ออสเตรเลียได้ตั้งกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้าน SPS และยอมรับการแก้ไขปัญหาสุขอนามัยให้สำเร็จภายใน 2 ปี ซึ่ง
จะทำให้สินค้าหลักของไทย เช่น มังคุด ลำไย ลิ้นจี่ ทุเรียน สับปะรด มะม่วง เนื้อไก่ และกุ้ง เข้าตลาด
ออสเตรเลียได้ โดยขณะนี้ออสเตรเลียได้จัดทำรายงานวิเคราะห์ มังคุด ลิ้นจี่ และ ลำไย เสร็จสิ้นแล้ว
ซึ่งไทยจะสามารถเริ่มส่งออกได้ในฤดูการผลิตนี้
ในขณะเดียวกันสินค้าประเภทส้ม หน่อไม้ฝรั่ง เนื้อวัว เนื้อแกะ และนม ผลิตภัณฑ์นมของ
ออสเตรเลียก็สามารถเข้ามาขายในไทยได้เช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตามในการเจรจาออสเตรเลียยอมรับให้
ไทยจัดสินค้าเหล่านี้เป็นสินค้าอ่อนไหวโดยไทยจะค่อยๆ ทยอยลดภาษีจากอัตราในปัจจุบันเหลือศูนย์ใน
10-20 ปี เพื่อให้ผู้ผลิตของไทยมีเวลาในการปรับตัว และในระหว่างลดภาษีหากมีการทะลักเข้า
มาเกินปริมาณที่กำหนดไว้ก็สามารถกลับไปขึ้นภาษีได้ในอัตราก่อนหน้าที่จะมีการลด
อุตสาหกรรมสิ่งทอและเสื้อผ้าสำเร็จรูป
อุตสาหกรรมสิ่งทอและเสื้อผ้าสำเร็จรูป จะได้รับประโยชน์มาก การลดภาษีจะทำให้ไทยสามารถ
แข่งขันกับประเทศคู่แข่ง เช่น จีน อินโดนีเซีย ได้ง่ายขึ้น เนื่องจากสินค้าจากไทยจะเสียภาษีร้อยละ 12.5
ในขณะที่สินค้าจากประเทศอื่นๆ จะเสียภาษีในอัตราร้อยละ 25 ซึ่งอุตสาหกรรมดังกล่าวในออสเตรเลียยังเป็น
อุตสาหกรรมที่เน้นใช้แรงงานในการผลิต ขาดศักยภาพในการแข่งขัน โดยสินค้าของไทยที่คาดว่าจะทำตลาดได้
ดีขึ้น ได้แก่ เชิ้ต และเสื้อผ้าเด็ก เสื้อผ้า Outdoor Sport เนื่องจากมีความได้เปรียบด้านราคา อีกทั้งผู้
ประกอบการไทยมีความสามารถในการตอบสนองการสั่งซื้อของลูกค้าได้อย่างรวดเร็วและตรงต่อเวลา มีภาพ
ลักษณ์ด้านคุณภาพที่ดี และเชี่ยวชาญด้านการผลิตเสื้อผ้าสำหรับฤดูร้อน จึงทำให้ไทยมีศักยภาพมากในการแข่งขัน
อุตสาหกรรมพลาสติก
อุตสาหกรรมพลาสติกเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมของไทยที่มีความแข็งแกร่ง ในขณะที่ในออสเตรเลียมีผู้
ประกอบการด้านนี้อยู่น้อยต้องพึ่งพาการนำเข้าสูง โดยผลจากการลดภาษีผ่านกลไก FTA ทำให้สินค้าไทยหลาย
ประเภทมีศักยภาพในการแข่งขันกับสินค้านำเข้าจากจีน มาเลเซีย เกาหลีใต้ และประเทศอื่นที่จำหน่ายอยู่ใน
ออสเตรเลีย อาทิ เม็ดพลาสติก ถุงพลาสติก กระสอบ อุปกรณ์กีฬา เครื่องใช้ในครัวที่ทำด้วยพลาสติก เป็นต้น
การค้าภาคบริการและการลงทุน
ทางด้านการค้าบริการ ออสเตรเลียเปิดตลาดให้คนไทยเข้าไปลงทุนและทำงานได้ในทุกสาขาบริการ
โดยสาขาบริการที่ไทยมีศักยภาพที่จะเข้าไปประกอบธุรกิจในออสเตรเลีย อาทิ บริการซ่อมรถยนต์ ท่องเที่ยว
ร้านอาหาร สถาบันสอนภาษาไทย สอนทำอาหารไทย สอนนวดไทย และการผลิตสินค้าทุกประเภท ในขณะ
ที่ไทยเปิดตลาดให้คนออสเตรเลียถือหุ้นข้างมากในกิจการบางประเภทที่ได้รับส่งเสริมการลงทุนอยู่แล้ว อาทิ ที่
ปรึกษาธุรกิจ การก่อสร้างขนาดใหญ่ สถาบันอุดมศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ โรงแรม
มารีน่า และเหมืองแร่ โดยเปิดให้ออสเตรเลียถือหุ้นได้ร้อยละ 60
นางสาวชุติมา ยังกล่าวด้วยว่า โดยสรุปสินค้าของทั้งไทยและออสเตรเลียส่วนใหญ่มีลักษณะเสริมกัน
มากกว่าแข่งกันเพราะต่างคนต่างเก่งในการผลิตสินค้าคนละประเภท ดังนั้นการเปิดตลาดจึงเป็นการสร้าง
โอกาสทางการตลาดมากขึ้น อีกทั้งในออสเตรเลียมีคนเอเชียและคนท้องถิ่นที่ชอบสินค้าและรสชาติอาหารของ
ไทยมาก ดังนั้นสินค้าไทยจึงมีโอกาสขยายตลาดได้อีกมากหากมีการควบคุมคุณภาพและมาตรฐาน ปรับปรุงรูป
แบบให้สนองความต้องการ และส่งเสริมการตลาดอย่างสม่ำเสมอ
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ อาคาร ค ถ.ราชดำเนินกลาง แขวงบวร
นิเวศน์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200 โทรศัพท์ (66) 2282-6171-9 แฟกซ์ (66) 2280-0775
-สส-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ