นางอภิรดี ตันตราภรณ์ อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆนี้ สมาชิก
องค์การการค้าโลก (WTO) ได้จัดให้มีการเจรจาสินค้าเกษตรภายใต้ WTO ขึ้นอีกครั้งหนึ่ง ณ นครเจนีวา
ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ภายหลังจากที่ประสบความล้มเหลวในการเจรจาเรื่องดังกล่าว ในการประชุม
รัฐมนตรีองค์การการค้าโลกครั้งที่ 5 ที่เมืองแคนคูน ประเทศเม็กซิโก เนื่องจากสมาชิกต่างแข็งกร้าวในท่าที
การเจรจาของตน โดยการเจรจาครั้งล่าสุด ได้เน้นเรื่องการเปิดตลาดหรือการลดภาษีสินค้าเกษตร แต่
สมาชิกก็ยังคงยืนยันท่าทีเดิม ทำให้การเจรจาไม่มีความคืบหน้า
อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวต่อไปด้วยว่า สหรัฐฯ และสหภาพยุโรปพยายามผลัก
ดันให้มีการยอมรับสูตรการลดภาษีสินค้าเกษตรแบบผสม ที่เสนอให้สมาชิกสามารถกำหนดจำนวนสินค้าที่ต้องลด
ภาษีในอัตราที่แตกต่างกัน โดยสินค้าที่อ่อนไหวให้ลดภาษีน้อยด้วยสูตรการลดแบบหนึ่ง ส่วนสินค้าไม่อ่อนไหวก็
ให้ลดภาษีลงมากขึ้น ในขณะที่กลุ่มเคร์นส์ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศผู้ส่งออกสินค้าเกษตรขนาดเล็กและขนาดกลาง 17
ประเทศ รวมทั้งไทย และกลุ่ม G 20 นำโดยบราซิล อินเดีย และจีน ซึ่งเป็นประเทศกำลังพัฒนาที่ต้องการให้
ประเทศพัฒนาแล้วเปิดเสรีการค้าสินค้าเกษตรมากยิ่งขึ้นต่างคัดค้านข้อเสนอของสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป
เนื่องจากเห็นว่าเป็นการเปิดโอกาสให้ประเทศพัฒนาแล้วมีสิทธิที่จะเลือกลดภาษีน้อยกับสินค้าเกษตรที่อ่อนไหว
ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกสำคัญของประเทศกำลังพัฒนา ทั้งสองกลุ่มจึงได้เสนอให้ใช้สูตรการลดภาษีตามระดับอัตรา
ภาษี โดยภาษียิ่งสูงต้องยิ่งลดมาก เพื่อลดอุปสรรคการค้าสินค้าเกษตรให้หมดโดยเร็วที่สุด อย่างไรก็ตาม กลุ่ม
G 20 ยังคงสงวนสิทธิที่จะให้มีความยืดหยุ่นแก่ประเทศกำลังพัฒนา เพื่อที่จะลดภาษีน้อยหรือไม่เปิดตลาดสินค้า
เกษตรอ่อนไหวของตน แต่สหรัฐฯ และสหภาพยุโรปต่างคัดค้านแนวทางนี้ สำหรับกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ
ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเทศผู้นำเข้าสินค้าเกษตรและอาหารสุทธินำโดยอินโดนีเซีย เคนยา ปากีสถานได้เสนอให้มี
ข้อยกเว้นสำหรับประเทศกำลังพัฒนาเพื่อให้มีสิทธิที่ไม่ต้องลดภาษีสินค้าเกษตร ที่จำเป็นสำหรับตนเพื่อรักษา
ความมั่นคงทางด้านอาหาร พร้อมกับให้มีมาตรการปกป้องเป็นการเฉพาะหากได้รับผลกระทบจากการเปิดตลาด
สินค้าเกษตร
อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวต่อด้วยว่า สมาชิก WTO ต่างคาดหวังว่า สมาชิก
จะสามารถกำหนดกรอบรูปแบบการเปิดเสรีสินค้าเกษตรได้ภาย ในเดือนกรกฎาคม ศกนี้ ก่อนที่จะมีการเจรจา
เพื่อกำหนดรายละเอียดของการเปิดเสรีในลำดับต่อไป ทั้งนี้ ประธานกลุ่มเจรจาสินค้าเกษตรได้กำหนดให้มี
การประชุมเจรจาอีก 3 ครั้ง กล่าวคือ ในเดือนมิถุนายน 2 ครั้ง และเดือนกรกฎาคมอีก 1 ครั้ง
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ อาคาร ค ถ.ราชดำเนินกลาง แขวงบวร
นิเวศน์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200 โทรศัพท์ (66) 2282-6171-9 แฟกซ์ (66) 2280-0775
-สส-