กรมการประกันภัยประกาศคำสั่งนายทะเบียนกำหนดระยะเวลาประกันภัยสำหรับการประกันภัยรถตาม พ.ร.บ. ให้สามารถทำประกันภัยต่ำกว่าหรือเกินกว่า 1 ปีได้ เอื้อเจ้าของรถที่มีความประสงค์จะปรับรอบระยะเวลาให้วันหมดอายุประกันภัยตรงกับวันชำระภาษีรถประจำปีสามารถทำได้ง่ายขึ้น
นางสาวพจนีย์ ธนวรานิช อธิบดีกรมการประกันภัย เปิดเผยว่า จากการที่ทางราชการมีนโยบายรณรงค์ให้รถทุกคันเข้าสู่ระบบการประกันภัยตาม พ.ร.บ. 100% เพื่อต้องการให้ผู้ประสบภัยจากรถทุกคนได้รับการช่วยเหลือดูแลในเรื่องค่ารักษาพยาบาลและค่าใช้จ่ายอื่นที่จำเป็นนั้น กรมการประกันภัยจึงได้มอบอำนาจให้กรมการขนส่งทางบกตรวจสอบและสามารถเปรียบเทียบปรับเจ้าของรถที่ไม่ทำประกันภัยได้ ทั้งนี้การมอบอำนาจดังกล่าว มิใช่เป็นการมอบให้ขายประกันภัยแต่อย่างใด แต่เป็นการตรวจสอบให้เจ้าของรถทำประกันภัยก่อนชำระภาษี ประจำปี และในขณะนี้ยังได้ออกประกาศคำสั่งนายทะเบียนกำหนดระยะเวลาประกันภัย ให้สามารถทำประกันภัยต่ำกว่าหรือเกินกว่า 1 ปี แต่ไม่เกิน 2 ปีได้ด้วย เพื่ออำนวยความสะดวกให้เจ้าของรถสามารถปรับรอบระยะเวลาวันหมดอายุประกันภัยให้ตรงกับวันชำระภาษีรถได้ตามต้องการ
นอกจากนี้ คำสั่งนายทะเบียนฉบับดังกล่าวยังได้มีการปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์วิธีการคิดเบี้ยประกันภัยแบบเฉลี่ยรายวันสำหรับกรมธรรม์ประกันภัยที่มีระยะเวลาต่ำกว่าและเกินกว่า 1 ปี ทำให้เจ้าของรถได้รับประโยชน์เท่าเทียมกันไม่ว่าจะทำประกันภัยรอบระยะเวลาเท่าใด ซึ่งเดิมเจ้าของรถที่ทำประกันภัยที่มีระยะเวลาต่ำกว่า 1 ปี จะเสียเบี้ยประกันภัยในสัดส่วนที่สูงกว่าการทำประกันภัย 1 ปี และเกินกว่า 1 ปี ยกตัวอย่างเช่น การประกันภัยตาม พ.ร.บ. สำหรับรถยนต์นั่งส่วนบุคคลที่มีระยะเวลาประกันภัย 30 วัน เดิมเบี้ยประกันไม่รวมภาษีอากรคิด 21 % ของเบี้ยประกันภัยทั้งปี เบี้ยประกันภัยจะเท่ากับ 168 บาท (800 x 21 100) แต่จากการปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์การคิดเบี้ยประกันภัยครั้งนี้ทำให้เสียเบี้ยประกันภัยเป็นรายวันเพียง 66 บาท (800 x 30 365) ซึ่งเมื่อคิดเป็นอัตราเฉลี่ยรายวันแล้วจะเท่ากันทุกรอบระยะเวลาการทำประกันภัยทำให้ไม่เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบแต่อย่างใด
นางสาวพจนีย์ฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า คาดว่าแนวทางดังกล่าวจะช่วยให้รถมีการทำประกันภัยต่อเนื่องกันไปตลอดไม่ขาดตอน และมีการจัดทำประกันภัยให้รอบระยะเวลาตรงกับวันชำระภาษีรถประจำปีมากขึ้น ซึ่งได้ผลในที่สุดจะทำให้ผู้ประสบภัยได้รับความคุ้มครองจากการประกันภัยตามเจตจำนงค์ที่ตั้งไว้
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่กรมการประกันภัย โทร. 02-547-4521 หรือสายด่วนประกันภัย 1186
ที่มา: http://www.doi.go.th