เศรษฐกิจการค้าโลกในปี 2003 และแนวโน้มในปี 2004

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday May 11, 2004 10:37 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

          เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2004 องค์การการค้าโลกได้ออกแถลงข่าวเกี่ยวกับการศึกษาวิเคราะห์
สถานการณ์เศรษฐกิจการค้าโลกในปี 2003 และแนวโน้มในปี 2004 สาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
สถานการณ์เศรษฐกิจการค้าโลกในปี 2003
1. แม้ว่าโรคทางเดินหายใจเฉียบผลันรุนแรง SARS (Severe Acute Respiratory
Syndrome) และสงครามอิรักได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจการค้าโลกเป็นอย่างมากในช่วงครึ่งแรกของปี 2003
แต่ในช่วงหลังของปี 2003 ผลผลิตโลกและการค้าโลก (global output and trade) ได้ขยายตัวอย่าง
ต่อเนื่อง ทำให้มูลค่าเฉลี่ยของผลิตภัณฑ์มวลรวมโลก (world GDP) และปริมาณการค้าโลก (world
merchandise trade) ในปี 2003 ขยายตัวร้อยละ 2.5 และ 4.5 ตามลำดับ
2. ตัวแปรหลักที่ทำให้ปริมาณการค้าโลกเพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2003 คือ การขยายตัวของ
อุปสงค์การนำเข้า (import demand) ของประเทศในทวีปอเมริกาเหนือ เอเชีย และกลุ่มประเทศ
สังคมนิยมเดิม (ประมาณร้อยละ 11 สำหรับเอเชียและกลุ่มประเทศสังคมนิยมเดิม และร้อยละ 5.7 สำหรับ
อเมริกาเหนือ) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มูลค่าการนำเข้าของประเทศจีนขยายตัวร้อยละ 40 ในปี 2003 (413
พันล้านเหรียญสหรัฐฯ) ส่งผลให้จีนกลายเป็นผู้นำเข้ารายใหญ่อันดับ 3 ของโลก รองจากสหรัฐฯ (1,305 พัน
ล้านเหรียญสหรัฐฯ) และสหพันธรัฐเยอรมนี (602 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ) ซึ่งจากเดิมจีนอยู่อันดับที่ 6 ในปี
2002
3. ในปี 2003 มูลค่าการส่งออกสินค้าบริการ (world commercial services) ขยายตัว
ร้อยละ 12 เป็น 1,763 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ และมูลค่าการนำเข้าขยายตัวร้อยละ 5 เป็น 1,743 พันล้าน
เหรียญสหรัฐฯ โดยประเทศสหภาพยุโรปเป็นผู้ส่งออกและนำเข้าสินค้าบริการรายใหญ่ที่สุด (802 และ 782
พันล้านเหรียญสหรัฐฯ) ส่วนจีนเป็นผู้ส่งออกและนำเข้าสินค้าบริการรายใหญ่ที่สุด (45 และ 54 พันล้านเหรียญ
สหรัฐฯ) เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศกำลังพัฒนาด้วยกัน
การส่งออกของไทยในปี 2003
4. ในปี 2003 ไทยส่งออกเป็นอันดับที่ 15 ของโลก และนำเข้าเป็นอันดับที่ 14 ของโลก (
สหภาพยุโรปนับเป็นหนึ่งประเทศ) โดยมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นเป็น 80 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ และมูลค่าการ
นำเข้าเพิ่มขึ้นเป็น 75 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ
5. อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการขยายตัวของอุปสงค์การนำเข้าของประเทศจีนและสหรัฐฯ ตั้งแต่ช่วง
ครึ่งหลังของปี 2003 จะส่งผลให้ไทยส่งออกสินค้าไปยังประเทศเหล่านี้ได้มากขึ้น และมีแนวโน้มว่าเศรษฐกิจ
การค้าของไทยจะขยายตัวเพิ่มขึ้นในปี 2004 แต่การขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีนนั้นอาจถึงจุดอิ่มตัว และการ
ขาดดุลทางการค้าของสหรัฐฯ จำนวนมาก (โดยเฉพาะในปี 2003 สูงถึง 549 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ) อาจ
สร้างความกดดันให้สหรัฐฯ ใช้มาตรการกีดกันทางการค้าเพิ่มมากขึ้น จึงอาจจะมีผลให้อัตราการเจริญเติบโต
ทางเศรษฐกิจของไทยไม่เป็นไปตามที่คาดไว้
แนวโน้มเศรษฐกิจการค้าโลกในปี 2004
6. องค์การการค้าโลกคาดคะเนว่าในปี 2004 มูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมโลก (world GDP) และ
ปริมาณการค้าโลก (world merchandise trade) จะขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 3.7 และ 7.5 ตาม
ลำดับ ทั้งนี้ สืบเนื่องจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจการค้าโลกอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงหลังของปี 2003 นอก
จากนี้ องค์การการค้าโลกคาดว่าความสำเร็จในการเจรจาลดอุปสรรคทางการค้ารอบ Doha ก็จะช่วยให้มี
กระแสเงินไหลเวียนในเศรษฐกิจโลกเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 500 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ
7. อย่างไรก็ตาม มีปัจจัยเสี่ยงบางอย่างซึ่งอาจทำให้การขยายตัวของเศรษฐกิจการค้าโลกไม่
เป็นไปตามที่คาดคะเน คือ
7.1 ราคาน้ำมันโลกที่สูงกว่า 29 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล (โดยเฉลี่ย) จะทำให้
Global output ลดลง
7.2 ค่าเงินยูโรที่สูงขึ้นจะทำให้การลงทุนในยุโรปลดลง และความไม่แน่นอนเกี่ยวกับการปฏิรูป
ระบบบำนาญและสาธารณสุข (pension and health system) จะทำให้ค่าใช้จ่ายในการบริโภคในยุโรป
ลดลง
7.3 ราคาบ้านหรือราคาหุ้น (house or stock prices) ในสหรัฐฯ ที่ตกต่ำลงจะทำให้ระดับ
การออมเงินในธนาคาร (private saving) เพิ่มสูงขึ้น เป็นเหตุให้อุปสงค์การนำเข้าของสหรัฐฯ ลดลง
และการส่งออกของประเทศอื่นๆ ลดลงตามไปด้วย
7.4 เศรษฐกิจจีนอาจถึงจุดอิ่มตัว ทำให้อุปสงค์การนำเข้าของจีนลดลง
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ อาคาร ค ถ.ราชดำเนินกลาง แขวงบวรนิเวศน์
เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200 โทรศัพท์ (66) 2282-6171-9 แฟกซ์ (66) 2280-0775
-สส-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ