ห้ามนำแบตเตอรี่ทุกชนิดมาใช้ใหม่

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday May 12, 2004 16:25 —สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย

          สำนักงานพาณิชย์ในต่างประเทศ ณ กรุงบรัสเซลส์ รายงานว่าคณะกรรมาธิการยุโรปได้ประกาศร่างข้อเสนอแนะระเบียบใหม่ว่าด้วยแบตเตอรี่ ซึ่งกำหนดระบบควบคุมการเก็บรวบรวมและการนำแบตเตอรี่ทุกชนิดมาใช้ใหม่ เพื่อลดเศษซากในการฝังลงดิน หรือเผาทิ้ง ต่อมาเมื่อวันที่ 6 เมษายน 2547 คณะกรรมการด้านสิ่งแวดล้อมของสภายุโรปได้พิจารณาร่างข้อเสนอดังกล่าวเป็นครั้งแรก และมีข้อแนะนำให้ปรับปรุงในประเด็นต่อไปนี้
1. เพิ่มอัตราการเก็บรวบรวมจากร้อยละ 40 เป็นร้อยละ 50
2. ห้ามวางจำหน่ายสินค้าแบตเตอรี่หรือ accumulator ทุกชนิดที่มีส่วนประกอบ ดังนี้
2.1 ปรอทเกิน 5 ppm ของน้ำหนัก
2.2 ตะกั่วเกิน 40 ppm ของน้ำหนัก
2.3 แคดเมี่ยม 20 ppm ของน้ำหนัก
ยกเว้น ในกรณีจำเป็นเนื่องจากไม่สามารถหาสารอื่นมาใช้ทดแทนได้
อนึ่ง การจัดทำร่างข้อเสนอใหม่ว่าด้วยแบตเตอรี่ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดความชัดเจนและเข้มงวดยิ่งขึ้นเกี่ยวกับการกำจัดสินค้าแบตเตอรี่ที่มีสารอันตรายในส่วนประกอบ เนื่องจากปัจจุบันประเด็นดังกล่าวมีการควบคุมโดยระเบียบ 3 ฉบับ กล่าวคือ Directive 91/157/EEC, Directive 98/86/EEC และ Directive 98/101/EC โดยครอบคลุมข้อกำหนดสารโลหะหนักเฉพาะบางรายการ ทำให้ขาดความรัดกุมในการกำจัดซากเหลือจากแบตเตอรี่ทุกประเภท ในขณะที่การอนุญาตให้ใช้ปรอทแม้ในอัตราที่น้อยแต่ก็ไม่ได้คำนึงถึงการแพร่กระจายของธาตุโลหะหนักในกรณีที่มีการนำกลับมาใช้โดยวิธีที่ไม่ถูกต้อง รวมทั้งยังมีความแตกต่างของระบบการเก็บรวบรวมและนำกลับมาใช้ในแต่ละประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป
ทั้งนี้ สำนักงานพาณิชย์ฯ ได้ให้ข้อคิดเห็นเพิ่มเติมต่อเรื่องดังกล่าว ดังนี้
องค์กร European Environmental Bureau (EEB) ได้แสดงความไม่พอใจต่อการอนุญาตให้คงใช้แคดเมี่ยม แม้ในปริมาณที่จำกัดก็ตาม โดยให้เหตุผลว่าตาม Waste Framework Directive ได้จำแนกแคดเมี่ยมให้อยู่ในรายการสาร 10 อันดับแรกที่ต้องระงับการกระจาย แพร่ หรือสูญเสีย โดยสิ้นเชิงภายใน 20 ปีข้างหน้า อย่างไรก็ตาม แคดเมี่ยมยังเป็นที่นิยมใช้อยู่เนื่องจากมีราคาถูก
การห้ามใช้แคดเมี่ยมในการผลิตแบตเตอรี่ในยานยนต์ไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งจะถูกห้ามใช้ในสหภาพฯโดยสิ้นเชิงในอนาคตนั้น อาจจูงใจให้มีการห้ามใช้แคดเมี่ยมในแบตเตอรี่ทุกชนิดโดยสิ้นเชิงเช่นกัน
ค่าใช้จ่ายในการปฎิบัติตามระบบเก็บรวบรวม บำบัด และนำกลับมาใช้จะตกเป็นภาระของผู้ผลิต โดยผู้นำเข้าของสหภาพฯ ต้องมีภาระรับผิดชอบเช่นเดียวกันกับ “ผู้ผลิต” ดังนั้น ผู้นำเข้าของสหภาพฯ คงต้องเลือกนำเข้าสินค้าที่สามารถดำเนินการกับเศษซากตามข้อกำหนดของระเบียบฯ หรืออาจผลักภาระรับผิดชอบค่าใช้จ่ายบางส่วนให้กับผู้ผลิต
ที่มา: หอการค้าไทย ศูนย์ข้อมูลธุรกิจ www.thaiechamber.com
-ดท-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ